ก้าวของ “HONDA” มุ่งสู่ “องค์กรที่สังคมต้องการให้ดำรงอยู่”


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ “ฮอนด้า” จะไม่ใช่เบอร์ 1 ในตลาดรถยนต์เมืองไทย ทว่าเมื่อพูดถึงบทบาท “การทำกิจกรรมเพื่อสังคม” ฮอนด้าก็ถือเป็นผู้เล่นที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ใคร แม้จะไม่มีตัวเลขวัดผลงานกันชัดเจน แต่มั่นใจว่า วันนี้มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่รู้จักหรือเคยได้ยินประโยคที่ว่า “HONDA The Power of Dreams” หรือ “พลังแห่งความฝัน” Corporate Slogan ที่ฮอนด้าทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยใช้เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจ

“ฮอนด้า” มีนโยบายที่แน่วแน่ในการนำปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมาเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆคืนสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามปรัชญาการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ การเคารพความเป็นปัจเจกชน และความสุข 3 ประการ คือ 1.ความสุขของลูกค้าที่ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา 2.ความสุขของผู้ขายที่ภูมิใจขายผลิตภัณฑ์ของเรา 3.ความสุขในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทั้งนี้ มร.ฮิโตชิ เดวะ ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด บอกว่า ก็เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญของฮอนด้า นั่นคือ “การเป็นองค์กรที่สังคมต้องการให้ดำรงอยู่”

ไม่แค่นั้น ปรัชญาดังกล่าวกลายเป็นรากฐานการดำเนินธุรกิจที่สะท้อนไปสู่วิสัยทัศน์ของฮอนด้า ปี 2563 คือ 1. การสร้างคุณค่าใหม่ (Value Creation) มุ่งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นให้กับลูกค้าและสังคม 2. การนำวิสัยทัศน์สากลสู่ท้องถิ่น (Glocalization) มุ่งสร้างรากฐานความมั่นคงขององค์กรด้วยการเข้าถึงชุมชนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งรักษาภาพลักษณ์ของฮอนด้าในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระระดับโลก 3. พันธสัญญาต่อชนรุ่นหลัง (Commitment to the future) มุ่งสร้างความสมดุลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความปลอดภัยทั้งในชุมชนและระดับโลก เพื่อคนรุ่นต่อไป

ทั้งนี้ ฮอนด้ามีเครือข่ายการบริหารแบ่งออกเป็น 6 ภูมิภาค ดังนี้ ภูมิภาคเอเชียและโอเซียเนีย, ภูมิภาคภูมิภาคจีน, ภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา, ภูมิภาคอเมริกาเหนือและกลาง, ภูมิภาคอเมริกาใต้, ภูมิภาคญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็จะยึดแนวปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสังคมภายใต้กรอบเดียวกัน ประกอบด้วย ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา ด้านความปลอดภัย และด้านมนุษยธรรม ซึ่งถือเป็น 4 เสาหลักสำคัญ โดยเฉพาะ 2 เสาแรก ที่ครั้งนี้ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ขอโฟกัสเป็นพิเศษ เพราะนับจากนี้ ผู้บริโภคทั่วโลกรวมทั้งผู้บริโภคในไทยจะได้เห็นความชัดเจนมากขึ้น มากขึ้น

สร้างสรรค์สังคมสีเขียว
ซีเอสอาร์ เพื่อสิ่งแวดล้อม

“สิ่งแวดล้อม” ที่ถูกแทนด้วยสัญลักษณ์สีเขียว คือ เสาเอกที่ฮอนด้าปักหลักให้ความสำคัญ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ ย่อมต้องมีของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิตออกมาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเพื่อเป็นองค์กรที่เติบโตไปพร้อมกับสังคมอย่างยั่งยืน ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ฮอนด้าจึงให้ความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด 3 ประการ คือ การมุ่งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Creating new value) ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งมอบไปยังหน่วยธุรกิจและสังคมที่ฮอนด้าดำเนินงานอยู่ทั่วโลก ตามหลักการนำคุณค่าใหม่สู่สังคม(Expanding value) และการคำนึงถึงชนรุ่นหลัง(Commitment to the future) โดยลดการใช้ทรัพยากรและรักษาความสมดุลของธรรมชาติเพื่อคนรุ่นหลัง

ซึ่งที่ผ่านมาฮอนด้าได้ใช้ความพยายามเพื่อสะท้อนการเป็นองค์ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาเครื่องยนต์ประหยัดน้ำมันและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนารถยนต์ไฮบริด การพัฒนารถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง FCX ยานยนต์แห่งอนาคตที่ไม่ต้องพึ่งพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งให้พลังงานโดยเชื้อเพลิงไฮโดรเจนไม่ก่อให้เกิดไอเสีย

ขณะเดียวกันผู้เล่นรายนี้ยังวางระบบการจัดการทรัพยากรและการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมประกาศให้มีกิจกรรมโรงงานสีเขียวเมื่อปี 2541 โดยเริ่มที่ญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก และขยายไปสู่โรงงานในภูมิภาคอื่น ซึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ ลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทุกขั้นตอนการผลิต มีระบบจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรม รวมทั้งลดจำนวนของเสียที่ส่งไปฝังกลบภายนอกโรงงานให้น้อยที่สุดด้วย

สำหรับโรงงานผลิตในเมืองไทย ทั้งในส่วนของรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ก็ได้รับนโยบายดังกล่าว โดยได้ดำเนินกิจกรรมประหยัดไฟฟ้ารวมถึงการติดตั้งระบบและเทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น การติดตั้งนวัตกรรมพลังงานทางเลือก โดยฮอนด้าได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานน้ำมันและไฟฟ้าจากโรงงาน ซึ่งโรงงานฮอนด้าในหลายประเทศได้มีการทดลองติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนการใช้งานภานในอาคารบางหลัง และในเมืองไทยทางบริษัทไทยฮอนด้าฯก็มีการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในอาคารฝึกอบรมตั้งแต่ปี 2545

ไม่แค่นั้น เพื่อสะท้อนการเป็นโรงงานสีเขียวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แน่นอนว่า ปัญหาเรื่องการจัดการของเสียย่อมเป็นสิ่งที่ฮอนด้าให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และจากความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ฮอนด้าจึงวางมาตรการในการลดของเสียเหล่านั้นอย่างเหมาะสมและมีความปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ การคัดแยกขยะออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล คือ ถังสีเขียว ใช้เก็บเศษอาหารวัสดุที่ย่อยสลายได้ ถังสีเหลือง ใช้เก็บขยะที่นำมากลับมาใช้ได้ใหม่ เช่น หนังสือพิมพ์ ขวดพลาสติก ถังสีแดง ใช้เก็บขยะพิษ เช่น ภาชนะบรรจุสารเคมี ขณะที่ขั้นตอนการกำจัดของเสีย ที่นี่ก็มีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียในโรงงาน มีการติดตั้งเตาเผากำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพสูง โดยปริมาณของขี้เถ้าจากการเผาจะเหลือเพียง 5% และสุดท้ายการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณขยะ เช่น บริษัทไทยฮอนด้าฯนำเศษขี้เถ้าจากเตาเผาขยะมาผสมกับปูนซีเมนต์เพื่อทำอิฐบล็อกสำหรับปูทางเดินภายในและภายนอกโรงงาน ทำให้ไม่เกิดของเสียที่เกิดจากการเผาขยะส่งออกไปกำจัดภายนอก

และนั่น คือ รูปแบบการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตส่วนโรงงาน ทีนี้เรามาดูในส่วนนอกโรงงานดูบ้าง เพราะถึงฮอนด้าจะไม่ใช้รถยนต์ค่ายเดียวที่ออกมาทำซีเอชอาร์ หรือการทำกิจกรรมเพื่อสังคมโดยมุ่งไปที่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่พูดได้เลยว่า ผู้เล่นรายนี้ก็ออกแบบกิจกรรมมาได้อย่างน่าสนใจทีเดียว ซึ่งจะต่างกันไปในแต่ละประเทศที่มีสภาพแวดล้อมหรือปัญหาที่แตกต่างกัน เช่น ในญี่ปุ่นจะมีกิจกรรมทำความสะอาดชายหาด โดยเริ่มทำมานานกว่า 4 ปี และทำความสะอาดชายหาดไปแล้วกว่า 100 จุด

ส่วนเมืองไทยที่เป็นไฮไลต์ ต้องยกให้โครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติ “ตามรอยเท้าพ่อ..กับฮอนด้า” ที่จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 โดยจัดทำโครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมดีเด่น เฉลิมพระเกียรติ เพื่อสนองพระราชปณิธานที่ทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยได้รับพระบรมราชานุญาตพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศให้กับโรงเรียนที่มีผลงานดีเด่นด้านสิ่งแวดล้อม จนปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 กับโครงการครั้งที่ 6 (พ.ศ.2553-2554) ซึ่งโครงการฯได้สนับสนุนทุนดำเนินกิจกรรมให้โรงเรียนเครือข่ายสิ่งแวดล้อม 765 โรงทั่วประเทศ ไม่แค่นั้นทางฮอนด้ายังต่อยอดจากโครงการดังกล่าว เช่น โครงการความร่วมมือทางวิชาการ “มจธ.-ฮอนด้า สู่เส้นทางวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์เพื่อโลกสีเขียว” โดยเป็นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อพัฒนาเยาชนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติ เปิดโอกาสให้นักเรียนจากโรงเรียนที่ได้รับถ้วยพระราชทาน และมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ได้รับสิทธิพิเศษเข้าศึกษาต่อและรับทุนการศึกษาในภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เริ่มตั้งแต่การสร้างจิตสำนึกในโรงเรียน ทั้งครู นักเรียน และลงลึกไปถึงตัวเยาวชนที่สนใจได้มีโอกาสศึกษาต่อไป

“ฮอนด้า อาซิโม่ ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์”
ติดปีกความฝัน-สร้างจินตนาการเยาวชน

เข้าสู่เสา “การศึกษา” ซีเอชอาร์ต้นที่ 2 ด้วยสัญลักษณ์สีน้ำเงิน แม้จะระบุว่าเป็นเรื่องของการศึกษา ทว่าในความหมายหรือแนวทางปฏิบัติของฮอนด้าไม่ได้จำกัดแค่เพียงการให้ทุนการศึกษาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง การกระตุ้นความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมพัฒนาเสริมสร้างจินตนาการของเยาวชน รวมทั้งการช่วยให้เยาวชนได้ค้นพบความสุขและสมหวังเมื่อพิชิตความท้าทายใหม่ได้สำเร็จ เช่น การจัดกิจกรรม วิ่ง 31 ขา เพื่อสร้างสรรค์ความสามัคคีในหมู่เยาวชน, การสนับสนุนให้เยาวชนไทย มีโอกาสเข้าแข่งขันหุ่นยนตร์ในเวทีสากล

ทว่า ถ้าให้จัดลำดับความสำคัญแล้ว “การเสริมสร้างจินตนาการ” คงถูกจัดอยู่ในลำดับแรกของซีเอชอาร์ข้อนี้ เพราะนี่อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของฮอนด้าเลยทีเดียว ซึ่งชัดเจนมากเมื่อย้อนกลับไปดูประโยคที่ว่า “HONDA The Power of Dreams” โดยสิ่งที่เป็นรูปธรรมและย้ำสโลแกนดังกล่าวได้ดีที่สุด นั่นคือ “อาซิโม” หุ่นยนตร์ที่ค่ายนี้ทุ่มเทเวลากว่า 14 ปี และเม็ดเงินมหาศาลในการพัฒนาออกมาให้คล้ายมนุษย์ที่ล้ำสมัยที่สุดในโลก

ทั้งนี้ พิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการบริหาร บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “คำว่าจินตนาการ สำหรับผมเป็นสิ่งสำคัญกว่าความรู้ และการมีจินตนาการเชิงบวกยิ่งเป็นสิ่งที่ดี”

และนี่ คือ เหตุผลสำคัญที่ทำฮอนด้า ประเทศญี่ปุ่นจัดโครงการ “ฮอนด้า อาซิโม ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์” โดยจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 2 ปะเทศ ที่นำโครงการดังกล่าวจากญี่ปุ่นไปใช้ นั่นคือ เวียดนามที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และไทยที่ครั้งนี้นับเป็นปีที่ 6 โดยต่างมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ การปลูกฝังให้เด็กรู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ โดยมี “อาซิโม” คือทูตแห่งความฝันที่เป็นจริงมาสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ

สำหรับ “ฮอนด้า อาซิโม ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์” ที่จัดในเมืองไทย ดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมที่ไม่ใช่แค่เฉพาะเด็กๆเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดาผู้ปกครอง ครู รวมถึงโรงเรียนที่ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย เห็นได้จากจำนวนผลงานจากเยาวชนที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้มีมากกว่า 50,000 ชิ้น จากปีก่อนที่มีเพียง 1-2 หมื่นชิ้น ซึ่งหากรวมผลงานตลอด 6 ปี ก็จะมีมากถึง 210,000 ชิ้น โดยเหตุผลที่ทำให้โครงการนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก นอกจากเป็นเวทีให้เด็กๆได้มีโอกาสนำจินตนาการของตนเองมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งประดิษฐ์แล้ว เสน่ห์สำคัญอีกข้อ น่าจะอยู่ตรงที่การได้ไปแสดงผลงานร่วมกับเยาวชนจากประเทศเวียดนามและประเทศเจ้าภาพญี่ปุ่น ในงานฮอนด้า คิดส์ ไอเดีย คอนเทสต์ ณ สำนักงานใหญ่ ฮอนด้า อาโอยาม่า ประเทศญี่ปุ่นด้วย

โดยปีนี้ หลังจากได้แชมป์การประกวดสิ่งประดิษฐ์ ในโครงการ “ฮอนด้า อาซิโม่ ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ ปี 6” กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย โต้โผใหญ่ของการจัดงาน โดยมี พิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการบริหาร เป็นแม่ทัพพาน้องๆ ทั้ง 6 คน เหินฟ้าไปแสดงผลงานเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งบรรยากาศภายในงาน นอกจากจะได้เห็นผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ผ่านจินตนาการของนักประดิษฐ์ตัวจิ๋วทั้ง 3 ประเทศแล้ว ผลงานเหล่านั้นยังสะท้อนถึงหลักความคิดหรือความต้องการของเด็กได้ด้วย เช่น ผลงานของเด็กญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลอันดับ 1 ปีนี้ “เครื่องแปลทุกภาษาทั่วโลกผ่านแว่นตาแปลภาษา” โดยจะแปลเป็นภาษาที่เรากำหนดไว้ก่อนจะส่งคลื่นเสียงไปยังหูฟัง นอกจากนี้ยังมีกำไลข้อมือ ซึ่งจะสามารถบอกถึงประเพณี วัฒนธรรมของประเทศเจ้าของภาษานั้นๆ หรือ “เครื่องจำลองภาพทิวทัศน์” ที่เมื่อเราถ่ายภาพแล้ว เครื่องจะเปลี่ยนภาพให้มีลักษณะเป็นของเหลวและเก็บไว้ เมื่อต้องการดูภาพเครื่องก็จะทำให้ของเหลวกลับมาเป็นภาพที่เหมือนเดิมอีกครั้ง ซึ่งจะมีประโยชน์เวลาที่เพื่อน ๆ หรือคนอื่นเห็นภาพในจุดที่เขาไม่สามารถเดินทางไปได้ เช่น คนป่วย

นอกจากนี้ยังมีผลงานของเยาวชนจากเวียดนาม เช่น หุ่นยนต์เต่ากู้โลก รถสร้างความเย็นให้โลก ขณะที่ผลงานของเยาวชนไทย เริ่มจาก น้องเจต-ด.ช.ภัทรดนัย ธุปสุวรรณ ชั้น ป.1 โรงเรียนสาธิต ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ แชมป์ระดับมัธยมต้น กับผลงาน แมงกะพรุนกำจัดวิกฤติในน้ำ, น้องโชติ-ด.ช.โชติ ธาราฉัตร ชั้น ป.2 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพฯ รองชนะเลิศอันดับ 1 กับผลงาน ร่มดักน้ำมันรั่ว และ น้องอั๋น-ด.ช. สรัชชพงศ์ วรพิศาล ชั้น ป.2 โรงเรียนวชิรวิทย์ (ฝ่ายประถม) จ.เชียงใหม่ รองชนะเลิศอันดับ 2 กับผลงาน เตียงปลุกฉันตื่นนอน ตามมาด้วย น้องปังปอนด์-ด.ญ.ประกายดาว ขุนภักดี ชั้น ป.5 โรงเรียนมารีย์อุปถัมภ์ จ.นคร ปฐม แชมป์ระดับมัธยมปลาย กับผลงาน กระเป๋าเดินทางแบตเตอรี่, น้องเจมส์-ด.ช. ชาญคริสต์ พันธ์ชัยศรี ชั้น ป.6 โรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดศรีดอนชัย จ.เชียงใหม่ รองชนะเลิศอันดับ 1 กับผลงาน กล่องทำความสะอาดแปรงลบกระดาน และสุดท้าย ด.ช.พลศิษฎ์ โสภณสิริ ชั้น ป.4 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ รองชนะเลิศอันดับ 2 กับผลงาน หนอนผ้ามหัศจรรย์

ทั้งนี้ พิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการบริหาร ค่ายเอเชี่ยนฮอนด้า บอกว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อต้องการให้เยาวชนได้แสดงจินตนาการของตนเองได้เต็มที่ ทำให้เด็กกล้าที่จะฝันและแสดงออกถึงความฝันของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพซึ่งจะรวมไปถึงศักยภาพของประเทศด้วย โดยเทรนด์ปีนี้ไอเดียที่เข้าประกวดส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาจากตนเอง สิ่งแวดล้อมรอบข้าง และมีการเตรียมพร้อมและลำดับขั้นตอนการพรีเซนต์ที่ดีขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับเด็กในกิจกรรมนี้มากขึ้น

“ปัจจัยที่ทำให้ฮอนด้ามุ่งไปที่เด็ก เพราะเรามองว่า เด็กเป็นวัยที่มีความฝันแบบไม่มีขีดจำกัด”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้บริหารฮฮนด้าให้ความสนใจต่อจากนี้ คือ การต่อยอดโครงการดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความขาดช่วง โดยเฉพาะเด็กที่เคยเข้าร่วมโครงการ โดย พิทักษ์ บอกว่า บริษัทยังไม่มีการนำผลงานของเด็กมาพัฒนาต่อยอด เพราะเราแค่ต้องการให้เด็กมีความฝันมีจินตนาการมากกว่า แต่อนาคตอาจจะมีการตั้งชมรมรวบรวมเด็กเหล่านี้มาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างเครือข่ายกระตุ้นไม่ให้จินตนาการหายไป ขณะเดียวกันก็ช่วยขยายจินตนาการให้กว้างขึ้นด้วย และนี่คงเป็นการบ้านชิ้นใหญ่อีกข้อที่ฮอนด้าต้องนำไปตกผลึก เพราะคงน่าเสียดายไม่น้อย หากจินตนาการของเด็กเหล่านี้จะขาดช่วงและหายไปเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น

ความปลอดภัย-มนุษยธรรม
เติมเต็มซีเอชอาร์ แบบวิถีฮอนด้า

สำหรับแนวกิจกรรมเพื่อสังคมอีก 2 ด้านของฮอนด้า ที่ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัย และ เรื่องมนุษยธรรมนั้น แม้จะยังไม่โดดเด่นเท่าเมื่อเทียบกับ 2 เรื่องในข้างต้นก็ตาม แต่นั่นก็ช่วยสร้างความแกร่งและเติมเต็มการทำซีเอชอาร์ของฮอนด้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย โดยที่ผ่านมาทางฮอนด้าพยายามสื่อถึงความปลอดภัยบนท้องถนนผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม และกองบังคับการกรมตำรวจทางหลวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดโครงการ “Bon Voyage ยิ่งมีสติ ยิ่งปลอดภัย” รณรงค์ให้ผู้ใช้รถยนต์ขับขี่อย่างถูกต้องและมีสติ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งทางฮอนด้าจะมีทีมคาราวานออกแจกจ่ายเอกสารเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการขับขี้รถยนต์อย่างถูกต้องตามจุดสำคัญทั่วกรุงเทพฯ

ส่วนการปฏิบัติเพื่อมนุษยธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากวิกฤติการณ์หรืออุบัติภัยต่างๆ ฮอนด้าได้จัดตั้งมูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา การช่วยเหลือสังคม การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เช่น โครงการ “รวมใจภักดิ์รักษ์ผืนป่ากับฮอนด้า”, การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ

และนี่คือ การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของรถญี่ปุ่นรายนี้ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็สะท้อนกลับไปสู่ “HONDA The Power of Dreams” DNA ของฮอนด้า โดยมีเป้าหมายท้ายสุด นั่นก็คือ การเป็นองค์กรที่สังคมต้องการให้ดำรงอยู่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.