|
ผู้ส่งออกน้ำตาลโลกกดดันให้เปิดเสรี
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลในตลาดโลก ชี้นโยบายของหลายประเทศที่อุดหนุนหรือกีดกันการนำเข้าน้ำตาล ส่งผลให้ปัญหาน้ำตาลโลกตึงตัวทวีความรุนแรงขึ้น เหตุการเคลื่อนย้ายน้ำตาลไม่ทันกับความต้องการของผู้บริโภค เรียกร้องรัฐบาลแต่ละประเทศเร่งหาข้อสรุปเปิดเสรี
กลุ่มพันธมิตรน้ำตาลโลกเพื่อการปฏิรูปและการเปิดเสรีการค้าน้ำตาล หรือ GSA ได้ส่งเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาลในประเทศต่างๆ หลังการประชุมครั้งล่าสุดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของผู้นำกลุ่ม G20 ให้เจรจาการค้ารอบโดฮาบรรลุข้อสรุป
เอียน แกลซ์ซัน ประธานคนใหม่ของกลุ่ม GSA และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม Sucrogen กล่าวว่า ปัญหาการกีดกันทางการค้าของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ที่เข้ามาแทรกแซงการนำเข้าและส่งออกน้ำตาลทำให้การเคลื่อนย้ายน้ำตาลไปยังที่ต่างๆ ไม่ทันตามความต้องการของผู้บริโภคของแต่ละประเทศ มีผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ดังนั้น การดำเนินนโยบายทางการค้าเกี่ยวกับสินค้ากลุ่มน้ำตาลจะต้องมีการเปิดเสรี เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถบริหารจัดการเพื่อรองรับกับความต้องการบริโภคน้ำตาลในแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กรณีของประเทศอินเดียได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพราะอินเดีย มีโครงสร้างการบริหารจัดการที่เปิดให้มีการส่งออก ในกรณีที่มีปริมาณการผลิตมากพอสำหรับความต้องการภายในประเทศ และสามารถนำเข้าน้ำตาลทรายได้หากได้รับผลกระทบจากฤดูการผลิตที่ทำให้ปริมาณน้ำตาลไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของประเทศ อินเดียมีศักยภาพในการส่งออกที่มั่นคง ซึ่งต่างจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ที่แม้ผลิตน้ำตาลเพื่อการส่งออกได้ แต่มาตรการปกป้องโครงสร้างการอุดหนุนภายในเป็นปัจจัยถ่วง ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปไม่มีความเข้มแข็ง
“ในประเทศที่เจริญแล้ว ภาครัฐไม่ควรอุดหนุนหรือกีดกันทางการค้าสำหรับน้ำตาลหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ เพราะการแทรก แซงของภาครัฐที่ไม่ได้สะท้อนถึงกลไกของตลาด ไม่สะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริง จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผลผลิตน้ำตาล ล้นตลาด และทำให้ราคาน้ำตาลผันผวน ทั้งยังไม่ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืนทั่วทั้งโลกได้และไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการปริมาณน้ำตาลที่คาดว่า จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 40 ตันในช่วงทศวรรษข้างหน้านี้” เอียนกล่าว
ประธานกลุ่ม GSA กล่าวอีกว่า การแทรกแซงและควบคุม อุตสาหกรรมน้ำตาลดังกล่าว ยังส่งผลต่อการนำน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอล เนื่องจากกลไกทางราคาที่ถูกบิดเบือนจากโครงสร้าง ภาษีนำเข้าและอุปสรรคการค้าที่มิใช่ภาษี มีผลต่อการพัฒนาตลาดเอทานอลโลก และความสามารถของอุตสาหกรรมในการมี ส่วนช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน และเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ ทางกลุ่ม GSA จึงเรียกร้องให้ผู้นำโลกดำเนินนโยบาย ยกเลิกการอุดหนุนการส่งออก ลดการบิดเบือนการอุดหนุนภายในประเทศ เพื่อให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดความต้องการในการผลิต และความต้องการบริโภคน้ำตาล จะทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลและเอทานอลเดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|