Adam Reed Tucker ผู้สร้าง LEGO Architecture

โดย มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ฉบับนี้ขอสวัสดีปีใหม่ด้วยเรื่องราวของตัวต่อ เลโก้ ของเล่นร่วมสมัยที่เล่นได้ดีทั้งเด็กและผู้ใหญ่

Adam Reed Tucker ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมระฟ้าเก่าแก่หลายแห่งที่ตั้งอยู่ในนครชิคาโกอันเป็นบ้านเกิดของเขา ทำให้เขามีความฝันว่า วันหนึ่งจะต้องเป็นสถาปนิกให้ได้ และความฝันเป็นจริงเมื่อเขาสำเร็จการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคนซัส สเตท ในปี 1996 จากนั้นเขาร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดบริษัทรับออกแบบ ขณะเดียวกันกับสร้างโมเดลตึกต่างๆจากตัวต่อเลโก้เป็นงานอดิเรกควบคู่ไปด้วย ซึ่งตอนนั้นเขาไม่มีความคิดเลยว่า ตัวต่อเลโก้จะมีผลต่อชีวิตของเขาในอีกไม่กี่ปีต่อมา

จากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ที่หลายชีวิตต้องถูกทำลาย รวมทั้งตึกประวัติศาสตร์อย่าง World Trade Center ต้องมาย่อยยับพังทลาย อดัมคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตึกนี้ยังอยู่ในใจของคนรุ่นหลังต่อไป กระทั่งเมื่อปี 2002 อดัมไปเจอหนังสือ เล่มหนึ่งที่ชื่อว่า The World of LEGO๚ Toys ที่เขียนโดย Henry Wiencek เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวของเลโก้ที่มีมานานกว่า 50 ปี รวมทั้งไอเดียในการใช้ตัวต่อเลโก้สร้างโลกจากจินตนาการ อดัมจึงคิดหาทางที่จะส่งเสริมและยกระดับสถาปัตยกรรมตึกระฟ้าให้เป็นที่รู้จักต่อคนทั่วไปมากขึ้น ด้วยการใช้ตัวต่อเลโก้เป็นสื่อหลัก ขณะนั้นอดัมไม่คิดอะไรมากไปกว่า การใช้ตัวต่อเลโก้เป็นงานอดิเรกที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เยาว์วัย ต่อมาเมื่อพิษฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก งานออกแบบอาคารบ้านเรือนของอดัมได้รับผลกระทบโดยตรงและต่อเนื่องหลายปี ทำให้เขาตัดสินใจปิดบริษัท เปลี่ยนทางเดินจากสถาปนิกรุ่นใหม่ที่รับงานออกแบบบ้านในย่านชานเมืองชิคาโก สู่ศิลปินเลโก้ ผู้ใช้ตัวต่อเลโก้สร้างผลงานจำลองสถาปัตยกรรมดังแห่งโลกอย่างเต็มตัว

หนึ่งปีก่อนที่อดัมตัดสินใจหันหลังให้กับงานประจำที่ทำอยู่ เขามุ่งหน้าเข้าสู่ร้านขายของเล่น Toys “R” US กว้านซื้อตัวต่อเลโก้ (LEGO Brick) จนหมดเงินไปมากถึง 150,000 เหรียญ หากใครแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนเขาที่บ้านในช่วงแรก จะพบว่า ในห้องทำงานขนาด 400 ตารางฟุตของชายหนุ่มวัย 34 ปี เต็มไปด้วยครึ่งหนึ่งของคอลเลกชั่นที่เขากำลัง ทำอยู่ ซึ่งรายล้อมไปด้วยกองตัวต่อเลโก้กว่า 5 ล้าน ชิ้น เป็นตัวต่อเลโก้แบบดั้งเดิมที่เคยผลิตขึ้นครั้งแรก เมื่อกว่า 60 ปีก่อน ที่รู้จักกันดีในนามของ “LEGO Brick” อดัมทำงานอย่างเงียบๆ ไม่ใช่เพราะเขาอาย ที่อายุ 34 แล้วยังเล่นตัวต่อเลโก้อยู่ แต่ด้วยเหตุผลที่เขาต้องการให้งานเขาออกมาสำเร็จสมบูรณ์ที่สุด ดังความหมายของ LEGO ที่เป็นอักษรย่อของคำว่า “leg godt” เป็นภาษาเดนมาร์กที่หมายถึง “Play Well” เล่นให้เต็มที่

ต่อมาในปี 2006 อดัมก่อตั้งกลุ่มแฟนคลับ เลโก้ขึ้นเป็นแห่งแรกในชิคาโก ให้ชื่อว่า Brickworld เป็นการชุมนุมกันของแฟนๆ เลโก้รุ่นใหญ่ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและแสดงผลงานของตนเอง โดยจัดขึ้นทุกปีในชิคาโก หลังจากปีแรก LEGO Groups ได้เห็นผลงานของอดัม จึงมีการติดต่อ เจรจาถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจกัน ในปีต่อมาอดัมจึงก่อตั้งบริษัท BrickStucktures ขึ้นมา เป็นการร่วมมือระหว่าง เลโก้กรุ๊ปกับอดัม ในการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้เครื่อง หมายการค้า LEGO Architecture๚ และอดัมได้รับเกียรติเป็นหนึ่งใน 11 ศิลปินในโครงการ LEGO Certified Professional ของเลโก้กรุ๊ป อย่างเป็นทางการ โดยในปี 2008 LEGO Architecture๚ เปิดตัว Landmark Series ด้วยสองสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญแห่งนครชิคาโกคือ อาคาร Sear และอาคาร John Hancock Center ตามมาด้วยอาคาร Empire State แห่งนคร นิวยอร์ก อาคาร Space Needle แห่งเมือง Seattle อาคาร White House ในวอชิงตันดีซี และอาคารศูนย์ Rockefeller ในนิวยอร์ก ส่วน Architect Series เริ่มด้วย Frank Lloyd Wright Collection มีพิพิธภัณฑ์ Guggenheim ในนิวยอร์ก และบ้าน Fallingwater ในรัฐเพนซิลวาเนียเป็นงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของโลกที่ออกแบบโดย Frank Lloyd Wright บรมครูด้านสถาปัตยกรรม

อดัมใช้เวลาถึง 5 ปีในการสร้างโมเดลสถาปัตยกรรมชื่อดังแห่งโลกถึง 15 ชิ้นด้วยกันและกว่าจะมาเป็น LEGO Architecture๚ ได้นั้น อดัมเริ่มสร้างงานจากสเกลที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 17-20 ฟุต และลดลงมาเหลือประมาณ 8 นิ้วเท่านั้น เพื่อให้ใกล้เคียงความเป็นจริงและสามารถผลิตจำหน่ายเป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสถาปัตยกรรมนั้นๆ ได้

และแน่นอนเพื่อเป็นการเอาใจลูกค้ากลุ่มเดิมของเลโก้ที่ปัจจุบันเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่ที่จะคุ้นเคยกับตัวต่อเลโก้แบบคลาสสิกธรรมดาที่ต้องใช้จินตนาการล้วนๆ ในการต่อเป็นรูปเป็นร่างต่างๆ สำหรับผลงานขนาดใหญ่ที่เขาสร้างเสร็จแล้ว ถูกนำไปจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ โดยล่าสุด ผลงานของอดัมแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมในชิคาโก จนถึงวันที่ 15 มีนาคมนี้ โดยใช้ชื่อว่า “ART + Science = Architecture”

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ LEGO Architecture๚ ถือเป็นตัวส่งเสริมการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของเลโก้ในอเมริกา ที่ปีที่แล้วเพิ่มขึ้นกว่า 5% อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่กลุ่มเลโก้ต้องการเข้ามาทำตลาดในอเมริกาให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน บริษัทเลโก้เคยออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถทำตลาดได้ดีนัก โครงการของอดัมจึงเข้ามาได้ในจังหวะที่ดี ตรงกับเป้าหมายและแนวทางที่ทางกลุ่มเลโก้ต้องการขยายต่อไปในอนาคต

เรียกได้ว่า อดัมได้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการผสมผสานระหว่างทักษะทางด้านศิลปะกับศาสตร์ทางสถาปัตยกรรมที่เขาร่ำเรียนมา ในการสร้างสรรค์ผลงาน อีกทั้งยังเน้นการให้ความรู้ด้านสถาปัตยศาสตร์ต่อสาธารณชนผู้ที่ชื่นชอบสถาปัตยกรรมและตัวต่อเลโก้ควบคู่ไปด้วย เป็นการตอกย้ำว่า ไม่ใช่เพียงของเล่นเด็กเท่านั้นแต่ตัวต่อเลโก้ยังสามารถ ใช้ผลิตผลงานศิลปะที่ซับซ้อนได้ด้วย นอกจากนี้ อดัมกล่าวไว้ว่า ตัวต่อเลโก้เป็นสื่อที่เขาเลือกมา ใช้ในการสร้างงานศิลปะของเขา เสมือนจิตรกร ผู้วาดภาพโดยใช้สีน้ำละเลงป้ายลงบนผืนผ้าใบ ออกมาเป็นภาพจิตรกรรมที่งดงาม หรือศิลปินผู้ใช้เหล็กกล้าในการผลิตงานเชื่อมโลหะ

ผลงานของเขาจึงไม่ได้เป็นเพียงแต่โมเดลจำลองสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่เป็นประติมากรรมชิ้นหนึ่งที่เชื่อมโลกแห่งความเป็นจริงและโลกแห่งจินตนาการเข้าไว้ด้วยกันอย่างแท้จริงเลยทีเดียว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.