เบื้องหลังปลดประธานทศทไม่สนอง 2 โครงการใหญ่


ผู้จัดการรายวัน(16 ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ทศท ยืมมือคุณหญิงทิพาวดี ทิ้งทวน 2 โครงการใหญ่ ทั้งการแก้เงื่อนไขผลงานก่อสร้างท่อร้อยสายของโครงการโทรศัพท์ 5 แสนเลขหมาย และการอนุมัติเงินขยายเครือข่ายไทยโมบายกว่า 1,400 ล้านบาทที่สูงเกินจริง และไม่สนใจภาพรวมยุทธศาสตร์ที่อยู่ระหว่างรอการปรับเปลี่ยน

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่าการที่น.พ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ปรับเปลี่ยนหน้าที่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงซึ่งเดิมเป็นประธานบอร์ดบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่นกับบริษัท กสท โทรคมนาคม ให้มารับผิดชอบงานด้านอี-กอฟเวิร์นเมนต์ให้เต็มที่ น่าจะเกิดจากในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ผลงานในเชิงการสนองนโยบาย ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากไล่เรียงลำดับเวลาจะเห็นภาพฟางเส้นสุดท้ายที่ยึดเก้าอี้ประธานบอร์ดของคุณหญิงขาดลง หลังการประชุมบอร์ด ทศท เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมาซึ่งมีการรับรองมติบอร์ดโครงการโทรศัพท์ 5 แสนเลขหมาย ที่พูดได้ว่าประธานบอร์ดรู้ไม่เท่าทันเล่ห์ผู้บริหารทศท ที่ชอบใช้เทคนิคซับซ้อนนำไปสู่ความชอบธรรมหาประโยชน์ให้พรรคพวก เพราะคล้อยหลังมาเพียงวันเดียว น.พ.สุรพงษ์ก็ให้สัมภาษณ์ชัดเจนถึงการโยกย้ายหน้าที่ดังกล่าวท่ามกลางความอึมครึมที่ปกคลุมกระทรวงและข่าวลือในการโยกย้าย คุณหญิง ก่อนหน้านี้

โครงการโทรศัพท์ 5 แสนเลขหมายถือเป็นโครงการ ขนาดใหญ่ในรอบปีเพราะมีมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท หลายๆฝ่ายเฝ้ารอไม่ว่าจะเป็นทศท,ประชาชนที่ต้องการโทรศัพท์ใช้ พ่อค้าและการเมือง

ประเด็นสำคัญในการรับรองมติบอร์ดวันนั้น เป็นเพราะนายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ทศท ได้แก้เรื่องผลงานโดยเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมที่เคยอนุมัติไว้ ในเรื่องคุณสมบัติเฉพาะงานสร้างและปรับปรุงข่ายสายโทรศัพท์ท้องถิ่น ที่ระบุว่าต้องมีผลงานด้านการก่อสร้างท่อร้อยสายและข่ายสายโทรศัพท์ท้องถิ่นของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจในวงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาทต่อ 1 สัญญาภายในเวลา 5 ปี โดยแก้เป็นผู้เข้าประกวดราคาต้องมีผลงานด้านการก่อสร้าง ข่ายสายตอนนอก(เคเบิลทองแดงและ/หรือเคเบิลใยแก้วนำแสง) ในวงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ต่อ 1 สัญญาโดยเป็นประสบการณ์จากส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจ หรือจากผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ร่วมการงาน/ร่วมลงทุนของ ส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจ

ความตั้งใจของนายสิทธิชัยคือล้มล้างหลักการเดิมของ บอร์ดแล้วเปลี่ยนหลักการใหม่ เนื่องจากงานด้านการก่อสร้าง ท่อร้อยสายและข่ายสายโทรศัพท์ท้องถิ่น เป็นคนละผลงาน หรือผลงานคนละใบกับงานด้านการก่อสร้างข่ายสายตอนนอก รวมทั้งนายสิทธิชัยยังไม่ได้ระบุระยะเวลาของผลงานไว้ด้วย

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหักล้างหลักการเดิมคือเปิดกว้างให้ผู้รับเหมาทั่วๆไป ที่ไม่ได้มีประสบการณ์หรือความชำนาญในการก่อสร้างท่อร้อยสายโทรศัพท์โดยเฉพาะสามารถเข้าประมูลได้ ประเภทพวกเดินสายไฟฟ้า งานด้านระบบสื่อสัญญาณทั่วๆไป รวมทั้งการไม่ระบุเวลาผลงาน 5 ปีก็ถือเป็นครั้งแรกของทศท ที่ประกวดราคาเกี่ยวกับงานด้านโทรศัพท์แล้วไม่ได้ระบุระยะเวลาผลงานเอาไว้

"ไปเอาสัญญามาดูได้เลยว่าที่ผ่านมางานเกี่ยวกับการขยายเลขหมายหรือเกี่ยวกับด้านโทรศัพท์ จะระบุผลงานชัดเจนว่าต้องเป็นงานด้านการก่อสร้างท่อร้อยสายและข่ายสายโทรศัพท์ท้องถิ่น และกำหนดระยะเวลาผลงาน 5 ปี เพื่อให้ได้บริษัทที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่บริษัทขนาดเล็ก พร้อมทิ้งงาน"

"ครั้งแรกบอร์ดของคุณหญิงถูกทศทหลอกเนื่องจาก เจตนารมณ์บอร์ดต้องการบริษัทขนาดใหญ่มีผลงานน่าเชื่อถือ แต่ทศทใช้วิธีถนัดคืองานด้านเอกสารใช้คำพูดวกวน กำกวมทำให้บอร์ดจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เนื่องจากไม่ได้ดูเอกสารละเอียดแต่อาศัยเชื่อใจความเป็นผู้บริหารระดับสูง เลยพิจารณาอนุมัติในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 23 ก.ย.

ตามหลักการ หลังบอร์ดมีมติ จำเป็นต้องรับรองมติบอร์ดในการประชุมครั้งถัดไป คือในวันที่ 7 ต.ค. เมื่อคุณหญิงทิพาวดี ยกประเด็นเรื่องผลงานดังกล่าวหวังแก้ไข ให้ถูกต้อง ก็ถูกลูกพลิ้วของผู้บริหารทศท พูดในทำนองว่าเมื่อของเก่าเข้าไม่ได้ก็ให้เพิ่มข้อความว่าต้องมีผลงานด้านการก่อสร้างท่อร้อยสายและข่ายสายโทรศัพท์ท้องถิ่นของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ในวงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาทต่อหนึ่งสัญญาเข้าไป"

แหล่งข่าวกล่าวว่าเจตนาของประธานบอร์ดต้องการแก้ไขให้ถูกต้องเหมือนบอร์ดชุดเดิมของนายศุภชัย พิศิษฐวานิช เพียงแต่ให้เพิ่มผลงานของเอกชนอย่างทีเอกับทีทีแอนด์ทีเข้าไปด้วยเพื่อเปิดกว้างอย่างมีหลักการมากขึ้น แต่ทศทกลับอาศัยโอกาสแก้ไขเงื่อนไขโดยที่คุณหญิงทิพาวดี ไม่สามารถ ตามเกมได้ทัน

ในคืนเดินทางไปยุโรปเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ของกลุ่มผู้บริหารทศท นำโดยนายสิทธิชัย เพื่อดูงานโทรคมนาคมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กระแสข่าวการโยกย้ายคุณหญิงพ้นตำแหน่งประธานบอร์ดทศท เข้าหูกรรมการผู้จัดการใหญ่ คำแรกที่ปรารภออกจาก ปากคือ "ไม่เป็นไร เราต้องรีบทำโครงการนี้โดยเร็ว"

นัยสำคัญคือโครงการใหญ่เกือบ 1 หมื่นล้านบาทในขณะที่มีการผลัดเปลี่ยนบอร์ด ควรให้ประธานบอร์ดคนใหม่มีโอกาสในการพิจารณารายละเอียดทบทวนในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ท่าทีของทศท กลับคิดว่าต้อง ฉกฉวยโอกาสเดินหน้าโครงการนี้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่ดึงโครงการนี้ไว้สุดชีวิต เพื่อ หวังแก้ไขสิ่งที่บอร์ดนายศุภชัยทำไว้อย่างรอบคอบแล้ว

"ปัญหาการไม่ประสานงาน ไม่สนองนโยบายด้านการเมือง ทำโครงการขนาดใหญ่ แต่ขาดความรอบคอบในเรื่องผลงาน ปล่อยให้ผู้บริหารทศท.แก้เงื่อนไขที่ส่งผลเสียต่อภาพรวม เท่ากับทำให้เสียเวลาไปเปล่าๆ 1 ปี"

โครงการ 5 แสนเลขหมายจึงเหมือนเป็นการยืมมือคุณหญิง ทิ้งทวนก่อนที่นายสิทธิชัยจะหมดสัญญาจ้างพ้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ทศทในวันที่ 13 พ.ย.ที่จะถึงนี้ ว่ากันว่าบริษัทเล็กๆได้อานิสงส์จากปฏิบัติการของสิทธิชัยครั้งนี้อย่างบริษัท เอเอสแอสโซซิเอตส์ ก็สามารถเข้าประมูลได้ รวมทั้งรายใหญ่อย่างซีเมนส์ด้วย

ไทยโมบายมีปัญหา

ไม่เพียงโครงการ 5 แสนเลขหมายเท่านั้นที่กลายเป็นปัญหา การจัดซื้อเครือข่ายของไทยโมบายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบ 1900 เมกะเฮิรตซ์ ผ่านทางบริษัท เอซีที โมบายล์ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีปีนเกลียวระหว่างรมว.กับปลัดกระทรวงไอซีที

ช่วงฮันนีมูนพีเรียดของนพ.สุรพงษ์กับคุณหญิง ทิพาวดี ในฐานะเจ้ากระทรวงกับปลัดกระทรวงเริ่มกลายเป็นน้ำผึ้งขม เมื่อมีการส่งสัญญาณล้วงลูกโครงการไทยโมบายจากน.พ.สุรพงษ์ หลังจากที่ให้เวลาคุณหญิงในฐานะประธานบอร์ดทศทและประธานบอร์ดกสท ซึ่งเป็น 2 หน่วยงาน ที่ถือหุ้นกิจการร่วมค้าไทยโมบาย จัดการปัญหาด้วยความเชื่อว่าถ้าประธานบอร์ดเป็นคนคนเดียวกัน น่าจะสะสางปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารงานหรือด้านการตลาด

แต่สิ่งที่สะท้อนกลับมาคือความว่างเปล่า ในขณะที่เอกชนหรือแม้แต่ฮัทช์ของกสททำตลาดอย่างกระตือรือร้น ไทยโมบายกลับอยู่ในสภาพซังกะตาย ซึ่งทางแก้ปัญหาของ นพ.สุรพงษ์คือการจ้างบริษัทที่ปรึกษายูเรก้า มาทำแผนธุรกิจวางแผนกลยุทธ์ระยะยาว รวมทั้งการ เลือกเทคโนโลยีว่าจะเดินไปในทางใด ซึ่งผลสรุปจะรู้ภายในสิ้นปีนี้กลับปรากฏว่าในระหว่างทางกลับมีการอนุมัติให้ลงทุนขยายเครือข่ายเพิ่มอีก 1,400 ล้านบาทด้วยการซื้อซ้ำจากซัปพลายเออร์เดิม สำหรับ 300 สถานีฐาน โดยแบ่งเป็นในอาคารกับนอกอาคารอย่างละครึ่ง ด้วยข้ออ้างว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่าย

แหล่งข่าวกล่าวว่าประเด็นของเรื่องนี้คือในเมื่อแผนใหญ่กำลังทำอยู่ว่าจะเลือกเทคโนโลยีแบบไหน แต่กลับอนุมัติอีกกว่า 1 พันล้านบาท ซื้อซ้ำจากเอกชนรายเดิมทั้งๆที่สัญญาเดิมเสีย เปรียบเอกชนมาก ซึ่งการติดตั้งเครือข่ายไทยโมบาย ที่ล่าช้ามาเป็นปี ล้วนแต่เป็นผลจากสัญญาที่เสียเปรียบทั้งสิ้น

รวมทั้งเงิน 1,400 ล้านบาทสำหรับการติดตั้งสถานีฐาน ในอาคารและภายนอกถือเป็นเงินที่สูงเกินจริง เพราะหากเปิดประมูลทั่วไป จะถูกกว่านี้มากกว่าเท่าตัวด้วยซ้ำ

"ทั้ง 2 โครงการ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สะท้อนภาพให้เห็นถึงความไม่รอบรู้เรื่องเทคนิคของประธานและบอร์ดทศทส่วนใหญ่ ทำให้ไม่สามารถสนองนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน"

สำหรับบอร์ดใหม่ทั้ง 2 แห่งคาดว่าหลังการประชุมเอเปก ก็จะสามารถประกาศรายชื่อได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.