|
ดิจิตอลมาร์เกตติ้ง ดัน “แบรนด์” พุ่งพรวด
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
กลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เกตติ้งเริ่มเปล่งประกายดัน “แบรนด์” ให้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญวันนี้ดิจิตอลมาร์เกตติ้งทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ สเตปต่อไปคือการดันให้ดิจิตอลมาร์เกตติ้งสู่แมส ก่อนที่จะผสมผสานระหว่างกลยุทธ์การตลาดออนไลน์และออฟไลน์ให้เป็นหนึ่งเดียว
จากกระแสของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ รวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แบรนด์สินค้าต่างๆ พยายามชูกลยุทธ์เรื่องของดิจิตอลมาร์เกตติ้งมาเกาะกับกระแสคลื่นลูกใหม่ที่เกิดขึ้น
อย่างแบรนด์แอลจี 1 ปีที่ผ่านมาได้นำกลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เกตติ้งมาใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่อยู่บนโลกออนไลน์ แอลจีให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบออนไลน์ โดยมีแคมเปญต่างๆ ที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่นิยมค้นหาข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต
“วันนี้คนซื้อมีความรู้มากขึ้น ทำให้มีวิธีการซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เปลี่ยนไป” ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
พฤติกรรมที่เห็นในปัจจุบันที่แอลจีพบคือ ผู้บริโภคหันมาหาข้อมูลจากบทความรีวิวสินค้าและความคิดเห็นของผู้ที่ได้ทดลองใช้ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้านั้น การทำตลาดในรูปแบบออนไลน์จึงเป็นช่องทางการสื่อสารใหม่ที่ทำให้แอลจีสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์อย่างแท้จริง ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับแนวคิดของแอลจีที่ว่า “Life’s Good”
บทพิสูจน์ความสำเร็จของการใช้ดิจิตอลมาร์เกตติ้งของแอลจี ยังเห็นได้จากการตอบรับจากผู้บริโภค โดยจากผลสำรวจด้านแบรนด์ที่มีการรับรู้ (Unaided Awareness) และการชื่นชอบ (Preference) สูงขึ้น 5-10% ในทุกหมวดสินค้า ในด้านโซเชียลเน็ตเวิร์ก แอลจีเป็นแบรนด์ที่มีจำนวนแฟนเพจในเฟซบุ๊กถึง 43,000 คน ครองอันดับที่ 1 ในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมายจากกลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เกตติ้ง
“ดิจิตอลมาร์เกตติ้งทำให้แบรนด์แอลจีเติบโตเร็วสุดเมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่นในปีนี้”
หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของแอลจีที่นำดิจิตอลมาร์เกตติ้งมาใช้คือ การเปิดตัวมือถือโลลี่ป๊อป ภายใน 1 เดือนช่วยสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดมือถือฝาพับของแอลจีจาก 18% ขึ้นเป็น 30% โดยเป็นมือถือรุ่นหนึ่งที่มียอดขายสูงมากจนถึงปัจจุบันมากกว่า 1 แสนเครื่อง
ทั้งนี้ แอลจีมีแผนดำเนินกลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เกตติ้งอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างความแปลกใหม่และการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งสร้างความสัมพันธ์บนโซเชียลเน็ตเวิร์กกับผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดและสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยม การสร้างการรับรู้ของผลิตภัณฑ์ผ่านกิจกรรมออนไลน์ เช่น LG 10 days in Korea เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสทดลองใช้สมาร์ทโฟน LG Optimus One นำไปปฏิบัติภารกิจพิเศษที่ประเทศเกาหลี หรือ Face Lunch กิจกรรมแนะนำให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จักและสัมผัสกับไมโครเวฟที่มีฟังก์ชั่นเมนูอาหารไทยอัตโนมัติ โดยสร้างกระแสด้วย viral video และกิจกรรมออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้ที่มีต่อแบรนด์ ด้วยการเปิดตัวแคมเปญ “แอลจีพาก๊วนซ่าลั้ลลาที่เกาหลี” โดยผู้บริโภคส่งข้อความสนุกๆ พร้อมโพสต์ภาพเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม ผ่านทาง LG Digital Tweet Board จอแอลอีดีในรูปแบบอินเตอร์แอกทีฟครั้งแรกในไทย
“เป้าหมายสำคัญของแอลจีคือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ชื่นชอบ เป็นผู้นำในระดับท็อปแบรนด์
แอลจีให้ความเห็นว่า แนวโน้มการนำเรื่องของดิจิตอลมาร์เกตติ้งมาใช้ในปัจจุบันของแต่ละแบรนด์มีค่อนข้างมาก และจะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น จึงเสมือนเป็นบทพิสูจน์การวางกลยุทธ์การใช้ดิจิตอลมาร์เกตติ้งของแต่ละแบรนด์ ว่าจะวางโพซิชันนิ่งให้แบรนด์เป็นอย่างไร การเลือกใช้เทคโนโลยีที่จะเข้ามาเป็นสื่อกลาง และต้องไม่ตกเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญอยู่ที่การพรีเซนต์ที่แตกต่างกันของสินค้า จุดต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ไม่เฉพาะแต่การทุ่มงบการตลาดให้กับการใช้กลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เกตติ้งจำนวนมาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|