TMB เพิ่มมิติบัญชีเงินเดือน ขยายแชร์ฐานลูกค้ารายย่อย


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ในตลาดเงินฝากธนาคารทั้งระบบ กว่า16 ล้านบัญชีของเป็นบัญชีเงินฝากของเหล่าบรรดาลูกจ้างและข้าราชการที่เปิดไว้กับธนาคารเพื่อใช้รับเงินเดือน ขนาดของตลาดดังกล่าวที่ยิ่งใหญ่มหาศาล แต่กลับยังไม่มีผู้เล่นรายใดลงมาทำตลาดนี้อย่างจริงจัง กลายเป็นโอกาสของทีเอ็มบีที่จะใช้ผลิตภัณฑ์บัญชีเงินเดือนรูปแบบใหม่เป็นบันไดไปสู่การต่อยอดทำ Cross-selling กับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ด้วยการเพิ่มอรรถประโยชน์ของบัญชีให้มากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพิ่มฐานลูกค้า เพิ่มรายได้ ที่จะนำพาทีเอ็มบียกระดับจากธนาคารขนาดกลางไปสู่ธนาคารขนาดใหญ่ และก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 3 ธนาคารชั้นนำของประเทศตามเป้าหมายที่ซีอีโอ “บุญทักษ์ หวังเจริญ” ได้เคยประกาศเอาไว้

ช่วงที่ผ่านมาถือทีเอ็มบีได้ออกแคมเปญเพื่อระดมเงินฝากอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างไปจากธนาคารอื่นๆ เพียงแต่ไม่ได้ใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นจุดขายแต่อย่างเดียวเท่านั้น แต่มีการปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ ที่เคยเป็นข้อจำกัดของบัญชีเงินฝากแบบเก่าๆ ออกไป เช่น สามารถถอนดอกเบี้ยออกจากบัญชีได้ก่อนช่วงเวลาที่ครบกำหนด เป็นต้น โดยทีเอ็มบีตั้งเป้าว่าจะต้องมีสัดส่วนเงินฝากเพิ่มเป็น 14% ของทั้งระบบภายใน 3 ปี

ปัจจุบันบัญชีเงินเดือนซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากประเภทหนึ่งของลูกจ้างส่วนใหญ่ในระบบอยู่ที่ 3 ธนาคารใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย ซึ่งมาจากการที่ธนาคารขนาดใหญ่มีการทำตลาดกับลูกค้าองค์กร คือ ฝั่งนายจ้างที่เป็นผู้จ่ายเงินเดือน และมีการทำธุรกรรมส่วนใหญ่กับธนาคารเหล่านี้อยู่แล้ว โดยนำเสนอเงื่อนไขต่างๆ แก่องค์กร เช่น การนำเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ วงเงินกู้ที่สูงขึ้น หรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ แลกกับจำนวนพนักงานที่บริษัทมีเพื่อเพิ่มฐานลูกค้ารายย่อยของธนาคาร ดังนั้นเมื่อบริษัทมีการจ้างพนักงานใหม่ก็จะให้พนักงานไปเปิดบัญชีกับธนาคารที่นายจ้างกำหนดไว้ ทำให้ลูกจ้างไม่มีโอกาสที่จะเลือกเปิดบัญชีกับธนาคารได้เอง จากการสำรวจพบว่า ธนาคารต่างๆ ยังไม่มีการพัฒนาบัญชีเหล่านั้นให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดมากนัก ลูกจ้างใช้ประโยชน์เพียงแค่การรับเงินเดือน ถอน และโอนสำหรับธุรกรรมต่างๆ เท่านั้น แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วจะพบว่า ในแต่ละเดือนมีการทำธุรกรรมจำนวนมากผ่านบัญชีเหล่านี้ บางส่วนสามารถสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคารได้เป็นอย่างดี จากขนาดตลาดที่ใหญ่มากพอและการมองเห็นช่องว่างตลาดดังกล่าว ทำให้ทีเอ็มบีเลือกที่จะใช้บัญชีเงินเดือนรูปแบบใหม่ชื่อว่า “TMB 3D Salary” เป็นผลิตภัณฑ์อีกตัวนอกเหนือจากบัญชีเงินฝากประจำเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการเพิ่มฐานลูกค้ารายย่อย

TMB 3D Salary เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดจากการทำตลาดเฉพาะในฝั่งลูกค้าองค์กร มาสู่ฝั่งลูกค้ารายย่อย ด้วยการสร้างจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของมนุษย์เงินเดือน ผ่านบัญชีเงินฝาก 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.TMB Saving Care Account ให้วงเงินคุ้มครองอุบัติเหตุสูงถึง 20 เท่า หรือสูงสุด 1 ล้านบาท โดยไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน เพียงมีเงินฝากคงเหลือในบัญชีไม่น้อยกว่า 5,000 บาท 2.TMB No Worry Saving Account ให้วงเงินฉุกเฉินพร้อมใช้สูงสุด 50% ของเงินเดือน หรือสูงสุด 30,000 บาท 3.TMB No Fee Saving Account ฟรีค่าธรรมเนียมเมื่อทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบสามารถใช้ร่วมกับบริการ SMS Alert แจ้งเตือนความเคลื่อนไหวของบัญชีได้ฟรี รวมถึงสามารถถอนเงินด้วยบัตรเดบิต TMB No Limit Next ผ่านเครื่องเอทีเอ็มทุกธนาคาร ทุกจังหวัด โดยไม่มีค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ผู้ถือบัญชียังได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษในการใช้บริการอื่นๆ ของธนาคาร เช่น สินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน เป็นต้น

สำหรับบัญชี TMB No Worry Account ถือเป็นครั้งแรกในตลาดที่ธนาคารมีการให้วงเงินโอดีแก่ผู้ถือบัญชีเงินเดือน โดยจากการศึกษาพฤติกรรมตลาดพบว่า จะมีคนกลุ่มใหญ่ที่มีปัญหาเงินขาดมือในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นเดือนที่จะเป็นช่วงเงินเดือนออก ดังนั้นธนาคารจึงมีการให้วงเงินโอดีสำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน สามารถกดเงินผ่านตู้เอทีเอ็มได้ทั่วประเทศ โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ย 0.7% ต่อวัน สามารถชำระคืนได้ก่อนเวลา หรือหักจากเงินในบัญชีที่จะเข้ามาในเดือนถัดไป เป็นการคิดดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อบุคคลทั่วไป

อย่างไรก็ตามการจะเปลี่ยนตลาดทันทีไม่ใช่เรื่องง่าย กาญจนา โรจวทัญญู ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ธนาคารไม่ได้เสนอกับบริษัทให้พนักงานทั้งองค์กรเปลี่ยนมาใช้ทีเอ็มบีทั้งหมด แต่จะเสนอตัวเข้าไปเป็นตัวเลือกหนึ่งของพนักงาน ซึ่งในระยะหลังองค์กรหลายองค์กรเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเลือกธนาคารได้เองแล้ว ปัจจุบันทีเอ็มบีมีลูกค้าบัญชีเงินเดือนรวม 8 แสนราย เป็นลูกค้าใหม่เดือนละ 20,000 ราย สัดส่วนบัญชีออมทรัพย์ 45% ของพอร์ต มีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดบัญชีเงินเดือน 5% ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนบัญชีเงินเดือนในปีหน้าอีก 30-40% และจะขยับมาร์เก็ตแชร์เป็น 10% ภายใน 5 ปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.