การแพทย์แผนทิเบต พุทธธรรมคือยา

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ประสบการณ์ต่อการแพทย์แผนทิเบตของฉันครั้งแรก คือคราวที่ท้องเสียปางตายนอนซมอยู่ในเกสต์เฮาส์เล็กๆ ที่เมืองเคย์ลองในรัฐหิมาจัลประเทศทางตอนเหนือของอินเดีย คราวนั้นชาวบ้านผู้มีเมตตาพาฉันไปหาหมอทิเบต ซึ่งเปิดคลินิกอยู่ใกล้ท่ารถ หลังตรวจชีพจรอยู่ไม่กี่นาที โดยแทบไม่ได้ถามอะไร หมอก็จ่ายยาให้พร้อมกับบอกว่าตามธาตุของฉันแล้วไม่ถูกกับอาหารมัน ถั่วแดง และมันฝรั่ง ซึ่งก็คือจานที่ฉันกินเข้าไปก่อนท้องเสียนั่นเอง

แพทย์แผนทิเบตเป็นการแพทย์แผนเก่าแก่ที่แพร่หลายอยู่เดิมในรัฐต่างๆ ของอินเดีย ซึ่งผู้คนนับถือศาสนาพุทธธิเบต อาทิ แคว้นลาดักในรัฐจัมมู แคชเมียร์ เขตลาฮอล์สปิติในรัฐหิมาจัลประเทศ และรัฐเล็กๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างสิกขิม และอรุณาจัลประเทศ ต่อมาในปี 1959 เมื่อจีนส่งกองทหารเข้ายึดทิเบต ทำให้องค์ทะไลลามะที่ 14 ต้องเสด็จลี้ภัยมาประทับในอินเดีย และมีชาว ทิเบตอพยพตามเข้ามาอีกหลายระลอก การแพทย์แผนทิเบตก็ได้รับการฟื้นฟูและแพร่หลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตามหัวเมืองที่ชาวทิเบตเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ขณะเดียวกันรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตได้ก่อตั้ง The Tibetan Medical and Astrological Institute (Men-Tsee-Khang) ขึ้นในปี 1961 ที่ธรรมศาลา ปัจจุบันมีคลินิกสาขาอยู่กว่า 40 แห่งทั้งในอินเดียและยุโรป

แพทย์แผนทิเบตเป็นองค์ความรู้ที่ประสานอยู่ด้วยหลักอายุรเวทของอินเดีย การแพทย์แผนจีน และหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ตามประวัติแล้วถือกันว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนหลักการแพทย์ไปพร้อมกับหลักธรรมนับแต่ปฐมเทศนาที่สารนาถ ดังที่พระสูตรบางบทจากเทศนาธรรมครั้งที่หนึ่ง สอง และสาม รวมถึงบางส่วนของพระวินัย ถือเป็นหัวใจของตำราแพทย์แผนทิเบตที่เรียกกันว่า Four Tantras (rgyud-bzhi)

เมื่อสำรวจประวัติด้านการแพทย์พบว่ากษัตริย์ของทิเบตนับแต่อดีตมา ล้วนให้ความสำคัญ แก่ศาสตร์แขนงนี้ ดังที่ Songtsen Gampo กษัตริย์ ในช่วงศตวรรษที่ 7 ได้เป็นองค์อุปถัมภ์จัดให้มีการสัมมนาทางการแพทย์ โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยว ชาญจากอินเดีย จีน เปอร์เชียมาแลกเปลี่ยนความรู้กับแพทย์ทิเบต บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่า ครั้งนั้นมีแพทย์จากกรีซมาเข้าร่วมการสัมมนาด้วย ขณะเดียวกันพระมเหสีชาวจีนของพระองค์ยังนำตำราแพทย์แผนจีนมาเผยแพร่ และมีการแปลเป็นภาษา ทิเบต ต่อมาในศตวรรษที่ 8 ทิเบตเป็นเจ้าภาพ การสัมมนาทางการแพทย์อีกครั้ง นอกเหนือ จากแพทย์ทิเบต จีน อินเดีย และเปอร์เชีย ยังมีแพทย์จากเติร์กเมนิสถานตะวันออกและเนปาลมาสมทบ ในช่วงศตวรรษต่อๆ มา แพทย์ทิเบตผู้มีชื่อเสียงหลายท่านยังเดินทางไปศึกษาด้านการแพทย์เพิ่มเติมจากจีนและอินเดีย อาทิ Yuthog Yonten Gonpo ผู้ก่อตั้งสถาบันการแพทย์แห่งแรกของทิเบต ขึ้นในปี 763 และ Rinchen Zangpo ซึ่งถือเป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาระลอกที่สองสู่ทิเบต ก็เดินทางไปศึกษาพุทธธรรมพร้อมกับศาสตร์การแพทย์ที่แคชเมียร์ ในช่วงศตวรรษที่ 10-11

ตามทฤษฎีแพทย์ทิเบต สรรพสิ่งในจักรวาลรวมถึงร่างกายของคนเรา ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งห้า ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และที่ว่าง โดยธาตุแต่ละชนิด มีอิทธิพลเด่นต่ออวัยวะและองค์ประกอบของร่างกาย เช่นที่ดินเป็นธาตุหลักของกระดูกและเซลล์กล้ามเนื้อ น้ำเป็นธาตุหลักของเลือด ลิ้น และประสาทรับรู้รส ไฟควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ผิวพรรณ และประสาทการเห็น ลมเกี่ยวเนื่องกับการหายใจและประสาทสัมผัส สำหรับที่ว่างถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของร่างกายและประสาทการรับเสียง

นอกจากนี้ยังมีหลักของพลังหรือ ‘nyepa’ ในภาษาทิเบต หมายถึงสิ่งที่เป็นโทษหรือเป็นพื้นเดิมของตัวเรา แบ่งออกเป็น 3 ชนิด เรียกว่า ลุง ตริปะ และเปกัน (แปลได้ว่า ลม น้ำดี และเสมหะ) ลุงมีลักษณะเด่นคือ หยาบ เบา เย็น และเคลื่อนไหว ตริปะมีคุณลักษณะร้อน คม กลิ่นฉุน และมัน ส่วนเปกันนั้นเย็น หนัก ทื่อ และเหนียว เมื่อเทียบพลังสามกับธาตุทั้งห้าจะพบว่า ลุงคือธาตุลมและที่ว่าง ตริปะคือธาตุไฟ เปกันคือธาตุดินและน้ำ

กระนั้นการแพทย์ทิเบตมักกล่าวถึงสุขอนามัยของคนไข้จากหลักของพลังสามมากกว่าธาตุทั้งห้า ทั้งมองต้นเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความป่วยไข้ ว่ามีทั้งปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว ปัจจัยระยะยาวก็คืออกุศลจิต โลภ โกรธ หลง ซึ่งมีผลต่อภาวะจิตใจ อารมณ์ ต่อเนื่องมาถึงร่างกาย ปกติแล้วความโลภจะไปกระตุ้นลุง โกรธจะเติมเชื้อแก่ตริปะ และความหลงจะชักนำเปกัน เป็นผลให้เกิดการเสียสมดุลทางจิตและกาย เป็นต้นตอของความป่วยไข้ซึ่งแสดงอาการแตกต่างกันไป ส่วนปัจจัยระยะสั้น ได้แก่ การบาดเจ็บทางกาย การกินอยู่ที่ไม่เหมาะควร การเปลี่ยนแปลงของกาล อากาศ เป็นต้น

สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรค แพทย์จะใช้การสังเกตสภาพร่างกาย ผิวพรรณ สีและลักษณะของปัสสาวะ ประกอบกับการจับชีพจร และซักถามถึงวิสัยการกินอยู่ไปจนถึงสภาวะจิตใจของผู้ป่วย

การหยั่งรู้ของแพทย์แผนทิเบตจากการจับชีพจรชวนให้ฉันอัศจรรย์ใจอยู่เสมอ โดยเฉพาะคราวที่ไปตรวจ สุขภาพที่สิกขิม หมอที่ตรวจครั้งนั้นเป็นแม่ชี อายุยังน้อย แต่ดูใจดีและรอบรู้ หลังจับชีพจรอยู่ครู่หนึ่งเธอถามฉันว่า เคยผ่านการผ่าตัดครั้งใหญ่ใช่หรือไม่ ฉันปฏิเสธ แต่เธอยืนยันว่าร่างกายของฉันเคยได้รับความกระทบกระเทือน ครั้งใหญ่ ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมในร่างกายซีกซ้ายอ่อนแรงไป ซึ่งฉันเองก็สังเกตว่ามือและเท้าข้างซ้ายมักจะเย็นกว่าข้างขวา หลายวันต่อมาฉันถึงนึกขึ้นได้ว่า สองปีก่อนหน้านั้นฉันประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์คว่ำและหัวน็อกพื้นจนสลบไป

ในเรื่องนี้ สามเณรี ดร.เชริง พัลโม แพทย์แผนทิเบต ผู้ก่อตั้ง Ladakhi Nuns Association อธิบายว่า การจับชีพจร เหมือนกับการเฝ้าดูผืนน้ำที่ริมทะเลสาบ ระลอกคลื่นแม้เพียงริ้วเล็กๆ ที่กระเพื่อมมากระทบฝั่ง ก็ช่วยบอกได้ว่าเกิดอะไรอยู่ใต้ท้องน้ำหรืออีกฝั่งฟาก

แพทย์แผนทิเบตมองว่าจิตและกายเชื่อมโยงกัน ดังนั้นการเยียวยาจึงไม่ใช่แค่การรักษาตามอาการ แต่มุ่งที่ต้นตอหรือปัจจัยระยะยาว อย่างการปรับเปลี่ยนวิถีการกินอยู่ ต่อเมื่อไม่ได้ผลหรือจำเป็นต้องบรรเทาความเจ็บป่วยเบื้องต้น แพทย์จึงจะอาศัยวิธีการรักษาอื่น เช่น รักษาด้วยยา อาบน้ำแร่หรือแช่น้ำผสมสมุนไพร การนวด การฝังเข็มแบบทิเบต เป็นต้น

บ่อยครั้ง แทนที่จะจ่ายยาให้คนไข้ แพทย์จะแนะนำให้ทำบุญสงเคราะห์ผู้อื่น และฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือทำควบคู่ไปกับการรักษาทางอื่น เพราะการได้ช่วยเหลือผู้อื่นนอกจากจะทำให้จิตใจเราเบิกบาน ยังเปิดโอกาสให้เราเห็นทุกข์ของผู้อื่น และละวางจากทุกข์หรือความป่วยไข้ของตน ส่วนการปฏิบัติสมาธิภาวนา ย่อมช่วยขัดเกลาจิตลดจริตโลภ โกรธ หลง ทำให้จิตและกายคืนสู่สมดุล ซึ่งถือเป็นรากฐานของสุขภาพที่ดี

และด้วยแนวทางเช่นนี้ ย่อมกล่าวได้ว่าหลักทฤษฎีและยาที่แท้ของการแพทย์แผนธิเบต ก็คือพุทธธรรมนั่นเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.