The Powerful Influencer

โดย สุภัทธา สุขชู นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

หากถามว่าในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ผู้นำธุรกิจไทยคนใดที่ทรงอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดและมากที่สุด ผู้บริหารคนแรกในไม่กี่คนที่คนไทยส่วนใหญ่จะนึกออก คงหนีไม่พ้น “ธนินท์ เจียรวนนท์”

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า วันนี้อาณาจักรธุรกิจของเจ้าสัว ธนินท์ มีสินค้าและเครือข่ายบริการที่เข้าถึงสังคมไทยมากที่สุด หนำซ้ำยังครอบครองตลาดส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเกษตร และธุรกิจอาหาร ธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก และธุรกิจโทรคมนาคม ในนาม “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ที่มีบริการพื้นฐานของสังคมสมัยใหม่ ได้แก่ บริการโทรศัพท์บ้าน บริการโทรศัพท์มือถือ บริการเพย์ทีวี (pay TV) และบริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถสร้างระบบสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทย

นอกจากนี้ ซีพียังมีเครือข่ายร้านค้าที่เข้าถึงผู้บริโภคที่มากและหลากหลายที่สุดที่ประกอบด้วย 7-11 มากกว่า 3 พันแห่งและเครือข่ายร้านค้าอย่างร้าน True shop, True Move shop, True Coffee shop, CP Fresh Mart แม้แต่ร้านเชสเตอร์กริลล์ และร้านเคลื่อนที่ไก่ย่างห้าดาว

จึงไม่น่าจะเป็นการกล่าวอ้างเกินจริงกับข้อสรุปที่ว่า ธนินท์เป็นผู้นำธุรกิจที่มีพลังและทรงอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนในสังคมไทยอย่างลึกซึ้งและในหลายมิติ ทั้งนี้เพราะธนินท์คือผู้นำคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังพัฒนาการแบบก้าวกระโดดจนกลายเป็น อาณาจักรซีพีที่ยิ่งใหญ่ เฉกเช่นทุกวันนี้

โมเดลการเติบโตของซีพีภายใต้การนำของธนินท์มักเป็นรูปแบบการขยายแต่ละธุรกิจให้ครบวงจร ทว่ามันก็เป็นเพียงเส้นบางๆ ระหว่างความครบวงจรกับการผูกขาดตลาด ในแง่หนึ่งเครือซีพีอาจถูกมองเป็นผู้นำการปฏิวัติในธุรกิจการเกษตร ธุรกิจอาหาร ธุรกิจโทรคมนาคม และธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก แต่อีกแง่ก็คือแรงต้านจากข้อหา “ครอบงำตลาด”

ความยิ่งใหญ่ของเครือซีพีส่งผลให้เจ้าสัววัยใกล้ 72 ปีคนนี้กลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดของไทย จากการจัดอันดับของฟอร์บส์ บริษัทจัดอันดับชื่อดังของโลก ด้วยมูลค่ารวมทรัพย์สินของธนินท์ที่มากกว่า 217,000 ล้านบาท

วิรัตน์ แสงทองคำ ยกย่องธนินท์เป็นผู้นำธุรกิจที่สามารถแสดงบทบาทเชิงตัวแทนการปรับตัวของธุรกิจไทย ในช่วง 3-4 ทศวรรษสำคัญที่ผ่านมาได้อย่างน่าทึ่ง

กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ชื่นชมธนินท์ เนื่องด้วยวิสัยทัศน์อันยาวไกลและความสามารถนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ในทุกสถานการณ์และสภาพแวดล้อม

หลังวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ปี 2540 เครือซีพีเป็นกลุ่มธุรกิจไทยในไม่กี่กลุ่มที่สามารถแสวงหาและกอบโกยโอกาสใหม่ๆ ได้มากมายเท่ากลุ่มซีพี ด้วยพลังขับเคลื่อนจากอำนาจทุน เครือข่ายและการทำธุรกิจแบบครบวงจร บวกกับสายสัมพันธ์กับระบบการเมืองและระบบราชการ

นอกจากอิทธิพลต่อสังคมไทย ซีพีถือเป็นธุรกิจไทยรายแรกๆ ที่มีความสัมพันธ์กับประชาคมเศรษฐกิจโลกมากที่สุดรายหนึ่ง เพราะเหตุนี้ธนินท์จึงกลายเป็นผู้บริหารไทยคนแรกๆ ที่สื่อระดับโลกกล่าวถึงอย่างมากมายและอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ Far Eastern Economic Review ในปี 2533, Forbes ในปี 2534, Fortune และ Financial Times ในปี 2535

ที่สำคัญในปลายปี 2535 Harvard Business School ยังได้หยิบเอาพัฒนาการทางธุรกิจของอาณาจักรซีพีและประสบการณ์บางส่วนของธนินท์มาถ่ายทอดเพื่อเป็นกรณีศึกษาอีกด้วย

ไม่เพียงสื่อไทยที่ยกย่องเจ้าสัวซีพีให้เป็น “มังกร” แม้แต่สื่อต่างชาติหลายฉบับยกให้ธนินท์เป็น the Great Dragon อันเป็นภาพสะท้อนการยอมรับในความเป็นผู้นำธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งก้าวข้ามพรมแดนประเทศไทยไปไกลแล้ว โดยครั้งหนึ่งธนินท์เคยประกาศว่า ความเป็นผู้นำของโลกด้านอาหารสัตว์ และเป็นผู้ผลิตไก่และกุ้งรายใหญ่ที่สุด คงไม่ใช่เป้าหมายของเครือซีพีอีกต่อไป แต่นั่นคือข้อเท็จจริงที่ซีพีจะต้องเป็นเบอร์หนึ่งให้ได้

จากความได้เปรียบในเรื่องขนาดและความครบวงจรในธุรกิจอาหาร กลุ่มซีพีโดยมีซีพีเอฟเป็นหัวหอกประกาศตัวเป็น “ครัวของโลก” อย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน โดยดำริครั้งนั้นไม่เพียงทำให้ซีพีได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนไทยหลายแขนง แต่ยังได้รับความสนใจจากสื่อต่างชาติหลายแห่ง

โดยเฉพาะสื่อจากประเทศจีนที่ให้ความสำคัญกับข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มซีพีเป็นพิเศษ เนื่องจากเครือซีพีลงทุนในประเทศจีนไปแล้วมากมาย และกำลังจะมีอีกหลายโครงการเกิดใหม่ โดยในอนาคตเครือซีพียังมีแผนลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมืองจีนเพิ่มอีกด้วย

ด้วยความทรงพลังของอาณาจักรซีพี แทบทุกครั้งในยามที่สังคมไทยขาดผู้นำความคิดทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ผู้บริหารอาวุโสท่านนี้จะมีบทบาทสำคัญในการเสนอทางออก และ “เสียง” ของเขาก็มักจะทำให้ทั้งสังคมรับฟัง แม้บางครั้งจะมาพร้อมข้อกังขาว่า “เพื่อประโยชน์ของใคร?”

“ทฤษฎีสองสูง” เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน

ธนินท์มองว่าทฤษฎีนี้เป็นความหวังที่จะช่วยนำพาประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤติได้อย่างปลอดภัย โดย “สูง” แรก คือต้องทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูง และ “สูง” ที่สอง คือต้องทำให้รายได้หรือค่าแรงของประชาชนสูง เพื่อให้สัมพันธ์กับราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่สูงขึ้น

“เมืองไทยกำลังจะรวยกับเขาแล้ว ถ้ารัฐบาลเข้าใจว่า เรานี่ก็เป็นประเทศที่มีน้ำมัน แต่น้ำมันอยู่บนดิน ใช้ไม่หมด บ่อน้ำมันบนดินของเราก็คือสินค้าเกษตร จริงๆ น้ำมันมนุษย์สำคัญกว่าน้ำมันเครื่องจักร ทำไมเราไม่ยกราคาเกษตรให้ตีคู่ไปกับราคาน้ำมัน แล้วก็ใช้วิธีขึ้นเงินเดือน...

“ถ้าสองต่ำหัวใจวาย เพราะข้างบนก็ต่ำ ข้างล่างก็ต่ำ เปรียบเทียบกับประเทศจีน ที่เคยเป็นสองต่ำ แล้วเติ้งเสี่ยวผิงก็ต้องมาเปลี่ยน จริงๆ ในโลกนี้ ประเทศที่รวยแล้ว เขาจะไม่ยอมให้สินค้าเกษตรถูกลง เพราะเขาถือว่าเป็นทรัพย์สมบัติของเขา เพราะมองว่า มีค่าเหมือนน้ำมันเช่นกัน ประเทศไหนที่อาหารมนุษย์ถูกกว่าอาหารเครื่องจักร ก็หมายความว่าผู้บริหารประเทศมีปัญหาแล้ว?”

เนื้อหาบางส่วนจาก “ทฤษฎีสองสูง” ที่ธนินท์เดินสายโปรโมตอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อมวลชนและเวทีสัมมนาต่างๆ

ไม่ว่าเป้าหมายของวาทกรรมในทฤษฎีแห่งความหวังนี้จะเป็นไปเพื่อใคร หรือใครได้ประโยชน์มากที่สุด แต่อย่างน้อย ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นผู้นำทางธุรกิจของไทย การส่งเสียงของ “สุดยอดมังกร” ในครั้งนั้นก็ทำให้ผู้คนในสังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย ต้องฟังและหยุดคิด

แม้จะเลยวัยเกษียณมานานกว่า 10 ปี ธนินท์ยังไม่เคยประกาศแผนรีไทร์อย่างเป็นทางการ แต่เขาก็ยอมรับว่าเขาเริ่มทำงานน้อยลง แบ่งงานและกระจายอำนาจออกไป ส่วนตัวเขาก็เดินทางมากขึ้น นอกจากการไปเยี่ยมเยือนกิจการในต่างประเทศแล้ว

อีกเป้าหมายสำคัญในการเดินทางของเจ้าสัวซีพีก็เพื่อแสวงหาความรู้ เทคโนโลยี และไอเดียใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจ ตลอดจนออกเดินทางไปสนทนากับผู้นำธุรกิจระดับโลกที่มีความสัมพันธ์กับเขา แม้ว่าจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่เถ้าแก่แสนล้านคนนี้ก็เลือกใช้เจ้าหน้าที่ที่เก่งที่สุดมาเป็นผู้ช่วยข้างกาย เหมือนกับที่เขาเลือกจ้างเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์และคนขับรถที่เก่งที่สุดมาไว้ประจำตัว

ทั้งนี้ ความท้าทายของเครือซีพีในปีที่ 90 ธนินท์มองถึงความจำเป็นในการพัฒนาคนที่มีศักยภาพพร้อมที่จะรองรับการเติบโตทางธุรกิจของทั้งเครือซีพีทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการสร้างแบรนด์ของเครือเพื่อให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตอาหารป้อนชาวโลก และก้าวไปสู่การเป็นบริษัทคนไทยชั้นนำในระดับโลก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.