|
หอการค้าฯ เผยธุรกิจ 10 ดาวเด่น 10 ดาวดับ ปี 54 พลังงาน-การแพทย์ มาแรง
ASTV ผู้จัดการรายวัน(16 ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
หอการค้าฯ เผยผลสำรวจความเห็นนักธุรกิจ มองแนวโน้ม ศก.ปี 54 โตได้ 4-5% พร้อมเปิดผลสำรวจ 10 ธุรกิจดาวเด่น พลังงาน-บริการทางการแพทย์ มาแรงสุด ส่วน 10 ธุรกิจดาวดับ ได้แก่ สิ่งทอ-อสังหาฯ และ เฟอร์นิเจอร์
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการสำรวจสภาพธุรกิจไทยในปัจจุบันและแนวโน้มปี 2554 จากการสำรวจผู้ประกอบการทั่วประเทศ 400 ตัวอย่าง ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยส่วนใหญ่มองว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2554 คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 การลงทุนขยายตัวร้อยละ 8.5 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.2 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 10.5 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 5.2 ภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.7 และจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัว ร้อยละ 2.0
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มากถึงร้อยละ 52.50 ระบุว่า ในปี 2554 ยอดขายจะเพิ่มมากขึ้น ด้านต้นทุนผู้ประกอบการร้อยละ 51.19 ก็เชื่อว่า จะเพิ่มขึ้น ส่วนกำไรผู้ประกอบการร้อยละ 36.59 ระบุว่า มีกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งสัดส่วนที่ระบุว่า กำไรลดลงก็ใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 35.37 ส่วนด้านการจ้างงานส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการร้อยละ 27.50 ระบุว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปีนี้
ด้านยอดขายปีนี้ ผู้ประกอบการร้อยละ 47.62 ระบุว่า ยอดขายเพิ่มขึ้น และร้อยละ 65.52 ระบุด้วยว่า ต้นทุนก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ด้านกำไรผู้ประกอบการร้อยละ 53.49 ระบุว่า กำไรลดลง ส่วนการจ้างงานส่วนใหญ่ร้อยละ 21.18 ระบุว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการจ้างงานมากนัก
ด้านสถานการณ์ไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น ผู้ประกอบการร้อยละ 31.8 ระบุว่า มีผลกระทบต่อธุรกิจมาก ในขณะที่ปี 2554 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 29.9 ระบุว่า มีผลกระทบในระดับปานกลาง สำหรับนโยบายไทยเข้มแข็งที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 63.2 ระบุว่า ไม่ได้ประโยชน์เลย ส่วนที่ระบุว่าได้ประโยชน์มากมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.4 เท่านั้น และหากแยกตามขนาดธุรกิจจะพบว่า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มากถึงร้อยละ 69.77 ระบุว่า ไม่ได้รับผลประโยชน์ ธุรกิจขนาดกลางก็เช่นกันไม่ได้รับประโยชน์ถึงร้อยละ 57.14 ธุรกิจขนาดย่อมมากถึงร้อยละ 58.33 ระบุว่า ไม่ได้ประโยชน์เช่นกัน
สำหรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 นั้น ผู้ประกอบการเพียงร้อยละ 11.4 ระบุว่า ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 28.4 ระบุว่า ได้รับผลกระทบมาก ในขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 14.8 ระบุว่า ไม่มีผลเลย สำหรับการแข็งค่าของเงินบาท ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 30.2 ระบุว่า ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาก และผู้ประกอบการร้อยละ 24.4 ระบุว่า กระทบมากที่สุด
สำหรับเงินเฟ้อปี 2554 คาดว่า จะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.0 โดยราคาสินค้าในช่วง 3 เดือนแรกภาคเอกชนรับรู้แล้วว่ากำลังซื้อยังไม่ฟื้น เชื่อว่า จะร่วมมือในการตรึงราคา อย่างไรก็ตาม เดือนเมษายนปีหน้า หากมีการขอปรับขึ้นราคาสินค้าน่าจะพิจารณาปรับขึ้นราคาได้ เพราะเชื่อว่ามีการแข่งขันสูงประชาชนมีทางเลือก
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปีหน้ายังต้องเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทั้งวิกฤตอียู และอเมริกาที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ประกอบกับปัญหาการเมืองในประเทศยังมีอยู่ การชะลอตัวเศรษฐกิจไทยปีแรก ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเศรษฐกิจไทยปีหน้า คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 4-5 การลงทุนขยายตัวร้อยละ 8.5 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.2 การส่งออกปีหน้าจะขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 10.5 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 5.2 ภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.7 ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2
โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือเศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวได้ดี ราคาพืชผลทางการเกษตรดี การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ การลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทิศทางและแนวโน้มการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนสูงขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ดีในปีหน้า ส่วนปี 2553 ทั้งปีจะโตร้อยละ 7.5-8 ส่งออกคาดว่า ขยายตัวร้อยละ 26.3 บริโภคในประเทศโตร้อยละ 4.9 การลงทุนขยายตัวร้อยละ 9.6 อุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 14.2 ภาคเกษตรหดตัวลงร้อยละ 1.9
นอกจากนี้ ยังมีการจัดอันดับ 10 ธุรกิจเด่นในปี 2554 ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการทางการแพทย์และยา ผลจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศและธรรมชาติ คนไทยและต่างชาติหันมาสนใจด้านสุขภาพมากขึ้น 2.สถานีบริการและจำหน่ายก๊าซ LPG และ NGV เพราะราคายังต่ำและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ 3.สถาบันการเงิน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก 4.กระดาษและสิ่งพิมพ์ เพราะมีเม็ดเงินจากการจัดการเลือกตั้ง และโครงการต่างๆ ของภาครัฐ 5.เคมีภัณฑ์ เติบโตตามการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมและยานยนต์ และอานิสงส์จากบาทแข็ง
6.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ความต้องการเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าของประเทศสำคัญ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น 7.พลังงานทดแทน จากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและการรณรงค์ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 85 8.ยานยนต์ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การลดภาษีสำหรับรถยนต์นั่งที่ใช้พลังงานทดแทน ราคาพืชผลดี และธุรกิจการศึกษา ประชาชนเห็นความสำคัญของการศึกษาเพิ่มขึ้นและความต้องการงานวิจัยและวิชาการระดับสูงมากขึ้น 9.ยางพาราและผลิตภันฑ์ยาง เพราะแนวโน้มราคาสูงขึ้นจากความต้องการมากขึ้น 10.ธุรกิจการเกษตร ความต้องการสูงขึ้นและต้นทุนนอกประเทศแพงทำให้ราคาต้องสูงตาม และธุรกิจร้านทอง อานิสงส์จากค่าบาทแข็งและการเก็งกำไรจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก
สำหรับ 10 ธุรกิจดาวร่วงปี 2554 ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ และการอิ่มตัวของธุรกิจหลังจากที่มีแข่งขันเพิ่มจำนวนในอดีต ได้แก่ สิ่งทอ สถานบันเทิงขนาดเล็ก เครื่องหนัง อาคารสำนักงาน บ้าน โรงงานทอผ้า เฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมฟอกย้อม คอนโดมิเนียมที่ไม่มีอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน ของเล่นเด็ก ร้านค้าดั้งเดิม (โชวห่วย) รับเหมาก่อสร้างขนาดเล็ก ขณะที่มี 4 ธุรกิจที่โดดเด่นเป็นช่วงเวลา ได้แก่ โรงรับจำนำ ประกันภัยและประกันชีวิต เช่าซื้อ ธุรกิจขายหวยและสลากกินแบ่งรัฐบาล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|