ลีเวอร์ชูธง “ซีเอสอาร์” เสริมเกราะคุ้มบัลลังก์แชมป์


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ยูนิลีเวอร์ติดอาวุธซีเอสอาร์ป้องตำแหน่งแชมป์ ประกาศแผนระดับโลก “การดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน” มุ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หุ้มเกราะสร้างความยั่งยืนให้ตราสินค้า หวังเพิ่มยอดขายทั่วโลกเป็น 2 เท่าในอีก 10 ปี

เบื้องหลังความสำเร็จการเป็นผู้นำในตลาดคอนซูเมอร์หลายๆ ตลาดของยูนิลีเวอร์ นอกจากความแข็งแกร่งในตัวแบรนด์สินค้าแล้ว สิ่งที่เป็นพลังสำคัญที่ช่วยค้ำบัลลังก์แชมป์ให้ลีเวอร์อยู่นานอยู่ทน ต้องยกให้กับ “ระบบการกระจายสินค้า ที่วันนี้ตัวแทนจำหน่าย หรือที่ชาวยูนิลีเวอร์เรียกขานกันว่า “คอนเซสชั่นแนร์” สามารถกระจายสินค้าได้อย่างครอบคลุมทุกรากหญ้า ซึ่งถือเป็นอาวุธที่ยักษ์คอนซูเมอร์รายนี้มีเหนือกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น พีแอนด์จี, คาโอ, คอลเกต ปาล์มโอลีฟ หรือสหพัฒน์ ก็ตาม ไม่แค่นั้น ลีเวอร์ยังรุกหนักเรื่องการทำ “เทรด โปรโมชั่น” กับร้านค้าที่เป็นซูเปอร์มาร์เกตของผู้ประกอบการท้องถิ่น ในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยลีเวอร์จะได้สิทธิในพื้นที่โฆษณา ณ จุดขาย รวมถึงพื้นที่การจัดเรียงสินค้าบนเชลฟ์ด้วย พูดได้ว่า นอกจากจะเป็นการกระชับความสำพันธ์กับร้านค้าแล้ว ลีเวอร์ยังได้โอกาสกระชับพื้นที่ขายไปพร้อมกันด้วย

ทว่า ในยุคที่ผู้บริโภคหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นเทรนด์ระดับโลก ทำให้ผู้ประกอบการหลายธุรกิจทั้งค่ายเล็ก ค่ายใหญ่มุ่งสู่การทำซีเอสอาร์ โดยเน้นชัดไปที่การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่า ยูนิลีเวอร์ย่อมไม่ตกเทรนด์ ล่าสุดกับการชูแผน “การดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน” นโยบายที่ลีเวอร์เพิ่งประกาศไปทั่วโลก ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสินค้ายูนิลีเวอร์ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคให้ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจแบบยั่งยืน

“ที่ผ่านมาลีเวอร์ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่นี่คือการประกาศแผนอย่างเป็นทางการ เพื่อสื่อสารและวางเป้าหมายชัดเจนว่า ลีเวอร์ต้องการขยายธุรกิจไปพร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” เป็นคำกล่าวของ บาวเค่อ ราวเออร์ส ประธานกลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ฯ ในประเทศไทย

เรียกว่าเป็นอาวุธที่สำคัญอีกตัวของลีเวอร์ เพราะแผนที่ประกาศออกมานั้นถูกออกแบบมาเพื่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆที่พัฒนาขึ้นก็ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคไปพร้อมกันด้วย ซึ่งหากเป็นไปตามแผนดังกล่าว นโยบายนี้ถือเป็นเกราะชั้นดีอีกตัวของลีเวอร์ก็ว่าได้

“การสร้างการเติบโตของบริษัทไปพร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จ โดยผู้บริโภคบอกเราว่า พวกเขาต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่รู้สึกว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ทำได้ยาก และไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นได้ตรงไหน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของเรา และการจัดการกับความท้าทายเพื่อสร้างความยั่งยืน ก็เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น ความนิยมที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์เพิ่มขึ้น การร่วมมือกับผู้ค้าปลีกในการสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม การขยายตลาด และการประหยัดต้นทุน”

สำหรับแผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 เป้าหมาย คือ 1.ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ลงครึ่งหนึ่ง 2.ช่วยให้คนกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น และ 3.การจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรจากแหล่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยยูนิลีเวอร์จะเริ่มปรับกระบวนการดำเนินการตลอดวงจรชีวิตของสินค้า ซึ่งมีด้วยกัน 5 กระบวน คือ 1.การจัดหาวัตถุดิบ 2.การผลิต 3.การขนส่ง 4.การใช้ของผู้บริโภค และ 5.ขยะ

ทั้งนี้ ผู้บริหารลีเวอร์ อธิบายว่า ผลการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์มากกว่า 1,600 รายการ ของการใช้ต่อผู้บริโภคใน 14 ประเทศ พบว่า ขั้นตอนการผลิตและการขนส่งมีผลกระทบเพียง 5% ขณะที่การจัดหาวัตถุดิบและการใช้ของผู้บริโภคมีผลกระทบรวมกันมากถึง 94% ดังนั้น บริษัทจึงมีแผนจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรทั้ง 100% ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2558 ขณะที่การผลิตก็ต้องลดก๊าซที่เกิดจากกระบวนการผลิตลง 90% ภายในปี 2563 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การเปลี่ยนตู้แช่ไอศกรีมทั่วประเทศเพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 2,500 กิโลกรัมต่อปี โดยลีเวอร์ทยอยเปลี่ยนไปแล้วกว่า 3 หมื่นตู้ และในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนให้ครบ 5 หมื่นตู้

ส่วนการขนส่ง ที่แม้จะระบุค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 2% แต่ยักษ์รายนี้ก็ให้ความสำคัญ โดยดำเนินโครงการ Backhaul มุ่งเน้นการใช้ยานพาหนะเพื่อการขนส่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการขอความร่วมมือกับลูกค้าและโมเดิร์นเทรดจัดการขนสินค้าเต็มความสามารถ ขณะเดียวกันก็ปรับความหนาของกล่องจาก 5 ชั้น เหลือ 3 ชั้น แต่คงประสิทธิภาพในการจัดส่งสินค้าเช่นเดิม ซึ่งนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์นี้ก็จะช่วยลดการใช้กระดาษลงอีก 35-40%

ขณะที่การใช้ของผู้บริโภคที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงสุด 68% ถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดก็ว่าได้ เพราะผู้บริโภคสามารถมองเห็นและจับต้องผลงานของลีเวอร์ได้มากสุด โดยการถ่ายทอดผ่านตัวโปรดักส์ ไม่เพียงจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการจากตัวสินค้าเท่านั้น แต่ยังช่วยสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้ด้วย อาทิ น้ำยาปรับผ้านุ่มน้ำเดียว นวัตกรรมที่ออกมาปรับพฤติกรรมการซักผ้าของคุณแม่บ้านจาก 3 น้ำให้เหลือเพียงน้ำเดียว จะช่วยลดการใช้น้ำใน 1 ครัวเรือนได้เท่ากับน้ำดื่มจำนวน 5,000 ลิตรต่อวัน หรือหากผู้บริโภคในเอเชียและแอฟริกาที่ใช้สินค้าของลีเวอร์เปลี่ยนจากผงซักฟอกแบบเดิมมาเป็นสูตรเข้มข้น ก็จะช่วยประหยัดน้ำรวมกันถึง 5 แสนล้านลิตรต่อการซักผ้า 1 ครั้ง สำหรับ “ขยะ” ซึ่งเป็นกระบวนการท้ายสุด ยูนิลีเวอร์ลดการปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิตมาบำบัดที่โรงงานบำบัดน้ำเสียให้กลับมาเป็นน้ำดิบที่มีคุณภาพ รวมทั้งเตรียมจัดโครงการรีไซเคิลของเสียในชุมชน ด้วยกระบวนการแปรรูปให้เป็นน้ำมัน ซึ่งอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับรัฐบาลในการจัดตั้งโรงงาน

และนี่คือ การติดอาวุธเพื่อสร้างเกราะป้องกันบัลลังก์แชมป์ของยูนิลีเวอร์อีกชั้นหนึ่ง ที่ครั้งนี้เป้าหมายแรกก็เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็เพื่อผลักดันยอดขายลีเวอร์ทั่วโลกให้เติบโตขึ้นอีก 2 เท่า ภายในปี 2563 งานนี้ลีเวอร์ต้องการทั้งคะแนนนิยมจากผู้บริโภคและรักษาตำแหน่งแชมป์ไปพร้อมกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.