6 เขตอันตรายกองทัพบกย้ายกรุงเทพฯ หนีกันดีไหม

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล สุชาติ สวัสดิยานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

พูดกันมานานมากเรื่องย้ายเขตทหารออกนอกเมือง จนกระทั่งมีเรื่อง "เขตปลอดภัยทางทหาร" ซ้อนขึ้นมาอีก ไม่เพียงแต่จะสร้างความยุ่งยากให้แก่บรรดานักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพราะหามาตรฐานในการตัดสินเรื่องต่างๆ ได้ยากเต็มที แต่เมื่อนึกถึงชาวบ้านที่ไปปลูกบ้านใกล้เขตเหล่านี้แล้ว ยิ่งวิตกกังวลมากขึ้น ถึงเวลานี้รอย้ายเขตทหารอาจจะสายเกินไป ย้ายกรุงเทพฯ อาจจะง่ายกว่า

หากคุณเป็นผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ทราบไหมว่า ทำเลที่ดินที่คุณเล็งไว้จะพัฒนาโครงการโดยเฉพาะเป็นอาคารสูง จะอยู่ในเขตปลอดภัยทางทหารหรือไม่หรือถ้าอยู่จะสร้างได้หรือไม่ สูงแค่ไหนเพียงใด?

จากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" พบว่า การหาบทสรุปดังกล่าวเป็นไปได้ยากยิ่ง การค้นหาโดยไม่ต้องตระเวนไปตามแต่ละเขต ก็พบว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากมากเช่นกัน

หน่วยงานแรกของการสืบค้นเริ่มขึ้นที่กองประชาสัมพันธ์ของกองทัพบก เล่าจุดประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ฟัง สายก็จะถูกโอนให้พูดกับกองเลขานุการกองทัพบก ต่อจากนั้นก็ถูกแนะนำให้ไปติดต่อกับสำนักงานโยธาธิการทหาร แต่หน่วยงานนี้ก็ไม่สามารถให้รายละเอียดอะไรได้เช่นกัน เพียงแต่แนะนำให้ไปสอบถามกับนายทหารพระธรรมนูญ ซึ่งที่นี่ได้ให้ไปติดต่อกับฝ่ายยุทธโยธามณฑลทหารบก 11

ปรากฏว่าข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่ฝ่ายนี้ ทางเจ้าหน้าที่เองก็ให้ทาง "ผู้จัดการ" ดูเอกสารและสอบถามข้อมูล แต่ขอถ่ายเอกสารแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปลอดภัยทางทหารไปไม่ได้ แต่แนะนำว่าไปเปิดดูได้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา หรือหนังสือประชุมกฎหมายประจำศก

ซึ่งแน่นอนว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตจุดแรกที่ออกมาตาม พ.ร.บ. ปี 2478 นั้นต้องมีในหนังสือราชกิจจาฯ เล่มแรกๆ ที่เก่ามาก และจะหาได้จากห้องสมุดแห่งชาติที่เดียวเท่านั้น

แต่ความจริงที่พบก็คือราชกิจจาฯ เล่มที่ต้องการเก่าและกรอบ มีแผนที่ที่ขาดกระรุ่งกระริ่ง บางฉบับขาดขาดหายไปเลย จาก 6 เขตสามารถค้นได้จากห้องสมุดแห่งชาติได้เพียง 3 เขตเท่านั้น

ภาพในการที่จะลงทุนในเขตปลอดภัยทางทหารอาจจะยังดูมืดมัวต่อไป เพราะในที่สุดแม้จะได้แผนที่มาแล้วทั้ง 6 เขต แต่ยังมีข้อมูลที่ต้องรู้ต่อไปอีก ว่าแต่ละเขตห้ามทำการก่อสร้างอาคารประเภทใดบ้าง เพราะคำตอบจากสำนักงานเขตที่ดินก็บอกว่าไม่ทราบเป็นอำนาจของทหารในการพิจารณานั้น

มันกว้างมากจนน่างุนงง

เมื่อสอบถามกลับไปยังฝ่ายยุทธโยธามณฑลทหารบก 11 ก็ได้รับการชี้แจงว่า หากมีเรื่องขออนุญาตปลูกสร้างอาคารเข้ามาในพื้นที่เขตปลอดทหารทั้ง 6 เขตนั้น ทางโยธาเขตจะต้องส่งเรื่องมายังฝ่ายยุทธโยธาและทางฝ่ายยุทธโยธาจะพิจารณาว่าพื้นที่ที่จะขอก่อสร้างนั้นอยู่ใกล้กับหน่วยทหารใดมากที่สุด เช่น ใกล้กับกองพันทหารราบที่ 2 ทางฝ่ายยุธโยธาก็จะส่งเรื่องไปยังกองพันทหารราบที่ 2

กองพันทหารราบที่ 2 จะมีฝ่ายทางด้านความปลอดภัยเป็นผู้พิจารณาว่าโครงการที่จะขอก่อสร้างในเขตความปลอดภัยนั้นสร้างได้หรือไม่ ถ้าสร้างได้ต้องสูงได้กี่ชั้น ควรจะต้องหันหน้าไปทางทิศไหน และด้านที่ติดเขตทหารนั้นต้องสร้างเป็นแนวทึบหรือไม่ แล้วส่งเรื่องกลับมาทางยุธโยธา เพื่อจะได้ส่งเรื่องไปตามสายงานของกองทัพบกต่อไป

โดยขั้นตอนสุดท้ายนั้นจะมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้เซ็นอนุมัติ ทั้งหมดนี้ทางทหารยืนยันว่าจะใช้เวลาไม่เกินหนึ่งเดือน

แต่หากถามกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นตัวหนังสือ หรือมีการระบุมากกว่าการพิจารณาเป็นครั้งๆ ไปหรือไม่ คำตอบคือไม่มี

อำนาจการพิจารณาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทหารแต่ละหน่วย

แหล่งข่าวจากสำนักโยธากรุงเทพมหานครเองก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า ปัญหาที่เคยเกิดมาแล้วก็คือกรณีของอาคารคอนกรีตบางละมุง ในเขตดุสิต ซึ่งสร้างขึ้นมาเสร็จแล้ว 7 ชั้น ภายหลังถูกทักท้วงจากฝ่ายทหาร จนต้องเสียเวลาในการชี้แจงไปช่วงหนึ่ง โดยจะปล่อยขาย หรือโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อไม่ได้เลย เป็นเพราะว่าไม่มีการตรวจสอบแนวเขตก่อน

โดยทั้งเข้าของที่ดินหรือโยธาเขต อาจจะลืมไปว่าที่ตรงนั้นเป็นเขตความปลอดภัยของทหาร จนใบอนุญาตก่อสร้างออกมาแล้ว การก่อสร้างการขายก็ดำเนินไปจนเสร็จเรียบร้อยทางฝ่ายทหารจึงได้ทักท้วงเข้ามา

"ทุกคนรู้กันเพียงแต่ว่าในเขตทหารนั้น ห้ามสร้างตึกสูงแต่ห้ามสูงเกินกี่ชั้นนั้นก็ไม่มีใครทราบ จุดตรงนี้จะหารายละเอียดได้ยากมากถามไปทีสำนักงานเขตเขาก็บอกว่าไปแล้ว แต่ทางทหารพิจารณา" วิชัย สิงห์วิชา ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการตลาดและพัฒนาโครงการ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

"แนวเขตที่แท้จริงเริ่มจากตรงไหนถึงตรงไหนก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้นอกจากต้องเสียเวลาไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตของแต่ละเขต และการให้เขาออกมาวัดแนวเขต เพื่อให้มั่นใจว่าที่ดินที่เราจะซื้อทำโครงการติดหรือไม่ติดรัศมีเขตความปลอดภัยในราชการทหารก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ" แหล่งข่าวอีกรายจากวงการก่อสร้างเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ด้วยท่าทีที่แสดงถึงความเบื่อหน่ายในการติดต่องานกับราชการ

การกำหนดเขตปลอดภัยทางทหารเป็นพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดขึ้นโดยอาศัยพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหารพุทธศักราช 2478 หรือ

พระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติว่า ราชการทหารเป็นกิจการที่เกี่ยวกับประโยชน์ของชาติ และเป็นการสมควรที่จะกำหนดเขตโดยรอบบริเวณที่ทหารไว้เป็น "เขตปลอดภัย" มีทั้งหมด 8 มาตรา มาตราที่สำคัญและมีผลกระทบอย่างต่อเนื่องถึงนักลงทุนอย่างมากก็คือมาตราที่ 4 และมาตราที่ 5

มาตราที่ 4 มีรายละเอียดว่า ที่ทหารแห่งใดจะควรมีเขตปลอดภัยเพียงใด ให้กำหนดขึ้นไว้โดยพระราชกฤษฎีการนั้นด้วย

ส่วนมาตราที่ 5 ได้กำหนดไว้ว่า เมื่อได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตความปลอดภัยไว้แล้ว ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วหรือเพาะปลูกต้นไม้ซึ่งอาจจะเป็นภัย หรือยักย้ายต้นไม้ที่ปลูกไว้แล้วอันมีสภาพเป็นอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากการอนุญาตเป็นหนังสือจากกระทรวงกลาโหม และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในอนุญาตนั้นด้วย

ส่วนบทกำหนดโทษในมาตรา 7 นั้นระบุไว้ว่าผู้มีความผิดในการฝ่าฝืนให้จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังจากมี พ.ร.บ.ตัวนี้ออกมาเมื่อปี 2478 ในปี 2482 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปลอดภัยในราชการทหาร ก็เริ่มทยอยออกตามๆ มา ซึ่งมีทั้งเขตปลอดภัยในราชการทหารในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ประมาณ 70 เขต

เขตทหารกับเขตปลอดภัยทางทหารนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปลอดภัยในราชการทหารไม่ได้ถูกกำหนดในพื้นที่ทหารของทุกเขต แต่กำหนดเพียงบางพื้นที่เท่านั้น เช่น หน่วยคลังแสง ซึ่งเป็นหน่วยเก็บอาวุธที่ร้ายแรงในการป้องกันประเทศหรือกรมกองบางหน่วย ที่แต่ละหน่วยจะมีอาวุธประจำหน่วยที่เรียกอาวุธมูลฐานอยู่

แต่บางพื้นที่ เช่น ในเขตพญาไท ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพลทหารม้าที่ 2 พื้นที่ตรงนี้จะไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตความปลอดภัยเอาไว้ เพราะการใช้พื้นที่ในหน่วยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นสำนักงานของทหารรอบๆ พื้นที่ในย่านนี้จึงมีการพัฒนาเป็นตึกสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก

"ผู้จัดการ" จะขอเสนอรายละเอียดเป็นตัวอย่างเฉพาะเขตปลอดภัยในราชการทหารของกองทัพบกเท่านั้น ซึ่งที่ดินของทหารบกเท่านั้น ซึ่งที่ดินของทหารบกส่วนใหญ่นั้นจะอยู่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการขยายตัวของเมืองสูงมากในเวลานี้

ที่น่าสนใจคือ กำหนดเขตโดยฉบับแรกเริ่มตั้งแต่ปี 2482 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และในสมัยอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ยังมีพระราชกฤฎีกาออกมา

พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยทหาร เฉพาะของทหารบกในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีทั้งหมด 6 เขตเท่านั้น คือ

โรงเรียนเตรียมทหาร

1. พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยในราชการแห่งกองสัญญาณทหารเรือ ในท้องที่อำเภอปทุมวัน ใน จ.พระนคร พุทธศักราช 2484 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

กองสัญญาณทหารเรือในอดีตนั้นขึ้นอยู่กับกองทัพเรือ พระราชกฤษฎีกาที่ออกมาก็เพื่อความเหมาะสมในสมัยนั้น แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นโรงเรียนเตรียมทหารในความรับผิดชอบของกองทัพบก ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเขตปลอดภัยอีกแล้ว กฎนี้ก็ยังไม่ถูกยกเลิกไป

ส่วนระยะเขตปลอดภัยของโรงเรียนเตรียมทหารที่มีพื้นที่ประมาณ 150 ไร่นั้น ในทิศตะวันตกพื้นที่ความปลอดภัยจะครอบคลุมไปถึงถนนวิทยุ ด้านใต้ติดถนนพระรามสี่ ทิศตะวันออกจะติดเขตของสนามโปโลคลับเป็นเส้นขนานมาจดกับถนนพระรามสี่ ส่วนทิศเหนือจะกินบริเวณไปถึงสถานีตำรวจลุมพินี หรือชื่อสถานีตำรวจศาลาแดงเดิม

จากการสำรวจของ "ผู้จัดการ" พบว่า บริเวณรอบๆ เขตทหารซึ่งเป็นเขตปลอดภัยนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นบ้านอยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว

ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามถนนที่อยู่นอกเขตความปลอดภัยนั้นจะถูกกระแสของการลงทุนพัฒนาเป็นอาคารสูงไปแล้วเกือบทั้งสิ้น เพราะย่านนี้คือขุมทองทางด้านศักยภาพของการลงทุนในเมืองไทยทีเดียวเพราะนอกจากอยู่ในย่านพาณิชยกรรม ขนาดใหญ่แล้วในอนาคตยังมีโครงการขนส่งมลชนขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้ามหานครหรือโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ วิ่งผ่านอีกด้วย

ในขณะที่ราคาประเมินของที่ดินในย่านนั้นเพิ่มสูงลิบลิ่วอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ราคาที่ดินติดถนนพระรามสี่ ประเมินตารางวาละ 250,000 บาท ที่ดินติดถนนวิทยุตารางวาละ 240,000 บาท ส่วนที่ดินในซอยต่างๆ บริเวณนั้นราคาประเมินตารางวาละประมาณ 80,000-120,000 บาท

คงยังจำกันได้ว่า เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาในยุคที่มีการพูดถึงนโยบายการพลิกที่ดินของเขตทหารกลางกรุงให้เป็นขุมทองทางเศรษฐกิจกันมากนั้น ตรงพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหารแห่งนี้เป็นที่ต้องการของเอกชนในการที่จะนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์อย่างมาก ว่ากันว่ามีคนเสนอราคาที่ดินตรงนี้ให้ทหารถึงกว่า 5,000 ล้านบาทในระยะเวลาเช่าประมาณ 30 ปี

แม้จะมีการเปลี่ยนโฉมอย่างไร เป็นเรื่องหมิ่นเหม่สำหรับนักพัฒนาที่ดินเหลือเกินเพราะ พ.ร.ฎ กำหนดให้เขตนี้เป็นเขตปลอดภัยทางทหาร

กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก

1. พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหารแห่งกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกในท้องที่อำเภอบางเขน ปี 2482

จากการแบ่งเขตการปกครองใหม่พื้นที่ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับเขตจตุจักร พื้นที่ของหน่วยทหารในเขตนี้คือกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ด้านหน้าจะติดถนนพหลโยธิน ตรงกันข้ามจะเป็นกรมป่าไม้ ส่วนฝั่งเดียวกันเขตปลอดทหารจะติดกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม และสำนักงานของการทางพอเศษแห่งประเทศไทย ส่วนด้านหลังจะกินเนื้อที่ของเขตบางเขนโดยมีรัศมีของเขตความปลอดภัยประมาณ 500 เมตร

ในเขตจตุจักรนี้กำลังมีการเติบโตของเมืองสูงมาก ความเจริญจากเขตเมืองชั้นในได้ลามไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วมีถนนหลักๆ เกิดขึ้นหลายสายรวมทั้งระบบขนส่งมวลชนอย่างเช่นดอนเมืองโทลเวย์และทางด่วนขั้นที่ 2 ที่พาดผ่านในบริเวณใกล้ๆ

ส่วนราคาประเมินบนถนนพหลโยธินในระยะเขตปลอดภัยของทหารนั้นประมาณตารางวา 10,000-20,000 บาท

เขตดุสิต

3. พระราชกฤษฎีการกำหนดเขตความปลอดภัยในราชการทหารแห่งจังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ ในท้องที่ อ.ดุสิต และ อ.พระนคร จ.พระนคร ในปี 2484

ในเขตอำเภอดุสิต และบางซื่อเป็นพื้นที่ที่มีหน่วยของทหารมากที่สุดในกรุงเทพฯ มีหน่วยกรมกรองสำคัญๆ ต่างๆ ตั้งอยู่มากมาย เช่น กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มณฑลทหารบก 11 บนถนนพระราม 5 กรมทหารสื่อสาร กรมสรรพาวุธ ฯลฯ เขตความปลอดภัยจะถูกกำหนดไว้ล้อมรอบหน่วยทหารเหล่านั้น ในรัศมีประมาณ 50-500 เมตร

เขตดุสิตนั้นนอกจะเป็นพื้นที่ของทหารแล้ว ยังมีเขตพระราชฐานของพระบรมมหาราชวังอีก

ราคาประเมินของที่ดินบริเวณใกล้เคียงเขตปลอดทหาร เช่น บนถนนพระราม 5 ตารางวาละ 80,000 บาท ติดซอยระนอง 2 ตารางวาละ 50,000 บาท ในซอยสินทรัพย์ติดกับกรมทหารสรรพาวุธประเมินตารางวาละ 30,000 บาทบริเวณถนนทหารติดกับกรมทหารสื่อสารประเมินที่ดินตารางละ 60,000 บาท

คลังแสง ปากเกร็ด

4. ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 92 ที่ออกตามความในมาตราที่ 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเขตความปลอดภัยในราชการทหารปี 2478 ประกาศเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2515 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515

พื้นที่ของทหารในเขตนี้เป็นที่ตั้งของแผนกที่ 4 เป็นคลังกองแสง กรมสรรพากรทหารบก ตั้งอยู่ในท้องที่ของ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เขตปลอดภัยจะมีรัศมีประมาณ 50-500 เมตร กินบริเวณพื้นที่บางส่วนของบ้านวัดสลัก บ้านบางพัง และข้ามฟากของถนนติวานนท์มายังเขตตำบลบ้านใหม่

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2515 เมื่อคราวจอมพลถนอมประกาศให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของกลองคลังแสงนั้น แน่นอนว่ายังเป็นท้องทุ่งนาที่ห่างไกลจากเมืองหลวงมาก การเดินทางก็คงไม่สะดวก

แต่วันนี้ ท้องทุ่งตรงนี้ได้กลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตทางด้านที่อยู่อาศัยอย่างสูง นับตั้งแต่ห้าแยกปากเกร็ดเป็นต้นมาจนถึงแยกสะพานนวลฉวีสองข้างทางได้กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก รวมทั้งโครงการพัฒนาที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอย่างเช่นโครงการเมืองทองธานีอีกด้วย

สาเหตุสำคัญของความเจริญที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วใน 4-5 ปีนี้เป็นเพราะทางด่วนขั้นที่ 2 ของการทางพิเศษที่มาจ่อทางขึ้นลงอยู่บนถนนสายแจ้งวัฒนะ ห่างจากห้าแยกปากเกร็ดซึ่งเชื่อมต่อกับถนนติวานนท์เพียง 5 กม. นั่นเอง

ผลพวงที่ตามมาอย่างได้ชัดก็คือราคาที่ดินที่สูงขึ้นที่ดินติดถนนติวานนท์ทั้งสายในรัศมี 40 เมตร ตารางวาละ 35,500-50,000 บาท บริเวณเขตปลอดภัยใกล้คังแสงไม่ติดถนนราคาประเมินประมาณตารางวาละ 15,000 บาท

แจ้งวัฒนะ

5. พระราชกฤษฎีกาปี 2531 กำหนดเขตความปลอดภัยของกองทัพบกในท้องที่เขตบางเขน ซึ่งหน่วยทหารที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้จะประกอบไปด้วย 2 บริเวณคือทางด้านใต้ของถนนแจ้งวัฒนะจะมีกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ตั้งอยู่

เขตปลอดภัยในย่านนี้จะมีรัศมีเพียงประมาณ 50 เมตรทิศตะวันตกจะติดแนวคลองประปา ทิศเหนือเขตความปลอดภัยจะข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่งของถนนติวานนท์ในเขตทุ่งสีกัน

เยื้องๆ ไปทางด้านทิศเหนือจะเป็นที่ตั้งของกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 กองพลพลาธิการ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองสรรพาวุธเบา กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองช่างกลกรมทางหลวง และกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 1 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ในเขตนี้ระยะปลอดเขตทหารจะอยู่รอบในรัศมีประมาณ 50 เมตรเช่นกัน

บนถนนแจ้งวัฒนะเป็นย่านชุมชนหนึ่งอีกเช่นกันที่มีการเติบโตของเมืองสูงมากเพราะเป็นจุดขึ้นลงของทางด่วนระยะที่ 2 การพัฒนาที่ดินในย่านนี้จะมีทั้งคอนโดมิเนียมอาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้า

ราคาประมาณบนถนนแจ้งวัฒนะในเขตความปลอดภัยของทหารบางส่วนนั้นสูงถึงตารางวาละ 80,000 บาท

ปทุมธานี

พระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณเขตความปลอดภัยทหารแห่งกองทัพบกในท้องที่ อ.เมืองปทุม จ.ปทุมธานี ปี 2535 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

ในพื้นที่จะเป็นโรงงานซ่อมรถยนต์ทหาร และกรมสรรพาวุธทหารบก ด้านหน้าติดทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3100

พื้นที่รอบๆ บริเวณนี้ยังเป็นทุ่งนาและยังไม่มีการเติบโตของเมืองมากนักราคาประเมินประมาณตารางวาละ 12,500 บาท

พื้นที่ทหารทั้งหมดในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้นประมาณ 14,362 ไร่โดยเฉพาะในพื้นที่เขตบางเขนรวมดอนเมือง มีพื้นที่ทหารรวมสูงถึง 10,031 ไร่ รองลงมาเป็นของเขตดุสิตซึ่งมีเนื้อที่ทั้งเขตประมาณ 6,662.5 ไร่ แต่เป็นพื้นที่ทหารเสียทั้งสิ้น 1,968.5 ไร่ สูงถึง 29.55% ของพื้นที่เขต

เขตพญาไทมี 1,109 ไร่ เขตพระโขนงมี 193 ไร่ เขตพระนครกับยานนาวามีเท่ากันคือ 187.50 ไร่ ส่วนเขตบางกอกใหญ่มี 78 ไร่

เขตพื้นที่ทหารจำนวนมากเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีความขัดแย้งในเชิงความคิดระหว่าง "ความมั่นคงของชาติ" กับ "การขยายตัวของเขตชุมชน" และยิ่งเมื่อภายในเขตทหารยังมี "เขตปลอดภัยทางทหาร" ซึ่งบางพื้นที่สร้างความวิตกให้กับผู้คนในย่านนั้นจึงเหมือนว่าความขัดแย้งในเชิงความคิดนี้จะเพิ่มขึ้น

แนวคิดการย้ายเขตทหารหรือเฉพาะเขตปลอดภัยทางทหารออกไปจึงถูกหยิบยกออกมากล่าวถึงอีก

แนวความคิดย้ายทหารออกไปนอกเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เคยพ๔ดภึงกันมานาน โดยจะเห็นภาพชัดเจนเมื่อสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บัญชาการทหารบกเมื่อประมาณปี 2529-2532 ซึ่งได้มีนโยบายแน่วแน่เกี่ยวกับเรื่องนี้ และมีความเห็นไว้ว่า ที่ดินทหารในเมืองควรจะนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้คุ้มค่ากว่านี้

นโยบายนี้ถูกตอกย้ำหนักแน่นเพิ่มขึ้นโดยการตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องการโยกย้าย โดยมี พล.อ.จรวย วงศ์สายันห์ เสนาธิการกองทัพบกเป็นประธานพิจารณาในขณะนั้น และเมื่อสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงได้อนุมัติให้มีการย้ายที่ตั้งทหารออกไปตามต่างจังหวัด แต่เมื่อรัฐบาลไม่มีงบประมาณให้เพียงพอกองทัพก็ต้องหาวิธีเอง

วิธีที่กองทัพเลือกใช้ก็คือจะนำที่ดินของกองทัพบกบริเวณ พล.ม.2 สนามเป้ามาให้เอกชนจัดผลประโยชน์ งานนี้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้นถือเป็นนโยบายเร่งด่วนและลงมาดูแลด้วยตนเอง

เอกชนที่ดูเหมือนว่าจะเข้าตากรรมการที่สุดในขณะนั้นก็คือ อนันต์ กาญจนพาสน์ แห่งบริษัทบางกอกแลนด์ที่เสนอผลตอบแทนให้กับทหารถึง 12,000 ล้านบาทในการเช่าที่ดินทหารจำนวน 278 ไร่บรเวณ พล.ม.2 ระยะเวลา 30 ปี แล้ะวเรื่องทั้งหมดก็เงียบหายไปด้วยหลายๆ เหตุผลคือ ผลประโยชน์ที่เอกชนเสนอให้ยังไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายทหาร ประกอบกับมีการเปลี่ยนผู้นำของกองทัพ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอ

"ทุกวันนี้บ้านเมืองยิ่งเพิ่มความแออัด ทหารสมควรจะเอานโยบายเรื่องนี้มาทบทวนใหม่อีกครั้งโดยเร็ว" วิชา จิวาลัย นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์กล่าวให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ"

วิชาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการใช้พื้นที่ของทหารเมื่อหลายสิบปีมาแล้วไม่มีอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านเมือง แต่เมื่อบ้านเมืองขยายตัวไปมากแล้วเช่นนี้ก็น่าจะเอาพื้นที่ทั้งหมดมาพิจารณาดูว่าส่วนไหนสมควรย้าย ส่วนไหนจำเป็นต้องอยู่ที่เดิม แต่ปัญหาของเรื่องนี้ก็คือหากผู้รับผิดชอบโดยตรงไม่เสนอเรื่องกับรัฐบาลขึ้นมาก็ทำอะไรไม่ได้ และผู้รับผิดชอบเองก็คงไม่กล้าเสนอเรื่องเช่นกันเพราะกลัวว่าตนเองจะถูกมองว่ามีผลประโยชน์อะไรกับภาคเอกชนหรือไม่ ซึ่งความเป็นจริงแล้วถ้าความคิดของตัวเอง และการกระทำของตนเป็นเรื่องบริสุทธิ์ก็สมควรที่จะทำไปเลย เพราะประชาชนจะเป้นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม การนำพื้นที่ทหารมาให้เอกชนพัฒนานั้น วิชากลับไม่เห็นด้วยเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว การให้เอกชนลงทุนก็ยิ่งจะกระตุ้นให้เมืองโตเร็วยิ่งขึ้น

รูปแบบของการใช้ที่ดินทหารนั้น วิชามองว่าน่าจะเอามาเป็นหน่วยงานราชการบางหน่วยที่จำเป็น เช่นที่ทำการเขตที่บางเขตมีพื้นที่ใช้สอยน้อยเต็มทีเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน หรือการสร้างสวนสาธารณะเพื่อเป็นปอดให้คนเมืองหลวง ส่วนปัญหาในเรื่องงบประมาณในการสร้างสถานที่แห่งใหม่นั้นรัฐบาลจำเป็นต้องจัดงบมาให้

ส่วนโชคชัย บรรลุทางธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเวอร์กรีน วิลล์ จำกัด นั้นให้ความเห็นว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้ย้ายหน่วยงานทหารออกไปต่างจังหวัด ไม่สมควรที่จะให้พื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูงๆ เป็นศูนย์กลางของทหารอีกต่อไป ซึ่งวิธีการอาจจะมีการย้ายไปเพียงบางส่วนก่อน โดยใช้งบประมาณจากการเอาพื้นที่บางแปลงให้เช่า

โชคชัยจะมีความเห็นต่างกับวิชาในเรื่องของการก่อสร้าง เขากลับมองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่จำเป็นต้องโต มันห้ามกันไม่ได้แล้ว ที่ดินซึ่งเอกชนประมูลเช่ามาจำเป็นต้องสร้างตึกสูงแต่อาจจะมีการกำหนดรูปแบบให้เว้นสัดส่วนเป็นพื้นที่สีเขียวในโครงการให้มากขึ้น ส่วนโครงการจะสูงหรือใหญ่ขนาดไหนนั้นภาวะของการตลาด ก็จะเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่คอยควบคุมอยู่แล้ว

กระแสความเห็นจากนักลงทุนต่างๆ เหล่านี้อาจจะกระตุ้นให้ทหารได้ทบทวนนโยบายนี้อีกครั้งหนึ่ง และทหารควรยอมรับว่า พื้นฐานที่แข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจคือความมั่นคงแห่งชาติที่แท้จริงในยุคนี้

อย่างไรก็ตาม กระแสความคิดเรื่องย้ายทหารออกนอกเมืองดูจะเป็นเรื่องใหญ่โตเกินไป และบางพื้นที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเพียงแต่สูญเสียโอกาสของการพัฒนาที่ควรจะเป็น

จุดสำคัญอยู่ที่เขตปลอดภัยทางทหาร ที่เหมือนว่าจะยุ่งยากและซับซ้อนทั้งสำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และประชาชนทั่วไป

หนึ่ง-ในแง่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีความชัดเจนใดๆ ในการที่จะรู้สิ่งปลูกสร้างใดสร้างได้หรือไม่ได้

สอง-ในแง่ประชาชนการขยายตัวของชุมชนทำให้ที่พักอาศัยเกือบจะประชิดริมรั้วเขตปลอดภัยทางทหาร ซึ่งพวกเขาไม่มีโอกาสได้ทราบเลยว่า พวกเขาอยู่ใกล้ชิดกับสิ่งที่เรียกว่า "อันตราย" มากน้อยเพียงใด

สาม-ในแง่ความมั่นคงของชาติ มีสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากที่ละเมิด พ.ร.ฎ. เช่น กรณีเมืองทองธานีที่ถูกระบุว่ามีความผิดถึง 4 อาคารใหญ่ ระบบความปลอดภัยของรัฐมีประสิทธิภาพเพียงใดในการดูแลเขตเหล่านี้

สี่-เขตปลอดภัยทางทหารบางเขตได้เปลี่ยนไปมากแล้ว และเข้าใจว่าทหารเองก็ให้ความประนีประนอมให้นักพัฒนาที่ดินที่จะสร้างอาคารสูงแต่ตราบใดที่ยังมี พ.ร.ฎ.อยู่พวกเขามีสิทธิ์ที่จะถูกเล่นงานย้อนหลังได้

ห้า-ในแง่ของกองทัพบกอาจต้องมีการทบทวนเขตปลอดภัยทางทหาร ว่าเขตใดยังสมควรอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อความมั่นคง เขตใดที่ควย้ายออกไป หรือหากยังไม่ย้ายเขตนั้นก็ต้องเป็นเขตที่ไม่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน

ถึงเวลาที่กองทัพบกจะต้องตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้แล้ว โดยเฉพาะเขตปลอดภัยทางทหารที่จะต้องพิจารณาทั้งในแง่ความมั่นคงของชาติและความเป็นจริงของสังคมกรุงเทพฯ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.