พาณิชย์นำร่องตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีส่งออก เล็งตั้งศูนย์รายจังหวัดพัฒนารายย่อยบุกตลาดโลก


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

กระทรวงพาณิชย์จับมือเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ผุดสภาธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อการส่งออก ตั้งปลัดกระทรวงพาณิชย์ และรองปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องรวมทั้งตัวแทนภาคเอกชนเป็นกรรมการวางโครงร่างเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่ออออกเป็นกฎหมายรองรับ เผยใช้โมเดลต้นแบบจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ หวังเป็นปากเสียงให้กับธุรกิจรายย่อยในเวทีระดับประเทศ และสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ พร้อมลงลึกตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีจังหวัด เข้าไปดูแลพัฒนาผู้ประกอบการและเป็นตัวแทนในท้องถิ่น คาดจะมีผู้ประกอบการกว่า 5 แสนรายเข้าร่วม

สภาธุรกิจเอสเอ็มอีคืบหน้าหลัง ครม.มีมติสั่งตั้งคณะกรรมการดูแลการจัดตั้งโดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีรองปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม ตลอดจนสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการ หวังเป็นตัวแทนของเอสเอ็มอีทั่วประเทศในการวางนโยบายชี้แนะแนวทางแก้ปัญหาเอสเอ็มอีให้กับรัฐบาล โดยจะนำร่องตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อการส่งออกช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยบุกตลาดต่างประเทศ และเป็นตัวแทนประสานความร่วมมือในระดับนานาชาติ พร้อมตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีฯรายจังหวัด เพื่อลงลึกแก้ปัญหาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง

“พาณิชย์”นำร่องตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าว อนุรุทธิ์ โค้วคาสัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาของเอสเอ็มอีเป็นปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน และขาดการพัฒนาที่เป็นระบบ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงได้พยายามผลักดันช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่ม เอสเอ็มอี อย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาได้เดินหน้าจัดตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้วและมีมติให้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลในเรื่องนี้เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานและความเป็นไปได้ของการตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็นอีนี้ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานส่วนกรรมการประกอบด้วยรองปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ เป็นต้น รวมทั้งจะมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีเข้าร่วมด้วย

โดยกรอบการจัดตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีนี้ จะต้องเป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายรองรับเพื่อให้เป็นตัวแทนของกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง และมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาธุรกิจเอสเอ็มอีต่างก็สังกัดอยู่ภายใต้องค์กรใหญ่ๆ เช่น สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือไม่ก็เป็นสมาคมการค้าเล็กๆ ทำให้ไม่มีเสียงไม่มีพลังในการเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะองค์กรขนาดใหญ่เหล่านี้ต่างก็มีภาระกิจหลักในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับชาติ และปัญหาของเอสเอ็มอีก็แตกต่างจากปัญหาของธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่มีเวทีเรียกร้องที่เป็นของตัวเอง ทั้งๆที่กลุ่มเอสเอ็มอีนี้เป็นผู้ประกอบการกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ และกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นจำนวนมาก

คาดจะช่วยเหลือธุรกิจได้กว่า5แสนราย

สำหรับโครงสร้างของสภาธุรกิจเอสเอ็มอีนี้ จะต้องมีภาคเอกชนมาเป็นประธานแบบสภาหอการค้าไทย และจะมีการแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆแยกย่อยภายใน แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งประเทศมีมากกว่า 2 ล้านราย และมีความหลากหลายที่แตกต่างกันมาก ทำให้เป็นการยากที่จะรวมกลุ่มกันได้ทั้งหมด ดังนั้นเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงาน และสะดวกในการจัดตั้ง ในเบื้องต้นจะตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อการส่งออกขึ้นมาก่อน ซึ่งจะลดจำนวนผู้ประกอบการที่เกี่ยวลงเหลือประมาณ 5-6 แสนราย โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งเพราะมีกรมกองต่างๆภายใต้ที่มีความพร้อมในการช่วยเหลือ เพื่อเข้าไปสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการส่งออกโดยเฉพาะ และส่งเสริมให้ผู้ที่ต้องการส่งออกสามารถบุกตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งภายในสภาธุรกิจเอสเอ็มอีใหญ่ก็จะมีกลุ่มแยกย่อยตามคลัสเตอร์ต่างๆเป็นปากเสียงให้กับเอสเอ็มอีทุกธุรกิจ

ดันเอสเอ็มอีไทยบุกอาเซียน

นอกจากนี้สภาธุรกิจเอสเอ็มอียังจะเป็นเวทีระหว่างประเทศของกลุ่มเอสเอ็มอี รองรับการจัดตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการ เสริมสร้างความร่วมมือของผู้ประกอบการ เช่น การยกระดับฝีมือแรงงาน และร่วมทุนในภูมิภาคนี้ที่จะรวมเป็นตลาดเดียวในอนาคต ซึ่งประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่จะมีสภาธุรกิจฯนี้ และประเทศต่างๆจะตั้งขึ้นตามมาในอนาคต

ทั้งนี้ไม่เพียงแต่จะจัดตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีที่ส่วนกลาง แต่จะขยายให้มีการตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีในระดับจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นแกนหลักในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในท้องถิ่น ปัญหาใดสามารถแก้ได้ภายในจังหวัดก็จะได้ดำเนินงานได้ทันทีปัญหาใดแก้ไม่ได้ก็ส่งขึ้นมายังสภาธุรกิจเอสเอ็มอีที่ส่วนกลางเพื่อนำเสนอกับรัฐบาลให้เข้ามาแก้ไขต่อไป

เอกชนหนุนเพิ่มอำนาจต่อรองรายย่อย

ด้าน จิรบูลย์ วิทยสิงห์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย หนึ่งในภาคเอกชนที่ผลักดันในการตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอี กล่าวว่า แนวคิดการตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีของกระทรวงพาณิชย์ เป็นแนวคิดที่ถูกต้องและสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อย่างแท้จริงสร้างอำนาจต่อรองให้กับรายย่อย เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีมากกว่า 2.5 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 99.3% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศมีสัดส่วนของจีดีพีประมาณ 37.6% และยังเป็นส่วนสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ เพราะหากธุรกิจขนาดใหญ่ล้มลง ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้จะช่วยเศรษฐกิจในภาพรวมไม่ได้ได้รับผลกระทบที่รุนแรง

โดยในเบื้องต้นจะตั้งเป็นสภาธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อการส่งออก เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานราชการมีแต่การส่งเสริมด้านการผลิต การลดต้นทุน แต่ยังไม่มีหน่วยงานที่ส่งเสริมการขาย การตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศอย่างแท้จริง ทำให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตได้ยาก เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เก่งแต่ด้านการผลิตแต่ค้าขายไม่เป็น และหลายฝ่ายก็ไม่ได้ให้ความสนใจ ดังนั้นการมีสภาธุรกิจฯนี้ก็จะทำให้การเรียกร้องปัญหาต่างๆได้รับการตอบสนองที่ตรงจุดกับความต้องการ

นอกจากนี้หน่วยงานเอกชนที่มีพลังในการผลักดันนโยบายรัฐก็จะอยู่ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคาร ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ซึ่งผู้นำแต่ละองคฺกรก็มาจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่เข้าใจในเชิงลึกของผู้ประกอบการรายย่อย ในขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่มีองค์กรระดับชาติที่เป็นของตัวเอง ทำให้ไม่มีช่องทางในการเรียกร้องปัญหาต่างๆ ซึ่งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อการส่งออกนี้จะไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับหอการค้าไทยหรือสภาอุตสาหกรรมฯ เพราะจะเป็นการโฟกัสปัญหาที่เป็นของเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ในขณะที่องค์กรใหญ่ใน กกร. จะดูแลในภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาค

ทั้งนี้หากมีการตั้งสภาธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อการส่งออกเกิดขึ้น ก็จะเป็นศูนย์รวมในการประสานงานกับหน่วยงานช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่างๆที่ในอดีตไม่มีช่องทางเข้าไปคุยกับกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆก็มีหลักสูตรในเรื่องเอสเอ็มอี มีองค์ความรู้ต่างๆที่จะเข้าช่วยเหลือ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ต่างก็มีสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยตรง ทำให้เกิดการประสานงานกันก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการรายย่อย และยังเป็นตัวแทนของประเทศในการเข้าประชุมในเวทีของเอสเอ็มอีในระดับโลก และระดับภูมิภาค

คาดใช้โมเดลสภาอุตฯท่องเที่ยว

โดยรูปแบบการจัดตั้งในเบื้องต้นจะมีความคล้ายคลึงกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่รวบรวมสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน ทั้งนี้สภาธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อการส่งออกจะมีสมาชิกที่เป็นองค์กรสมาคมการค้าที่เป็นเอสเอ็มอี โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในสมาคมเหล่านี้จะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นกลุ่มที่มีการส่งออกจริง ทำให้เป็นการคัดกรองสมาชิกที่เข้าร่วมเป็นมืออาชีพตัวจริง เข้ามาทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง

นอกจากนี้การที่กระทรวงพาณิชย์เข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งก็มีความเหมาะสมเพราะมีการประสานงานกับผู้ส่งออกมาอย่างยาวนานรู้ว่าผู้ประกอบการใดเป็นตัวจริงผู้ประกอบการรายใดเชื่อถือไม่ได้ รวมทั้งมีหน่วยงานภายใต้รองรับค่อนข้างครบถ้วน รวมทั้งยังเป็นการง่ายในการผลักดันนโยบายต่างๆเพราะอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน และถ้าเกิดปัญหาที่จะต้องประสานงานกับกระทรวงอื่นหรือสถาบันการเงินก็จะมีน้ำหนักในการเข้าไปเจรจา ดังนั้นจึงอยากให้รัฐมนตรีที่เข้ามาดูแลกระทรวงนี้สานต่อโครงการนี้ต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.