แนวโน้มสินเชื่อปี 2554 แรงส่งจากรายย่อยอาจลดลง


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ปี 2553 เป็นปีที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เติบโตสูงขึ้นกว่าปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2553 เติบโตเกือบ 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับช่วงสิ้นปี 2552 ที่หดตัว 0.7% โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนในช่วงครึ่งปีแรก

รายย่อยดันสินเชื่อปี 53 พุ่ง

จากข้อมูลสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศที่เผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าเงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2553 เติบโต 9.8% จากปีก่อน โดยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกเดือน ปัจจัยหนุนหลักมาจากความต้องการสินเชื่อจากภาคเอกชนที่อยู่ในเกณฑ์ดี การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และมาตรการหนุนของรัฐสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงแรงส่งจากการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ยังคงความเข้มข้นต่อเนื่อง

สินเชื่อรายย่อยเติบโตเร่งขึ้นจาก 9.2% ณ สิ้นปี 2552 มาที่ 17.9% ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2553 โดยสินเชื่อเช่าซื้อยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอการตัดสินใจซื้อในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2551-2552 การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการแข่งขันด้านราคาของสถาบันการเงิน ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลยังคงได้รับแรงหนุนจากโปรโมชั่นต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนการแข่งขันด้านราคาและกลยุทธ์การขายข้ามผลิตภัณฑ์ในตลาดสินเชื่อบุคคลมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แม้ว่าจะเติบโตชะลอลงในไตรมาส 3 หลังจากที่มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์หมดอายุลงในช่วงกลางปี แต่ก็ยังเติบโตถึง 14.6% จาก 10.1% ณ สิ้นปี 2552

บทบาทของสินเชื่อรายย่อยที่ค่อนข้างโดดเด่น ทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่สุทธิในภาพรวมเติบโตถึง 85% เทียบกับบทบาทของการปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่อยู่ที่เพียงประมาณ 15% เท่านั้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อรวมขยับเพิ่มขึ้นจาก 30% ณ สิ้นปี 2552 มาที่ 32.4% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจครองส่วนแบ่งตลาด 67.6% โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีน่าจะมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% อย่างไรก็ตามสินเชื่อรวมน่าจะเติบโตชะลอลงในช่วงเดือน 2 เดือนสุดท้าย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ณ สิ้นปี 2553 สินเชื่อจะเติบโตประมาณ 7-8.5% เป็นการปรับเพิ่มจากประมาณการเดิมที่ 6-8%

มองปี 54 ชะลอตัว

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อในปี 2554 คาดว่าจะเผชิญปัจจัยลบมากขึ้นกว่าในปี 2553 ได้แก่ 1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณว่า จีดีพีไทยในปี 2554 อาจชะลอลงจาก 7% ในปี 2553 มาที่ประมาณ 3.5-4.5% ในปี 2554 ภาคการส่งออกและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตในกรอบที่ชะลอลง ตามอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากเงินเฟ้อที่อยู่ในจังหวะขาขึ้น ซึ่งอาจมีผลในการบั่นทอนความต้องการบริโภคสินค้าคงทนได้

2.แรงส่งจากมาตรการภาครัฐที่เบาบางลง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ช่วยกระตุ้นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยค่อนข้างมากในปี 2553 ขณะที่ปี 2554 จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ LTV แม้อาจไม่ได้ส่งผลกระทบทางตรงที่ไปจำกัดการเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพราะแนวทางการปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่น่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ก็อาจมีผลกระทบทางจิตวิทยา อีกทั้งทำให้ธนาคารพาณิชย์อาจปรับรูปแบบการให้สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยบางส่วนไปสู่สินเชื่อบุคคลแทน

3.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพิ่มตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้การปรับขึ้นอาจไม่บ่อยนัก โดยอาจไม่เกิน 1% สำหรับทั้งปี 2554 แต่ก็อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจขอสินเชื่อของบางกลุ่ม แต่อยู่ในขอบเขตที่จำกัด เพราะอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่หรือในปีแรกๆ มักถูกกำหนดเป็นอัตราคงที่ อีกทั้งการแข่งขันด้านราคาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไทยน่าจะเติบโต 5-7% ชะลอลงจากปี 2553 ที่เติบโต 7-8.5%

ปี 2554 คาดว่าสินเชื่อรายย่อยมีโอกาสที่จะเติบโตชะลอลงจากตัวเลขคาดการณ์ ณ สิ้นปี 2553 ที่ 14.2-15.9% มาที่ 9.3-11.5% โดยจะกระจายไปในสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท ในขณะที่ความต้องการบริโภคสินค้าคงทนได้รับการดูดซับไปค่อนข้างมากแล้วในปี 2553 ส่วนสินเชื่อธุรกิจ คาดว่าจะชะลอลงจาก 2.9-4.3% ณ สิ้นปี 2553 มาที่ 1.9-3.8% ณ ปี 2554 ทำให้สินเชื่อธุรกิจปล่อยใหม่สุทธิต่อสินเชื่อรวมปล่อยใหม่สุทธิขยับขึ้นจากที่ต่ำกว่า 20% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มาสู่ระดับใกล้เคียงหรือเหนือกว่า 30% ได้

แม้ว่าสินเชื่อด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) จะได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ชะลอลง แต่ความต้องการสินเชื่อในประเทศ (Domestic Credits) จากผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี ตลอดจนภาครัฐ ก็ยังน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนหลายอุตสาหกรรมมีแผนจะเดินหน้าโครงการลงทุนเพิ่มเติมอยู่แล้วในปี 2554 ทำให้อาจต้องมีการพึ่งพิงเงินทุนบางส่วนจากสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตในระดับสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับอดีต เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ซึ่งอาจเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพื่อขยายกำลังการผลิตนอกเหนือไปจากแผนการกู้ยืมเงินจากผู้ประกอบการ (รัฐวิสาหกิจ) ในธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อการขยายโครงข่าย 3G ให้ครอบคลุมพื้นที่บริการทั่วประเทศ ทั้งหมดจะช่วยฟื้นความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจในปีหน้าได้

ขณะที่ปัจจัยที่อาจมีผลในการหนุนความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุน และสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ได้แก่ ความคืบหน้าของ 3G ที่จะเกี่ยวพันกับการลงทุนเพิ่มของผู้ประกอบการเอกชนในธุรกิจโทรคมนาคม สถานการณ์เงินเฟ้อและราคาวัตถุดิบ ซึ่งหากปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างชัดเจนก็อาจมีผลในการเพิ่มความต้องการสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนให้สูงขึ้นได้ในระยะสั้นเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2551

เป็นที่น่าสังเกตว่าเป้าหมายสินเชื่อในปี 2554 ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่ทยอยประกาศออกมายังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับตัวเลขของปี 2553 แต่ภาวะความต้องการสินเชื่อจากกลุ่มลูกค้าศักยภาพที่จำกัดลง ก็อาจกระตุ้นให้ผู้เล่นหลายรายยังเลือกใช้กลยุทธ์ด้านราคา เพื่อช่วงชิงลูกค้าจากคู่แข่ง หรือถูกกดดันให้หาฐานลูกค้าใหม่ที่อยู่ในตลาดต่ำลง หรือผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กลงมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อลูกค้าผู้บริโภคและธุรกิจขนาดย่อม สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับ 2 ที่ต้องการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้บริโภคมากขึ้น แต่สำหรับธนาคารพาณิชย์คงต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการเพิ่มรายได้ส่วนอื่นๆ ทดแทน โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียม เพื่อให้สามารถประคองความสามารถในการทำกำไรในปีหน้าให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.