|
กระตุกต่อมคิด….ติดปีกธุรกิจด้วยดีไซน์
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ในโอกาสฉลองครบรอบ 5 ปีของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้มีการจัดกิจกรรมชมภาพยนตร์สารคดี 2 เรื่อง คือ Objectified กับHelvetica เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม Graphic Designer กับ Product Designer เพราะเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ส่วนผู้ประกอบการโดยทั่วไปที่มักจะมองว่าการออกแบบเป็นเรื่องของความสวยงามเป็นหลักเท่านั้น แต่เมื่อได้ดูภาพยนตร์สองเรื่องนี้จะเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นและปรับเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบทำให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการออกแบบ เช่น รู้ว่าการออกแบบสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อย่างไร และรู้ว่านักออกแบบที่ดีเป็นอย่างไร
พิชิต วีรังคบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ มองว่า สำหรับเรื่อง Objectified สามารถสรุปประเด็นที่นำไปเป็นข้อคิดได้ 4 เรื่อง คือ เรื่องแรก ทำให้เห็นว่า วิธีคิดของนักออกแบบและกระบวนการที่ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้ง การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถใช้เป็นเรื่องเล่า (Story) ที่สร้างความสนใจให้กับผู้บริโภคได้ ยิ่งเมื่อเป็นเรื่องเล่าของนักออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็สามารถนำมาเล่าต่อเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้อย่างดี
ยกตัวอย่าง นักออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลก Jonathan Ive เล่าถึงกระบวนการเบื้องหลังการออกแบบแล็บท๊อปของ Apple ว่ามีความนาสนใจอยางไรบ้าง หรือ Dieter Rams นักออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าของเยอรมัน ที่คลุกคลีกับการออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้ามานานถึง 30 ปีโดยสามารถเก็บรักษา character ของสินค้าไว้ได้จนกลายเป็น Branding ของสินค้านั้น คือมีการออกแบบที่เรียบง่ายมาก เพราะเขาบอกว่าการออกแบบที่ดีคือการออกแบบที่คนไม่รู้สึกว่ามีการออกแบบ อย่างเช่นที่โกนหนวด หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า“ Braun” นับเป็นคุณค่าที่มีอยู่จริง เพราะไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์นี้อยู่มานานหรือเห็นบ่อยจากการโฆษณา เป็นต้น
เรื่องที่สอง การคิดไอเดียแบบสุดโต่ง จะสามารถใช้กับคนตรงกลางได้ เช่น ถ้าผู้ผลิตคิดถึงการออกแบบที่ปอกเปลือกผลไม้โดยมองไปที่สุดทางคือแม้กระทั่งคนที่เป็นโรคข้อเสื่อมซึ่งมักจะมีปัญหากับการใช้ที่ปอกผลไม้ เพราะจับไม่ถนัด ให้สามารถใช้ได้ ก็จะทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งเป็นผู้หญิงใช้ได้เหมือนกัน
เรื่องที่สาม วิธีการได้มาของไอเดียคือการตั้งคำถาม เช่น แปรงสีฟันที่สุดท้ายกลายเป็นขยะ จึงเป็นโจทย์ให้คิดว่าควรจะออกแบบอย่างไรดี ไม่ว่าจะเป็นการคิดเรื่องการนำวัสดุอะไรที่เหมาะสมมาใช้หรือคิดถึงการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ เพราะในการออกแบบจะทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเป็นการออกแบบเพื่อแก้ปัญหา
เรื่องที่สี่ ทำไปคิดไปเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด เช่น ในการออกแบบแล็บท็อปที่ใส่ใจในเรื่องภายนอกแม้กระทั่งไม่ให้ดินสอตกเข้าไปภายใน แต่เหนือกว่านั้นยังคิดต่อไปถึงซอฟท์แวร์ซึ่งอยู่ภายในที่ต้องมีการออกแบบให้สัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้น นักออกแบบที่ดีจึงไม่ใช่แค่ศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ยังต้องศึกษาเรื่องอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูล ความเข้าใจ และไอเดียที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นว่าการบริโภคของลูกค้ามีผลต่อการตั้งต้นการคิด หรือการออกแบบ เช่น Bank of America ได้ว่าจ้างให้ Ideo สำรวจข้อมูลการบริโภคแล้วพบว่า ราคาสินค้าที่มักจะตั้งให้มีเศษเป็น .99 เซ็นต์ ทำให้ผู้บริโภคมีเศษเงินเหลือ .01 เซ็นต์ทุกครั้งที่จ่าย จึงมีการสร้างโปรแกรมให้สามารถปัดเศษเงินทอนเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากที่เปิดไว้กับธนาคารเป็นการออมไปในตัว ทำให้มีผู้บริโภคเข้าไปเปิดบัญชีกับ Bank of America กว่า 2 ล้านราย นี่คือการดูพฤติกรรมคนและนำมาสร้างโอกาสทางธุรกิจ
สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรตระหนักคือ แนวทางสู่ความสำเร็จในการสร้างผลิตภัณฑ์ในวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่มีการออกแบบที่ดีแล้วจะนำไปสู่ธุรกิจที่ดี แต่ต้องมีการวิจัยที่ดีเป็นพื้นฐานเพื่อจะนำไปสู่การออกแบบที่ดีจึงจะมีธุรกิจที่ดี คือไม่ใช่ Good Design -> Good Business แต่เป็น Good Research -> Good Design -> Good Business
ส่วนเรื่อง Helvatica หากมองเป็นผลิตภัณฑ์ (Product) จะทำให้เห็นถึงที่มาที่ไปตั้งแต่การออกแบบและวิวัฒนาการ โอกาสทางธุรกิจ จังหวะการก้าวไปสู่ความสำเร็จ รวมทั้ง การอยู่มานานถึง 50 ปีและการที่จะอยู่ต่อไปได้นั้น เป็นเพราะต่อให้มีความคิดเห็นต่างกันและการถกเถียงกันระหว่างกลุ่มคนที่ชื่นชอบตัวอักษรแบบนี้กับกลุ่มคนที่ไม่ชอบก็ตาม ก็ถือว่าฟอนต์นี้อยู่ในใจของทั้งสองกลุ่ม
สำหรับคนที่ไม่ชอบบอกว่าการใช้ฟอนต์แบบ Helvetica แปลว่าน่าเบื่อ หมายความว่าคนที่เอามาใช้ไม่ได้คิดอะไรใหม่ เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกก็เห็นฟอนต์แบบนี้มีการใช้อยู่ทั่วไปทั้งป้ายถนนหนทาง ป้ายโฆษณา ป้ายหน้าร้าน และชื่อแบรนด์สินค้าต่างๆ แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าการใช้ฟอนต์นี้ไม่ได้หมายถึงความน่าเบื่อ เพราะความเรียบง่ายและเป็นกลางที่สุดสามารถกลมกลืนไปกับสิ่งที่อยู่รอบๆ และยังทำให้จดจำได้ จึง ขึ้นอยู่กับวิธีการนำไปใช้มากกว่า โดยสามารถแสดงออกถึงตัวตนในแบบที่แตกต่าง
นอกจากนักออกแบบจะได้ประโยชน์จากการชมภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้เต็มๆ แล้ว ผู้ประกอบการที่ได้ชมก็ได้ประโยชน์ไม่น้อยเช่นกัน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ในเว็บไซต์ www.objectifiedfilm.com กับ www.helveticafilm.com ส่วนผู้ที่ต้องการคำบรรยายภาษาไทยเข้าชมได้ที่ทีซีดีซี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|