สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์ มาเร็วและมาแรงตามเป๊ปซี่อินเตอร์


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์" เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงการตลาดมากขึ้น นับตั้งแต่ปลายปี 2536 หลังจากที่เขาได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท เป๊ปซี่ โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (PCI) ให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด ดูแลผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และบรรจุภัณฑ์ใหม่ในตลาดประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แทน อภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งถูกเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด หลังจากที่ ชาลี จิตจรุงพร ลาออกไปเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เรมี่ (ประเทศไทย) จำกัด

แต่นับจากปี 2538 ชื่อของสุรินทร์คงจะเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกันมากขึ้นไปอีกเนื่องจากเมื่อปลายปี 2537 เขาถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก ตำแหน่งหนึ่งของ PCI เพราะต้องดูแลรับผิดชอบด้านการตลาดให้กับ 3 ผลิตภัณฑ์หลักอย่างเป๊ปซี่ มิรินด้า และเซเว่นอัพ

สาเหตุที่ทำให้สุรินทร์ถูกเลื่อนตำแหน่งครั้งนี้ เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญของบริษัทแม่ คือ เป๊ปซี่ โคล่า อิงค์ ที่ต้องการรุกธุรกิจขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย จึงได้มีการจัดตั้งบริษัท เป๊ปซี่ โค ฟู้ดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นมารับผิดชอบการทำตลาดขนมขบเคี้ยวชนิดเค็มอย่างมันฝรั่งเลย์และข้าวโพดทอดกรอบซีโตส โดยโยกย้ายอภิรักษ์มาเป็นกรรมการผู้จัดการ

ว่ากันว่าการได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วของสุรินทร์ครั้งนี้ ทำให้นักการตลาดบางคนที่เคยทำงานที่ PCI แต่ชิงลาออกไปก่อนถึงกับบ่นด้วยความเสียดายว่า "ถ้ายังอยู่ผมก็คงสบายไปแล้ว" ให้ได้ยิน

เพราะถ้าเทียบกับอภิรักษ์ซึ่งถือว่าฮือฮาเพราะก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดอย่างรวดเร็วแล้ว ยังเทียบไม่ได้กับสุรินทร์ เพราะอภิรักษ์ยังใช้เวลาที่ PCI กว่า 3 ปี ขณะที่สุรินทร์ขึ้นมาภายในเวลาเพียง 1 ปี ต่างกันเพียงว่าอภิรักษ์ต้องรับผิดชอบดูแลตลาดอินโดจีนด้วย แต่สุรินทร์รับผิดชอบเฉพาะตลาดประเทศไทยเท่านั้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสุรินทร์จะมีประสบการณ์ในตลาดน้ำอัดลมน้อย แต่ถ้าพิจารณาปูมหลังกันแล้วจะพบว่าพื้นฐานของสุรินทร์มิได้เป็นรองใคร เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมิดเดิล เทนเนสซี่ สเตท สหรัฐฯ

ก่อนที่จะเข้ามาร่วมงานกับ PCI สุรินทร์ได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานด้านการตลาดที่บริษัท ลีเวอร์ บราเธอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ 6 ปี โดยเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้แก่ลีเวอร์ ผลงานที่โดดเด่นของเขา คือ การนำไอศกรีมวอลล์ออกสู่ตลาดในปี 2531 และนั่งเก้าอี้ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเป็นตำแหน่งสุดท้าย

สำหรับที่ PCI ในฐานะ "ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด" ภารกิจที่สำคัญที่สุรินทร์จะต้องผลักดันให้ลุล่วงในปี 2538 เพื่อพิสูจน์ความสามารถก็คือ การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นเป๊ปซี่ มิรินด้า หรือเซเว่นอัพ ซึ่งเป็นแนวทางการรุกตลาดตามแผนแม่บทที่บริษัทแม่กำหนดไว้ให้กับทุกประเทศ

โดยในส่วนของผลิตภัณฑ์เป๊ปซี่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เดียวของบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดเหนือกว่าคู่แข่งนั้นจะเปิดฉากรุกตลาดด้วยแคมเปญโฆษณาชุด "แรกรัก" ที่มีซินดี้ ครอฟอร์ด เป็นพรีเซ็นเตอร์ ก่อนที่จะตามมาด้วยเรื่อง "บัส" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความน่ารักและเฉลียวฉลาดของคนรุ่นใหม่ในช่วงฤดูร้อน

นอกจากการโฆษณาแล้วในปี 2538 เป๊ปซี่จะใช้กลยุทธ์ "มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง" เข้ามาช่วยรุกตลาดอย่างเข้มข้นชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้การสนับสนุนการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินดนตรีจากต่างประเทศ ซึ่งในปี 237 เป๊ปซี่ให้การสนับสนุนคอนเสิร์ตจากต่างประเทศเฉลี่ย 6 สัปดาห์ต่อ 1 คอนเสิร์ต แต่ในปี 2538 เพิ่มความถี่เป็น 4 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้งหรือเฉลี่ยเดือนละ 1 คอนเสิร์ต โดยเป๊ปซี่ได้จับมือกับบริษัท เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด จัดแคมเปญ "เป๊ปซี่ มิวสิค โฟร์ ยู 1995"

ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อให้กลยุทธ์มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง ครบวงจรมากขึ้น เป๊ปซี่ยังจะให้การสนับสนุนการสร้างสรรค์สื่อบันเทิงทุกชนิดของบริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น จำกัด ทั้งนี้เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมฟังเพลงไทยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เป๊ปซี่ให้การสนับสนุนศิลปินไทย

ส่วนการประกวดร้องเพลงซึ่งเคยจัดในชื่อ "เป๊ปซี่ มิวสิค เฟสติวัล" ก็จะดำเนินการต่อไปแต่เปลี่ยนชื่อไปเป็น "เป๊ปซี่ โรบินสัน มิวสิค เฟสติวัล"

สรุปแล้วปี 2538 เป๊ปซี่จะใช้เงินในการจัดรายการมิวสิก มาร์เก็ตติ้งทั้งสิ้นประมาณ 30-40 ล้านบาท เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ การตอกย้ำความเป็นเจ้าตลาดน้ำดำและเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจาก 57% เป็น 60% ภายในปี 2538

สำหรับมิรินด้าและเซเว่นอัพซึ่งเป็นตลาดที่ยังเป็นรองคู่แข่งอย่างแฟนต้าและสไปรท์อยู่หลายขุมนั้น เป๊ปซี่ก็จะเดินหน้ารุกตลาดนี้อย่างเต็มตัว เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและเป็นตลาดแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยในส่วนของมิรินด้านั้นจะขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้นมาอยู่ระหว่างอายุ 15-24 ปีรวมทั้งวางตำแหน่งสินค้าให้นึกถึงส้มนึกถึงมิรินด้า

กิจกรรมแรกตามกลยุทธ์การตลาดใหม่ของมิรินด้า คือ แคมเปญโฆษณาใหม่ 3 เรื่องที่มี "มิรินด้าแมน" 3 คนเป็นตัวเอกทำหน้าที่สื่อแนวคิดหลัก คือความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความสดชื่น ความฉลาด และการมีความคิดสร้างสรรค์ของมิรินด้าแมน

ด้านเซเว่นอัพซึ่งมุ่งกลุ่มเป้าหมายชายหญิงอายุ 12-29 ปี ก็ได้มีการปรับบรรจุภัณฑ์ใหม่ โดยได้ยกเลิกการใช้ตัวการ์ตูน ไฟโด้ ดิโด้ ที่อยู่คู่กับเซเว่นอัพมานานไปเป็นลวดลายกราฟิกทันสมัยแทนก่อนที่จะนำภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ 2 เรื่อง คือ "Beach" และ "Waterfall" ออกฉายเช่นกัน

แผนการเดินหน้าหาส่วนแบ่งตลาดเพิ่มของค่ายเป๊ปซี่ในปี 2538 นอกจากจะเป็นการรักษาตลาดประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของเป๊ปซี่เอาไว้แล้วยังน่าจะเป็นข้อสอบที่วัดความสามารถของแม่ทัพใหม่อย่าง "สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์" ได้เป็นอย่างดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.