|
จับทิศค้าปลีกปี 54 หมดยุคชอปแบบขาดสติ
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
“ทศ จิราธิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือซีอาร์ซี ผู้บริหารห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล และ “เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ” ผู้บริหารอาวุโส สายการตลาด บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน เชื่อตรงกันว่า สถานการณ์ค้าปลีกในปีหน้าของไทยยังคงน่าเป็นห่วง
แม้ว่าจำนวนผู้เล่นจะลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าซื้อกิจการคาร์ฟูร์ของบิ๊กซี จนไฮเปอร์มาร์เกตเหลือผู้เล่นเพียง 2 รายคือ เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี แต่จำนวนผู้เล่นที่เหลือทั้ง 6 แคทิกอรีก็ไม่ได้ทำให้การแข่งขันลดความรุนแรงลงแต่อย่างใด
“ที่น่าเป็นห่วงสำหรับปีหน้ายังคงเป็นเรื่องภาพลักษณ์ประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียไปเยอะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีอาร์ซี แสดงความกังวล
แต่กระนั้น เกรียงศักดิ์ ผู้บริหารอาวุโส สายการตลาด สยามพารากอน ก็ยังมั่นใจว่า ทิศทางธุรกิจค้าปลีกในปี 54 ยังมีโอกาสเติบโต 3-5% เพราะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น รายได้ของประชาชนสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม มุมมองของ “เกรียงศักดิ์” ในครั้งนี้ หากเทียบกับบทวิจัยก่อนหน้านี้ของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นผลงานของ “อภินันทร์ สู่ประเสริฐ” สายงานวิจัยธุรกิจบริการ 1 ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ของแบงก์กรุงไทย ก็นับว่าเป็นการมองโลกในแง่ดีพอสมควร
เพราะงานวิจัยของ “อภินันทร์” แห่งแบงก์กรุงไทย ระบุว่า มูลค่าตลาดค้าปลีกไทยในปี 54 นั้นจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.5 แม้ความรุนแรงทางการเมืองในประเทศมีแนวโน้มคลี่คลายลง รวมทั้งได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะเบิกจ่ายได้มากขึ้นก็ตาม
แต่ภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวอีกครั้ง จากวิกฤตหนี้ในยุโรป รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้การบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศชะลอตัว รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีก โดยเฉพาะคอมมูนิตี้มอลล์ อาจส่งผลให้การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีบทวิจัยของเว็บไซต์ “แบรนดิ้ง สเตรเตจี้ อินไซเดอร์” ที่ออกมากล่าวเตือนว่า ยุคแห่งการใช้จ่ายแบบไม่ยั้งมือ ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว เทรนด์การชอปปิ้งของผู้บริโภคในยุคหน้า จะมีเหตุผล มีคุณค่ามากขึ้น ซึ่งมีเพียงผู้บริโภคเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าพวกเขาต้องการอะไร ซึ่งจะเป็นปัญหาสำหรับแบรนด์ที่ไม่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไฮเอนด์ หรือโลว์เอนด์
ผู้บริหารสยามพารากอน แนะนำว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกต้องปรับตัวใหม่ด้วยการใช้ครีเอทีฟไดนามิก ที่มุ่งเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจนมากที่สุด เป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำตลาดรองรับสภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านพฤติกรรม สังคม การแข่งขัน ทำให้ผู้บริโภคเป็นผู้บริโภคที่มีคุณภาพมากขึ้น
โดยเฉพาะการทำตลาดแบบเซกเมนเตชั่น ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนและลงลึกยิ่งขึ้นภายหลังจากนี้ นำสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือสร้างจุดขายเฉพาะด้านที่แตกต่างจากคู่แข่งขัน
“รีเทลเลอร์ต้องสร้างฐานฟาวน์เดชั่นใหม่ ใน 3-5 ปีข้างหน้า การทำตลาดต้องมองว่าเซกเมนต์ที่จับอยู่ขณะนี้จะพัฒนาไปสู่สิ่งใด เพื่อปรับตัวและเตรียมการรอรับ เป็นหัวใจสำคัญของคนทำค้าปลีกที่ต้องมีของดีไว้ขายก่อนใคร”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|