ชี้ อุปสรรคขวางเบียร์นำเข้า หั่นกำแพงภาษีเหลือ 0% ยังไม่เอื้อ


ASTV ผู้จัดการรายวัน(27 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ค่ายเบียร์ต่างประเทศ ชี้วิบากเบียร์นำเข้า 1 ปี ไร้วี่แววเบียร์ลุยตลาด รับการเปิดเขตเสรีการค้าอาฟต้า-เอฟทีเอ โอดอุปสรรคเพียบแม้กำแพงภาษีเหลือ 0% กฎเหล็กสร้างแบรนด์สุดหิน ระบบลอจิสติกส์ต้องมีประสิทธิภาพ “ไฮเนเก้น” ระบุ โอกาสเบียร์นำเข้าตบเท้าลุยตลาดมีสูง

นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้น ไทเกอร์ และเชียร์ เปิดเผยว่า หลังจากเปิดเขตเสรีการค้าอาเซียนหรืออาฟต้านานร่วม 1 ปี หรือนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 รวมทั้งการเปิดเขตเสรีค้าระหว่างประเทศหรือเอฟทีเอ มีผลทำให้ภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหลือ 0% แต่พบว่าปีนี้ยังไม่มีเบียร์นำเข้าแบรนด์ใดเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างจริงจัง ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจาก ปีนี้ภาพรวมของประเทศประสบกับปัญหาการเมือง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ค่อยดีมากนัก

อย่างไรก็ตามปีหน้าหากการเมืองไทยมีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจโดยรวมเติบโต คาดว่าจะมีเบียร์นำเข้ามาทำตลาดในไทย ไม่ว่าจะเป็น คาร์ลสเบิร์ก หรือกระทั่งเบียร์จีน ซึ่งหากการแข่งขันด้านราคามีความรุนแรง โดยเฉพาะความได้เปรียบของเบียร์นำเข้าที่ไม่ต้องเสียภาษี ทำให้สามารถขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าเบียร์ระดับอีโคโนมี เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โอกาสที่ค่ายเบียร์โลคัลจะนำเข้าเบียร์ต่างประเทศเข้ามาทำตลาด เพื่อแข่งขันกับเบียร์นำเข้าราคาถูกมีความเป็นได้สูง

ดังนั้นแนวโน้มตลาดเบียร์กว่า 9 หมื่นล้านบาท ปีหน้าจะกลับมาเติบโต หลังจากปีนี้ตลาดติดลบ 6% ซึ่งปัจจัยการเติบโตมาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่คาดว่าจะดีขึ้น รวมทั้งการมีเบียร์นำเข้ามาทำตลาด ซึ่งปัจจุบันเบียร์นำเข้าในเชิงปริมาณ 8-9 แสนลิตร จากมูลค่าทั้งหมด 1,900 ล้านลิตร

นายปริญ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมองว่าการสร้างแบรนด์เบียร์นำเข้าใหม่ มีอุปสรรคจากพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการจำหน่ายในช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสถานบันเทิง ผับ บาร์ โดยมากเป็นลักษณะเอ็กซ์คลูซีฟ ทำให้เบียร์นำเข้า ไปจำหน่ายช่องทางออนพรีมิสได้ยาก เบียร์นำเข้าจึงไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาด ซึ่งเป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ปัจจัยหลักมาจากเบียร์นำเข้ายังไม่ได้ดำเนินการตลาดอย่างจริงจัง อย่างเบียร์ชิงเต่า การทำตลาดในไทยเป็นเพียงแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น

“แม้ว่าบริษัทเราจะมีโรงงานผลิตเบียร์ในอาเซียน แต่ปัจจุบันก็ยังใช้โรงงานในไทยผลิตเบียร์ เนื่องจากการแข่งขันที่ยังไม่รุนแรงในปีนี้ และโรงงานก็ยังมีกำลังการผลิตเพียงพอ ประกอบกับการนำเข้าเบียร์ต้องคำนึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากระบบลอจิสติกส์”

***อาซาฮี ชี้อุปสรรคเบียร์นำเข้า***
นายตราชู กาญจนสถิตย์ ผู้อำนวยการสื่อสารการตลาด บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ผู้ทำการตลาดเบียร์อาซาฮี กล่าวว่า แม้ว่า ภาษีนำเข้าจะเหลือ 0% แต่ดูเหมือนว่าเหล้า เบียรนอกไม่ได้ทะลักเข้าสู่ตลาดในประเทศไทยมากอย่างที่คาด เนื่องจาก การทำตลาดในประเทศไทยไม่ได้ง่าย เพราะต้องอาศัยเอเย่นต์ และการขนส่งที่มีระบบซึ่งผู้ผลิตในประเทศค่อนข้างมีความแข็งแรงในด้านนี้ ดังนั้นถามว่า เมื่อภาษีนำเข้ากลายเป็น 0% ไปแล้ว แต่ถ้าไม่รู้จะวางจำหน่ายที่ไหน และไม่มีสต็อกเก็บสินค้า โอกาสที่จะสอดแทรกในตลาดก็มีน้อยมาก

"แม้ว่าเงื่อนไขราคาของเบียร์ต่างชาติจะถูกกว่าเบียร์ในประเทศ แต่การสร้างระบบบริหารจัดการ การมีคลังสินค้า และสายสัมพันธ์กับเอเย่นต์ ถือเป็นปัจจัยที่เบียร์ต่างชาติที่จะเข้ามาทำตลาดต้องคิดให้ดี"

นายตราชู กล่าวว่า เบียร์ในประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบกับเบียร์ราคาถูกจากต่างประเทศ รวมทั้งจีน เพราะต่อให้ขายในราคา 15 บาท แต่ไม่มีการวางขายตามตู้แช่แม้ว่าจะอยู่ในต่างจังหวัดก็ตาม อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคยังนิยมดื่มเบียร์ที่มีรสชาติดี ซึ่งการขนส่งที่ยาวนานจากต่างประเทศมาถึงที่ประเทศไทย รวมถึงการไม่มีคลังสินค้าที่จัดเก็บที่ดีคุณภาพเบียร์จะเสียได้

สำหรับอาซาฮีเองไม่มีแผนที่จะนำเข้าเบียร์อื่น หรือนำเข้าโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าก็ตาม เพราะอาซาฮีเป็นแบรนด์ที่คำนึงถึงคุณภาพและรสชาติเป็นสำคัญ การใช้ฐานผลิตในประเทศ และการมีคลังสินค้าภายใต้อุณหภูมิที่ได้มาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น และการขนส่งที่ใช้เครือข่ายของบุญรอด จะเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าการนำเข้ามา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.