สหวิริยาขายคอมพ์อย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"มีอุตสาหกรรมไหนบ้างภายใน 10 ปีราคาลดลง 10 เท่า ความสามารถเพิ่มขึ้น 10 เท่า ผมขายพีซี 1 ชุดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ด้วยราคา 250,000 บาท แต่วันนี้ราคาลดลงเหลือ 25,000 บาท แถมความสามารถยังสูงกว่าอีก"

คำกล่าวของ แจ็ค มิน ชุน ฮู ประธานกรรมการบริษัทสหวิริยา โอเอ จำกัด สะท้อนถึงสภาวะของตลาดของธุรกิจคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

แม้ว่ามูลค่าตลาดคอมพิวเตอร์โดยรวมจะเติบโตขึ้น แต่ผลกำไรจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ลดต่ำลงสวนทางกับต้นทุนการดำเนินงานที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา กลายเป็นภาวะบีบรัดที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถทำธุรกิจในแนวเดิมได้อีกต่อไป

สหวิริยาเคยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในธุรกิจค้าผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ในลักษณะซื้อมาขายไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ในห้วงปี 2538 สหวิริยาไม่สามารถดำเนินธุรกิจในลักษณะนั้นได้อีกต่อไป

"ในอดีตเราสามารถทำรายได้เติบโตปีละ 200% นั่นเพราะตลาดยังเล็กอยู่ แต่เราจะไม่มีวันมีรายได้เติบโตได้ถึง 100-200% อีกต่อไป หากผมรอกินบุญเก่า และในที่สุดผมจะตาย"

สหวิริยาได้ลงมือจัดทัพใหม่ ด้วยการแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่มตามลักษณะของลูกค้าแทนการแบ่งองค์กรตามประเภทสินค้าเช่นในอดีต ซึ่งสายธุรกิจใหม่นี้ จะครอบคลุมตั้งแต่ลูกค้าระดับตั้งแต่คอนซูเมอร์ ตลอดจนองค์กรธุรกิจขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ และลูกค้าต่างประเทศ

กลุ่มธุรกิจแรก คือ ไอที เทอร์มินัล โพรดักส์ จะมุ่งเจาะขยายลูกค้าคอนซูเมอร์โดยเฉพาะ ผลิตภัณฑ์ภายใต้ความรับผิดชอบของกลุ่มนี้ จะครอบคลุมตั้งแต่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อุปกรณ์ต่อพ่วงทุกชนิด อุปกรณ์สื่อสาร ตลอดจนผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่สหวิริยาและบริษัทในเครือเป็นตัวแทนจำหน่าย

การขยายช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อกระจายสินค้าถึงมือลูกค้าให้เร็วที่สุด คือสิ่งที่สหวิริยาจะต้องเร่งผลักดันมากที่สุด เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการทำตลาดสินค้าประเภทคอนซูเมอร์ที่มีมูลค่าตลาดมหาศาล แต่กำไรมีเพียงเล็กน้อย

นอกจากร้านโอเอเซ็นเตอร์ และมินิโอเอ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแขนขาแล้วนั้น สหวิริยาเตรียมผุดซูเปอร์สโตร์ เพื่อเป็นแขนขาอีกประเภทหนึ่งในการกระจายสินค้า

เป้าหมายของธุรกิจในกลุ่มนี้จึงเป็นการ "รักษาฐานธุรกิจในอดีตให้ดำรงอยู่ ด้วยเป้ายอดรายได้รายได้ 4,000 ล้านบาท

ธุรกิจกลุ่มที่สอง คือ ซิสเต็มส์ อินทิเกรชั่น จะมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีประเภทองค์กรขนาดใหญ่ ยุทธวิธีทางธุรกิจจึงแตกต่างไปจากกลุ่มธุรกิจแรก โดยจะเป็นการเสนอขายระบบงานคอมพิวเตอร์แบบครบวงจร ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่การจำหน่ายการออกแบบและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการฝึกอบรมที่ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ

แม้ว่าฐานตลาดของธุรกิจประเภทนี้จะมีขนาดไม่ใหญ่เท่ากับธุรกิจแรก แต่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตไปได้ด้วยดี เพราะความต้องการของลูกค้าในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ อีกทั้งผู้ประกอบการยังสามารถแสวงหารายได้เสริมจากการออกแบบ ติดตั้ง และการฝึกอบรม ซึ่งจะเป็นส่วนที่สร้างผลกำไรให้กับผู้ค้าได้มากกว่าการขายฮาร์ดแวร์เสียอีก

กลุ่มธุรกิจที่ 3 โทรคมนาคม และพับลิคเซอร์วิส กลุ่มนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองทิศทางการสร้างโครงข่ายทางด่วนข้อมูล (Information Superhighway)

สหวิริยาขยับสู่ธุรกิจทางด้านโทรคมนาคมนานแล้ว แต่ยังไม่มีบทบาทในด้านบริการเท่าใดนักธุรกิจของสหวิริยาในด้านนี้จึงเป็นเพียงแค่ตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารปลายทางเท่านั้น

จนกระทั่ง กสท.เปิดเสรีบริการวีแซท จึงได้กลายเป็นโอกาสทองของสหวิริยา ซึ่งในครั้งนี้สหวิริยา ซึ่งในครั้งนี้สหวิริยาได้จับมือกับธนาคารกสิกรไทย, เอเซอร์ และอิโตชู ยื่นขอสัมปทานและมีกำหนดเปิดให้บริการราวเดือนสิงหาคม 2538

สำหรับบริการวิทยุคมนาคม วีเอชเอฟและยูเอชเอฟเป็นบริการสื่อสารชนิดที่ 2 ที่ได้รับอนุมัติจาก กสท.แต่เป้าหมายธุรกิจทางด้านนี้ยังไม่ชัดเจนเท่ากับบริการวีแซทเนื่องจากเป็นบริการเฉพาะด้านและลูกค้าจำกัด

บริการวีแซทจึงเป็นบันไดขั้นแรกของสหวิริยาที่จะก้าวเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมอย่างจริงจัง และถือเป็นทางออกให้กับสหวิริยาในการสร้างมูลค่าเพิ่มของบริการ

กลุ่มธุรกิจที่ 4 อินเตอร์เนชั่นแนล และแมนูแฟคเจอริ่ง เป้าหมายธุรกิจในกลุ่มนี้ คือการสร้างอาณาจักรธุรกิจในต่างประเทศ และการมีโรงงานประกอบเครื่องพีซี ซึ่งสหวิริยาได้ริเริ่มนโยบายนี้มานานแล้ว และปี 2538 จะบุกขยายอย่างจริงจัง

เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา คือ 4 ประเทศแรกที่สหวิริยาจะบุกขยายตลาดในปีนี้ เพื่อทำตลาดผลิตภัณฑ์หลัก 2 ชนิด คือ พรินเตอร์แอปสัน และพีซีเอเซอร์

สหวิริยาไม่ได้หวังเพียงแค่มีบทบาททางการตลาดเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการตั้งโรงงานประกอบสินค้าแบบเคลื่อนที่ เพื่อกระจายสินค้าไปยังลูกค้าให้เร็วที่สุด

"เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เปลี่ยนเร็วมาก กระบวนการแข่งขันจึงขึ้นอยู่กับว่าใครจะส่งของให้ลูกค้าได้เร็วกว่ากัน"

ธุรกิจในสายที่ 5 คือ เอ็ดดูเทนเมนต์ หรือสาระบันเทิง ที่เป็นเส้นทางธุรกิจสายใหม่ ที่สหวิริยาเชื่อว่าจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต เพราะจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าประเภทคอนซูเมอร์ได้ง่ายที่สุด

เป้าหมายของสหวิริยาในธุรกิจนี้ คือการผสมผสานความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ในรูปแบบของศูนย์บันเทิงครบวงจร ภายใต้ชื่อโครงการซิเนโทโพลิส

ทั้งหมดนี้คือเส้นทางสายใหม่ของสหวิริยาที่แจ็คยืนยันว่าไม่ใช้การ "รีเอ็นจิเนียริ่ง" แต่เป็นทางเดินก้าวใหม่ในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.