เปิดแนวคิดฮอนด้าคาร์สจับความหลากมาทำตลาด


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยมีศักยภาพที่เข้มแข็ง ประชาชนมีอำนาจในการต่อรองเลือกซื้อสินค้าคุณภาพเยี่ยม ในราคาที่สมเหตุสมผล ดังนั้น ฮอนด้า ซีวิค วีเทค 1995 จึงนับเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิของฮอนด้าคาร์ส์ ที่ประกอบรถยนต์ร่วมสมัยขึ้นมารับใช้ประชาชนชาวไทยเพิ่มขึ้นอีก 1 รุ่น"

ถ้อยคำที่ดูหนักแน่นและจริงจังของนายซาอิซิโร ฟูจิเอะ ประธานบริษัท ฮอนด้าคาร์ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ครั้งเปิดตัวฮอนด้า ซีวิค วีเทค ประกอบในประเทศเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2538

แท้จริงแล้วการเปิดตัวฮอนด้า ซีวิค วีเทค ประกอบในประเทศน่าจะเรียกว่าเป็นตอกย้ำนโยบายหลักในเชิงการตลาดของฮอนด้าคาร์ส์ที่พยายามป้อนผลิตภัณฑ์เข้าตลาดรถยนต์นั่งเมืองไทย ให้ครบรุ่นหรือหลากหลายมากที่สุด เหนือกว่ายี่ห้อใดที่มีอยู่ในตลาดรถยนต์นั่งเมืองไทยในปี 2538

นายไซโตะ รองประธานบริษัทผู้ดูแลส่วนขายกรุงเทพฯ ยอมรับว่าเป็นความตั้งใจของบริษัทที่จะนำสินค้ามาป้อนลูกค้าในทุกระดับสำหรับตลาดรถยนต์นั่งเมืองไทย ซึ่งถือเป็นผู้หนึ่งที่มีรถยนต์นั่งป้อนตลาดมากรุ่นรุ่นที่สุดในราวเดือนมิถุนายน 2538 จะนำเข้ารถยนต์นั่งกึ่งแวน รุ่นโอเดสเซ ซึ่งใช้เครื่องยนต์ตัวเดียวกับแอคคอร์ด 2200 ซีซี มาจำหน่ายในไทย และเดือนมีนาคมปี 2539 จะทำการประกอบรถยนต์นั่ง 4 ประตูขนาดเล็กเครื่องยนต์ 1300 ซีซี ในโรงงานที่อยุธยาเพื่อออกจำหน่ายในไทยและส่งออกต่างประเทศ

"ถ้าถามว่าครบทุกไลน์ตามความต้องการของตลาดหรือยัง คงต้องตอบว่า ณ ขณะนี้เราเข้าใจว่าเราสามารถป้อนลูกค้าได้ทุกระดับ แต่อนาคตขึ้นอยู่กับลูกค้าเองว่าความต้องการจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อาจจะมีการนำรถยนต์นั่งที่ยังไม่เคยมีการทำการตลาดในไทยเข้ามาทำก็ได้ ยกตัวอย่างรถยนต์นั่งที่โครงสร้างเป็นรถยนต์นั่งจริงๆ ขนาดเครื่องยนต์ 1000 ซีซี ซึ่งถือเป็นรถยนต์นั่งที่เล็กมาก" นายไซโตะกล่าว

นับจากเดือนกรกฎาคม 2534 หลังจากเมืองไทยเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์นั่งสำเร็จรูป เป็นผลให้บริษัทรถยนต์ต่างๆ ต้องปรับทิศทางกันเป็นการใหญ่เพื่อรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ฮอนด้าคาร์ส์จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้น ที่จะต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์ และเตรียมรับเหตุการณ์ในอนาคต

การรุกเข้าสู่ตลาดรถยนต์นั่งเมืองไทยของฮอนด้าในยุคแรกนั้น ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ด้วยรุ่นรถเพียง 2 รุ่นเท่านั้น คือ แอคคอร์ด และซีวิค ซึ่งสภาพการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อมาอีกหลายปี จนกระทั่งการเปิดเสรีรถยนต์นั่งนำเข้าเกิดขึ้น

แผนการสร้างศักยภาพรอบด้านให้ชัดเจน โดดเด่น ตอบรับลูกค้าได้ถึงที่สุด ถูกร่างขึ้นทันทีเช่นกัน

ยุทธศาสตร์สำคัญของวงการค้าหรืออุตสาหกรรมรถยนต์อยู่ที่ภาคการผลิตและภาคการตลาด ผู้ประกอบการรายใดก็ตามสามารถบริหารสองส่วนนี้ให้โดดเด่น ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้ก็ยากที่จะล้มเหลว

ในภาคการผลิตชัดเจนว่าฮอนด้าคาร์ส์ ก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบรถยนต์นั่งในเมืองไทยอย่างเต็มตัวแล้ว ด้วยโรงงานประกอบรถยนต์ 2 แห่งในปี 2538 คือ โรงงานบางชันเยนเนอเรล เอสเซมบลี และโรงงานฮอนด้าคาร์ส์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) กับอีกหนึ่งแห่งที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะเริ่มผลิตชิ้นส่วนตัวถังในตุลาคม ปี 2538 และคาดว่าจะเริ่มประกอบรถยนต์ในราวเดือนมีนาคม 2539

โรงงาน 2 แห่ง ทำการประกอบแอคคอร์ด และซีวิค ที่จำหน่ายในตลาดเมืองไทย ณ ปี 2538 ส่วนอีกหนึ่งเป็นโครงการที่วางไว้เพื่อรถยนต์นั่ง ภายใต้ชื่อที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "อีเอคาร์" ซึ่งฮอนด้าคาร์ส์ภาคภูมิใจมากเนื่องด้วยจะเป็นระยนต์นั่งที่เริ่มต้นผลิตครั้งแรกในประเทศไทยและอาจเป็นแห่งเดียวเพื่อส่งออกจำหน่ายในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน อินโดจีน หรือเอเชียใต้ และอาจรวมถึงตะวันออกกลาง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ฮอนด้าคาร์ส์จะทำการผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศไม่เฉพาะจำหน่ายในเมืองไทย หลังจากเข้าสู่ตลาดรถยนต์เมืองไทยมาถึง 11 ปีเต็ม

ด้านการตลาด ฮอนด้าคาร์ส์นับเป็นผู้ค้ารายที่เติบโตและโดดเด่นมาก นอกจากแผนการปรับโครงสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายจากระบบสาขามาเป็นการผสมผสานระบบดีลเลอร์หรือตัวแทนจำหน่ายเข้าไว้ หรือนโยบายการบุกตลาดต่างจังหวัดมากขึ้นด้วยเครือข่ายราว 100 แห่งทั่วประเทศแล้วยังคงต้องยอมรับว่าการเติบโตในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพราะ นโยบายด้านผลิตภัณฑ์ที่ได้ผลโดยเฉพาะการเปิดตลาดใหม่ที่สะท้านวงการ

ชัดเจนที่สุดคือการเปิดตัวฮอนด้า ซีวิค 3 ประตู รถยนต์นั่งขนาดเล็ก ด้วยราคาที่สั่นสะเทอนวงการและถือเป็นการปลุกตลาดรถยนต์ระดับนี้ให้กลับคืนชีพขึ้นมา ขณะที่บริษัทคู่แข่งกลับมองข้ามไป ที่ฮอนด้าทำเช่นนี้ได้เนื่องจากเตรียมตัวมาอย่างรอบคอบ จึงทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ต่ำลง ซึ่งมาช่วยหนุนภาคการตลาด

ฮอนด้าคาร์ส์มักมีวิถีความคิดที่ต่างออกไป ฮอนด้าคาร์ส์มองตลาดรถยนต์นั่งเมืองไทยว่ายังมีอีกหลายช่องทางที่ผลิตภัณฑ์จะแทรกตัวเข้ามาได้และถ้าช่องทางไหนมีอยู่ ก็มักจะหาหนทางว่าจะปลุกตลาดนั้นอย่างไร ตัวอย่างชัดเจนคือ ซีวิค 3 ประตูที่ฮือฮามาก ขณะที่ยักษ์ใหญ่ของวงการรถยนต์เมืองไทยขณะนั้นยังมองพลาดไปและถือเป็นความผิดพลาดอย่างมากที่ทำให้ฮอนด้าคาร์ส์เติบใหญ่ได้เพียงนี้

นโยบายนำรถมาจำหน่ายให้มากรุ่นก็เช่นกัน เป็นวิถีคิดที่แตกออกไปซึ่งก็คงต้องใช้เวลาพิสูจน์ว่า ทิศทางนี้ถูกต้องหรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือในแต่ละรุ่นนั้นตลาดมักเติบโตด้วยตัวของมันเอง ขึ้นอยู่กับว่าจะบริหารผลิตภัณฑ์อย่างไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.