เจาะลึกกลยุทธ์ ‘บูติกโฮเต็ล’ เชียงใหม่ท่ามกลางวิกฤตการเมือง-เศรษฐกิจ


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ปีนี้ไม่ใช่ปีแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องประสบกับปัญหาวิกฤตทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งวิฤกตทั้ง 2 ประการนี้ส่งผลให้การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ซบเซาไปมาก ไม่ต่ำกว่า 2 ปีแล้วที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะโรงแรมและที่พักของจังหวัดเชียงใหม่ต้องประสบกับปัญหาลูกค้าหด ขายห้องพักต่ำกว่าความเป็นจริง

การใช้กลยุทธ์ “ลด แลก แจก แถม” เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพัก ต่างเป็นกลยุทธ์ที่สร้างให้เกิดสงครามราคาโดยไม่รู้ตัว ไม่เว้นแม้แต่โรงแรม 5 ดาว ซึ่งบริหารโดยเชนต่างชาติก็หันมาใช้กลยุทธ์นี้เช่นกัน

แต่ผู้ประกอบการโรงแรมและที่พัก ที่น่าจะถูกจับตามองที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นกลุ่ม “บูติกโฮเต็ล” เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่เน้นการสร้างเครือข่าย ส่วนใหญ่เจ้าของจะมีโรงแรมในมือไม่กี่แห่ง การทำกิจกรรมส่งเสริมการขายทำด้วยตัวเอง ทำให้ได้รับผลกระทบมากที่สุด ไม่เหมือนกับโรงแรมที่เป็นเชน หรือรายใหญ่ๆ ที่มีเครือข่ายมาก ทำให้ปริมาณลูกค้าที่ได้ก็สูงตามไปด้วย

“ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” มองเห็นวิกฤตดังกล่าว จึงทำการสำรวจถึงแนวทางหรือกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของ “บูติกโฮเต็ล” ใน จ.เชียงใหม่

‘บูติกโฮเต็ล’ จับมือกัน
ผนึกกำลังสู้ รร.ใหญ่

การจับมือกันของบูติกโฮเต็ล โดย “จิตพงศ์ เกื้อวงศ์” ประธานกลุ่มบูติกโฮเต็ล เชียงใหม่ ซึ่งประสานความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการบูติกโฮเต็ล ภูเก็ต ประมาณ 3-4 ราย เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มบูติกโฮเต็ลร่วมกันนั้น เนื่องจากกลุ่มบูติกโฮเต็ล เชียงใหม่ ได้รับผลกระทบจากการที่โรงแรมมีการแข่งขันดัมป์ราคาห้องพักกันสูง ในช่วงโลว์ซีซันที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลยังเน้นกลยุทธ์การท่องเที่ยวโดยจัดกิจกรรมลดราคา หรือแกรนด์เซล ทั้งเมืองและทั้งประเทศ ทำให้ราคาห้องพักในเชียงใหม่ลดต่ำลงตั้งแต่ 30-50% เห็นได้จากโรงแรม 5 ดาว ขายห้องพักจากเดิมไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทขึ้นไป ก็ลดลงเหลือ 3,000-4,000 บาท ส่งผลกลุ่มบูติกโฮเต็ล ต้องลดราคาตามไปด้วย จากเดิมที่ขายห้องพักละ 8,000-10,000 บาท ก็ต้องดัมป์ราคาลงเหลือ 2,000-3,000 บาท

แม้ที่ผ่านมาการลดราคาลงจะเป็นช่วงโลว์ซีซัน แต่พอถึงไฮซีซันแล้วโรงแรมไม่สามารถอัปราคาขึ้นได้ ทำให้ที่ผ่านมาบูติกโฮเต็ล ก็ได้รับผลกระทบตรงนี้ไปด้วย การจับมือกันของบูติกโฮเต็ล เชียงใหม่กับภูเก็ต แม้จะยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่เชื่อว่าหากสามารถจับมือกันได้จริง น่าจะส่งผลให้บูติกโฮเต็ล ในเชียงใหม่ผ่านพ้นวิกฤตไปได้


‘ศิริปันนาธานี’ น้องใหม่
ชู ‘รีสอร์ต อิน ทาวน์’

แม้ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมที่จังหวัดเชียงใหม่จะประสบปัญหามากมาย จนหลายแห่งถึงกับขายกิจการของตัวเองไปก็ตาม แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีโอกาสได้เห็นโรงแรมน้องใหม่เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่น้อย “ศิริปันนาธานี” คือโรงแรมน้องใหม่ที่สร้างโดยกลุ่มบริษัท ทีปพิพัฒน์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ถือเป็นน้องใหม่อีกรายที่น่าจับตามอง

ศุภมิตร กิจจาพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีปพิพัฒน์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด กล่าวว่า จากการที่กลุ่มบริษัท ทีปพิพัฒน์ฯ ได้ขยายการลงทุนด้านการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม โดยจัดตั้งบริษัท ทีปพิพัฒน์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ขึ้นมาดำเนินธุรกิจภายใต้โครงการศิริปันนาธานี อันประกอบด้วย โรงแรมศิริปันนา วิลล่า รีสอร์ท แอนด์ สปา, เฮือนศิลป์สล่า, ล้านนาฟีลด์ และศิริปันนาแกลเลอรี่ บนพื้นที่ 13 ไร่ บริเวณถนนราษฎร์อุทิศ ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างในเฟสแรกประมาณ 7 ไร่ ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2551 ภายใต้คอนเซ็ปท์ รีสอร์ต อิน ทาวน์

ปัจจุบัน ศิริปันนาธานีพร้อมเปิดให้บริการห้องพักจำนวน 74 ห้อง ขนาดพื้นที่ 51-254 ตารางเมตร แบ่งเป็น 5 สไตล์ คือ Deluxe Lanna Room จำนวน 48 ห้อง, Grand Deluxe Lanna Room จำนวน 7 ห้อง, Luxury Lanna Garden Room มีพื้นที่สวนส่วนตัวจำนวน 2 ห้อง, Royal Lanna Villa จำนวน 16 หลัง และ Siripanna Grand Royal Lanna Suite พร้อมสวนส่วนตัวและอ่างจากุซซี่ด้านนอกจำนวน 1 ห้อง ซึ่งภายในตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือเป็นโรงแรมแรกและแห่งเดียวในตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีห้องพักประเภทเรือนวิลล่าอยู่ในโรงแรม

ส่วนเฟส 2 โครงการจะดำเนินการสร้างเป็นเรือนจัดนิทรรศการแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวล้านนา และแปลงพืชผักสวนครัว ตลอดจนผักไฮโดรโพนิกปลอดสารพิษ ให้แขกได้เยี่ยมชมและนำมาประกอบอาหาร ส่วนห้องประชุม/สัมมนา รองรับผู้เข้าร่วมได้สูงสุดถึง 200 ท่าน และโซนพื้นที่จัดกิจกรรมภายนอกที่จุได้ถึง 700 ท่าน พรั่งพร้อมด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายมากมาย และอีกหนึ่งไฮไลต์แห่งความภาคภูมิใจกับปันนาสปา สุดยอดสปา 9 Senses ซึ่งจะเปิดให้บริการราวต้นปีหน้า

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลธุรกิจโรงแรมมากว่า 3 ปี โดยมีทีมบริษัท อัลทิเมท ซัคเซส จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารโครงการ ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำให้ศิริปันนาธานีมีความแตกต่างจากโรงแรมอื่นๆ คือการมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถเดินทางสะดวก เนื่องจากทำเลที่ตั้งของโรงแรมในกลางเมืองเชียงใหม่ใกล้ตลาดไนต์บาซาร์ ที่สำคัญมองเห็นวิวดอยสุเทพ และอยู่ไม่ไกลจากสนามบิน รวมถึงขนาดของพื้นที่กว้างขวาง

นอกจากนี้ สไตล์การออกแบบอันวิจิตรงดงามอย่างมีอารยะของเมืองเวียงกุมกามจากฝีมือ ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง สถาปนิกไทยผู้เชี่ยวชาญการออกแบบลายเส้นสถาปัตยกรรม เจ้าของรางวัลระดับโลกร่วมออกแบบ ทำให้ศิริปันนาธานีเป็นโรงแรมน้องใหม่ที่แตกต่างจากคนอื่นๆ

ศิริปันนาธานียังเป็นโรงแรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นบ่อน้ำโบราณอายุกว่า 100 ปี ต้นโพธิ์ยักษ์ และพืชนานาพันธุ์กว่า 100 ชนิด ก็ยังคงเก็บไว้เพื่อให้สอดคล้องกับแลนด์สเกปที่โปร่งโล่งสบาย ผู้เข้าพักจะได้รู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ และถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็น Unseen ของโรงแรมเลยทีเดียว

โดยกลุ่มลูกค้าของศิริปันนาธานีจะจับกลุ่มลูกค้าจากทางยุโรป เอเชีย และคนไทยที่ต้องการพักผ่อนในโรงแรมชั้นนำอย่างมีสไตล์ชัดเจน แต่มีราคาไม่แพงจนเกินไป โดยจะทำตลาดผ่าน 3 ช่องทาง คือ ตลาดออนไลน์ 40% ผ่านเอเยนต์ต่างๆ 20% และตลาดคอร์ปอเรต 40% พร้อมทั้งทำโปรโมชั่นร่วมกันพันธมิตรกับบัตรเครดิตชั้นนำ เพื่อขยายฐานลูกค้าในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง ตลอดจนทำตลาดไดเรกต์มาร์เกตติ้งผ่านงานแสดงสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับสัดส่วนของแขกที่เข้าพักที่ผ่านมาแบ่งเป็นกลุ่มการท่องเที่ยวแบบอิสระ (FIT-Foreign Individual Tourism) 75% กลุ่มที่มาเป็นหมู่คณะหรือกรุ๊ป (GRP-Group) 20% และอื่นๆ 5% โดยสัดส่วนเป็นคนต่างชาติและคนไทย 50:50

อย่างไรก็ดี ตลาดเชียงใหม่ถือเป็นตลาดที่ไม่เหมือนกับตลาดที่อยู่แถวทะเล ดังนั้น หน้าไฮซีซันมียอดเข้าพัก 70-80% ก็ถือว่าเก่งแล้ว นอกจากนี้ ระยะเวลาในการพักเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8-2 วัน แต่สำหรับลูกค้าที่เลือกมาพักที่ศิริปันนาธานีเขามาพักไม่ต่ำกว่า 3 วัน เพราะมีกิจกรรมให้เขาได้ทำ

“แผนการตลาดของศิริปันนาธานีก่อนหน้านี้จะดูคู่แข่งว่าใครมีจุดแข็งแบบใด ซึ่งจุดแข็งของศิริปันนาธานี คือ วางตัวเองเป็น The Lanna-Luxury Service ด้วยการผสมกลิ่นอายศิลปะของความเป็นล้านนาเข้าไป เพื่อให้เห็นว่าโรงแรมที่บริหารโดยคนไทยก็มีมาตรฐานและความ Luxury ได้”

แม้ศิริปันนาธานีจะเป็นโรงแรมน้องใหม่และเกิดจากนักลงทุนหน้าใหม่ในวงการ แต่สิ่งหนึ่งที่ศิริปันนาธานีไม่ทำ คือ การจ้างเชนต่างประเทศเข้ามาบริหาร ด้วยความคิดที่ว่า เชื่อว่าคนไทยมีความสามารถในการบริหารโรงแรมได้เอง และทำได้ดีไม่แพ้เชนต่างชาติ นอกจากนี้ การบริหารเองยังสามารถขยายความเป็นไทย ขนบธรรมเนียมของไทยได้กว้างขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.