จับกระแสค่ายรถยนต์ รับการแข่งขันปี 2011


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศแถบยุโรป ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส อิตาลี กรีซ และสเปน จะอยู่ในภาวะหนาวๆร้อนๆ แต่เศรษฐกิจของเมืองไทยกลับยังคงคึกคัก ถึงขนาดที่โตโยต้าค่ายรถยนต์อันดับหนึ่งในด้านยอดขายของบ้านเราถึงกับออกปากว่าไม่เคยขายดีอย่างนี้ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับภาพการเพิ่มกำลังการผลิตของรถยนต์หลายค่ายให้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งเพิ่มกำลังการผลิต และเพิ่มรุ่นสินค้าให้เลือกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่ายโตโยต้า ฟอร์ดที่เพิ่มงบลงทุน 1.1 หมื่นล้านในโรงงานออโต อัลลายแอนซ์ 1 ร่วมกับมาสด้า

ในธุรกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ปัจจุบันผู้เข้ามาผลิตและจำหน่ายรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยบริษัทแม่จากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, ตรีเพชรอีซูซุ เซลส์ จำกัด, ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด รวมไปถึงค่ายนิสสัน, มิตซูบิชิ และมาสด้า จะว่าไปแล้ว ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นแทบทุกค่ายเป็นการลงทุนของบริษัทแม่ในญี่ปุ่นแทบทั้งสิ้น

ก่อนหน้านี้ในจังหวะที่ตลาดรถยนต์เมืองไทยกำลังเริ่มต้นตั้งไข่ รถยนต์เหล่านี้เข้ามาขายโดยมีบริษัทคนไทยเป็นผู้นำเข้า หรือลงทุนไลน์การผลิตในประเทศแทบทั้งสิ้น โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย เริ่มต้นธุรกิจในเมืองไทย ในนามโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เมื่อปี 2505 ขณะที่นิสสัน มอเตอร์ส ประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัท สยามนิสสัน มอเตอร์ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

การเข้ามาของบริษัทแม่ของบริษัทรถยนต์ในประเทศไทย เป็นดัชนีชี้วัดถึงการมองเห็นโอกาส และศักยภาพของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยจากปีละไม่กี่หมื่นคันในอดีต จนมาถึงปีนี้ที่คาดว่ายอดขายจะทะลุถึง 7.5 แสนคัน ไม่นับถึงปีหน้าที่เชื่อว่ายอดขายจะพุ่งสูงมากขึ้นกว่าปีนี้อีกมาก จากการเข้ามาลุยตลาดของบรรดารถเล็กในเซกเมนต์บีคาร์ หรือบบรรดาอีโคคาร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น บริโอ ของค่ายฮอนด้าที่กำลังจะออกมาในช่วงต้นปีหน้า ที่มีจุดขายในเรื่องของการประหยัดพลังงาน และประหยัดราคา

อีกประการหนึ่งก็คือต้องการเข้ามาลงทุนสายการผลิตของไทยเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง และเป็นตลาดที่มีศักยภาพแห่งหนึ่งของโลก

ปัจจุบันบริษัทรถยนต์ต่างๆ มีศักยภาพการผลิตรถยนต์จากโรงงานของตนเองมากมาย เพียงแต่บางแห่งยังใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงงานของบางบริษัทมากกว่า 60% เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งนอกจากเป็นการขยายตลาดในต่างประเทศแล้ว ยังเป็นเรื่องของระบบการจัดการด้านผลิตภัณฑ์ เพราะหากตลาดในประเทศหรือต่างประเทศเกิดมีปัญหาด้านยอดขาย การผลิตที่ได้มาจะถูกถ่ายเทไปให้อีกตลาดได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่ค่ายจากอเมริกา 2 ค่ายใหญ่ ทั้งเจนเนอรัล มอเตอร์ ประเทศไทย หรือจีเอ็ม และฟอร์ด มอเตอร์ แม้จะเป็นการเข้ามาทำตลาดเองของบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา แต่ผลตอบรับด้านยอดขายไม่เติบโตแบบเปรี้ยงปร้าง ดังนั้น โรงงานผลิตรถยนต์ของทั้ง 2 ราย ส่วนที่นำมาจำหน่ายในประเทศผ่านตัวแทนจำหน่ายต่างๆ จึงมีปริมาณไม่มากนัก แต่จะไปเน้นการส่งออก ซึ่งเป็นผลมาจากการรุกเข้ามาในเมืองไทยของบริษัทรถยนต์รายใหญ่

แม้แต่บีเอ็มดับเบิลยู หรือเมอร์เซเดส ค่ายใหญ่จากฝั่งยุโรป การเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยของบริษัทแม่ ถือเป็นการกระตุ้นตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะตลาดนิช ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทรถยนต์ทั้ง 2 แห่ง อาศัยการทำตลาดผ่านตัวแทนนำเข้า และจัดจำหน่าย ซึ่งบางครั้งบริษัทแม่ในต่างประเทศไม่สามารถควบคุมการให้บริการหลังการขายให้เป็นไปตามาตรฐานเดียวกันทั่วโลกได้

แต่การเข้ามาของบริษัทแม่ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าเข้ามาลงทุนแล้วจะทำให้ยอดขายกระเตื้อง หรือเติบโตมากมาย เพราะปัจจุบันมีบริษัทแม่ของบริษัทรถยนต์บางแห่งได้ลดบทบาทการทำตลาดโดยบริษัทแม่ลง เช่น แลนด์โรเวอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้การเข้ามาของบริษัทแม่ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดเซกเมนต์ใหม่ๆในตลาดอย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ดี เวลานี้มีบริษัทรถยนต์อีกหลายบริษัทที่เตรียมงบประมาณในการเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น โปรตอน จากมาเลเซีย หรือเฌอรี่ รถยนต์จากประเทศจีน เพียงแต่บริษัทเหล่านี้ยังต้องศึกษาทิศทางการขยายตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศไทย รวมถึงโอกาสในการทำยอดขายรถยนต์ของตนเอง ก่อนที่จะเข้ามาลงหลักปักฐานเป็นบริษัทรถยนต์ที่ดำเนินงานโดยบริษัทแม่ในประเทศไทย

แต่ในตลาดรถยนต์เมืองไทยนั้นได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็นตลาดปราบเซียน และใช่ว่าการเข้ามาลงทุนของบริษัทแม่จากต่างประเทศจะสามารถบันดาลให้รถยนต์แบรนด์นั้นสามารถปั๊มยอดขายอย่างเป็นกอบเป็นกำ ดีไม่ดีอาจถึงต้องม้วนเสื่อกลับบ้านดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หากการเข้ามาลงทุนของบริษัทแม่เป็นเพียงแค่ต้องการตั้งเป็นสำนักงานสาขา ไม่มีการลงทุนการผลิตในประเทศ และแผนการส่งออกในอนาคต

เมื่อเป็นเช่นนี้การเข้ามาลงทุนของบริษัทแม่ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ในระดับโลกเพียงใด แต่สุดท้ายก็อาจพ่ายให้กับค่ายรถญี่ปุ่นที่ฝังตัวอยู่ในตลาดรถยนต์มานาน...แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกเข้ามาแข่งในเซกเมนต์ไหน ที่ใครเป็นผู้ครองตลาดเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม หากมองแนวโน้มการแข่งขันและการลงทุนในปีหน้า เชื่อว่าจะต้องดุเดือด และคึกคักไม่แพ้ปีนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนจะยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ที่น่าจับตาเห็นจะเป็น 2 ส่วนใหญ่คือ การลงทุนในส่วนของอีโคคาร์ กับการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตรถปิกอัพรุ่นใหม่ของเกือบทุกรายที่วางแผนจะเปิดตัวในช่วงปี 2554-2555

และแน่นอนว่าการแข่งขันไม่ได้ขีดวงความสนุกสนานไว้ที่ตลาดรถเล็กเท่านั้น แต่ยังขยายวงไปถึงรถปิกอัพด้วยเช่นกัน และจะทำให้เป้าหมายการผผลิตรถยนต์ในประเทศไทยเข้าสู่ระดับ 2 ล้านคันตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.