ผู้นำหญิงกับการแก้ปัญหาโลกร้อน


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัญหาภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงหรือเรียกง่ายๆ ว่า ปัญหาโลกร้อน เคยเป็นประเด็นที่โลกให้ความสำคัญมากที่สุดเพียงเมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่แล้วปัญหาโลกร้อนกลับถูกกลบความสำคัญไปเพราะปัญหาวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีชนวนจากฟองสบู่แตกในตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพของสหรัฐฯ (subprime)

ประธานาธิบดี Barack Obama ของสหรัฐฯ พับเก็บร่างกฎหมายพลังงานสะอาดขึ้นหิ้ง และเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับการผลักดันร่างกฎหมายสวัสดิการสุขภาพและการสร้างงาน

แม้แต่นายกรัฐมนตรีหญิง Angela Merkel แห่งเยอรมนี ผู้เคยได้ชื่อว่าเป็น “วีรสตรีแห่งสิ่งแวดล้อม” จากการเป็นผู้นำในการประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อน ก็ยังกลับลำถอยหลัง และหันไปให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเยอรมนีแทน

การประชุมแก้ปัญหาโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนเมื่อปีที่แล้ว นับได้ว่าเป็นการประชุมที่ล้มเหลว จำนวนรถในจีนกลับเพิ่มมากขึ้น เป็นประวัติการณ์ และจีนยังลงทุนในอภิมหาโครงการพัฒนาที่ทำให้ หมู่บ้านหายไปทั้งหมู่บ้าน สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้แก่ ชนบทและสร้างความผิดหวังอย่างยิ่งแก่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะถูกทำให้สำคัญน้อยกว่าปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของชาติตะวันตก หรือความทะยานอยากในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไม่รู้จักอิ่มของชาติกำลังพัฒนา แต่บรรดาผู้นำการเมืองยังคงตระหนักดีว่า ระบบนิเวศของโลกที่กำลังแบกภาระหนักเกินไป คือระเบิดเวลาที่อาจระเบิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

พวกเขายังตระหนักดีว่า ปัญหาโลกร้อนอาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจที่พวกเขาให้ความสำคัญมากกว่าได้ ผู้นำโลกซึ่งรวมถึงผู้นำหญิงในหลายประเทศ จึงกำลังเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการจัดสมดุล ระหว่างการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความจำเป็นที่จะต้องปกปักรักษาทรัพยากรของโลกที่มีอยู่เพียงจำกัด

ประเทศที่ต้องประสบความลำบากในการจัดสมดุลระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์อย่างจังคือบราซิล ปัญหานี้ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในบราซิล ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการชิงชัยระหว่างผู้สมัครหญิง 2 คน

แม้แต่นักการเมืองบราซิลเองยังต้องประหลาดใจ เมื่อ Marina Silva ผู้สมัครประธานาธิบดีหญิงจากพรรคอนุรักษ์ Green Party ของบราซิล ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งถึงร้อยละ 19 ซึ่งทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสอง และทำให้ผู้สมัครหญิง ที่ได้รับการหนุนหลังอย่างเต็มที่จากประธานาธิบดี Luiz Inacio Lula da Silva ต้องหมดโอกาสได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดในรอบแรก ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้ว Dilma Rousseff ก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสองไปตามคาดหมายก็ตาม

นักการเมืองหญิงชั้นนำทั้งสองของบราซิล ขัดแย้งกันในเรื่องการพัฒนาและการอนุรักษ์มาตั้งแต่ปี 2008 เมื่อ Silva ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมในรัฐบาลของประธานาธิบดี Lula เพราะขัดแย้งเรื่องโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและการบุกรุกพื้นที่ป่า กับรัฐมนตรีหลายคนรวมถึง Rousseff ที่ต้องมาชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกของบราซิลกันในครั้งนี้

โดย Rousseff ต้องการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิล และสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกถั่วเหลืองบุกรุกผืนป่า Amazon ส่งผลให้อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในบราซิลพุ่งสูงลิ่ว หลังจากที่เคยลดต่ำติดต่อกันมานานหลายปี

การที่ Silva ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากเกินคาด ส่งผลให้ Rousseff ต้องเพิ่มนโยบายสิ่งแวดล้อมลงไปในนโยบายของเธอ และต้องให้สัญญาว่าจะลดการทำลายป่าฝน Amazon ซึ่งได้ชื่อว่า เป็น “ปอดของโลก” แต่ Rousseff ว่าที่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของบราซิล จะสามารถอนุรักษ์ Amazon ไปพร้อมๆ กับรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิลได้หรือไม่นั้น จะเป็นตัวตัดสินความสามารถในการเป็นประธานาธิบดีของเธอต่อไป

Angela Merkel ผู้นำหญิงของเยอรมนี เคยได้รับการขนาน นามเป็น “วีรสตรีแห่งสิ่งแวดล้อม” “นางฟ้าแห่งการอนุรักษ์” จากการที่เธอให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นอันดับแรกๆ ของปัญหาโลก และตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนอย่างสูง Merkel ยังทุ่มลงทุนในพลังงานที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ และอ้างว่าสามารถสร้างตำแหน่งงานด้านสิ่งแวดล้อมได้หลายแสนตำแหน่ง พร้อมกับยืนยันว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควรถูกมองว่าเป็นการลงทุน ทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการลดก๊าซเรือนกระจก ดูมีเหตุมีผลในเชิงธุรกิจ

แต่เพียง 3 ปีให้หลัง หลังจากถูกกดดันอย่างหนักจากภาค อุตสาหกรรมของเยอรมนี ซึ่งวิตกว่าจะเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศที่ไม่สนใจแก้ปัญหาโลกร้อนมากเท่ากับเยอรมนี Merkel ถึงกับกลับลำเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เธอเคยประกาศไว้ โดยประกาศยกเว้นภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงของเยอรมนี ออกจากการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้กระทบกับการส่งออกของเยอรมนี ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตจากการส่งออกเป็นหลัก

Merkel ยังเปลี่ยนมาคัดค้านเป้าหมายที่เรียกว่า “20/20/20” ซึ่งเธอเองเคยผลักดันมาตั้งแต่ปี 2007 เป้าหมายดังกล่าวคือการที่ยุโรปจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% และเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ 20% ภายในปี 2020 วิธีหนึ่งที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ คือโครงการคาร์บอนเครดิต (carbon credit) ของยุโรป ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้ธุรกิจต้องจ่ายเงินชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะต้องเริ่มจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวในปี 2013 แต่ Merkel กลับประกาศว่า อุตสาหกรรมในเยอรมนีจะได้รับคาร์บอนเครดิตฟรีจนถึงปี 2020

การกลับลำของ Merkel ทำให้ประเทศอื่นๆ ถือโอกาสทำ ตามและต่อต้านโครงการคาร์บอนเครดิต ที่กำหนดให้บริษัทต้อง จ่ายเงินชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (2010) Merkel ยังสร้างความโกรธแค้นให้แก่พรรคอนุรักษ์ Green Party ของเยอรมนี ด้วยการประกาศยืดอายุโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ของเยอรมนีออกไป จากที่เคยสัญญาว่าจะยกเลิกในปี 2022

แม้ Merkel จะถอดใจกับการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนไปแล้ว แต่ยังมีผู้นำหญิงอีกคนที่ก้าวเข้ามาแทนที่ นายกรัฐมนตรี Julia Gillard แห่งออสเตรเลียกำลังผลักดันโครงการค้าคาร์บอน แม้ว่าเรื่องนี้เกือบทำให้เธอต้องปราชัยในการเลือกตั้ง และเคยทำให้ Kevin Rudd ต้องตกกระป๋องจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียมาแล้ว ในขณะที่ Rudd เน้นเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน ว่าเป็นประเด็นทางศีลธรรม อย่างเช่นการพยายามช่วยชีวิตปะการัง ที่กำลังจะตาย

แต่ Gillard หันไปเน้นคุณค่าทางเศรษฐกิจ หากสามารถทำให้การลดการปล่อยคาร์บอนกลายเป็นการค้าได้ รวมทั้งเน้นให้เห็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ประชาชนอาจได้รับ หากไม่ยอมทำอะไรเลยเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน เช่นประชาชนอาจต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงลิบลิ่วในอนาคต และการสูญเสียตำแหน่งงานในด้านพลังงานสะอาดไปให้แก่ต่างประเทศ

Gillard ถือว่าการทำให้คาร์บอนเป็นการค้า เป็นการปฏิรูป เศรษฐกิจภายในของออสเตรเลียเอง ล่าสุด นายกรัฐมนตรีหญิงออสเตรเลียผู้นี้เพิ่งประกาศว่า เกษตรกรออสเตรเลียจะได้รับคาร์บอนเครดิตจากการกระทำที่เป็นการอนุรักษ์เช่นการปลูกต้นไม้ และสามารถนำคาร์บอนเครดิตนี้ไปขายให้แก่บริษัทหรือแม้แต่รัฐบาลในประเทศ อื่นๆ ที่จะต้องจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพวกเขา

แนวคิดตลาดค้าคาร์บอนเครดิตโลกโดนใจผู้นำหญิงอีกคนคือ ประธานาธิบดี Ellen Johnson Sirleaf แห่งไลบีเรีย ซึ่งเป็น ประเทศกำลังประสบปัญหาหนักทั้งทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศ เนื่องจากไลบีเรียยังคงต้องฟื้นฟูบูรณะประเทศจากสงคราม กลางเมือง ที่กินเวลานานหลายทศวรรษกว่า จะยุติลง สงครามกลางเมืองได้ทำลายภาคการเกษตรของไลบีเรียจนหมดสิ้น และยังทำลายป่าของไลบีเรียอย่างยับเยิน

Sirleaf ได้รณรงค์ให้ความรู้กับเกษตรกรไลบีเรีย เพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าอาหาร และจัดตั้ง “สวนสันติภาพ” เพื่อปกป้องป่า Gola ซึ่งนับว่าเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ชาญฉลาด เพราะจะทำให้ไลบีเรียมีสิทธิ์ได้รับรางวัลจากโครงการ REDD ของสหประชา ชาติ ซึ่งมีจุดประสงค์จะให้รางวัลในรูปของคาร์บอนเครดิตและอื่นๆ แก่ชาติกำลังพัฒนาที่ลงมือปกป้องผืนป่า ทั้งนี้ ประเด็นปัญหา ต่างๆ เกี่ยวกับโลกร้อนได้ถูกนำมาหารือในการประชุมสุดยอดปัญหาโลกร้อนของสหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2010) ด้วย

ผู้นำหญิงอีกคนที่เริ่มโดดเข้าร่วมวงการแก้ปัญหาโลกร้อน คือ Sonia Gandhi หัวหน้าพรรค Congress ของอินเดีย ที่เพิ่งติดธงให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติของอินเดีย พอๆ กับปัญหาเศรษฐกิจ และหวังว่าผู้นำโลกคนอื่นๆ จะเลือกเดินตามรอยนาง Gandhi หรือ Gillard หรือ Sirleaf มากกว่า Merkel

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.