ยุทธศาสตร์เติบใหญ่ พร้อมนวัตกรรมสไตล์กูเกิล


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงขณะนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักกูเกิล ผู้นำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตที่ประสบความสำเร็จสูงสุดกิจการหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่มีการพัฒนานวัตกรรมชั้นเลิศ และแปลกใหม่เข้ามาให้บริการแก่นักเล่นเน็ตทั่วโลก จนกลายเป็นขวัญใจแฟนๆ ไปแล้ว ทำให้กูเกิลมีจำนวนการเข้าเยี่ยมชมสูงสุดแห่งหนึ่งบนโลกไซเบอร์

แม้ว่ากิจการจะมีความเกรียงไกรมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่การแข่งขันจากกิจการหน้าใหม่ก็ตามมาติดๆ ทั้งยังมีอัตราการเติบโตของผู้ใช้บริการสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย อาทิ เจ้าแห่งโซเชียลเน็ตเวอร์คอย่าง เฟซบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ นับว่าเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่ กูเกิลเองจึงต้องพยายามพัฒนาคิดค้นไอเดียในการให้บริการ ให้แปลกแตกต่างเป็นเอกลักษณ์จนสร้างความฮือฮาให้กับกูเกิลอีกครั้ง

การที่กูเกิลเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นองค์กรขนาดใหญ่โตมโหฬารภายในเวลาไม่กี่ปี ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวล ว่าความเป็นองค์กรนวัตกรรมชั้นนำของโลกจะค่อยๆ สูญสลายไป เพราะขนาดและความซับซ้อนของกิจการเหมือนกับกิจการขนาดใหญ่โตอื่นๆ ของโลกหรือไม่ อันจะทำให้มนต์ขลังของกูเกิลที่เคยมีมาต้องเสื่อมคลาย ซึ่งกูเกิลจะต้องพยายามสร้างสมดุลแห่งการเติบใหญ่ พร้อมกับเสาะแสวงหาแนวคิดนวัตกรรมนำหน้าคูแข่งให้จงได้

หนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของกูเกิล ก็คือ การเทคโอเวอร์ ซึ่งกูเกิลเองได้กำหนดให้การเข้าซื้อกิจการเป็นเอเจนดาหลักขององค์กรไปเรียบร้อยแล้ว โดยการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้ดูแลงาน ถึงกับมีตำแหน่ง “ประธานฝ่ายการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ” ขึ้นมาพิจารณาทางเลือกและความเหมาะสมของการเข้าซื้อกิจการอื่นๆ นับว่าเป็นการขยายขอบเขตการดำเนินงาน พร้อมทั้งรับไอเดีย เทคโนโลยี และแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่กิจการไม่เคยมีมาก่อน โดยนำมาผนวกรวมกับความสามารถเดิม และทรัพยากรมหาศาลของกูเกิล จนนำสู่บริการแหวกแนวสะเทือนวงการ

กูเกิล มีความโดดเด่นมากจากการที่มีเงินสดสะสมอยู่ในขณะนี้สูงถึง กว่า 3หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า1ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินมหาศาลที่มีความสามารถจะใช้ซื้อกิจการที่มีศักยภาพเหมาะสมกับกูเกิลได้เป็นกอบเป็นกำ ในปี 2010 นี้เท่านั้น กูเกิลก็ซื้อกิจการอื่นๆไปแล้วมากกว่า 20 แห่ง ใช้จ่ายเงินไปมากมายถึงกว่า 5หมื่นล้านบาท
ทางกูเกิลเองก็ยอมรับว่าได้ประโยชน์เกินคาด จากการเทคโอเวอร์กิจการศักยภาพสูงอย่าง ดับเบิลคลิก และ YouTube ซึ่งเป็นสองดีลที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์การซื้อกิจการของกูเกิล ได้ทั้งฐานลูกค้า ชื่อเสียง แนวคิดนวัตกรรมการบริการใหม่ๆ และเทคโนโลยีที่นำมาผนวกกับโนว์ฮาวน์ของกูเกิล จนนำไปสู่การพัฒนาก้าวล้ำอนาคตมากมายหลายประการอีกด้วย และขณะนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาซื้อกิจการกับอีกหนึ่งเว็บช็อปปิ้งกลุ่มที่กำลังมาแรงอย่าง Groupon ซึ่งหากสำเร็จก็คาดว่าจะเป็นดีลที่มีมูลค่าการซื้อสูงสุดแซงหน้าเคสอื่นๆ ไปโดยอัตโนมัติ

ประโยชน์สำคัญที่สุดจากการเทคโอเวอร์ต่างๆ ที่ดึงดูดกูเกิลให้ลงทุนจำนวนมหาศาลนี้ นอกจากการได้ลูกค้า สมาชิก ฐานผู้ใช้บริการเพิ่มเติมแล้ว คือ การได้มันสมองเลิศมาช่วยคิดไอเดียแปลกใหม่นอกกรอบ ซึ่งกูเกิลเองในฐานะที่เป็นองค์การขนาดใหญ่เริ่มที่จะสร้างสรรค์ได้ในอัตราที่ลดลง

อีกทั้งผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นทุกวัน ล้วนมากับความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ยึดติดกับกรอบแห่งความสำเร็จที่ผ่านมาของกูเกิล ซึ่งเป็นสิ่งที่กิจการคาดหวังมากที่สุด ทำให้กูเกิลมีสิ่งใหม่ๆมานำเสนออยู่อย่างต่อเนื่อง อาทิ กูเกิล earth ก็ได้ไอเดียพื้นฐานมาจากการเทคนิคนี้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่นวัตกรรม ณ ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการเหล่านี้มีเท่านั้น กูเกิลยังคาดหวังให้คนรุ่นใหม่ไฟแรงดังกล่าว ร่วมเข้ามาคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กับบุคลากรของกูเกิลต่อไปในอนาคตด้วย ไม่ได้ต้องการให้สูญหายไปไหน เพราะตระหนักดีว่ามันสมองชั้นเยี่ยมแบบนี้ จะเป็นบ่อเกิดแห่งความสำเร็จและขับเคลื่อนกูเกิลต่อไปในระยะยาว

ดังนั้น ความท้าทายถัดมาก็คือ กิจการจะต้องสามารถดึงดูดให้ผู้ประกอบการเหล่านั้น ยังคงอยู่กับกูเกิลต่อไป แม้ว่าจะขายบริษัทของตนให้กับกูเกิลไปเรียบร้อยแล้ว เพราะพลังแห่งการสร้างสรรค์ย่อมยังไม่มอดดับไปเมื่อเปลี่ยนมือเจ้าของเท่านั้น

ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญที่กูเกิลต้องพิจารณาอย่างจริงจัง เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว เมื่อผู้ประกอบการที่เปี่ยมด้วยไอเดียเหล่านี้ขายบริษัทของตนทิ้งแล้ว ก็มักจะลาออกไปอยู่กิจการอื่นๆ หรือแม้แต่สร้างสรรค์กิจการใหม่ๆขึ้นมาแข่งขันกับกูเกิลในอนาคตได้ ดังนั้น จึงต้องดึงดูดให้อยู่และช่วยกระตุ้นไอเดียใหม่ๆให้กับบุคลากรของกูเกิลในอนาคตด้วย

เริ่มจากการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เป็นมิตร ดึงดูดใจให้มีความภักดีกับกิจการ ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องยังคงให้อิสระกับผู้ประกอบการมือฉมังเหล่านี้ ไม่ให้เขารู้สึกว่าถูกกรอบความคิดด้วยกฎระเบียบมากมาย จนขาดความท้าทายในการทำงาน หากโดนแบบนี้ ร้อยทั้งร้อยต้องไปจากกูเกิลแน่นอน จึงต้องยังดูแลเขาให้เสมือนหนึ่งยังเป็นเจ้าของกิจการที่ยังสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้อย่างเสรีด้วย ซึ่งเท่าที่ผ่านมาก็ถือว่ากูเกิลประสบความสำเร็จในการดึงดูดบุคลากรไว้ระดับหนึ่ง เนื่องจากสองในสามของผู้ประกอบการยังอยู่กับกิจการ แม้จะเปลี่ยนความเป็นเจ้าของแล้วก็ตาม

ไม่เพียงแต่กูเกิลที่ใช้กลยุทธ์นี้ คู่แข่งที่น่ากลัวอย่างเพซบุ๊ค ก็ไม่น้อยหน้า และแอปเปิ้ล ได้ไล่ซื้อกิจการต่างๆไปมากมายหลายแห่งแล้ว เพียงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฟซบุ๊คเทคโอเวอร์กิจการไฮเทคบนเน็ตไปแล้วถึงแปดแห่งในเวลาไม่นาน แอปเปิ้ลก็สำรองเงินสดไว้ในจำนวนมหาศาลถึงกว่าล้านล้านบาทเช่นกัน สำหรับการเข้าซื้อกิจการที่มีโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆให้กับแอปเปิ้ล

ดังนี้แล้ว การเติบใหญ่พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรม มิใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อมเสมอไปครับ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.