2553 ปีทองเกรย์มาร์เกต ทีเอสแอลฟันยอดพันคัน


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 มกราคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

2553 ปีทองของตลาดรถยนต์นำเข้าอิสระ หรือเกรย์มาร์เกต และรถยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังเป็นเมอร์เซเดส-เบนซ์ แม้จะต้องแข่งขันกับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย แต่ด้วยความคล่องตัวที่มากกว่า ส่งผลให้เบนซ์ในตลาดเกรย์มาร์เกตได้รับความนิยมสูง ขณะที่ตลาดหลักยังอยู่ที่รถยนต์อเนกประสงค์ หรือเอ็มพีวี โดยเฉพาะทีเอสแอลประกาศความสำรวจด้วยตัวเลขทะลุ 1,000 คัน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากบรรดาเกรย์มาร์เกตรายย่อย และเกรย์เกิดใหม่อีกมากมาย

ความคล่องตัวจากการนำเข้ารถยนต์อิสระ ทำให้การแข่งขันระหว่างผู้นำเข้ารถยนต์อิสระในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก วัดได้จากปริมาณการเปิดตัวเกรย์มาร์เกตรายใหม่ๆ ที่มีขึ้นทั่วกรุงเทพฯ และส่วนใหญ่ จะมีเพียงโชว์รูมเท่านั้น ไม่มีบริการหลังการขาย ส่งผลให้เกรยร์รายเล็กเหล่านี้ แข่งขันได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ขณะที่เกรย์มาร์เกตรายใหญ่เองพยายามสร้างจุดขายในด้านศูนย์บริการ และบริการหลังการขาย เพื่อให้แตกต่างจากบรรดารายเล็กที่เกิดขึ้นมาในตลาดตลอดช่วงปีนี้

ทีเอสแอล ออโต้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หนึ่งในเกรย์มาร์เกตรายใหญ่ เผยว่า ในปีนี้คาดว่ายอดขายน่าจะเข้าเป้าหมายที่วางไว้คือ 1,000 คัน ซึ่งเป็นผลจากการทำแผนการตลาดพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า หรือ CRM (Customer Relation Management) ผ่านกิจกรรม และบริการต่างๆ

“ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดในด้านการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการทุ่มเทแรงกายและกำลังสมองพร้อมทั้งงบประมาณในการสรรหาสิทธิประโยชน์มากมายให้กับลูกค้าของเรา ส่งผลให้ลูกค้าเพิ่มความเชื่อถือและมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับทีเอสแอล” สุรีย์ภรณ์ อุดมผลวณิช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท ทีเอสแอลฯ กล่าว

แม้ว่าในปีนี้จะมีบรรยากาศทางเศรษฐกิจของโลกที่ถดถอยและการเมืองในประเทศที่ไม่แน่นอน แต่ภาพรวมของทีแอสแอลยังคงไปได้สวย ปิดตัวเลขยอดจองตลอดปี 2553 ด้วยจำนวน 1,080 คัน โดยมียอดส่งมอบ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 จำนวนทั้งสิ้น 825 คัน เพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน 127 คัน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 30% โดยแบ่งสัดส่วนตามประเภทรถได้ดังนี้ รถประเภท MPV มีสัด ส่วนเป็น 55% SUV มีสัดส่วน 12% ส่วน Sedan มีสัดส่วนเป็น 9% City Car มีสัดส่วนเป็น 18% และ Super Car มีสัดส่วนเป็น 6% จากยอดส่งมอบทั้งหมด และคาดว่า ณ สิ้นปีนี้ จะสามารถส่งมอบรถได้ 1,000 คัน ตามที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนยอดจองที่เหลือน่าจะส่งมอบภายในไตรมาสแรกของปี 2554

อย่างไรก็ดี แม้ตลาดรถยนต์กลุ่มอเนกประสงค์ หรือเอ็มพีวี จะครองสัดส่วนที่มากกว่า แต่ในตลาดรถยนต์นั่งนั้น รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นรถยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดเกรย์มาร์เกต เนื่องจากตลาดรถหรูเหล่านี้มีความต้องการที่หลากหลาย แม้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จะพยายามเปิดตลาดรถยนต์นำเข้ามาแข่งขันด้วย แต่ความคล่องตัวของผู้นำเข้าอิสระ ทำให้สามารถส่งรถให้กับลูกค้าในเวลาที่รวดเร็วกว่า และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดเกรย์เหล่านี้มีการเติบโตสูงในปีนี้ ซึ่งคาดกันว่า ปริมาณตลาดรถยนต์นำเข้าอิสระในปีนี้อาจสูงเกือบ 5,000 คันเลยทีเดียว

ด้าน สุรีย์ภรณ์ กล่าวอีกว่า กลยุทธ์ทางการตลาดในด้านอื่นๆ ตลอดปี 2553 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดแคมเปญโปรโมชั่นที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างลงตัว สินค้ารุ่นล่าสุดส่งมาให้ลูกค้าได้เลือกสรรก่อนใคร รวมถึงการออกโรดโชว์ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ลูกค้ารู้จักทีเอสแอลมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จอีกอย่าง คือ การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้า กิจกรรม CRM ในปี 2553 ทีเอสแอลใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 12 ล้านบาท เพิ่มสิทธิพิเศษในชื่อ “มิราเคิล คาร์ด” เอกสิทธิ์เฉพาะลูกค้าทีเอสแอลเท่านั้น ทั้งส่วนลดในการเข้ารับบริการศูนย์บริการ SMRT การสำรองที่จอดรถในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรือจะเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษต่างๆ ที่ TSL จัดขึ้น ได้แก่ เทศกาลภาพยนตร์ การอบรมเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมเวิร์กชอปอีกมากมายตลอดทั้งปีแล้ว ขณะเดียวกันเพื่อสื่อสารกับกลุ่มสมาชิก “มิราเคิล แมกกาซีน” จึงเป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างบริษัทกับลูกค้าผู้มีอุปการคุณ เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย สนองตอบความต้องการทุกไลฟ์สไตล์ พร้อมสรรหาสิทธิพิเศษที่เพิ่มเติมให้แก่ลูกค้าคนพิเศษตลอดเวลา

ส่วนบริการหลังการขายนั้น ก็พัฒนากันต่อเนื่อง ที่ผ่านมานั้นทีเอสแอล ใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาทต่อปี เพื่อสร้าง SMRT ให้เป็นศูนย์บริการเฉพาะด้านสำหรับรถยนต์นำเข้าที่ครบวงจรด้วยเครื่องมืออันทันสมัย ล่าสุดบริษัทฯ ได้เปิดบริการใหม่ล่าสุด “พีรวีส มาสเตอร์” หรือ PIWIS MASTER ศูนย์บริการตรวจเช็กและซ่อมบำรุง สำหรับรถปอร์เช่โดยเฉพาะ ด้วยระบบคอมพิวเตอร์วิเคราะห์ข้อมูลระบบการทำงานของตัวรถ ดังนั้น ลูกค้าผู้มารับบริการจึงมั่นใจได้ถึงมาตรฐานการซ่อมบำรุงแบบเดียวกับศูนย์บริการปอร์เช่ ที่ประเทศเยอรมนี

นอกจากนี้ ทีเอสแอลยังเพิ่มกิจกรรมในส่วนของ CSR เน้นการสร้างประโยชน์ต่อสังคม โดยพุ่งเป้าไปที่การให้ความสำคัญด้านการศึกษา และต้องการมีส่วนร่วมในการสนับสนุน พัฒนาคุณภาพของเยาวชนไทยที่ยังขาดโอกาส ภายใต้โครงการที่ชื่อ ทีเอสแอล แชร์ริ่ง เลิฟ (TSL Sharing Love) เป็นการมอบทุนการศึกษาให้กับเยาวชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการนี้ทีเอสแอลสนับสนุนทุนไปแล้วทั้งสิ้น 76 ทุน ใช้งบประมาณไปกว่า 3 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.