ดีบีเอสไทยทนุ เพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากให้ผู้สูงอายุ สร้างภาพลักษณ์

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของประชาชนผู้ฝากเงิน ที่มีต่ออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงมาเป็นประวัติการณ์ โดยอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ล่าสุดเหลืออยู่เพียง 1.75% ต่อปี ดูเหมือนจะมีธนาคารดีบีเอส ไทยทนุเพียงแห่งเดียวที่สวนกระแส โดยการประกาศโครงการเพิ่มอัตรา ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้กับผู้สูงอายุขึ้นมาอีก 0.25%

ตามโครงการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคาร ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี และมีเงินอยู่ในบัญชีไม่ถึง 1 ล้านบาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาเป็น 2% จากปกติที่แบงก์จ่ายให้ 1.75%

ธนาคารดีบีเอสไทยทนุได้ประกาศโครงการนี้ออกมาเพียง 2 สัปดาห์ หลังจากธนาคารเอเชียได้เป็นผู้นำร่องประกาศลดอัตรา ดอกเบี้ยลงมาเป็นรายแรกเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งส่งผลให้ธนาคาร อื่นๆ ต้องลดดอกเบี้ยตามลงมา รวมทั้งดีบีเอสไทยทนุด้วย

"โครงการนี้ เราทำเพื่อสังคม" พรสนอง ตู้จินดา กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารดีบีเอสไทยทนุกล่าว โดยเขาให้เหตุผลว่า สาเหตุ ที่ต้องเลือกเพิ่มดอกเบี้ยให้กับบัญชีของผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เกษียณตัวเองออกจากงานประจำแล้ว และดำรงชีวิตอยู่โดยอาศัยเงินที่ได้รับจากอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก

มีการวิเคราะห์กันว่า โครงการนี้ของธนาคารดีบีเอสไทยทนุ หวังผลเชิงภาพลักษณ์มากกว่าการแย่งส่วนแบ่งตลาดเงินฝาก เพราะ อัตราดอกเบี้ยที่ให้ 2% ต่อปี ไม่ได้สูงกว่าเรตที่ธนาคารพาณิชย์ขนาด ใหญ่ให้กับผู้ฝาก และเมื่อวิเคราะห์จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมาเพียง 0.25% สำหรับบัญชีเงินฝากที่ไม่ถึง 1 ล้านบาท ผู้ฝากเงินก็จะได้รับ เม็ดเงินเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ในทางตรงข้าม ก็ไม่เป็นภาระที่หนักสำหรับ ดีบีเอสไทยทนุด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การที่ดีบีเอสไทยทนุประกาศโครงการนี้ออกมา น่าจะหวังผลให้ช่วยลดกระแสสังคมที่กำลังมองว่าธนาคารต่างชาติกำลังเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะเป็นผู้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนำร่องออกมาก่อน และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารต่างชาติให้กับผู้ฝากเงินในปัจจุบัน ก็น้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยอยู่ถึง 0.25%

โครงการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้กับผู้สูงอายุของธนาคาร ดีบีเอสไทยทนุ อาจจะเป็นโครงการนำร่อง สำหรับธนาคารที่มีสถาบันการเงินที่มีต่างชาติถือหุ้นใหญ่ ที่จะต้องเริ่มมองการทำโครงการเพื่อสังคมเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และแก้ภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งกำลังถูกมองในเชิงลบจากกระแสสังคมของคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.