|
“คีรี กาญจนพาสน์”คิดการใหญ่ ขอลงทุนระบบขนส่งมวลชน
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
อาศัยความมีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งสายสีลมและสายสุขุมวิทรวมถึงส่วนต่อขยายในส่วนสีเขียว ทำให้ คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS มีความหวังที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งเป็นเส้นทางที่ BTSสนใจเข้าร่วมประกวดราคาในการบริหารเดินรถ แม้ว่าจะไม่มีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้าใต้ดินมาก่อน แต่ก็มั่นใจในศักยภาพและเทคโนโลยีที่มีอยู่พอที่จะสู่กับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCLที่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินมา
แม้ว่า BMCL จะมีประสบการณ์การเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่คีรีก็ไม่หวั่น เพราะมั่นใจว่า BTSมีความพร้อมในการบริหารเดินรถไฟฟ้าเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งเงินทุนที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีความพร้อมที่จะซื้อรถไฟฟ้ามาเพิ่ม รวมถึงมีศูนย์ซ่อมบำรุงและมีเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการทำงาน ด้วยสไตล์การทำงานแบบเล็กๆไม่ใหญ่ๆทำจึงไม่แปลกใจที่คีรีสนใจเข้าประมูลงานเดินรถไฟฟ้าที่รัฐบาลลงทุนทุกเส้นทาง
คีรี กล่าวว่า บริษัทมีความมีความพร้อมในการเข้าประกวดราคาการเดินรถสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ (ช่วงบางใหญ่-เตาปูน )แต่ก็ยอมรับว่า BMCL ที่ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นทางปัจจุบันมีความได้เปรียบมากกว่า เพราะเป็นผู้ให้บริการอยู่แล้วทำให้ต้นทุนการให้บริการต่ำ แต่ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าเป็นสายสีเขียว บริษัทก็จะได้เปรียบกว่า เพราะเป็นส่วนต่อขยายของ BTS
คีรียังกล่าวอีกว่า ไทยมีระบบขนส่งมวลชนมาแล้วกว่า10-11ปี แต่ก็ยังไม่สามารถขยายให้มีระยะยาวขึ้นได้ ถือว่าเป็นการขยายตัวที่ช้ามาก หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการขยายเส้นทางระบบขนส่งไปได้ไกลกว่าไทย ทั้งนี้ก็ต้องการสื่อไปยังรัฐบาลว่าบริษัทเอกชนต้องการเห็นส่วนต่อขยายมากกว่านี้ และเอกชนก็มีความพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการแทนหากรัฐบาลไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการเอง เพื่อให้ระบบขนส่งมวลชนมีความครอบคลุมมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาเอกชนกลับไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล ไม่มีการเรียกเอกชนไปหารือ เพราะ11ปีมานี้ทั้ง BTSและ BMCLพร้อมที่จะเข้าไปบริหาร ลงทุน เดินรถหรือเป็นที่ปรึกษาหรือวิธีใดๆที่จะทำให้ระบบขนส่งมวลเกิดขึ้น
“บริษัทที่มีประสบการด้านรถไฟฟ้าในไทย มี BTS และ BMCL ซึ่งยังไม่รวมถึงบริษัทต่างชาติ ที่พร้อมจะเข้ามาสานต่องานโครงการของรัฐบาล หรือโครงการต่อเนื่องที่เกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเราพร้อมที่จะเข้าไปบริหาร ลงทุนโครงสร้างและงานระบบต่าง ๆ ที่สำคัญวันนี้ BTS เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า BTS มีความแข็งกร่ง อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ”คีรีกล่าว
แจงปัญหา BTS เสียบ่อย
ส่วนปัญหาระบบการขัดข้องของรถไฟฟ้าในสายสีลมในช่วงที่ผ่านมานั้น คีรีกล่าวว่า เกิดจากการปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณในสายสีลมจากเดิมใช้ของบริษัทซีเมนส์ จำกัด มาเป็นบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย)จำกัด และอยู่ระหว่างนำขบวนรถใหม่ที่เพิ่งรับมอบจากจีนจำนวน 12 ขบวน เมื่อเดือนมิ.ย. 2553 มา วิ่งบริการ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาบางประการ และจากการตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียดพบว่า ขบวนรถเก่าซึ่งเป็นของซีเมนส์ขบวนหนึ่ง ที่มีการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณของบอมบาร์ดิเอร์ ได้ส่งคลื่นสัญญาณวิทยุรบกวนสัญญาณรถขบวนอื่น ทำให้ขบวนรถที่ถูกรบกวนสัญญาณหยุดวิ่งอัตโนมัติ ซึ่งเป็นไปตามระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุดของระบบรถไฟฟ้า ที่เมื่อระบบตรวจพบความผิดปกติหรือถูกรบกวน ระบบจะสั่งหยุดวิ่งทันทีเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ได้มีการแก้ไขโดยการติดตั้งตัวกรองสัญญาณ เพื่อไม่ให้ระบบอ่อนไหวมากเกินไป อีกสาเหตุที่สำคัญ คือ การเร่งรีบนำรถขบวนใหม่จำนวน 12 ขบวน มาวิ่งบริการเร็วเกินไป
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการปรับระบบอาณัติสัญญาณของสายสุขุมวิทจากซีเมนส์ เป็นบอมบาร์ดิเอร์ฯทั้งหมดด้วย ซึ่งจะเสร็จสิ้นและเริ่มใช้งานได้ในเดือนมี.ค.-เม.ย. 2554 สาเหตุที่บริษัทเปลี่ยนมาใช้ระบบอาณัติสัญญาณเป็นบอมบาร์ดิเอร์ฯ นั้นเนื่องจากระบบของบอมบาร์ดิเอร์ฯถือว่าเป็นระบบที่ทันสมัยและมีค่าใช้ จ่ายในการซ่อมบำรุงต่ำอีกทั้งยังสามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าทุกประเภท ในขณะที่ระบบของซีเมนส์จะล็อกระบบไว้ให้ใช้ได้เฉพาะรถของซีเมนส์เท่านั้น ทำให้รถของเจ้าอื่นไม่สามารถมาวิ่งในระบบของซีเมนต์ซึ่งการเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณเนื่องจากว่าในอนาคตบริษัทมีแผนจะซื้อรถไฟฟ้าเพิ่ม
เซ็นสัญญาเดินรถส่วนต่อขยาย
นอก จากนี้บริษัทได้เซ็นสัญญาร่วมกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 จากซอยสุขุมวิท 85-ซอยสุขุมวิท 107 (อ่อนนุช-แบริ่ง) ระยะทาง 5.25 กม. มีระยะเวลา 1 ปี นับจากวันเริ่มเดินรถในวันที่ 12 ส.ค. 2554 มี 5 สถานี คือ สถานีบางจาก สถานีปุณณวิถี สถานีอุดมสุข สถานีบางนา และสถานีแบริ่ง โดยสัญญาดังกล่าวสามารถต่ออายุแบบรายปีได้นานสูงสุด 19 ปี รวมกับปีแรก หรือจนกว่าสัญญาสัมปทานของโครงการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเดิมจะสิ้นสุดลง ซึ่งบริษัทจะได้รับค่าจ้างสำหรับการให้บริการทั้งหมดในปีแรกรวมภาษีมูลค่า เพิ่มแล้วเป็นเงินประมาณ 674 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|