สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อิมพีเรียลเวิลด์ในมิติ "พันธมิตรข้ามชาติ"


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทลาดพร้าวพลาซ่า จำกัด เดินผ่านเศษกองอิฐกองไม้และพื้นปูนที่ยังไม่เรียบร้อยดี เพื่อตรวจตรางานก่อสร้าง "ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์" อย่างละเอียด โดยคาดหวังว่า โครงการแห่งนี้จะเปิดให้บริการได้ในเดือนเมษายน 2538

นอกเหนือจากความยิ่งใหญ่บนพื้นที่ 38 ไร่ และใช้เงินลงทุนถึง 8 พันล้านบาทแล้ว ศูนย์การค้าแห่งนี้เปรียบเสมือนผลงานชิ้นเอกของตระกูล "กิจเลิศไพโรจน์" เพราะนับเป็นการผสมผสานมุมมอง การบริหารและการสร้างพันธมิตรจำนวนมากในความหมายใหม่ที่พลิกภาพพจน์เดิมๆ ของห้างอิมพีเรียลที่ถูกมองว่าเป็นห้างสำหรับกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงไป

สงครามกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ตัวเขารวมไปถึงผู้บริหารศูนย์การค้าแห่งอื่นๆ มีภารกิจที่เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนคือ นอกเหนือจากสร้างตัวศูนย์การค้า บริหารห้างสรรพสินค้า ขายพื้นที่และบริหารส่วนร้านค้าย่อยแล้วภารกิจที่เพิ่มขึ้นอีกคือ การสร้าง "แม่เหล็ก" เพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งนับวันจะวิจิตรพิสดารเพิ่มขึ้นทุกที

แต่ที่น่าสนใจคือรายได้จาก "แม่เหล็ก" ซึ่งสงครามกล่าวว่าแม้เงินลงทุนจะสูงก็จริง แต่เงินสะพัดทุกวัน อีกทั้งคืนทุนเร็วมาก ภายใน 2-3 ปี แต่หลังจากนั้นอาจต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างความแปลกใหม่

ขณะที่ตัวห้างนั้นเป็นรายได้แบบเรื่อยๆ ส่วนร้านค้าย่อยนั้น เจ้าของศูนย์จะได้เป็นเงินค่าเช่าเซ้งก้อนโตซึ่งเป็นกำไรขั้นต้นและช่วยลดต้นทุนค่าก่อสร้าง

"แม่เหล็ก" ที่ว่านี้หมายถึงบรรดาสวนสนุก-สวนน้ำ และศูนย์บันเทิงต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้าซึ่งในอดีต "แม่เหล็ก" มีความหมายเพียงแค่เป็นส่วนเสริม แต่ส่วนเสริมที่ว่านี้กลายเป็นธุรกิจทำเงินที่ต้องลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ไปแล้ว

"แม่เหล็ก" ในอิมพีเรียลเวิลด์น่าสนใจเพิ่มขึ้นเมื่อสงครามจริงจังกับธุรกิจนี้มาก โดยร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ และใช้พื้นที่ขนาดมหาศาลหลายชั้น

ตระกูล "กิจเลิศไพโรจน์" มีสายสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่น "วิชัย กิจเลิศไพโรจน์" น้องชายคนเล็กเป็นนักเรียนญี่ปุ่นและใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมากกว่า 20 ปี เขานำธุรกิจผลิตของเด็กเล่น ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของตระกูลร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่ของเล่นในญี่ปุ่น "บันได" ผลิตของเด็กเล่นส่งออกปีละกว่า 1 พันล้านบาท

การเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในโอกาสต่อมาจึงไม่ใช่เรื่องยาก

สงครามจับมือกับ "อิโตชู" ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจบันเทิงที่หลากหลายของญี่ปุ่นเพื่อสร้างลานไอซ์สเกตฮอลล์ รับกับความบันเทิงประเภทนี้ที่ความนิยมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อิโตชูซึ่งมาปักหลักอยู่สำนักงานย่านสาทรเหนือเคยร่วมทุนกับกลุ่มสหวิริยาเพื่อทำธุรกิจบันเทิงครบวงจรมาก่อน การมาร่วมกับอิมพีเรียลเวิลด์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจของพวกเขาเท่านั้น

ฝ่ายสงครามในนามบริษัทลาดพร้าวจะถือหุ้นในโครงการนี้ 51% ฝ่ายอิโตชู 30% ซึ่งนำพันธมิตรมาด้วยอีก 2 รายคือ สหกรุ๊ปและบริษัทสิ่งทอรายหนึ่งมาถือหุ้นด้วยอีก รวม 19%

อีก "แม่เหล็ก" หนึ่งคือ "สวนสนุกไฮเทค" ซึ่งสงครามจับมือกับยักษ์ใหญ่โลกแห่งเกมนั่นคือนั่นคือ "เซก้า"

ในเมืองไทยเซก้ามีชื่อเสียงด้านตู้เกมหยอดเหรียญซึ่งแม้จะถูกกล่าวหาว่าผิดกฎหมายแต่ก็เห็นเกลื่อนเมือง การมาครั้งนี้ของเซก้า มาอย่างไฮเทคกว่านั้น

สงครามกล่าวว่าในญี่ปุ่นเซก้ามีศูนย์บันเทิงไฮเทคโดยเฉพาะ ซึ่งไม่มีตู้เกม แต่เป็นเกมที่คล้ายคลึงกับโรงภาพยนตร์แบบ "ซีมูเลเตอร์" คือเคลื่อนไหวเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง แต่มีขนาดสำหรับผู้เล่นจำนวนน้อย จนถึงจำนวน 50 คน

"สวนสนุกแบบเดิมจะเหมาะสำหรับเด็กเล็กๆ เท่านั้น และบางส่วนดูล้าสมัยไปแล้ว ในอนาคตสวนสนุกที่จะประสบความสำเร็จคือสวนสนุกที่ใช้เทคโนโลยีนำ" สงครามกล่าวอย่างเชื่อมั่น

เฉพาะเครื่องเล่นสงครามกล่าวว่าต้องใช้ถึง 300 ล้านบาท และรวมภาษีด้วยก็อาจสูงถึง 500 ยังไม่รวมค่าตกแต่ง ติดตั้ง พื้นที่อีกไม่ต่ำกว่า 300 ล้าน รวมแล้วสวนสนุกแห่งนี้จะใช้งสูงถึง 800 ล้านบาท

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ บริษัทร่วมทุนที่บริหารสวนสนุกแห่งนี้ นอกจากฝ่ายอิมพีเรียลและเซก้ายังมีพันธมิตรคนไทยที่จะเป็นแกนหลักในการบริหารอีกรายคือ "กาแล็กซี่"

กลุ่มนี้มีชื่อเสียงทางด้านภัตตาคารและบริการบันเทิงอื่นๆ เคยเป็นผู้นำเข้าตู้เกมรายใหญ่ แต่ถึงเวลาที่กลุ่มนี้จะเข้าสู่ธุรกิจที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับอย่างเปิดเผยแล้ว

พันธมิตรอีกกลุ่มที่ดูจะหลากหลายกว่าเพื่อนคือกลุ่มของ "แฟชั่น แกลลอรี่" ซึ่งสงครามอธิบายว่า เป็นการรวมกลุ่มของดีไซเนอร์ชั้นนำของเมืองไทยมาจัดแสดง โดยมีบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เป็นผู้บริหารซึ่งคาดว่าผู้บริโภคย่านลาดพร้าวจะเป็นลูกค้าประจำ

แต่พันธมิตรที่สำคัญที่สุดและเป็นรากฐานของโครงการคือ กลุ่มสินธานี ซึ่งเป็นกลุ่มพัฒนที่ดินรายใหญ่ของตระกูล "ภาณุพัฒนพงศ์" ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ขายให้บริษัทลาดพร้าว และร่วมทุนในบริษัทแห่งนี้ด้วย

"อิมพีเรียลเวิลด์" นอกเหนือจากจะเป็นฉากใหม่ที่ยิ่งใหญ่ของตระกูล "กิจเลิศไพโรจน์" แล้ว สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เพิ่มขึ้นคือการสร้างพันธมิตรต่างชาติที่ซับซ้อนและหลากหลาย และอาจเปนก้าวกระโดดที่สำคัญยิ่งอีกครั้งสำหรับพวกเขาในระยะอันใกล้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.