พิษขึ้นค่าแรงปี 54 หวั่นไตรมาสแรกปิดโรงงาน-ลอยแพพนง.


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

สภาอุตสาหกรรมเหนือ- อีสาน -ใต้ ชี้รัฐปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มขึ้น 8-17 บาททั่วประเทศ มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ หวั่นปีหน้าไตรมาสแรกขึ้นราคาสินค้า ย้ายฐานการผลิต ธุรกิจล่ม ผู้ประกอบการปิดโรงงาน สุดท้ายลอยแพแรงงาน แนะทางรอดปรับตัวจากบริการจัดการเป็นทางออก

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2554 ทั่วประเทศในอัตรา 8-17 บาท เมื่อวันที่9 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม มีลูกจ้างได้ปรับค่าจ้างครั้งนี้ 2ล้านคน เป็นเม็ดเงิน 6,918ล้านบาท เมื่อรวมกับแรงงานต่างด้าวอีกประมาณ 2ล้านคน ซึ่งจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่ เป็นเงิน 7,700ล้านบาท เมื่อรวมแล้วจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 14,900ล้านบาท

ทางด้านความคิดเห็น หากจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นในจังหวัดต่างๆ จากประธานสภาอุตสาหกรรม มองเห็นปัญหาเป็นทิศทางเดียวกัน พร้อมเตรียมหาทางรอดด้วยวิธีการเพื่อรับมือจากการบริหารการจัดทางด้านต่างๆ

รง.อีสานย้ายฐานการผลิต

ธวัชชัย เฮงประเสริฐ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงการปรับต้นทุนพี้นฐานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอีกในภาคอุตสาหกรรม ทั้งด้าน1.พลังงาน เชื้อเพลิง2.แรงงาน3.วัตถุดิบ และ4.ค่าขนส่ง แนวทางที่ผู้ประกอบการธุรกิจในระดับSME จะนำมารับมือกับปัจจัยลบนี้ที่กระทบกันเป็นลูกโซ่ ด้วยวิธีการที่ต่างกัน นับจากช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า มีแนวโน้มว่าสินค้าที่ไม่มีการควบคุมจะมีการปรับขึ้นราคา ขณะสินค้าที่ควบคุมราคาจะหาวิธีการอื่นๆมาใช้พยุงกิจการให้อยู่รอด นับตั้งแต่การนำเข้าเครื่องจักรมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง การลดขนาดกิจการ และปลดคนงานออก

ที่สำคัญจะมีการย้ายฐานการผลิตของโรงงานที่มีเจ้าของเป็นคนไต้หวัน และคนไทย จากพื้นที่ภาคอีสานไปลงทุนในประเทศอื่น และแม้ว่าปีนี้โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อย่าง โรงงานการ์เมนต์ และโรงงานทำรองเท้านั้นมีการผลิตที่มีคุณภาพ และช่วยผลักดันให้มียอดขายเพิ่มขึ้นจากการสั่งสินค้าจากประเทศจีนก็ตาม แต่ปัจจัยลบต่างๆ อาจจะทำให้ประเทศคู่แข่ง เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งภาครัฐมีความมั่นคง และมาตรการที่แน่นอนกว่า

ปัจจุบันจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีทั้งหมด ประมาณ3 หมื่นแห่ง แบ่งเป็น โรงงานขนาดใหญ่ ระดับL สัดส่วน 20 % และโรงงานระดับSME สัดส่วน 80% และหากว่ามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่น ที่มีการปรับค่าแรง 7% ขึ้นจาก 157 บาทมาเป็นอัตรา 167 บาท จะมีทั้งกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์ ซึ่งมีทั้งแรงงานไทยในท้องถิ่นได้ประโยชน์ แรงงานต่างด้าว จากประเทศลาว พม่า

ส่วนกลุ่มที่เสียประโยชน์เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น หรือโรงงานที่มีจำนวนคนงานรับค่าแรงขั้นต่ำจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยโรงงานที่มีการใช้แรงงานขั้นต่ำในสัดส่วนมาก สำหรับในพื้นที่ภาคตะวัน จะเป็นโรงงานการ์เมนต์ โรงงานผลิตรองเท้า และโรงงานแป้งมัน ซึ่งค่าแรงปรับขึ้น10 บาท ในโรงงานมีคนงานหลักหมื่นนั้น เท่ากับเพิ่มต้นทุนขึ้นมาอีก 1 แสนบาท นอกจากนั้นหลังการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมา 10 บาทแล้ว ตามธรรมเนียมนั้นจะต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงให้กับคนเก่าอีกด้วย

เปิดฮับขนส่งภาคเหนือ

ยุทธพงศ์ จีรประภาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการนำมารับมือกับ สถานการณ์มีรายรับคงที่ แต่มีรายจ่ายค่อยๆขยับขึ้นในปีหน้า โดยช่วงหลังไตรมาสที่ 2 สามารถปรับตัว ด้วยสูตรสำเร็จ อย่าง การบริหารจัดการด้านการขนส่ง ซึ่งมีค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงของอุตสาหกรรมทางภาคเหนือ และเนื่องจาก ภาคเหนือมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดไม่ใหญ่เท่ากับภาคกลาง สัดส่วน90% เป็นผู้ประกอบการ SME มีแรงงาน 50 -200 คน และช่วงหลังมีโรงงานเกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงจากวัตถุดิบ และการขนส่ง

ดังนั้นต้องวางแผนระยะยาว มีการทำฮับขนส่ง ปรับการวิ่งรถขนส่งสินค้า เชียงใหม่ -ลำพูน ที่วิ่งรถเปล่า ขึ้น-ลงไม่ได้ประโยชน์ แนะว่าควรมีการปรับจากวิ่งขาเดียวเป็น 2 ขา เพื่อทำให้ต้นทุนลดลง

รวมถึงการมองหาตลาดใหม่ ทำสินค้าทดแทน เพิ่มมูลค่าสินค้า เลิกไลน์สินค้าที่ไม่ได้ทำกำไร บริหารลดต้นทุนราคาขาย เพื่อลดภาระจากปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่

เผชิญปัจจัยลบ 3 เด้ง

ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบหากว่ามีการขึ้นค่าแรง เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการระดับ SME คือ โรงงานการ์เมนต์ และโรงงานเกษตรแปรรูป จากปัจจุบันมีปัจจัยลบทางด้านค่าเงินบาท เพราะต้องพึ่งพารายได้การส่งออก ซึ่งเรียกว่า ภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ เผชิญกับปัจจัยลบ 3 ด้าน คือ 1. ค่าเงินบาทแข็ง 2.ปรับต้นทุนจากแรงงาน

ปัจจัยลบดังกล่าว คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบในไตรมาสแรกปีหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจโรงงานมีการรับออเดอร์ไปแล้ว แต่นับจากในไตรมาสที่ 2จะเริ่มส่งผลให้เห็นทางด้านราคาสินค้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้น

ปรับค่าแรงใต้สูงกว่าทุกภาค

ทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า หากจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลที่ขึ้นค่าแรงในภาคใต้ ที่ปรับแบบก้าวกระโดดมาเป็นช่วงตั้งแต่ 11 - 17 บาท นับว่าเป็นอัตราการขึ้นค่าแรงที่สูงกว่าทุกๆภาค โดยการขึ้นค่าแรงของจังหวัดภูเก็ตมาเป็น 17 บาท จาก204บาท เป็น 221 บาท แม้ว่าจะมีเหตุผลเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงก็ตาม แต่ที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ตมีรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีรายได้ที่ทำกำไรเพียง 6 เดือน อีก 6 เดือนนั้นมีเท่าทุนกับขาดทุน

ขณะเดียวกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโรงงานอุตสาหกรรมในภาคใต้ อย่าง จังหวัดนครศรีธรรมราช-สงขลา ปรับขึ้นค่าจ้าง 15 บาท จาก 159บาท เป็น 174 บาท และ 161บาท เป็น 176บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานระดับSME อาจต้องปิดตัวไปก่อน เนื่องจากจะต้องเผชิญกับปัจจัยลบ 3 ด้าน คือ 1. ดอกเบี้ย 2.ค่าแรง 3.ค่าเงินบาทแข็ง โดยตัวเลขตอนนี้หลายๆธุรกิจเริ่มขาดทุนแล้ว 5% ขณะเดียวกันยังมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส เพิ่มขึ้น 11 บาท ส่วนจังหวัดนราธิวาสเพิ่มขึ้น 12 บาท ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นี้

“ถ้ามาเผชิญเรื่องการขึ้นค่าแรงอีก ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่เฉพาะค่าจ้าง ทั้งตรงกับการขึ้นเงินเดือนประจำปี เป็นค่าแรง 2 เด้ง โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กยิ่งไปเร็ว คาดว่าจะส่งผลในไตรมาสแรก เมื่อมีโรงงานปิด ภาพรวมเศรษฐกิจเหตุการณ์ไม่ดี แบงก์บีบอุตสาหกรรม และจะค่อยๆแทรกซึมไปสู่ NPL ขยายวงกันเป็นลูกโซ่ ” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ กล่าว

ค่าจ้างปี 54 ปรับทั่วปท. 8-17 บาท

"บอร์ดค่าจ้าง" ชุดที่18 พิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2554 เพิ่ม 8-17 บาท ทั่วประเทศ โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อรักษาอำนาจการซื้อของผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนพัฒนาฝีมือแรงงานที่เริ่มเข้าทำงานใหม่ ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในแต่ละวันอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม2554 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นต่ำสุด 8บาท มี 7จังหวัด คือ จ.พะเยา จาก 151บาท เป็น 159บาท,จ.ศรีสะเกษ 152บาท เป็น 160บาท,จ.อำนาจเจริญ 155บาท เป็น 163บาท,จ.นครสวรรค์ 158บาท เป็น 166บาท,จ. เพชรบูรณ์ 158 บาท เป็น 166บาท,จ.อุทัยธานี 160บาท เป็น 168บาทและจ.ประจวบคีรีขันธ์ 164บาท เป็น 172บาท

ปรับขึ้นในอัตรา 9บาท รม 24จังหวัด คือ จ.น่าน จาก 152บาท เป็น 161บาท,จ.ตาก จาก 153 บาท เป็น 162บาท,จ.สุรินทร์ 153บาท เป็น 162บาท,จ.มหาสารคาม 154บาท เป็น 163บาท,จ. นครพนม 155บาท เป็น 164บาท,จ.ชัยภูมิ ลำปางและจ.หนองบัวลำภู 156บาท เป็น 165บาท ,จ.เชียงราย บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ยโสธรและจ.สกลนคร จาก 157บาท เป็น 166บาท,จ.ชัยนาทและจ. สุพรรณบุรี 158บาท เป็น 167บาท,จ.ตราดและจ.ลำพูน จาก 160บาท เป็น 169บาท,จ.สมุทรสงคราม 163บาท เป็น 172บาท,จ.อ่างทอง 165บาท เป็น 174บาท,จ.เชียงใหม่ 171บาท เป็น 180บาท,จ. พระนครศรีอยุธยา 181บาท เป็น 190บาท,จ.สระบุรี 184บาท เป็น 193บาท,จ.สมุทรปราการ 206 บาท เป็น 215บาทและกรุงเทพมหานคร 206บาท เป็น 215บาท

ปรับขึ้น 10บาท 16จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก แม่ฮ่องสอนและจ.อุตรดิตถ์ จาก 153 บาท เป็น 163บาท,จ.มุกดาหาร 155บาท เป็น 165บาท,จ.กาฬสินธุ์และจ.ขอนแก่น 157บาท เป็น 167บาท,จ.กำแพงเพชร 158บาท เป็น 168บาท,จ.หนองคาย 159บาท เป็น 169บาท,จ.นครนายก 160บาท เป็น 170บาท,จ เลยและจ.สระแก้ว 163บาท เป็น 173บาท,จ.นครราชสีมา 173บาท เป็น 183บาท,จ. นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานีและจ.สมุทรสาคร จาก 205บาท เป็น 215บาท,ปรับขึ้น 11บาท รวม 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ปัตตานี 159บาท เป็น 170บาท,จ.นราธิวาสและจ.อุบลราชธานี 160บาท เป็น 171 บาท,จ.สิงห์บุรี 165บาท เป็น 176บาท,จ.เพชรบุรี 168บาท เป็น 179บาทและจ.ระยอง 178บาท เป็น 189บาท

ปรับขึ้น 12บาท จำนวน 10จังหวัด ได้แก่ จ.แพร่และจ.พิจิตร จาก 151บาท เป็น 163บาท,จ. สุโขทัย 153บาท เป็น 165บาท,จ.อุดรธานี 159บาท เป็น 171บาท,จ.ยะลา 160บาท เป็น 172บาท,จ. จันทบุรี 167บาท เป็น 179บาท,จ.กาญจนบุรี 169บาท เป็น 181บาท,จ.ลพบุรี 170บาท เป็น 182บาท,จ.ระนอง 173 บาท เป็น 185บาทและจ.ชลบุรี 184บาท เป็น 196บาท, ปรับขึ้น 13บาท รวม 7จังหวัด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี 159บาท เป็น 172บาท,จ.ชุมพร 160บาท เป็น 173บาท,จ.ตรัง 162บาท เป็น 175บาท,จ.ราชบุรี 167บาท เป็น 180บาท,จ.พังงา 173บาท เป็น 186บาท,จ.ฉะเชิงเทรา 180บาท เป็น 193บาทและจ.ปราจีนบุรี 170บาท เป็น 183บาท

ส่วนที่ปรับขึ้น 14บาท มี 3จังหวัด ได้แก่ จ.พัทลุงและจ.สตูล 159บาท เป็น 173บาท,จ.กระบี่ 170บาท เป็น 184บาท,ปรับขึ้น 15บาท มี 2จังหวัด คือ จ.นครศรีธรรมราช 159บาท เป็น 174 บาท,จ.สงขลา 161บาท เป็น 176บาทและปรับขึ้น 17บาท มี 1จังหวัด คือ จ.ภูเก็ต 204บาท เป็น 221 บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.