|

ส่องกล้องปี 2554 รพ.ภาคตะวันออก
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 มกราคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
นพ.พิชิต กังวลกิจ
หลังจากจับมือกันอย่างเป็นทางการสำหรับเครือโรงพยาบาลกรุงเทพกับพญาไท ทำให้ภาพธุรกิจโรงพยาบาลโดยเฉพาะภาคตะวันออกเปลี่ยนจากการแข่งขันเป็นความร่วมมือกัน เพราะโรงพยาบาลเอกชนภาคตะวันออกปัจจุบันมีเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ กรุงเทพ สมิติเวช และพญาไท
ดังนั้น โค้งสุดท้ายปลายปีนี้จากที่ธุรกิจโรงพยาบาลจะต้องแข่งขันกันก็เปลี่ยนเป็นความร่วมมือแทน แต่ความร่วมมือยังมิอาจเปิดเผยได้ คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือนเพื่อทำความตกลงร่วมกันก่อน
แต่สำหรับ “โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา” แล้ว แม้วันนี้จะยังไม่รู้ถึงความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ร.พ.กรุงเทพพัทยาจะทำจากนี้ไปก็สำคัญไม่แพ้กัน คือการเป็น Health Destination หรือจุดหมายสุขภาพที่คนทั่วโลกต้องมาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอความงาม แอนไทเอจจิ้ง การทำฟัน การตรวจสุขภาพ การรักษาโรค ฯลฯ
“เราวางวิชั่นของตัวเองที่จะเป็นเมืองสุขภาพในแผนที่โลก” นพ.พิชิต กังวลกิจ ผู้อำนวยการ ร.พ.กรุงเทพพัทยา กล่าว
เครื่องมือใหม่สร้างฐานลูกค้า
นพ.พิชิต กล่าวว่า การจะเป็น Health Destination ได้ ร.พ.กรุงเทพจะต้องมีเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้นำ “Ice Lab” เครื่องที่ใช้สำหรับบำบัดความเจ็บปวดจากประเทศเยอรมนี โดยใช้ความเย็นเป็นตัวบรรเทาความเจ็บปวด คลายเครียด ปรับสมดุลสมอง ถือเป็นเครื่องแรกในอาเซียน เครื่องมือดังกล่าวจะมีอุณหภูมิถึง -100 องศาเซลเซียส โดยผู้รับบำบัดจะเข้าไปบำบัดในเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นจะบำบัดด้วยเพลงอีกครั้ง ซึ่งจะเปิดให้บริการเดือนมีนาคม 2554 นี้
โดยกลุ่มเป้าหมายมีทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือนักกีฬาที่ต้องการลดอาการเจ็บปวดจากการเล่นกีฬา ซึ่ง ร.พ.กรุงเทพเป็นผู้สนับสนุนสโมสรพัทยายูไนเต็ดอยู่แล้ว นอกจากเครื่องมือใหม่ๆ ความชำนาญด้านศูนย์การแพทย์ที่ ร.พ.กรุงเทพพัทยามีความชำนาญ คือ ด้านสมอง กระดูกและข้อ และหัวใจ ยังถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
ทั้งนี้ ปี 2554 ศูนย์หัวใจจะมีการนำเครื่องมือที่เรียกว่า IVUS เพื่อทำหน้าที่ตรวจเช็กการใช้บอลลูนขยายเส้นเลือดได้ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของภาคตะวันออกที่มีเครื่องมือดังกล่าว
ส่วนด้านสมองจะมีการนำเครื่องมือที่ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีอาการผิดปรกติด้านการนอนกรน เป็นลมชัก ทางเดินหายใจอุดตัน เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ฯลฯ เข้ามารักษา โดย ร.พ.จะมีแพทย์ที่ชำนาญด้านนี้จบจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาร่วมงานในปี 2554
ด้านศูนย์กระดูกและข้อมีความร่วมมือกับศูนย์แพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพในเรื่องของเครื่องมือในการผ่าตัดซึ่งมีความถูกต้องแม่นยำ เครื่องมือผ่าตัดแผลขนาดเล็ก นอกจากนี้ จะมีการนำเครื่องวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะซึ่งสามารถตรวจสอบได้ด้วยลมหายใจ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่แตกต่างจากอดีต ที่ถ้าต้องตรวจมะเร็งกระเพาะจะต้องใช้การส่องกล้องเพื่อเอาเชื้อมาวิเคราะห์
นอกจากทั้ง 3 ศูนย์ที่ ร.พ.กรุงเทพพัทยามีความชำนาญแล้ว ร.พ.ยังชำนาญศูนย์การมีบุตรยากซึ่งให้บริการแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการทำอิกซี่ หรือเทคโนโลยีใหม่ต่างๆ ที่สำคัญค่ารักษาที่ถูกกว่าต่างประเทศทำให้ต่างชาตินิยมเข้ามารักษาที่ รพ.
“ถ้าเทียบกับยุโรปเราถูกกว่า 5 เท่า เทียบกับอเมริกาถูกกว่า 9-10 เท่า เทียบกับสิงคโปร์ถูกกว่า 1 เท่า ส่วนมาเลเซียราคาพอๆ กัน แต่สิ่งที่ทำให้ต่างชาตินิยมมาใช้บริการที่ไทยเพราะราคาไม่สูง การรักษาระดับนานาชาติ และบริการแบบไทย”
โดยสัดส่วนผู้ป่วยของโรงพยาบาลเป็นต่างชาติ 40% หรือปีละกว่า 100,000 คน คนไทย 60% ทั้งนี้ สัดส่วนของต่างชาติจะเข้ามาเพื่อรักษาโรค 70% ความงาม ทันตกรรม 30% ทำให้รายได้ของ ร.พ.กรุงเทพพัทยา ติด 1 ใน 5 ของโรงพยาบาลทั้งประเทศ คาดว่าสิ้นปี 2553 จะมีรายได้ 2,500 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2552 12% ส่วนปี 2553 คาดว่าจะมีรายได้ 2,800 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา 13% คาดว่าปี 2554 จะได้กำไร 13%
4 จุดเด่นสร้างชื่อ ร.พ.
สำหรับจุดเด่นที่ทำให้ ร.พ.กรุงเทพพัทยา สามารถทำรายได้ติด 1 ใน 5 ของ ร.พ.ทั้งประเทศ คือ 1.ความที่พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว และชาวต่างชาตินิยมเข้ามาเที่ยว 2.ร.พ.มีการพัฒนาด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ 3.ร.พ.ได้รับมาตรฐาน JCI (Joint Commission International) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ต่างชาติรู้จักเป็นอย่างดี และเป็นมาตรฐานการดูแลสุขภาพอันส่งผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ใช้บริการ 4.ค่าใช้จ่ายไม่แพง
“ร.พ.กรุงเทพพัทยา เป็นหนึ่งในไม่กี่ ร.พ.ที่ได้รับมาตรฐาน JCI มาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่บริษัทประกันรู้จักเป็นอย่างดี ทำให้ ร.พ.ได้รับการยอมรับจากต่างชาติเป็นอย่างมาก”
เมื่อมองถึงการแข่งขันของ ร.พ.ภาคตะวันออก แล้ว ในมุมมองของ นพ.พิชิต มองว่า การแข่งขันไม่รุนแรง เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลจับกลุ่มคนละกลุ่มกัน โดย ร.พ.กรุงเทพจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงสูง และชาวต่างชาติ หรือโรคที่ต้องการการรักษาโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ขณะที่ ร.พ.พญาไทจะรับรักษาโรคทั่วไป ผู้ป่วยประกันสังคม ส่วน ร.พ.สมิติเวช รับรักษาผู้ป่วยที่ต้องการแพทย์ที่มีความสามารถสูงๆ
นอกจากนี้ หลังจากที่เครือโรงพยาบาลกรุงเทพได้จับมือกับพญาไทแล้วการแข่งขันก็ไม่มี แต่จะเป็นการประสานความร่วมมือกันมากกว่า เพียงแต่ความร่วมมือจะเป็นรูปแบบใดยังไม่สามารถบอกได้ ต้องรออีก 2 เดือนข้างหน้า
ปากต่อปากกลยุทธ์สำคัญ
สำหรับกลยุทธ์สำคัญในการทำตลาดคือกลยุทธ์ปากต่อปากถึง 70% ส่วนอีก 10% มาจากเอเยนซี และอีก 20% มาจากทางออนไลน์
“เรามีบริการรับผู้ป่วยถึงสนามบิน และมีเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์อยู่ใน ร.พ.เพื่อให้ญาติของผู้ป่วยได้พัก ที่สำคัญเรามีล่ามถึง 30 ภาษาซึ่งสามารถสื่อสารกับผู้ป่วย และติดต่อบริษัทประกันต่างประเทศได้อย่างชำนาญ”
นอกจากนี้ ในปีหน้าจะทำ Health Promotion หรือการค้นหาคนที่มีความเสี่ยงจะเป็นผู้ป่วยเพื่อให้เขาได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ โดยได้ซื้อซอฟต์แวร์สำหรับทำ PHM (Personal Health Management) ที่ชื่อ Seve l เข้ามาใช้ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 1 ปี 2554 นับเป็นการทำตลาดเชิงรุกอย่างหนึ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|