ทริสคือสถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย
ที่คอยพิพากษาและให้คะแนน A B C D แก่คนอื่นมาตลอดหนึ่งปีครึ่ง จนกระทั่งน้องใหม่อย่างทริสถูก
ปิ่น จักกะพาก แห่งกลุ่มเอกธนกิจ ประเมิน จึง "เป็นเรื่อง" ที่วุฒิพงษ์
เพรียบจริยวัฒน์ เอ็มดีของทริสต้องเข้าห้องสอบบ้าง
"Uncomparable to International Perting"
ประโยคเจ็บๆ ของปิ่น จักกะพาก แห่งเอกธนกิจ ที่กล่าวประเมิน "ทริส"
หรือ ไทยเครดิต แอนด์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับเครดิตน้องใหม่กลางที่ประชุมสัมมนาเรื่องการพัฒนาตลาดตราสารหนี้
ที่จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อาจจะเป็นทัศนะที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว
ทั้งนี้เพราะอีกครึ่งหนึ่งเป็นความจริงที่ปิ่นได้ยอมรับว่า ทริสเพิ่งก่อตั้งสำเร็จเมื่อกลางปี
2535 ระยะเวลาเพียงปีกว่าย่อมสร้างชื่อเสียง และประวัติผลงานสั้นมากแบบที่เรียกว่า
short track record
"ขณะนี้เครดิตเรตติ้งเอเยนซี่ (CRA) ของไทยก็มีทริสเพียงแห่งเดียว
ผมอยากให้ผู้ออกตราสารหนี้ได้มีโอกาสเลือกใช้ จะเป็น CRA ต่างประเทศก็ได้
ไม่ใช่ถูกบังคับให้ใช้แต่ทริสเท่านั้น" นี่คือเสียงสะท้อนจากผู้บริหารเอกธนกิจที่เป็นผู้ออกตราสารหนี้
(ISSUER)
ที่ผ่านมาเอกธนกิจเคยให้ทริสจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้และหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันมูลค่า
2,400 ล้านบาทที่ได้เกรด AA และ A+ ตามลำดับ และปลายปีที่แล้ว บริษัทเอกโฮลดิ้ง
จำกัด (มหาชน) ได้ให้ทริสจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทมูลค่า 2,000 ล้าน
ผลปรากฏว่าหุ้นกู้เอกโฮลดิ้งได้อันดับเครดิต BBB+ ซึ่งสะท้อนว่ามีคุณภาพการลงทุนที่ดี
มีความสามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย "ค่อนข้างสูง" แต่ฐานะของบริษัทขึ้นอยู่กับความแปรปรวนของตลาดหลักทรัพย์มาก
เอกธนกิจเป็นหนึ่งในลูกค้าของทริส 36 ราย ที่ให้ทริสจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้
หุ้นกู้ด้อยสิทธิและหุ้นกู้แปลงสภาพที่ "ไม่มีประกัน" (Unsecured
Bond) ซึ่งตราสารที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจำเป็นต้องให้ทริสประเมินความสามารถชำระคืนเงินเงินต้นและดอกเบี้ยก่อนจะเสนอขายประชาชน
(Public Offering) ซึ่งเป็นไปตามกฎของ ก.ล.ต.
น่าสังเกตว่า กิจการที่ให้ทริสจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันชั้นนำระดับ
bluechip ทั้งนั้นที่ประกาศต่อสาธารณชนมีเพียง 25 รายเท่านั้นที่มีคุณสมบัติและชื่อเสียงความสามารถเพียงพอในการชำระคืน
เช่น แบงก์กสิกรไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งได้สูงสุด AAA
"ทุกๆ ครั้งที่จะแจ้งเรตติ้งผมถือเป็นมารยาทประเพณีที่จะโทรศัพท์ถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทนั้นๆ
โดยส่วนตัว และในบทสนทนาจะเรียนชี้แจงว่าสาเหตุที่เรตติ้งเป็นเช่นนี้ เพราะเราเห็นจุดเด่นและจุดด้อย
3-4 ประการ ในบริษัทนั้นอะไรบ้าง ? อันนี้ผมพยายามทำให้โปร่งใสที่สุดโดยเอาทุกอย่างวางบนโต๊ะให้เห็น
ผมยืนยันได้ว่านักธุรกิจไทยใจกว้างและมีเหตุผล" ถึงแม้วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์
กรรมการผู้จัดการของทริสจะกล่าวเช่นนี้ แต่โดยความรู้สึกลึกๆ รายที่ถูกประเมินต่ำกว่าที่คิดไว้ย่อมไม่พอใจ
ส่วนที่เหลืออีก 11 รายขอให้ทริสไม่เปิดเผย เพราะได้เครดิตไม่น่าพอใจ ซึ่งจะมีผลต่อภาพพจน์บริษัทและอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ด้วย
จึงขอสิทธิ์อุทธรณ์ ก่อนที่จะให้ทริสเรตติ้งอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งเห็นว่ายอมรับไม่ได้แล้วทั้งสองฝ่ายเป็นยุติ
ในสหรัฐฯ เคยมีลูกค้าเข้ามาขอใช้บริการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทุกๆ 6
เดือน เพียงเพื่อปฏิเสธไม่รับผลการจัดอันดับเครดิตครั้งแรก เพราะตนเองไม่ได้อยู่ในระดับ
AA
"ผมคิดว่าสถาบันวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดอันดับเครดิตจะไม่มีความถูกต้องมากนัก
เพราะในแต่ละหน่วยงานก็มีความชำนาญในธุรกิจที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การที่จะมาจัดอันดับว่า
บริษัทใดเสี่ยงมากกว่ากัน หรือหุ้นตัวใดเป็นเกรด A B C D น่าลงทุน หรือไม่
จะระบุชัดโดยองค์กรที่ไม่มีประสบการณ์ธุรกิจของบริษัททนั้นๆ ไม่ได้ ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยนัก"
นี่คือหนึ่งในทัศนะของฝ่ายที่ถูกประเมินจากทริส
แต่ในทัศนะของชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ (Bond Dealer Club) สุขุม สิงคาลวณิช
ประธานชมรมได้กล่าวว่า ทริสไม่ใช่องค์กรชี้นำการลงทุน แต่เป็นตัวสนับสนุนกลไกให้ข้อมูลการตัดสินใจแก่นักลงทุนโดยจัดชั้นความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ตามคุณภาพกิจการที่ออกตราสารหนี้นั้นๆ
สุขุมเป็นกรรมการท่านหนึ่งในคณะกรรมการจัดอันดับเครดิต (Rating Committee)
ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษแบบไทยๆ ที่ทริสได้อาศัย "บารมี" และ "ชื่อเสียงที่ดี"
สร้างเสริมความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับองค์กร เช่น สังเวียน อินทรวิชัย
มารวย ผดุงสิทธิ์ ชีวะ ภาณุพงศ์ ปิติ สิทธิอำนวย ณรงค์ ศรีสะอ้าน อมเรศ ศิลาอ่อน
วีระวัฒน์ กาญจนดุล ฯลฯ
"การที่ต้องมีกรรมการภายนอกมาร่วมด้วย เพราะลำพังตัวเลขแม่นยำอย่างเดียวไม่พอในการวิเคราะห์เชิงคุณภาพก็ต้องขอให้ผู้ใหญ่ท่านช่วยแนะนำ
โดยไม่ให้เกิด Conflict of Interest เช่นถ้าทริสจัดอันดับเครดิตของกสิกรไทยอยู่
คุณณรงค์ ศรีสะอ้าน ก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย" วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์
กรรมการผู้จัดการทริส เล่าให้ฟังถึงการทำงาน
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีชื่อเสียงเก่าแก่มีสองแห่งคือ
แสตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ คอร์ปอเรชั่น (เอสแอนด์พี) และ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์
เซอร์วิส
ทริสเองก็เกิดขึ้นโดยสัญญาความร่วมมือระยะ 3 ปี จากเอสแอนด์พี เมื่อปี
2536 แต่เอสแอนด์พีไม่ได้เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วยเพราะว่าวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์
กรรมการผู้จัดการทริส ยืนยันว่าทริสต้องเป็น "สมบัติของคนไทย"
"เหตุที่เราไม่ยอมให้เขาเข้ามาถือหุ้นในทริส เพราะถ้าเขาเข้ามาเขาต้องการถือหุ้นใหญ่
แต่เจตนาของเราคือต้องการให้ทริสเป็นสมบัติของคนไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าใช้สินค้าเราเฉพาะในตลาดไทย"
กรรมการผู้จัดการผู้บุกเบิกงานของทริสเล่าให้ฟัง
ผู้ถือหุ้นทริสมีถึง 60 รายกระจายสักส่วนไปอยู่ในมือสี่ฝ่ายหลักๆ ได้แก่
สมาชิกสมาคมธนาคารไทย สมาชิกสมาคมบริษัทเงินทุน สมาชิกบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งถือคนละ
22% และสถาบันการเงินของรัฐถือ 19% ของทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท
"ทริสเป็นองค์กรที่ผมภูมิใจในผลงาน และนี่คือ vision ของแบงก์ชาติที่ต้องการสนับสนุนให้มีทริส
ซึ่งผมคิดว่าเขาจะประสบความสำเร็จมากๆ ในสองปีนี้ เรื่องนี้ต้องให้เครดิตกับดอกเตอร์วุฒิพงษ์
ซึ่งโดยส่วนตัวเราไม่รู้จักกัน" เอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการ ก.ล.ต.
เล่าให้ฟังอย่างชื่นชม
วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนแรกของทริส
เพราะคำชักชวนของบัณฑิต นิจถาวร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของแบงก์ชาติซึ่งเป็นเพื่อนเก่า
ภูมิหลังของวุฒิพงษ์เป็นนักวิชาการ เคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษารัฐวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโลไรนา เคยร่วมงานกับแบงก์กรุงเทพในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายแผนงานด้วย
"ผมมีภารกิจที่ต้องสร้างอยู่สองมิชชั่น อย่างแรก ทริสจะพัฒนาตลาดตราสารหนี้โดยเป็นสถาบันการจัดอันดับเครดิตที่เล็งเห็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
และอย่างที่สองพยายามทำมิชชั่นแรกให้สำเร็จในเชิงธุรกิจถ้ามิชชั่นแรกกับที่สองขัดกัน
ผมก็ต้องยึดมิชชั่นแรกเป็นหลัก" นี่คือจุดยืนของวุฒิพงษ์ที่มีต่อการบริหารทริส
ด้วยเหตุนี้ ทริสจึงเป็นองค์กรกึ่งธุรกิจ เพราะแม้จะขาดทุนร่วม 20 ล้านไปแล้วในสองปีที่ดำเนินงานมาเนื่องจากธุรกิจจัดอันดับเครดิตเป็นธุรกิจใหม่
ประกอบระยะแรกปริมาณลูกค้ายังไม่มากพอ สิ่งแวดล้อมธุรกิจก็ไม่เอื้ออำนวย
เช่น ปริมาณตราสารหนี้ที่มีคุณภาพยังมีจำนวนน้อย ขาดสภาพคล่อง ภาษีอากรซ้ำซ้อน
แต่สถาบันจัดอันดับเครดิตอย่างทริสซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญก็จำเป็นต้องดำรงอยู่ต่อไปเพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้
Vision และ mission ของแบงก์ชาติกับ ก.ล.ต.ได้พยายามเพิ่ม demand และ supply
เพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ เช่น นโยบายของแบงก์ชาติที่ยกเลิกข้อกำหนดที่ให้แบงก์พาณิชย์
ที่จะเปิดสาขาต้องถือพันธบัตรรัฐบาลในอัตราส่วน 16% ของเงินฝาก โดยทยอยลดลงตั้งแต่ปี
2533 นอกจากนี้ยังยกเลิกเพดานดอกเบี้ย 15% แก้กฎหมายให้เอกชนออกหุ้นกู้ได้
และตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทำ Securitization โดยเฉพาะกรณีที่เป็น
Mortgage Backed Securities และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้าจะต้องระดมเงินสูงถึง
3 ล้านล้านบาท หรือตกประมาณปีละ 3 แสนล้าน
ไม่นับถึงการขยายฐานผู้ลงทุนเช่นบริษัทจัดการกองทุนรวม 7 บริษัท ขณะนี้มีกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารเงินแบบ
Fix Income Securities ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงทวีทรัพย์ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์
ไทยพาณิชย์ทุนทวี 1 และ 2 ล่าสุดกองทุนเปิดธนทวีหรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ และกองทุนทีซีเอ็ม
พลัส ฟันด์ ของ บลจ.บริหารทุนไทย
"ผมคิดว่าระยะยาวเราจะได้เห็นเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำนาญข้าราชการ
(กบข.) และเงินประกันชีวิตเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น" แนวโน้มที่กรรมการผู้จัดการทริสเล่าให้ฟังนี้
จะเพิ่มสีสันนักลงทุนในตลาดรองสำหรับตราสาร
ด้วยเหตุนี้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ปี 2535 ได้ปูทางให้บริษัทเอกชนสามารถออกตราสารหนี้
หรือหุ้นกู้ได้โดยตรงได้ไม่ว่าเป็นตราสารระยะสั้นไม่เกินหนึ่งปีหรือน้อยกว่า
270 วันที่เรียกว่า Money Market เช่น ตั๋วเงินคลัง ตราสารพาณิชย์ ซิตี้โน้ต
เชสโน้ต IFCT Note หรือ TCD
ขณะที่ในตราสารระยะยาวที่มีอายุกว่า 1 ปีขึ้นไปเรียกว่า Capital Market
เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ พันธบัตรแบงก์ชาติ หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพตราสารหนี้ลอยตัว
ฉะนั้นเมื่อประตูทางเลือกมีมากกว่าการขอกู้แบงก์ (Debt Financing) ขณะอัตราดอกเบี้ยผันผวน
หรือการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่แปรปรวนเจ้าของกิจการยักษ์ใหญ่ของไทย ต่างก็มีทางเลือกใหม่ที่มีความสุขกับการออกหุ้นกู้มูลค่าไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาท
ซึ่งมีความได้เปรียบด้านต้นทุนเงินที่ต่ำกว่าและสามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว
แม้การออกหุ้นกู้แต่ละครั้ง จะต้องใช้เวลาและเงินมากกว่าก็ตาม
ตัวเลขหุ้นกู้ที่อรัญ ธรรมโน ปลัดกระทรวงการคลังออกมาแถลงข่าวดีว่า ระยะเวลา
2-3 ปีที่ตลาดตราสารหนี้ของเอกชนเริ่ม take off เพราะมีอัตราเติบโตอย่างน่าทึ่งมากๆ
ถึงปีละ 4 เท่า เมื่อเทียบจากสิ้นปี 2535 ตัวเลขยอดหุ้นกู้เอกชนเพียง 5,107
ล้านบาท แต่พอสิ้นปี 2536 ยอดหุ้นกู้เอกชนพุ่งขึ้นเป็น 20,000 ล้านบาทและในสิ้นปี
2537 ยอดหุ้นกู้โตไม่หยุดถึง 118,990 ล้านบาท สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลด้วยซ้ำไป
แนวโน้มอันสดใสจากค่าธรรมเนียมอันเดอร์ไรต์ 1% ที่มีศักยภาพโตมากๆ จาก
364 ล้านในปี 2535 พุ่งขึ้นเป็น 921 ล้านบาทในปี 2537 และคาดว่าในปี 2538
จะเพิ่มเป็น 1,500 ล้านและในปี 2539 คาดว่าจะเป็น 2,500 ล้านบาท นี่คือแหล่งรายได้ใหญ่
คนกลางที่จะทำหน้าที่อันเดอร์ไรเตอร์ก็คือ วาณิชธนกรในชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ก็สามารถจะใช้ข้อมูลการจัดอันดับเครดิตของทริสในการวางแผนการกำหนดราคา
และชี้ช่องทางจำหน่ายให้แก่ลูกค้าได้ ยิ่งทาง ก.ล.ต.บังคับให้หุ้นกู้ทุกตัวไม่ว่าจะเป็น
PO (Public Offering) หรือ PP (Private Placement) ที่ซื้อขายในชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ต้องผ่านารจัดอันดับเครดิตจากทริสแล้วยิ่งเป็นข่าวดีสำหรับทริสเพราะมีสินค้าที่ยังไม่เรตติ้งอยู่ในชมรมมากพอควรถึง
20 ตัว
"ถ้าตลาดยังโตมากๆ เช่นนี้ ผมคาดว่าในปี 2000 เราอาจเห็นตลาดตราสารหนี้ใหญ่ๆ
พอๆ กับตลาดตราสารทุนได้ ตอนนี้ตลาดอาจจะดูว่าอีกไกล แต่อัตราโตมันเร็วเหลือเกิน
จนผมคิดว่าสิ้นปี 38 อาจเห็นเกือบถึง 2 แสนล้าน ทำให้ทริสจะโตตามไปด้วย"
อนาคตอันสดใสที่กรรมการผู้จัดการทริสวาดหวังไว้น่าจะไม่ไกลเกินเอื้อม
ผลประโยชน์มหาศาลนี้เริ่มส่งประกายเงินเจิดจ้าขึ้น เมื่อปริมาณธุรกิจมากเพียงพอสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่
และคู่แข่งที่จะเข้ามาในตลาดนี้ก็กำลังก้าวเข้ามาแข่งขันกับทริสนั่นก็คือบริษัท
ไทยเรตติ้ง เอเยนซี่ (TRA) ซึ่งเดิมเกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์กับบริษัทธาราสยาม
แต่ขณะนั้นไม่ได้ดำเนินธุรกิจด้านนี้อย่างใดเพราะบริษัทยังไม่ได้รับใบอนุญาตจาก
ก.ล.ต.เนื่องจากผู้บริหารบริษัทเห็นว่า คุณสมบัติที่ ก.ล.ต.กำหนดไว้มีต้นทุนสูงมากจนต้องขาดทุนนานกว่า
5 ปี เช่น กำหนดให้มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และต้องมีที่ปรึกษาจากสถาบันจัดอันดับจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียงให้ความร่วมมือ
ตลอดจนต้องเตรียมพร้อมทีมงานบุคลากรไว้จำนวนหนึ่งก่อน
การให้ใบอนุญาตใบที่สองแก่สถาบันจัดอันดับเครดิตใหม่นั้น ก.ล.ต.อาจต้องพิจารณาเงื่อนไขที่จะให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนได้ว่า
ตัวสถาบันจัดอันดับเครดิตนั้น ต้อง "น่าเชื่อถือ" ด้วย ทั้งในแง่โครงสร้างผู้ถือหุ้น
ความโปร่งใสในวิธีการให้เรตติ้งนอกเหนือจากจริยธรรมความเป็นกลางที่อิสระจากอิทธิพลใดๆ
"ทริสอยากจะเห็นสถาบันจัดอันดับเครดิตแห่งที่สอง เพื่อจะบอกว่าทริสไม่เคยผูกขาด
เพราะที่ผ่านมาตลาดยังเล็กมากและขาดทุน แต่เราจะรอคนอื่นทำเสร็จแล้วทริสค่อยเข้ามาหรือ
? ถ้าคิดอย่างนั้นทุกคนก็เข้าทำนองไก่กับไข่อะไรจะเกิดก่อนกัน ? เราพยายามสร้างตลาดแต่ไม่คุ้ม
แค่ตัวเลขง่ายๆ ค่าบริการเครดิตเรตติ้งประมาณ 2 Basis Point หรือประมาณหมื่นละ
สองบาท มูลค่าตลาดตอนนี้หลักหมื่นล้านก็จะมีรายได้เพียง 2 ล้านบาท ถ้าแสนล้านก็
20 ล้านบาท ทริสรายเดียวก็ยังเลี้ยงตัวเองไม่ไหวแล้ว เพราะตลาดตอนนี้ 8.6
หมื่นล้านบาท เราหวังว่าสิ้นปี 2538 นี้จะได้เห็นตัวเลข 2 แสนล้านบาท"
วุฒิพงษ์ กรรมการผู้จัดการทริสเล่าให้ฟัง
ปัจจุบันทริสเก็บค่าธรรมเนียมจากบริการจัดอันดับเครดิต (Front Fee-End)
และค่าทบทวนผลจัดอันดับปีต่อปีจนสิ้นอายุตราสาร (Monitoring) เริ่มต้นที่ราคาขั้นต่ำแค่
5 แสนบาทซึ่งเทียบกับฟิลิปปินส์แล้วอัตราราคาของทริสต่ำกว่า เพราะถ้าคิดเทียบจากมูลค่า
1,500 ล้านบาทก็แค่ 3 Basis Point หรือ 0.3% เท่านั้น ขณะที่มาเลเซียสูงถึง
10 Basis Point แล้วทางการมาเลเซียยังบังับด้วย จึงทำให้ปีแรกสถาบันจัดอันดับของมาเลเซียรับทรัพย์กำไรมากๆ
ขณะที่ทางทริสก็เริ่มขานรับนโยบายของ ก.ล.ต.ที่เริ่มจะบังคับให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องผ่านทริสจัดอันดับเครดิต
ฉะนั้นเบื้องหลังของทริสที่สามารถ "สอบผ่าน" การประเมินจากผู้ออกหุ้นกู้และนักลงทุนผู้มองโลกในแง่ร้ายใน
โลกธุรกิจที่จะหาความน่าเชื่อถือแท้จริงได้ยากนั้นก็เป็นเพราะมีพี่เลี้ยงสองแรงแข็งขันอย่างผู้บริหารแบงก์ชาติและ
ก.ล.ต.คอยสนับสนุนเต็มที่นั่นเอง !!