“สี จิ้นผิง” รัชทายาทแดนมังกร ตอนจบ

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

“ความคิดที่ถูกนำไปใช้ในภาคปฏิบัติหลายอย่างของผม มีรากฐานมาจากช่วงชีวิตในช่วงนั้น (ช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม) และส่งอิทธิพลต่อชีวิตของผมทุกๆ นาที จนกระทั่งปัจจุบัน สิ่งนี้เป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งในการทำความเข้าใจขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวบ้านและสังคม” ---สี จิ้นผิง

แม้จะมีพ่อเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นแรก และถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “เจ้าชาย” ของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ประสบการณ์ตกระกำลำบากและชีวิตสมบุกสมบันในช่วงวัยเด็กที่ต้อง ถูกส่งไปใช้แรงงานในถิ่นทุรกันดารของมณฑลส่านซี เป็นเวลาหลายปีในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของ สี จิ้นผิง ก็ช่วยลบข้อครหาและภาพของความเป็น “คุณชาย” ของเขาได้ชะงัด

ในปี 2545 (ค.ศ.2002) หลังจากสะสมประสบการณ์ในการบริหารมณฑลชายทะเลอย่างฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) มาเป็นเวลายาวนานถึง 17 ปี

สี จิ้นผิง ที่ในเวลานั้นเพิ่งจบการศึกษาด้านวิชาทฤษฎีการเมืองและแนวคิดของลัทธิมาร์กซ์ในสถาบันสังคม ศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิงหัว ทั้งยังมีดีกรีเป็นดอกเตอร์ทางด้านนิติศาสตร์ ก็ออกโบยบินอีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาก้าวขึ้นไปดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลเจ้อเจียง และเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลเจ้อเจียงรักษาการผู้ว่าราชการมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของมณฑลเศรษฐกิจที่อยู่ใกล้มหานคร เซี่ยงไฮ้ และถือว่าเป็นมณฑลชายทะเลที่ประชากรมีฐานะร่ำรวย และเศรษฐกิจดีในระดับหัวแถวของประเทศจีน

จากมณฑลฝูเจี้ยนซึ่งเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงเติบโตอย่างรวดเร็ว สู่มณฑลเจ้อเจียงที่สภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างมีเสถียรภาพ ประชาชนค่อนข้างมีฐานะ ธุรกิจในมือของภาคเอกชนมีความเข้มแข็ง “สี” ต้องพบกับโจทย์ใหม่ในฐานะผู้บริหารมณฑล นั่นคือ เขาไม่เพียงต้องรักษาระดับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเจ้อเจียง แต่ยังต้องรักษาสมดุลให้ระดับคุณภาพชีวิตของประชากรมณฑลเจ้อเจียง พัฒนาขึ้นควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้เขายังต้องต่อสู้กับการฉ้อราษฎร์บังหลวงในหมู่ผู้บริหาร สมาชิก พรรคคอมมิวนิสต์และเจ้าหน้าที่รัฐที่ฉวยโอกาสในช่วงเศรษฐกิจกำลังเติบโตสูง ใช้ตำแหน่งหน้าที่คอร์รัปชั่นสร้างความร่ำรวยให้ตัวเองและครอบครัวอีกด้วย

หลังรับตำแหน่งพ่อเมืองแห่งมณฑลเจ้อเจียง “สี” ประกาศใช้ “ยุทธศาสตร์แปดแปด ” เพื่อขับเคลื่อนมณฑลเศรษฐกิจสำคัญแห่งนี้

ยุทธศาสตร์แปดแปด (Double Eight Strategy) หรือในภาษาจีนคือ “ปาปาจ้านเลี่ยว์” มีนัยสำคัญคือการยึดมั่นในระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม กลไกตลาด โดยใช้จุดเด่นทางภูมิศาสตร์ของเจ้อเจียง ที่มีเขตภูเขาและติดทะเล ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ เพื่อพัฒนาบุคลากรและเศรษฐกิจให้เชื่อมโยงเข้ากับ มหานครเซี่ยงไฮ้ และเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง พร้อมๆ กับการลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างเมืองกับชนบท โดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“แปดตัวแรก หมายถึง จุดเด่นแปดด้าน (ของมณฑลเจ้อเจียง) ส่วนแปดตัวที่สองนั้นหมายถึงวิธีการดำเนินการในแปดด้าน...เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดพัฒนาการและจุดเด่นใหม่ๆ และก้าวขึ้นไปอีกขั้น” สีเคยกล่าวถึงนโยบาย ดังกล่าวไว้กับหนังสือพิมพ์กั๋วจี้จินหรงเป้า (International Finance News) เมื่อต้นปี 2549 ขณะยังรับราชการอยู่ที่เจ้อเจียง

ความสำเร็จจากแผนดังกล่าว ส่งผลให้ในช่วง 5 ปีที่ “สี” บริหารงานมณฑลอยู่นั้น อัตราการเติบโต ทางเศรษฐกิจของมณฑลเจ้อเจียงนั้นสามารถรักษาระดับอยู่ที่ร้อยละ 14 ต่อปีโดยตลอด ขณะที่จากการสำรวจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเจ้อเจียงกลายเป็นมณฑลที่ประชากรมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวสูงที่สุดในประเทศจีน (ไม่นับรวมมหานครอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเทียนจิน) ขณะ ที่ประชากรก็มีอายุยืนยาวขึ้น จนเกิดการรายงานข่าว และมีบทวิเคราะห์ในสื่อต่างประเทศจำนวนมากว่า เจ้อเจียงถือเป็นมณฑลต้นแบบในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของจีน โดยนอกจากนโยบาย รัฐแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันในหมู่คนจีนว่า โดยพื้นฐานแล้วชาวเจ้อเจียงนั้นมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการสูง

ในเรื่องของการปราบปรามการคอร์รัปชั่น ที่กลายเป็นปัญหาที่บ่อนเซาะเสถียรภาพในการปกครองประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ไหนแต่ไรมาตั้งแต่สมัยยังรับราชการอยู่ที่มณฑลฝูเจี้ยน

สี จิ้นผิง ก็ขึ้นชื่อในการเป็น “นักปราบคอร์รัปชั่น” อยู่แล้ว โดยกรณีที่ตกเป็นข่าวใหญ่โตอย่างเช่น การปราบเครือข่ายเจ้าพ่อสินค้าหนีภาษีแห่งเมืองเซี่ยเหมิน “ไล่ ชางซิง” ที่มีมูลค่าของการกระทำผิดมากกว่าห้าหมื่นล้านหยวน และเกี่ยวพันกับข้าราชการของเซี่ยเหมินเกือบทุกระดับชั้น

ด้วยชื่อเสียงเช่นนี้นี่เองทำให้ในเดือนมีนาคม 2550 หลังเกิดกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นของ เฉิน เหลียงอี่ว์ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขา ประจำเซี่ยงไฮ้และหนึ่งในคณะกรรมการกรมการเมือง หรือโปลิตบูโร ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากกรณีอื้อฉาวในการยักยอกเงินหลวง ปกป้องพรรคพวกที่ทำผิดกฎหมาย คอร์รัปชั่น ฯลฯ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สี จิ้นผิง ก็ถูกเลือกให้โยกย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขา ธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเซี่ยงไฮ้แทน

อย่างไรก็ตาม “สี” มีเวลาอยู่ที่เซี่ยงไฮ้เพียง 7 เดือนเท่านั้น เพราะในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 17 เมื่อเดือนตุลาคม 2550 สีก็ได้เลื่อนขั้น ถูกแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 9 ของสมาชิก ถาวรประจำกรมการเมือง อีกทั้งยังได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีในปีถัดมา และในที่สุดก็กลายเป็นว่าที่ผู้นำสูงสุดรุ่นที่ 5 ของจีนในปัจจุบัน

ในส่วนของชีวิตครอบครัว ประเด็นเรื่องภรรยาของสี จิ้นผิงนั้นถูกสื่อมวลชนตะวันตกหยิบ ยกขึ้นกล่าวถึงโดยตลอด โดยหลายครั้งมีการหยอกล้อว่าว่าที่สตรีหมายเลข 1 แห่งแดนมังกรนั้นน่าจะทำให้ผู้นำจีนรุ่นถัดไปไม่ต้องรู้สึกเขินอายอีกต่อไปเมื่อต้องพบปะสังสรรค์กับผู้นำในระดับนานาชาติ หรือต้องอยู่หน้ากล้องของสื่อมวลชนจำนวนมาก

เหตุผลก็คือ ภรรยาของสี จิ้นผิง นาม “เผิง ลี่หยวน” นั้นดำรงตำแหน่งพลตรีหญิงและนักร้องโอเปราประจำกองทัพปลดแอกประชาชนจีนที่มีรูปลักษณ์และชื่อเสียงโด่งดังอย่างยิ่ง จนอาจกล่าวได้ว่า ก่อนหน้านี้ชาวจีนที่เป็นชาวบ้านรู้จัก เผิง ลี่หยวน มากกว่าสามีของเธอเสียอีก

เผิง ลี่หยวน เป็นชาวมณฑลซานตง ปัจจุบันอายุ 48 ปี เข้าร่วมกับกองทัพปลดแอกฯ ตั้งแต่ปี 2523 (ค.ศ.1980) หรือเมื่ออายุ 18 ปีและมีชื่อเสียงโด่งดังเมื่ออายุ 20 ปี เมื่อเธอได้ไปร้องเพลง พื้นบ้านที่ชื่อ “บนผืนดินแห่งความหวัง” ในงานฉลองเทศกาลตรุษจีนในปี 2525 (ค.ศ.1982) ซึ่งออกอากาศไปทั่วประเทศทางสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี

สีกับเผิงพบกันครั้งแรกในปี 2529 (ค.ศ.1986) จากการแนะนำของเพื่อน โดยตอนนั้นสีเป็นสมาชิกหนุ่มรุ่นใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ต้องไปรับหน้าที่ที่เมืองเซี่ยเหมิน ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวง ปักกิ่งมาก ขณะที่เผิงซึ่งอายุน้อยกว่า 9 ปีก็เป็นนักร้องสาวดาวรุ่งประจำกองทัพ แต่หนุ่มสาวทั้งคู่ก็ถูกอกถูกใจกันและรักษาความสัมพันธ์เรื่อยมา จนในที่สุดตกลงแต่งงานกันที่เซี่ยเหมินในวันที่ 1 กันยายน 2530 (ค.ศ.1987)

อย่างไรก็ตาม ด้วยภารกิจที่รัดตัวของทั้งคู่และการที่ทำงานอยู่คนละเมือง-มณฑล ทำให้กว่าที่ทั้งสองจะมีทายาทก็ต้องรออีก 5 ปีถัดมา โดยทายาทของทั้งคู่เป็นผู้หญิงชื่อ สี หมิงเจ๋อ (มีชื่อเล่นว่า “เสี่ยวมู่จื่อ”)

ดร.โรเบิร์ต ลอเรนซ์ คุน ที่ปรึกษาของรัฐบาลจีน และผู้เขียนหนังสือขายดีหลายเล่มเกี่ยวกับผู้นำจีน เช่น The Man Who Changed China: The Life and Legacy of Jiang Zemin, How China’s Leaders Think วิเคราะห์ถึงสี จิ้นผิง รัชทายาทแดนมังกรคนนี้ไว้ว่า “สีมีแนวคิดคล้ายๆ กับพ่อของเขา (สี จ้งซุน) คือเป็นผู้ที่สนับสนุนการปฏิรูประบบเศรษฐกิจแบบตลาดของจีน เน้นประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและการเปิดตลาดเสรี โดยเขามีประวัติยาวนานในการสนับสนุนภาคเอกชน นอกจาก นี้เขายังได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ตัวแทนของผู้ประกอบการและชนชั้นกลางจีนที่กำลังเติบโต’ อีกด้วย”

เมื่อทราบประวัติของสี จิ้นผิงแล้ว ท่านผู้อ่าน เห็นเหมือนผมไหมครับว่า อนาคตผู้นำจีนรุ่นที่ 5 ผู้นี้ไม่ธรรมดาและน่าจับตามองจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม:
- ความท้าทายของผู้นำรุ่นที่ 5 นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2552


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.