เอ็กซิมแบงก์ประเดิมสาขาแรก-หาดใหญ่


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

จากที่ได้เปิดบริการวันแรกเมื่อ 1 กุมภาพันธื 2537 ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ตามนโยบายรัฐบาลที่จะผลักดันให้การส่งออกของประเทศมีความสามารถในการแข่งขันยิ่งขึ้น ทว่า จากที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เดียวทำให้การบริการเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง อีกทั้งศักยภาพการลงทุนการส่งออกของแต่ละภาคทวีสูงขึ้น ทำให้ ธสน.ต้องรุกคืบบริการให้ทั่วถึงด้วยการเปิดสาขาทั่วประเทศ เพื่อสนองตอบนโยบายรัฐในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและการพัฒนาชนบท โดยเปิดบริการสาขาแรกที่หาดใหญ่แล้ว

ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ถือเป็นสถาบันการเงินพิเศษที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ ธสน. พ.ศ.2536 เริ่มแรกด้วยบริการแพ็กกิ้งเครดิต (Packing Credit) หรือสินเชื่อเพื่อการส่งออกซึ่งเป็นการให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศ 29 แห่งไปยังผู้ส่งออกตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2498 จึงเสมือนว่า ธสน.คือธนาคารแห่งประเทศไทยในท้องถิ่นได้อย่างดี

ต่อมา ธสน. ได้เพิ่มบริการเพื่อส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างแดนของนักลงทุนไทยและเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักธุรกิจไทยยิ่งขึ้น โดยร่วมลงทุนถือหุ้นในกิจการที่นักธุรกิจไทยไปลงทุนยังต่างประเทศตามสัดส่วนที่ลูกค้ากำหนด ซึ่งในระยะเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ธสน.ได้เข้าไปถือหุ้นแล้ว 3 โครงการคือ โรงงานผลิตน้ำตาลในพม่า โรงงานผลิตไฟฟ้าในลาว และโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างในจีน และยังอยู่ในระหว่างพิจารณาอีกหลายโครงการ

ธสน.ยังมีบริการสนับสนุนการส่งออกสินค้ากลุ่ม เช่น เครื่องจักร เครื่องมือกล ทั้งเครื่องจักรใหม่ที่ผลิตในประเทศไทย และเครื่องจักรใช้แล้ว โดยให้บริการสินเชื่อระยะยาว 3-5 ปี ที่ดำเนินไปแล้วเช่นขายรถแทรกเตอร์ใช้แล้วให้ลาว และขายเครื่องจักรโรงงานผลิตน้ำตาลไปยังพม่าเป็นต้น

ซึ่งการให้สินเชื่อระยะยาวนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการผู้จัดการ ธสน. กล่าวว่า เพื่อประโยชน์ของการสนับสนุนผู้ส่งออกไทย ที่เข้าไปทำงานก่อสร้าง งานปรับปรุงโรงงานในต่างประเทศ โดยโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาได้แก่ งานก่อสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ในเวียดนาม งานก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในลาว และอีกหลายโครงการซึ่งกำลังพิจารณาอยู่

กรรมการผู้จัดการ ธสน.สรุปบริการของ ธสน. ว่าในการส่งออกสินค้าทั่วไปนั้น ธสน.มีบริการสินเชื่อเพื่อเตรียมการส่งออกด้วย โดยเป็นการให้กู้แก่ผู้ส่งออกที่ได้รับ Letter of Credit (L/C) หรือคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อในต่างประเทศ แต่ขาดเงินหมุนเวียนในการเตรียมสินค้า ทั้งผู้ส่งออกรายย่อยที่ไม่มีวงเงินอยู่ในสถาบันการเงินใดเลย และผู้ส่งออกที่มีวงเงินอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์แล้วแต่ยังไม่เพียงพอ โดย ธสน.จะให้กู้แก่ผู้ส่งออกสินค้าทุกประเภทและทุกขนาดวงเงิน ซึ่งตัวอย่างธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อนี้ไปแล้วคือ ธุรกิจส่งออกไม้ปาเก้ไปกลุ่มประเทศอาหรับ ธุรกิจส่งออกสินค้าประเภทอาหารและของใช้ไปยังกรุงเวียงจันทน์ ธุรกิจส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปยังแคนาดาและประเทศต่างๆ ในยุโรป และธุรกิจส่งออกเสื้อผ้าเด็กไปประเทศต่างๆ เป็นต้น

ธสน.ยังช่วยเหลือการส่งออกไปยังประเทศซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ของโลกอีกด้วย อาทิ เวียดนาม, ลาว, พม่า, โปแลนด์, สาธารณรัฐเช็ค, สโลวัค, ฮังการีและรัสเซีย ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ และเปิดช่องทางการชำระเงินผ่านธนาคารที่เชื่อถือได้ในกลุ่มประเทศที่รัฐบาลจัดตั้ง

แต่จากการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศรุนแรงขึ้น ทำให้เงื่อนไขชำระเงินของผู้ส่งออกมีการผ่อนปรนมากกว่าเดิม และการส่งออกที่ไม่มี L/C คุ้มครองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

กรณีนี้ ม.ร.ว.ปริดิยาธร กล่าวว่า ธสน.จะสร้างความมั่นใจและความสบายใจให้แก่ผู้ส่งออกที่ต้องส่งสินค้าไปไปยังผู้ซื้อที่ไม่นิยมเปิด L/C ด้วบริการใหม่ที่เรียกว่า บริการประกันการส่งออก เพื่อประกันความเสี่ยง การไม่ได้รับค่าชำระจากผู้ซื้อ ทั้งความเสี่ยงทางการค้าปกติ และความเสี่ยงทางการเมือง โดยให้ความคุ้มครองการส่งสินค้าไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าในตลาดเดิมหรือตลาดการค้าใหม่

"เราต้องการให้ผู้ส่งออกที่ทำการประกันแล้ว สบายใจได้ว่าเมื่อส่งสินค้าลงเรือไปแล้ว หากผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า ธสน.ในฐานะผู้รับประกันจะชำระเงินให้แทนในอัตราร้อยละ 85 ของราคาต้นทุนสินค้า" ม.ร.ว.ปริดิยาธร กล่าว

ในการเปิดสาขาแรกที่หาดใหญ่ก่อนที่จะขยายสาขาไปสู่หัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศของ ธสน.นี้ ม.ร.ว.ปริดิยาธร ได้กล่าวเน้น 3 บริการหลักที่จะสนองผู้ส่งออกในเขตภาคใต้คือ หนึ่ง-แพ็กกิ้งแครดิตที่เปิดบริการอยู่แล้ว แต่จะสามารถให้บริการลูกค้าให้สามารถรับเงินได้เร็วขึ้น 1 วัน สอง-คือยอดสินเชื่อเพื่อเตรียมการส่งออก ที่บ่อยครั้งผู้ส่งออกรายย่อยรายใหม่ไม่สามารถเข้าถึงธนาคารพาณิชย์ได้ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ธสน.ก็จะปล่อยให้หลังจากที่ตรวจสอบแล้วว่ามีความต้องการค้าขายจริง

ส่วนปัญหาว่าจะเป็นการแย่งลูกค้ารายใหญ่ด้วยหรือเปล่านั้น กรรมการผู้จัดการ ธสน.ย้ำว่า ธสน.จะอยู่ในฐานะที่เสริมเท่านั้น คือถ้าวงเงินที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่ได้จากธนาคารพาณิชย์ไม่พอ ตรงนี้ ธสน.ก็จะเข้าไปเสริมให้

สำหรับบริการสุดท้ายคือ บริการประกันการส่งออก ซึ่งเป็นบริการใหม่ที่รัฐบาลตั้งใจจะเปิดบริการนี้มากว่า 20 ปี ก็จะประเดิมในครั้งนี้ด้วย คือถ้าผู้ส่งออกไม่มี L/C และได้ส่งของไปแล้ว แต่ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่จ่ายเงิน หรือส่งของลงเรือไปแล้ว ถึงปลายทางแล้วผู้ซื้อปลายทางไม่จ่ายเงิน บิดพลิ้วด้วยสาเหตุใดก็ตาม ธสน.ก็จะจ่ายแทน

จากนโยบายรุกคืบของ ธสน.ในการบริการสนองต่อผู้ส่งออกทั่วท้องถิ่นไทยครั้งนี้นับได้ว่า ธสน.คือความหวังใหม่สำหรับผู้ส่งออกรายย่อยที่งบน้อยทั่วประเทศ และการประเดิมสาขาแรกที่หาดใหญ่นี้ถือเป็นการบุกเบิกของรัฐบาลที่ดูจริงใจที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.