R11 เส้นทางย่อย แต่บทบาทใหญ่ในยุทธศาสตร์ Land Link

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้เป็นเส้นทางสั้นๆ เพียง 90 กว่ากิโลเมตร แต่ R11 ถือเป็นถนนที่มีบทบาทสำคัญสายหนึ่งตามยุทธศาสตร์ Land Link ของ สปป.ลาว โดยเฉพาะเมื่อมองในประเด็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศไทย

ใกล้บ่าย 2 โมงแล้ว กองหมากกะทัน (พุทรา) และหมากละมุด (ละมุด) บนโต๊ะที่ตั้งอยู่ข้างหน้าของแก้ว ใกล้จะหมดลงทุกที เธอคิดว่าคงใช้เวลาอีกไม่นาน ผลไม้เหล่านี้น่าจะขายหมด เธอจะได้เก็บโต๊ะกลับเข้าบ้าน เพื่อไปดูแลสวนผักที่กำลังโตเต็มที่

แก้วเป็นชาวบ้านใหม่ เมืองสีโคดตะบอง นครหลวงเวียงจันทน์ หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ริมถนนหมายเลข 11 (R11) ถัดจากบ้านตาดทองเข้าไปประมาณเกือบ 10 กิโลเมตร

ถือเป็นกิจวัตรประจำวันของแก้ว ที่ต้องนำผลไม้จากสวนของเธอ มาตั้งโต๊ะขายให้กับผู้ที่สัญจรไปมาตามเส้นทางสายนี้ตั้งแต่เช้า แม้ว่าฤดูนี้จะเป็นฤดูแล้ง เมื่อมีรถวิ่งผ่านแต่ละครั้ง ฝุ่นจะตลบคละคลุ้งไปหมด แต่แก้วก็ไม่เคย หยุดกิจวัตรที่เธอทำมาทุกวันในเวลาหลายปีมานี้ ยกเว้นวันที่เธอป่วย

จะมีบ้าง ที่วันใดเธอต้องหอบหิ้ว “ป้าย” ลูกชายตัวน้อยมานั่งเป็นเพื่อนขายด้วย ซึ่งเธออาจจะต้องเอาผ้ามาปิดหน้าเขาไว้ ไม่ให้หายใจรับฝุ่นเข้าไป เวลามีรถวิ่งผ่าน

แต่แก้วก็ไม่หนักใจ เพราะเธอรู้มาว่าในอีกไม่นานนี้ ถนนเส้นนี้กำลังจะได้รับการปรับปรุงใหม่ จะมีการปูยางยาวตลอดตั้งแต่บ้านตาดทองผ่านบ้านของเธอไปจนถึงบ้านน้ำสัง เป็นระยะทางยาวกว่า 50 กิโลเมตร

เธอเชื่อว่าสุขภาพของเธอ จากการที่ต้องมานั่งขายของริมทางเช่นนี้ จะต้องดีขึ้น...

เส้นทางหมายเลข 11 เป็นถนน ที่เชื่อมจากตัวเมืองเวียงจันทน์ เริ่มจากแยกสีไค (เลยสนามบินวัดไตขึ้นไป ทางเหนือตามถนนสุพานุวง หรือถนนหลวงพระบางเดิมประมาณ 2 กิโลเมตร) แล้วลัดเลาะตามริมแม่น้ำโขงไปจนถึงเมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยของประเทศไทย

ระยะทางจากแยกสีไคไปจนถึงเมืองสานะคาม ยาวประมาณ 90 กว่ากิโลเมตร

ถือเป็นถนนที่มีความสำคัญอีกเส้นหนึ่งตามยุทธศาสตร์ Land Link ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน ลาว (สปป.ลาว)



จากเมืองสานะคามต่อไปอีกประมาณ 30 กว่ากิโลเมตร ก็จะถึงเมืองแก่นท้าว แขวงไชยะบุรี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลยของไทย ที่นี่ เส้นทางหมายเลข 11 จะไปบรรจบกับเส้นทางหมายเลข 4 ที่วิ่งลงมาจากเมืองหลวงพระบาง ระยะทางยาวประมาณ 350 กิโลเมตร ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคาร เพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ในวงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท

เส้นทางหมายเลข 4 (หลวงพระบาง-แก่นท้าว) ถือเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของ สปป.ลาวในภาคตะวันตก มีความสำคัญระดับน้องๆ ของเส้นทางหมายเลข 13 (เส้นทางเหนือ-ใต้ของ สปป.ลาว) ซึ่งเมื่อการปรับปรุงแล้วเสร็จจะทำให้โครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของ สปป.ลาว มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งด้านการค้าขาย และด้านการท่องเที่ยว

เริ่มจากเมืองแก่นท้าวย้อนกลับขึ้นเหนือ ไปตามเส้นทางหมายเลข 4 ประมาณ 78 กิโลเมตร จะถึงเมืองปากลาย จากเมืองนี้หากเลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันตกอีกประมาณ 38 กิโลเมตร ก็จะถึงด่านประเพณีท้องถิ่น ผาแก้ว-บวมเลา ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับด่านถาวรภูดู่ ตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์

ถนนระยะทาง 38 กิโลเมตรเส้นนี้ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.หรือ Neda) ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือในการปรับปรุงถนนไปแล้ว ในวงเงินประมาณ 520 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาให้ความช่วยเหลือกับรัฐบาล สปป.ลาวอย่างเป็นทางการได้ประมาณเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมปีนี้ (2554) โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี

(อ่านเรื่อง “ปากลาย เมืองชุมทางแห่งลาวตะวันตก” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2553 หรือใน www.goto manager.com ประกอบ)

จากเมืองปากลายขึ้นไปตามเส้นทางหมายเลข 4 อีก 152 กิโลเมตร จะถึงเมืองไชยะบุรี (เมืองหลักของแขวงไชยะบุรี) จากจุดนี้ หากวิ่งตรงขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตามเส้นทางหมายเลข 4 อีก 120 กิโลเมตร ก็จะถึงเมืองหลวงพระบาง เมือง มรดกโลกของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปของนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่หากแยกซ้ายไปทางทิศเหนือตามเส้นทางหมายเลข 44 อีกประมาณ 90 กิโลเมตร ก็จะถึงเมือง หงสา เส้นทางสายนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยได้รับการสนับสนุนจาก ADB เช่นกัน

เมืองหงสาอยู่ห่างจากด่านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เพียง 35 กิโลเมตร ที่นี่กำลังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจากถ่านหินของกลุ่มบริษัทบ้านปู ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปีนี้ และกลุ่มบ้านปูก็มีภาระที่จะต้องปรับปรุงถนนจากหน้าด่าน ห้วยโก๋น มาถึงเมืองหงสา ระยะทาง 35 กิโลเมตรเส้นนี้ด้วย

(อ่านเรื่อง “A villager on an international milestone” เรื่องจากปกนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกันยายน 2553 หรือใน www.gotomanager. com ประกอบ)

จากเมืองหงสา มีเส้นทางจากบ้าน นาปุง ผ่านเมืองจอมเพชร มุ่งไปยังเมืองเชียงแมน ซึ่งอยู่ตรงข้ามแม่น้ำโขงกับเมือง หลวงพระบาง ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ทาง Neda ได้อนุมัติในหลักการ ว่าจะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ สปป. ลาวในวงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงเส้นทางสายนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะสามารถเสนอคณะ รัฐมนตรีได้ในปีงบประมาณหน้า (2554-2555)

หากเส้นทางสายนี้ปรับปรุงเสร็จจะเป็นเส้นทางทางบกจากประเทศไทย ผ่านด่านห้วยโก๋น เข้าสู่หลวงพระบางที่สั้นที่สุด

(อ่านเรื่อง “4 เส้นทางใหม่สู่หลวงพระบาง” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมกราคม 2553 และเรื่อง “เส้นทางใหม่สู่หลวงพระบาง หาใช่แค่...ไปกินมื้อเที่ยง” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2553 หรือใน www.gotomana ger.com ประกอบ)

หากมองจากประเทศไทยเข้าไปจะเห็นได้ว่าเส้นทางหมายเลข 4 เป็นเส้นทาง หลักที่ขนานไปกับชายแดนของไทย ตั้งแต่ตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นไป จนถึงทางภาคเหนือ มีจุดผ่านแดนที่เปรียบ เสมือนประตูสำคัญๆ ถึง 3 จุดด้วยกันคือ ด่านท่าลี่ จังหวัดเลย ด่านภูดู่ จังหวัด อุตรดิตถ์ และด่านห้วยโก๋น จังหวัดน่าน

ไม่นับรวมด่านย่อยหรือจุดผ่อนปรน ชั่วคราวตลอดเส้นทาง ซึ่งมีอีกหลายจุด

แต่หากมองจากภายใน สปป.ลาว เส้นทางหมายเลข 4 กับเส้นทางหมายเลข 13 จะเป็นเหมือนโครงข่ายคมนาคม รูปสามเหลี่ยม มีเมืองหลวงพระบางเป็นยอดอยู่ปลายสุด และมีนครหลวงเวียงจันทน์กับ เมืองแก่นท้าว ซึ่งมีเส้นทางหมายเลข 11 เชื่อมระหว่าง 2 เมืองนี้เป็นส่วนฐาน

และหากมองโดยไม่มีประเด็นเรื่องประเทศมาขวางกั้นเส้นทางหมายเลข 11 ของ สปป.ลาว จะเป็นเส้นทางที่วิ่งคู่ขนาน ไปกับทางหลวงหมายเลข 211 (หนองคาย-เชียงคาน) ของไทย โดยมีเพียงแม่น้ำโขงคั่นกลาง ถือเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงามที่สุดเส้นหนึ่ง

ความเคลื่อนไหวในการพัฒนา ยกระดับเส้นทางหมายเลข 11 จึงมีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา (2553) ในการเยือน สปป.ลาวอย่างเป็นทางการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นอกจากการไปเป็นประธานในพิธี เปิดโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 อย่างเป็นทางการแล้ว นายกรัฐมนตรีของไทยยังได้ไปเป็น สักขีพยานในการลงนามในสัญญาให้การสนับสนุนทางการเงินเป็นวงเงิน 1,392 ล้าน บาท ระหว่างอรรคศิริ บุรณศิริ ผู้อำนวยการ Neda กับเวียงทอง สีพันดอน รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงการเงิน สปป.ลาว เพื่อปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 11

โครงการนี้เป็นการปรับปรุงเส้นทาง ช่วงระหว่างบ้านตาดทอง (เข้าจากแยกสีไค ไปประมาณ 4 กิโลเมตร) ถึงบ้านน้ำสัง ระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร และช่วงทางแยกจากเส้นทางหมายเลข 11 ที่บ้านปากตอน เข้าสู่เมืองสังข์ทองและมาบรรจบ กับเส้นทางหมายเลข 11 อีกครั้งที่บ้านนาสา ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร

การปรับปรุงเส้นทางช่วงนี้ คณะรัฐมนตรีของไทยได้ให้ความเห็นชอบให้ Neda ให้ความช่วยเหลือแก่ สปป.ลาวตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 ในวงเงิน 1,392 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินให้เปล่าร้อยละ 30 (417.60 ล้านบาท) และเงินกู้อีกร้อยละ 70 (974.40 ล้านบาท)

หลังจากการลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2553 แล้ว รัฐบาล สปป. ลาวกำลังอยู่ระหว่างการจัดประกวดราคาหาผู้รับเหมา จะสามารถรู้ผลในอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้าจึงเริ่มการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างช่วงนี้ เป็นการปรับปรุงเส้นทางจากบ้านตาดทอง-บ้านน้ำสัง ระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร เท่านั้น ยังเหลือระยะทางอีกประมาณ 30 กว่ากิโลเมตรจะถึงเมืองสานะคาม ซึ่งเดิมเส้นทางช่วงนี้ทางเกาหลีใต้เคยแสดงเจต จำนงต่อรัฐบาล สปป.ลาวว่าอยากให้การสนับสนุน แต่ภายหลังเรื่องได้เงียบไป

ทางรัฐบาล สปป.ลาว จึงมีท่าทีว่าอยากให้ Neda เข้ามาให้การสนับสนุนในการปรับปรุงเส้นทางช่วงที่เหลือ เพื่อให้เส้นทางหมายเลข 11 ได้รับการก่อสร้างใหม่ ทั้ง 100%

จุดเด่นอีกจุดหนึ่งของโครงข่ายคมนาคมรูปสามเหลี่ยมในดินแดน สปป. ลาวฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือคือหากเส้นทาง หมายเลข 11 และเส้นทางหมายเลข 4 ได้ รับการปรับปรุงจนแล้วเสร็จ เมื่อรวมกับเส้นทาง 38 กิโลเมตร จากด่านภูดู่ จังหวัด อุตรดิตถ์มาถึงเมืองปากลาย สร้างได้เสร็จ จะเป็นเส้นทางใหม่ของคนภาคเหนือของไทยที่เมื่อต้องการเดินทางเข้ามาสู่นครหลวง เวียงจันทน์ของ สปป.ลาว ไม่จำเป็นต้องเดินทางลงไปถึงจังหวัดหนองคายอีกต่อไป เพราะสามารถเข้าทางด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์มายังเมืองปากลาย ต้องใช้ระยะทางอีกเพียง 210 กิโลเมตรเท่านั้น ก็จะเดินทางถึงนครหลวงเวียงจันทน์

เส้นทางหมายเลข 11 อาจมีระยะทางสั้นๆ เพียง 90 กว่ากิโลเมตร แต่หากมองภาพใหญ่ในยุทธศาสตร์ Land Link ของ สปป.ลาว เส้นทางสั้นๆ เส้นนี้ก็ถือเป็นเส้นทางที่มีบทบาทสำคัญอีกเส้นหนึ่ง...

3 โมงครึ่งแล้วทั้งหมากกะทันและหมากละมุดที่เคยกองอยู่บนโต๊ะข้างหน้าของ แก้ว ขายหมดแล้ว เธอกำลังเก็บของเตรียม เดินกลับเข้าบ้าน

เธอรู้สึกอิจฉาเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ก่อน ถึงหมู่บ้านของเธอประมาณ 3 กิโลเมตรที่สามารถจ้างคนงานไว้คอยยืนฉีดน้ำรดถนน เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นคลุ้งกระจายเข้าไปในที่ดินของเขา เพราะกำลังมีการก่อสร้างรีสอร์ตขนาดใหญ่ติดริมแม่น้ำโขง

“เอาน้ำฉีดลงไปทำไมบนถนน” แก้วคิดในใจ

เพราะน้ำคือสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับวิถีชีวิตชาวไร่ชาวสวนอย่างเธอ อย่างน้อยก็ทำให้เธอสามารถขนผักผลไม้จากในสวน ในไร่ของเธอมาวางขายริมถนน สร้างรายได้ให้เธอทุกวัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.