Wangari Maathai


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

“ผู้หญิงมีส่วนอย่างมากในการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม”

กว่า 30 ปีมาแล้ว ที่ Wangari Maathai เป็นคนริเริ่มแนวคิดการใช้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจกระตุ้นให้ผู้หญิงในชนบทและเกษตรกรปลูกต้นไม้บนที่ดินของพวกเขา เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปี 2004 Maathai ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ จากผลงานของเธอในองค์กร Green Belt Movement องค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรที่จัดตั้งขึ้นโดย Maathai เอง ในประเทศบ้านเกิดของเธอ เคนยา

Maathai จะอธิบายว่า การเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิงสามารถช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศได้อย่างไร

อะไรคือแรงบันดาลใจแรกที่ทำให้คุณเกิดความคิดที่จะก่อตั้ง Green Belt Movement

ฉันโตมาจากชนบท และเห็นปัญหาที่กระทบกับผู้หญิงในชนบทมาจนคุ้นเคยดี การที่ชาวบ้านต้องการแต่จะปลูกพืชเพื่อการค้า จึงตัดโค่นต้นไม้อื่นๆ ทิ้งไปหมด ทำให้หน้าดินถูกกัดเซาะพังทลายและถูกซัดไปกับแม่น้ำ ทำให้ผู้หญิงไม่มีน้ำสะอาดใช้ แต่หากคุณมีต้นไม้อยู่ในที่ดินของคุณ ต้นไม้จะช่วยหยุดการไหลของน้ำได้ เมื่อนำน้ำนั้นมาใช้และรักษามันให้อยู่บนหน้าดินได้ คุณจะได้ผลผลิตสูงสุด แต่ถ้าน้ำนั้นไหลทิ้งไปหมด ก็จะสร้างความเสียหาย และคุณจะจบลงด้วยความหิวโหยและไม่อาจเก็บเกี่ยวผลผลิตใดๆ ได้

ปัญหาเหล่านี้กระทบกับผู้หญิงอย่างไร

การตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม กระทำโดยรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ผู้หญิงกลับเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมมากที่สุด ถ้าไม่มีน้ำ ผู้หญิงต้องเป็นคนไปหาน้ำมาให้ได้ ถ้าไม่มีฟืนก็ผู้หญิงอีกเช่นกัน ที่ต้องเป็นคนไปหามาให้ได้ ส่วนผู้ชายสามารถเอาตัวรอดได้ง่ายๆ ด้วยการหนีไปหางานทำในเมือง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงจะต้องรู้จักเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง หาความรู้ใส่ตัว และลงมือทำ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบและปรับปรุงนโยบายให้ดีกว่าเดิม

คุณทำให้คนปลูกต้นไม้ได้อย่างไร

ที่จริง การทำให้ชาวไร่ชาวนาปลูกต้นไม้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความยากอยู่ที่ทำอย่างไรเมื่อพวกเขาปลูกต้นไม้แล้ว จะทำให้พวกเขาโค่นมันในวันรุ่งขึ้น คุณต้องบอกกับชาวบ้านว่า ถ้าพวกเขาปลูกต้นไม้และดูแลมัน พวกเขาจะได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน จากนั้นเราจึงพยายามให้ความรู้กับชาวไร่ชาวนา เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรของตัวเอง หากเขาไม่ดูแลดินให้ดี และเสียมันไปเมื่อฝนตกลงมา พวกเขาจะโทษรัฐบาลไม่ได้ แต่เป็นเพราะตัวของพวกเขาเองที่ไม่ยอมดูแลดินให้ดี

โครงการต่อไปของคุณคืออะไร

ฉันร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งไนโรบี (University of Nairobi) ก่อตั้งศูนย์ที่มีชื่อว่า Wangari Maathai Institute for Peace and Environment Studies หลังจากที่มีคนมากมายจากทั่วโลกต้องการเรียนรู้ว่า Green Belt Movement มีวิธีระดมพลังชุมชนอย่างไร ฉันตั้งใจว่าจะใช้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ดึงคนหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัยและจากฟาร์มเกษตร ให้มาเรียนรู้จากการลงมือทำจริงๆ ที่นี่ ในแอฟริกามีคนมากมายที่มีการศึกษา แต่ไม่เคยใช้การศึกษานั้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ เราได้รับการศึกษาแบบที่สอนให้เรานั่งและคอยให้คนอื่นมาจ้างงานเรา แต่ไม่มีความสามารถมากพอที่จะเป็นนักสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเอง โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเราเอง ที่นี่เราจะเน้นการสร้างผู้หญิงให้เป็นผู้นำด้วย และไม่เพียงในแอฟริกาเท่านั้น แต่เลยออกไปจากแอฟริกาด้วย

มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง นับตั้งแต่องค์กรของคุณเริ่มก่อตั้งมา

ฉันได้เห็นการปฏิวัติด้านจิตสำนึก ว่าเราจะต้องปกปักรักษาสิ่งแวดล้อม รัฐบาลและชุมชนสัญญาจะเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน แต่โชคร้าย ที่เรามีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ทำให้ความต้องการที่ดินและการผลิตอาหารพุ่งสูงขึ้น รัฐบาลถูกผลักดันให้ต้องเอาใจใส่กับความต้องการของประชาชนที่เร่งด่วนกว่า

และผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ผู้หญิงได้รับโอกาสในการศึกษา แม้กระทั่งในประเทศที่กดขี่อย่างเคนยา สังคมมุสลิมไม่ส่งเสริมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ แต่ขณะนี้จำนวนผู้หญิงที่ได้ไปโรงเรียนมีมากขึ้น

คุณคิดว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างในช่วง 10 ปีข้างหน้า

ฉันหวังว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจที่พึ่งคาร์บอนไปเป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานของการใช้พลังงานทางเลือก และฉันมองเห็นโอกาสที่ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงนั้น ฉันเห็นผู้ชายเปลี่ยนแปลงไป เริ่มยอมรับผู้หญิงมากขึ้น และเห็นด้วยว่า ผู้หญิงสมควรมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.