ม.รังสิตรุกสร้างแบรนด์ ชูแนวคิด “ร่วมสร้างสังคมฯ”


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ก้าวต่อไปม.รังสิตสู่ปีที่ 26ชูแนวทางใหม่สร้างแบรนด์ ใช้แนวคิด “ร่วมสร้างสังคมธรรมาธิปไตย” ผุดตราสัญลักษณ์ใหม่ พร้อมแนวทางสังคมแห่งการให้และการแบ่งปัน สร้าง2 ฟอนต์ใหม่ “อาทิตย์ - อาร์เอสยู” ให้ดาวน์โหลดฟรี

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 25ปีของมหาวิทยาลัยฯ ว่า ในการก้าวสู่ปีที่ 26ได้มีการปรับภาพลักษณ์องค์กรครั้งใหญ่ โดยได้ชูแนวทางการเป็นผู้นำกระแสด้านการศึกษาให้แก่ประเทศไทยตามแนวคิด “ร่วมสร้างสังคมธรรมาธิปไตย” เพื่อตอบแทนคุณประเทศชาติ และการเป็นขุมพลังแห่งปัญญาของชาติ

“สังคมธรรมาธิปไตย คือสังคมใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เชื่อมั่นว่าเป็นสังคมที่สงบสุข มีความเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือร่ำรวยต้องสามารถอยู่ร่วมกันได้ย่างมีความสุข ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะดำเนินการอยู่บนหอคอยงาช้างโดยไม่เกี่ยวข้องกับสังคมที่แท้จริงนั้นไม่ได้ เราต้องเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันงานวิชาการ งานวิจัย ชีวิต การฝึกอบรม การสร้างแสงสว่างและปัญญาให้เกิดขึ้นกับเยาวชน และส่งเสริมให้เยาวชนสร้างสังคมธรรมาธิปไตยให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและสร้างสิ่งที่เราอยากเห็นให้เกิดขึ้นจริงในสังคม โดยเชื่อมั่นว่าภายใน 2-3 ปีนี้ มหาวิทยาลัยรังสิตจะก้าวเข้าสู่สังคมธรรมาธิปไตยอย่างเต็มตัว ในโอกาสนี้ จึงเดินหน้าปรับภาพลักษณ์องค์กรใหม่โดยเปลี่ยนอัตลักษณ์องค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมใหม่และรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต”

ปรับโลโก้ใหม่ตามยุคสมัย

ตราสัญลักษณ์ใหม่หรือโลโก้ที่เพิ่งจะเปิดตัวในโอกาสเดียวกันนี้ เรียกได้ว่าเป็นอัตลักษณ์องค์กร (Corporate Identity) ออกแบบโดยศิษย์เก่าสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ รุ่นที่ 10คณะศิลปะและการออกแบบ “ กาจกำแหง จรมาศ ” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งDesign Director บริษัท Cookiesdynamo จำกัด กล่าวว่า จุดเด่นของตราสัญลักษณ์ใหม่มีเรื่องราวและความหมายแฝงอยู่ในตัวของมันเอง ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักสองส่วน คือ พระอาทิตย์ และโลกุตระ เป็นสองสิ่งที่มีนัยถึงแหล่งกำเนิด ปัญญา ความรู้อันไม่สิ้นสุด ฯลฯ

ส่วนการออกแบบกราฟิกสามารถลดทอน แทนค่า และดึงความสำคัญของการสื่อความหมายให้ตราสัญลักษณ์สามารถสื่อความหมายได้ครอบคลุมไม่ตกหล่น โดยคำนึงถึงความสวยงาม เหมาะสม ลึกลงไปถึงรายละเอียดของเส้นสาย ระยะห่าง สี การนำไปใช้ในขนาดต่างๆ รวมถึงเข้ากันได้กับองค์ประกอบอื่นๆ ในระบบงานที่เป็นเอกลักษณ์องค์กรทั้งหมด

ทั้งนี้ การเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ใหม่ เพราะจุดอ่อนของตราสัญลักษณ์เดิมมีองค์ประกอบมาก ได้แก่ กลุ่มสามเหลี่ยม ฟันเฟือง ดวงอาทิตย์ ช่อชัยพฤกษ์ และปิ่น แต่ละองค์ประกอบมีความหมายเฉพาะส่วน ซึ่งอาจจะยากแก่การจดจำ ดังนั้น การเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ใหม่ให้มีองค์ประกอบน้อยลง เพื่อสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิต คือ ขุมพลังแห่งปัญญาของชาติ เพื่อปฏิรูปประเทศไทยสู่สังคมธรรมาธิปไตย ส่วนโลโก้เดิมที่ยังคงความคลาสสิกยังอยู่คู่มหาวิทยาลัยต่อไป

สร้าง 2 ฟอนต์ใหม่ชูเอกลักษณ์

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างฟอนต์ใหม่ 2 ฟอนต์ คือ “อาทิตย์ฟอนต์” และ “อาร์เอสยูฟอนต์” ขึ้นมาใช้ในองค์กร และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี สำหรับ “ฟอนต์อาทิตย์” ผศ.ดร.ม.ล.กุลธร เกษมสันต์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เป็นอักษรลายมืออิเล็กทรอนิกส์ ที่นำมาจากลายมือของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ส่วน “อาร์เอสยูฟอนต์”ออกแบบโดยศิษย์เก่าสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ รุ่นที่ 12 คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต “ทิวากร นาวารัตน์” ซึ่งปัจจุบันดำงตำแหน่งDesign Director บริษัท ไบรท์ไซด์ จำกัด

สำหรับจุดเด่นของ “ฟอนต์อาร์เอสยู” เป็นฟอนต์ไม่มีหัว ดัดแปลง (Transform) มาจากฟอนต์ภาษาอังกฤษชุดหนึ่ง เพราะการแปลงตัวอักษรภาษาอังกฤษให้กลายเป็นภาษาไทยจะช่วยให้มีความทันสมัย นอกจากนี้ จุดเด่นของฟอนต์นี้ได้สร้างตัวอักษรให้มีลักษณะเฉพาะ เช่น ทำตัว พ ม ร ส ห อ ให้มีบุคลิก เพราะตัวอักษรเหล่านี้มาจากชื่อของ มหาวิทยาลัยรังสิต และอีกจุดที่สังเกตง่ายๆ คือขอบของตัวอักษรจะมนไม่ตัดตรง

“แบบอักษรที่ออกแบบขึ้นใหม่โดยเฉพาะ มีวัตถุประสงค์ด้านการสร้างเอกลักษณ์ จึงมีการดัด ตัดแต่ง ให้มีลักษณะเฉพาะตัว ทำให้จดจำได้ง่ายว่าคืออักษรของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ไม่ซ้ำกับใคร องค์ประกอบทั้งหมดนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันองค์กรให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น”

ต่อยอดองค์ความรู้ สู่การสร้างแบรนด์

ผศ.สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ ผู้อำนวยการสำนักงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยรังสิต ในช่วงประมาณ 5 ปีหลัง มีการเปิดบริษัทที่เรียกว่ากลุ่มบริษัทในเครืออาร์เอสยูถึง 13 บริษัท เพื่อทำธุรกิจที่ไม่ใช่เรื่องของการศึกษา เพราะต้องการให้องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยสามารถเชื่อมโยงและสอดคล้องกับสังคมภายนอกได้จริงๆ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องประกาศตัวเองให้สังคมรู้ว่า มหาวิทยาลัยฯ มีความเชี่ยวชาญทางด้านไหนบ้าง บริษัททั้งหมดจึงล้วนมาจากการต่อยอดทางวิชาการของคณะต่างๆ ทั้งสิ้น เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์นำมาสู่การเปิดอาร์เอสยูเดนทัล กลุ่มแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพนำมาสู่การเปิดบริษัทอาร์เอสยูเฮลแคร์ ฯลฯ

การดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นจุดที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 มิติ คือ 1.รูปลักษณ์ภายนอก เช่น การกำหนดฟอนต์ใหม่ การออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้มีความเกี่ยวพันกัน และ2.จิตวิญญาณขององค์กร คือ การที่พนักงานไม่ว่าจะอยู่บริษัทไหนก็ตามต้องรู้สึกได้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันว่าเรามีภาระหน้าที่เดียวกันในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องของการสร้างคุณภาพทางด้านการศึกษา สร้างศักยภาพของประเทศ จึงอยากให้เรื่องของแบรนด์ดิ้งเป็นการสื่อสารที่ทั่วถึงทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้รู้ซึ้งถึงการปฎิบัติหน้าที่ของตนเองในแต่ละวันด้วยว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้นสำคัญต่อประเทศมาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.