ควบบางจากเข้ากับปตท. "ข้ามศพโสภณไปก่อน"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

การที่โสภณ สุภาพงษ์ โต้โผของบางจากฯ จับมือสมหญิง เสรีวงศ์ หัวเรือแห่งสยามนกไม้ รุกตั้งปั๊ม "นกไม้" ขายน้ำมันราคาถูกกว่าตลาดเป็นเจ้าแรกที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ได้กลายเป็นชนวนระเบิดความขัดแย้งระหว่างปตท.-บางจากฯ อีกครั้งหลังจากที่ปะทุมาครั้งแล้วครั้งเล่า นัยว่า กร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีซึ่งดูแลด้านพลังงานของชาติได้ให้บางจากฯ เป็นหัวหอกในการสร้างกลไกตลาดน้ำมันลอยตัว แต่...เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ชี้ปัญหาชัดว่าสุดท้ายแล้วปตท.-บางจากฯ จักต้องเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการแข่งขันกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ โสภณคือตัวคีย์ของเรื่องนี้ แต่คนที่ต้องรีบตัดสินใจก็คือกร...!

อีกแล้วหรือ...!

ผู้คนในวงการน้ำมันพากันส่ายหน้าอย่างเหนื่อยหน่ายเมื่อเจอข่าวนี้ นั่นก็คือ ข่าวทะเลาะเบาะแว้งระหว่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) กับบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (บางจากฯ) ที่ลุกโพลงขึ้นจนยืดเยื้อเป็นแรมเดือนจากที่คุกรุ่นมาแล้วเป็นปี

บริษัท สยามนกไม้ จำกัด ของสมหญิง เสรีวงศ์ เป็นเพียงตัวละครหนึ่งเท่านั้นที่เผอิญได้กลายมาเป็นชนวนจุดความขัดแย้งของปตท.กับบางจากฯ เพราะความไม่ลงรอยกันระหว่างปตท.กับบางจากฯ นั้นมีขบวนการที่เกิดอย่างต่อเนื่องมานานจนได้สร้างจิตสำนึกองค์กรนิยมเหนือจิตสำนึกต่อประโยชน์ของประเทศที่แท้จริงไปเสียแล้ว...!

ทันทีที่มีข่าวว่า โสภณ สุภาพงษ์ กรรมการผู้จัดการบางจากฯ ประสานความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกับสมหญิงโต้โผของสยามนกไม้ เดินหน้าลุยโครงการมินิปั๊มสู่ชนบท (โปรดอ่านรายงานผู้จัดการเรื่อง "สมหญิง เสรีวงศ์-นกไม้วงการน้ำมัน) ตามฐานนโยบายของกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและประธานอนุกรรมการนโยบายปิโตรเลียม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องพลังงานของประเทศ ทางปตท.ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยท่าทีที่ไม่พอใจต่อบทบาทของบางจากฯ ที่ลงมารุกในตลาดค้าปลีกอย่างมาก

การที่สยามนกไม้ได้ขายน้ำมันราคาถูกใน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เท่ากรุงเทพฯ ก็หมายความว่าประชาชนในแถบนั้นได้ใช้น้ำมันราคาถูกกว่าราคาที่ทางกระทรวงพาณิชย์กำหนด

ทำให้วิจารณ์กันแซ่ดว่า สยามนกไม้ซื้อน้ำมันจากบางจากฯ ได้ในราคาที่ถูกกว่าปตท. จึงขายถูกได้...!

ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น สยามนกไม้ซื้อน้ำมันด้วยราคาตัวเลขที่เห็นกันอย่างตรง ๆ ว่า "สูงกว่า" ที่ปตท.ซื้อ เลยทำให้เกิดคำถามใหญ่ขึ้นมาว่า แล้วทำไมสยามนกไม้ขายถูกกว่าที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดได้ แต่ปตท.องค์กรใหญ่ซึ่งรัฐบาลมักจะขานเรียกว่าบริษัทน้ำมันแห่งชาตินั้นขายไม่ได้ หรือขายได้แต่ไม่ทำ อาจจะด้วยเหตุที่ตักตวงกำไรหรือทำงานด้อยประสิทธิภาพ มิหนำซ้ำยังมาโวยวายอีกว่าบางจากฯ แย่งลูกค้าหรือเบียดตลาดน้ำมันของปตท. ซึ่งเป็นคนไทยกันเอง ดุจคนไม่พายแล้วยังเอาเท้าราน้ำ

ข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไป ล้วนแล้วแต่มีทิศทางความคิดที่ไหลไปทางเดียวกันโดยสิ้นเชิง นั่นก็คือดูประหนึ่งว่าสยามนกไม้ได้มาจุดประกายของการแข่งขันในตลาดน้ำมันให้มากขึ้นและหวังกันอย่างเต็มเปี่ยมว่า รูปการณ์ครั้งนี้จะทำให้นโยบายราคาลอยตัวของรัฐบาลเป็นจริงขึ้นและสัมฤทธิ์ผลอย่างแน่นอนเสียที

ในวงการน้ำมันยังพยายามวิเคราะห์กันอย่างหนักว่า ด้วยภาพที่สยามนกไม้ทำอยู่นั้น ถ้าทำทั่วประเทศแล้วจะมีความเป็นไปได้แค่ไหน เพราะโดยการค้าของสยามนกไม้กับบริษัทค้าน้ำมันที่เป็นอยู่ในขณะนี้มีความต่างเฉพาะตัวกันอยู่ ด้วย CONCEPT การมองคนละอย่างกัน" (โปรดอ่านล้อมกรอบ "นกไม้จับมือบางจากฯ ถล่ม ปตท.)

ขณะที่บางจากฯ ซึ่งมีโสภณเป็นหัวเรือใหญ่ ได้กลายเป็นฮีโร่ในฐานะผู้นำองค์กรน้ำมันเล็ก ๆ ที่ดูจะมีประสิทธิภาพและกระทำการที่มุ่งประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ในทางกลับกันปตท.ที่เคยถูกมองให้เป็นผู้ร้ายก็ดูยิ่งเลวร้ายไปกว่าเก่าอีกหลายเท่านัก...!

ตัวอาณัติ อาภาภิรม ผู้ว่าการปตท.และรองประธานบอร์ดบางจากฯ ก็ตกอยู่ในสภาพที่ถูกด่าทออย่างรุนแรงว่าคัดค้านบางจากฯ ทั้งที่บางจากฯ ทำตามนโยบายของรัฐบาลทุกประการ

ภาพที่ปตท.-บางจากฯ ทะเลาะและออกมาโต้เถียงกัน นับถึงปีนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 6 แล้วตั้งแต่บางจากฯ ได้ปรับโครงสร้างมาบริหารในรูปของบริษัทจำกัดและโอนงานจากปตท.อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2528

การณ์ครั้งนี้ทำให้ปตท.เกิดความรู้สึกว่าถึงเวลาที่ปตท.จะต้องเข้าไปมีบทบาทในการดูอย่างจริงจังเสียที เพราะที่ผ่านมาปตท.ไม่สามารถผลักดันอะไรได้เต็มที่ ด้วยโสภณมักจะกล่าวอ้างเสมอเมื่อมีข้อขุ่นเคืองระหว่างปตท.กับบางจากฯ ว่าบางจากฯ เดินไปทางไหน ทำอะไรหรือไม่ทำ ก็ขึ้นอยู่ที่ผู้ถือหุ้น ถ้าผู้ถือหุ้นเห็นด้วยก็โอเค

ข้อนี้มีเหตุผล เนื่องจากบางจากฯ เป็นนิติบุคคลผู้ถือหุ้นก็คือผู้ตัดสินใจ ซึ่งผู้ถือหุ้นในที่นี้ก็คือรัฐบาล ได้แก่ กระทรวงการคลัง ปตท. และธนาคารกรุงไทย

แต่เผอิญว่าปตท.ถือหุ้นเพียง 30% ขณะที่คลังถืออยู่ 60% และธนาคารกรุงไทย 10% เสียงของปตท. จึงแทบไม่มีความหมายอะไรเลย ทั้งที่ปตท.เป็นหุ้นส่วนและเป็นลูกค้ารายใหญ่ด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะในฐานะองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ทำงานน้ำมันของประเทศด้วยกัน น่าจะร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียวได้ด้วยดีตามเจตนารมณ์ที่พัฒนาการบริหารของบางจากฯ ไปในรูปของบริษัท

การเป็น "หนึ่งเดียว" ไม่ได้นี่เองที่ทำให้บางจากฯ กลายเป็นลูกนอกคอกในสายตาของปตท. ด้วยความรู้สึกว่าถ้าไม่มีปตท. บางจากฯ ก็อาจจะไม่มีวันนี้เช่นเดียวกัน...!

ย้อนอดีตกลับไป โรงกลั่นตั้งขึ้นเมื่อปี 2502 สร้างเสร็จในปี 2507 ด้วยกำลังกลั่น 5,000 บาร์เรลต่อวัน มีองค์การเชื้อเพลิงดูแลด้วยวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงทางยุทธปัจจัย

พอปี 2508 บริษัท ซัมมิท อินดัสเตรียล คอร์ปอเรชั่น (ปานามา) จำกัด ได้รับสิทธิ์เช่าโรงกลั่นและเป็นผู้ขายน้ำมันให้กับองค์การเชื้อเพลิงพร้อมกับขยายกำลังกลั่นเป็นวันละ 20,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2511 และเป็น 65,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2515 แต่ไม่เป็นจริง

จากวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งแรกช่วงปี 2514-15 และครั้งที่สองช่วงปี 2522-24 ไทยมีปัญหาเรื่องซัพพลายของน้ำมันมาก เพราะโรงกลั่นอยู่ในมือของซัมมิทซึ่งมักจะไม่ส่งน้ำมันตามข้อตกลง

เพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐบาลยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงดึงเอาโรงกลั่นบางจากมาดูแลเอง โดยให้การพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบในการบริหารและปตท.เป็นผู้จัดหาน้ำมัน

ปตท.เองได้เกิดขึ้นในปี 2521 ตามนโยบายของรัฐบาลยุคพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่เห็นว่าไทยควรจะมีองค์กรของรัฐมาดูแลเรื่องน้ำมันเสียทีตามพ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 ที่จะทำทางตลาดและการผลิต

ตามบทเฉพาะกาล ม.59 ของพ.ร.บ.นี้ ระบุให้ "โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ตลอดจนงบของกระทรวงกลาโหมที่เกี่ยวข้องกับโรงกลั่นไปเป็นของปตท.ในปี 2 ปี จากที่พ.ร.บ.เริ่มใช้บังคับ (29 พฤษภาคม 2521)

แต่ปตท.ยังไม่พร้อมนักเพราะเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ รัฐบาลจึงได้ออกพระราชกำหนดปตท.2523 ยืดเวลาการโอนออกไปอีก 7 ปี

ด้านโรงกลั่นบางจาก เมื่อรัฐบาลยึดคืนจากซัมมิทในเดือนเมษายน 2524 มาให้การพลังงานทหารดูแลแล้ว ก็มีปัญหาความไม่คล่องตัว ไม่มีประสิทธิภาพ น้ำมันดิบที่ซื้อมาแพงกว่าน้ำมันสำเร็จรูป หนี้สินก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ช่วงนั้นเป็นยุคที่ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ เป็นผู้ว่าการปตท. โสภณได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการด้านจัดหาและกลั่นน้ำมัน และต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นรองผู้ว่าการ ซึ่งก็คือผู้ที่ดูแลงานด้านจัดหาโดยตรงนั่นเอง

ระดับนโยบายที่ดูแลเรื่องพลังงานโดยตรงมาตลอด 8 ปี ยุคนายกเปรมคือเรืออากาศโทศุลี มหาสันทนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งเดียวกับที่กรรับผิดชอบอยู่ในตอนนี้

แต่ไม่ว่าจะเป็นโสภณ ทองฉัตร หรือศุลี ต่างยอมรับปัญหาของโรงกลั่นตรงกัน และเห็นว่าจะต้องปรับโครงสร้างการบริหารของโรงกลั่นเสียใหม่ไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุด

กันยายน 2526 ครม.ได้แต่งตั้งกรรมการพิจารณารูปแบบของโรงกลั่นบางจากใหม่ โดยสรุปกันออกมาว่ารูปแบบที่เหมาะที่สุดคือบริษัทจำกัด และอีก 9 เดือนต่อมา ครม.ก็อนุมัติ

พฤศจิกายน 2527 นับเป็นมิติใหม่สำหรับวงการน้ำมัน เมื่อโรงกลั่นบางจากจดทะเบียนเป็นบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท มีปตท.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 75% อีก 15% ถือหุ้นโดยธนาคารกรุงเทพและธนาคารเอเชียทรัสต์ (ต่อมาคือธนาคารสยามแล้วยุบรวมกับธนาคารกรุงไทย)

พร้อมกับกำหนดว่าก่อนโอนบางจากฯ จะต้องเพิ่มทุนอีก 60 ล้านเหรียญ และให้เรียกทุนเพิ่มจากผู้ถือหุ้นในสัดส่วนเดิม

ด้วยเจตนาที่จะให้ปตท.และบางจากฯ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ครม.มีมติให้ปตท.หนุนด้านการเงินซึ่งก็คือเงินของรัฐแก่บางจากฯ

ตั้งแต่กู้เงินมาใช้หนี้เดิม 145 ล้านเหรียญ โดยให้รัฐบาลค้ำประกันและใช้แทน หาเงินมาเป็นทุนเรือนหุ้นที่เรียกเพิ่มคือราว 1,253 ล้านบาท ตามส่วนที่ปตท.ถืออยู่ 75% พร้อมทั้งโอนคนของโรงกลั่นที่มีอยู่กว่า 500 คน มาอยู่กับปตท. และให้บางจากฯ เลือกสรรไปก่อนเท่าที่จำเป็น พร้อมทั้งกำหนดฤกษ์โอนงานในวันที่ 1 มกราคม 2528

ทุกคนวาดหวังกันว่าบางจากฯ จะกลายเป็นพี่น้องท้องเดียวกันกับปตท. และร่วมพัฒนาธุรกิจน้ำมันของประเทศ

แต่ไม่มีใครฉุกคิดว่ารอยร้าวระหว่างทองฉัตรและโสภณจะทำให้ทุกอย่างพลิกผันไปอย่างช่วยไม่ได้...!

เพราะเผอิญว่าโรงกลั่นบางจากตั้งอยู่บนพื้นที่ของที่ราชพัสดุ และตามพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2518 ทรัพย์สินบนที่ดินเหล่านี้จะต้องตกเป็นของกรมธนารักษ์

เมื่อตีมูลค่าทรัพย์สินเป็นมูลค่าหุ้นแล้ว กระทรวงการคลังจึงกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 60% ปตท.ที่ควรจะเป็นหุ้นใหญ่กลับเหลือแค่ 30% อีก 10% ถือโดยธนาคารกรุงไทย และโอนงานออกมาอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2528

บางคนถามว่าทำไมปตท.ถึงยอมให้ทำอย่างนี้...!

เหตุผลง่าย ๆ ในตอนนั้นก็คือบรรดาผู้บริหารของปตท. หรือแม้ทองฉัตรซึ่งตอนหลังความสัมพันธ์ดูจะห่างเหินโสภณเข้าไปทุกทีจนยากที่จะประสานกันแล้วก็ไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาดังที่เป็นอยู่ตอนนี้

แม้ว่าโดยบุคลิกส่วนตัวและการดำเนินชีวิตจะต่างกันโดยสิ้นเชิง โสภณนั้นตอนนั้นจะ LOW PROFILE มาก ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่สูบไม่ดื่มไม่เที่ยว ทุกลมหายใจก็คืองาน ยืนหยัดอยู่กับความซื่อสัตย์สุจริต ขณะที่โสภณรู้สึกว่าวิถีชีวิตของทองฉัตรอยู่คนละขั้วกับตน และเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้โสภณมองดูทองฉัตรด้วยสายตาที่ไม่ดีนัก

ทองฉัตรเองไม่คิดว่าจะมีปัญหาเพราะมั่นใจว่าตลอดเวลาที่ทำงานด้วยกันทองฉัตรปล่อยให้โสภณทำงานด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ จะไม่ลงไปซักไซ้ในรายละเอียด เพียงแต่ตกลงกติกาและเป้าหมายที่ต้องการแล้วก็ไปทำ ประเด็นนี้ไม่ว่าจะเป็นโสภณหรือรองผู้ว่าคนอื่นจะรู้ดี ซึ่งโสภณเองยอมรับและพูดว่า "ต้องขอบคุณ ดร.ทองฉัตรในเรื่องนี้"

แต่ก็นั่นแหละ ระยะหลังกลับกลายเป็นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงทองฉัตรว่าที่ไม่ลงไปในรายละเอียดนั้นเพราะไม่รู้เรื่องน้ำมัน

ที่สำคัญตอนนั้นคิดกันแต่ว่าปตท.-บางจากฯ คือทองแผ่นเดียวกัน เป็นเครื่องมือของรัฐเหมือนกัน แม้คลังจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร ดุจเรือล่มในหนองทองจะไปไหน

ที่สำคัญที่สุด "ปตท.ไม่เคยคิดว่าบางจากฯ จะทำอะไรนอกเหนือจากโรงกลั่นโดด ๆ"

แต่แล้วทุกอย่างก็ผันแปร เมื่อโสภณตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ปตท.ตามที่คณะกรรมการพิจารณารูปแบบโรงกลั่นบางจากแต่งตั้งไปเป็นกรรมการผู้จัดการบางจากฯ เพราะโสภณไปพร้อมกับรอยร้าวที่เคยอยู่ยังไงก็ยังติดความรู้สึกอยู่อย่างนั้น ผนวกไปด้วยภาพปตท.ที่ไม่มีประสิทธิภาพทาบแน่นอยู่ในหัวใจ

ไม่มีใครปฏิเสธว่าโสภณเป็นคนเก่งในเรื่องน้ำมันมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ ในหลาย ๆ คนที่มาจากเอสโซ่ เช่น ประมุข บุณยะรัตเวช ฯลฯ "เพียงแต่โสภณอาจจะมีความรู้สึกชาตินิยมรุนแรงและมีอัตวิสัยมากกว่าคนอื่น" แหล่งข่าวระดับสูงที่คลุกคลีอยู่ในวงการน้ำมันวิจารณ์โสภณต่อ "ผู้จัดการ"

การที่คลังเป็นหุ้นใหญ่ในบางจากฯ จะไม่มีปัญหาเลยถ้าโสภณไม่ขัดแย้งสุดขั้วกับทองฉัตร เพราะสามารถถ่ายโอนหุ้นกันได้ แต่เผอิญอีกว่า ตอนนั้นโสภณมีบทบาทในการกุมนโยบายพลังงานของประเทศมาก ไปกันได้ดีกับศุลีและนายกเปรม จนเป็นที่รู้กันว่าโสภณเป็น "ลูกรัก" ของนายก

"ศุลีเองคงไม่ได้คิดอะไรมาก" ผู้เกี่ยวข้องกับการตั้งบางจากฯ ตั้งข้อสังเกต "เพราะทุกคนก็เป็นผู้ใหญ่ทำงานระดับชาติกัน ขณะที่มีเรื่องอื่นจะต้องคิดอีกเยอะ"

จุดพลาดตรงนี้ที่ไม่ได้เสนอโอนหุ้นมาแต่ต้นความยุ่งยากจึงเกิดขึ้น

นี่คือจุดปะทุของปัญหาที่ทำให้ชาวปตท.มองว่าบางจากฯ คือคนที่ไม่รู้จักบุญคุณ และพยายามเฉข้อเท็จจริงไปจากเจตนาเดิม เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ปตท.ซึ่งก็คือตัวแทนของรัฐคงไม่ทุ่มเทหรือยอมทุกอย่างเพื่อให้บางจากฯ ได้พัฒนาไปสู่ความมีประสิทธิภาพก่อนเป็นส่วนแรก และจะได้กลับมาสนับสนุนปตท.ไปแข่งกับบริษัทน้ำมันต่างชาติได้มากขึ้น

ไม่ว่าปตท.และบางจากฯ จะตีความประวัติศาสตร์การเติบโตของบางจากฯ ยังไง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเจตนาสูงสุดคือให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ผู้ใหญ่หลายคนทั้งที่ยังอยู่ในตำแหน่งและที่เกษียณไปแล้วล้วนแต่รู้ดี แต่ไม่พูดกันเท่านั้นเอง

ขณะที่บางจากฯ พยายามยืนยันหัวชนฝาว่าทำตามนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (ช่วงนั้นนายกเปรมเป็นประธาน) และครม. มีมติให้บางจากฯ ดำเนินงานในรูปของบริษัทจำกัด เป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามที่ได้ระบุไว้ว่า

"โดยที่การมีกิจการกลั่นน้ำมันของรัฐเองสามารถสนองนโยบายหลักที่สำคัญ ๆ ของรัฐในการบริหารธุรกิจปิโตรเลียม อันนำมาซึ่งผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ซึ่งสามารถเป็นกิจการที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจโดยตนเองได้ และให้มีระบบการบริหารและการเงินเช่นธุรกิจเอกชนโดยทั่วไป"

"ให้โรงกลั่นใหม่มีโครงสร้างการบริหารที่มีเอกภาพและมีอำนาจการบริหารอย่างอิสระ มีความคล่องตัวในด้านปฏิบัติการ และด้านการเงิน ฯลฯ พร้อมอยู่ในองค์กรเดียวกัน และสามารถดำเนินการไปได้ด้วยความมั่นคง มีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวสูงในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียม)

อีกทั้งวัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธิของบางจากฯ ในข้อ 1 ได้ระบุว่า...ประกอบธุรกิจปิโตรเลียม อันหมายความรวมถึง การสำรวจ พัฒนา ผลิต จัดหา กลั่น แปรสภาพ สำรอง เก็บรักษา นำเข้า ส่งออก ขนส่ง ซื้อ ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียม... และข้อ 2 ที่ว่า...ประกอบธุรกิจเป็นผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึง น้ำมันปิโตรเลียมดิบ น้ำมันเบนซิน น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันหล่อลื่นและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่น ๆ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง...

อันที่จริง "การจดทะเบียนบริษัทจะพูดครอบคลุมไว้กว้าง อย่างที่พูดว่าทำตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ เพื่อความสะดวกและไม่ผูกมัดตัวเอง เป็นเรื่องธรรมดาที่ทำกันทั่วไป"

จากวันนั้นจนวันนี้ บางจากฯ กับปตท.จึงทวีดีกรีความขัดแย้งขึ้นทุกขณะ...!

ประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบคือปัญหาตลาดการซื้อขายน้ำมันระหว่างปตท.-บางจากฯ ต้องมีอันกระทบกระทั่งกันเรื่อยมา ทั้งเรื่องของคุณภาพน้ำมัน ข้อปฏิบัติอื่น ๆ และที่รุนแรงที่สุดดูจะเป็นข้อกล่าวอ้างที่ว่าบางจากฯ แย่งตลาดปตท.

บางจากฯ จะบอกว่าปตท.รับน้ำมันไม่หมด ปตท.ก็จะว่าเพราะบางจากฯ กลั่นไม่ได้สเปก บางจากฯ เลยเฉไฉไปว่าเพราะปตท.ด้อยประสิทธิภาพ ขายได้น้อยเลยรับไปน้อย ปตท.ก็ว่าบางจากฯ เองนั่นแหละที่นึกอยากกลั่นอะไรก็กลั่น ไม่ดูตลาดว่าเขาต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดไหน เนื่องจากน้ำมันดิบจะให้ค่าและปริมาณของน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิดต่างกัน

เรียกว่า ใครใคร่กลั่น-กลั่น ใครใคร่ขาย-ขาย

สุดท้าย เกิดกรณีบางจากฯ ต้องหยุดกลั่นไปประมาณหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งได้กลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของธุรกิจโรงกลั่นที่ต้อง SHUT DOWN ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ว่า น้ำมันล้นถังเมื่อปลายเดือนกันยายน 2530 เนื่องจากตลาด (ปตท.) รองรับปริมาณการกลั่นที่บางจากฯ ใช้ประสิทธิภาพเต็มที่ในช่วงนั้นด้วยระดับเฉลี่ย 50,000 บาร์เรลต่อวันไม่ได้

เท่ากับจะบอกว่าโรงกลั่นมีประสิทธิภาพ แต่ปตท.ปรับตัวไม่ทันเอง

ใครต่อใครในวงการต่างงงเป็นไก่ตาแตกว่า ปล่อยให้น้ำมันล้นถังได้ยังไง โดยเฉพาะที่บอกว่าสต็อกน้ำมันทุกชนิดมีเกินกว่าหนึ่งเดือน เพราะโดยปกติผู้ลงทุนจะพยายามใช้กำลังกลั่นอย่างเต็มที่ หยุดกลั่นเมื่อไหร่ก็เป็นการสูญเปล่า และโดยโรงกลั่นจะมีการหยุดซ่อมประจำปีเป็นกิจวัตรทุกประมาณปีครึ่งอยู่แล้ว

เล่ากันว่าอาณัติดูเหมือนจะถูกลองเชิงว่าจะแก้ปัญหายังไง เพราะอาณัติไม่รู้ล่วงหน้าเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกแต่จริงอีกเหมือนกัน

ทั้งที่เคยหวังกันว่า เมื่อเปลี่ยนผู้ว่าคนใหม่มาเป็นอาณัติแล้ว บรรยากาศระหว่างปตท.กับบางจากฯ คงจะดีขึ้นกว่าเก่า แต่อาณัติกลับถูกมองด้วยสายตาที่ว่า "ไม่รู้เรื่องน้ำมัน"

ครั้งนั้น ปตท.กลายเป็นผู้ร้ายไปอย่างช่วยไม่ได้ ด้วยประเด็นที่ว่าฉวยโอกาสไปนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามากกว่า เพราะช่วงนั้นถูกกว่าราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งจะทำให้ได้กำไรได้มากกว่า เลยรับน้ำมันจากบางจากฯ น้อยลง นี่ก็ฟังดูมีเหตุผล

แต่โดยคนทำงานของปตท.อดที่จะแปลกใจไม่ได้ เพราะไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากมีดีเซลที่ปตท.รับน้อยลง แต่น้ำมันที่บางจากฯ ล้นทุกชนิด และปกติจะวางแผนกันล่วงหน้าเดือนต่อเดือน

นี่แสดงว่าในด้านของบางจากฯ เองก็พยายามนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นในระดับที่คิดว่าจะได้มากและกำไรที่สุด ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับแผนตลาดของปตท. เรียกว่าต่างฝ่ายต่างฉกฉวยโอกาสกันคนละทีเพื่อให้องค์กรของตนได้กำไรสูงสุด

แต่ปตท.อาจจะเสียเปรียบตรงที่ว่าเป็นองค์กรใหญ่ บริหารภายใต้โครงสร้างของรัฐวิสาหกิจ ภาพพจน์จึงดูด้อยกว่าบางจากฯ ที่ดูเหมือนว่าทั้งเก่งทั้งดี เมื่อเกิดปัญหานี้เลยโดนกระหน่ำจากทุกสารทิศ

เหตุครั้งนี้ได้เป็นสัญญาณชี้ปรอทความขัดแย้งว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งปตท.-บางจากฯ จะต้องแตกหักแน่...! จากนั้นมา บางจากฯ เริ่มหาตลาดรายอื่น

แล้ววันนี้ก็มาถึง เมื่อปตท.ออกมาประกาศชัดว่าบางจากฯ แย่งตลาดปตท. จึงควรจะแยกบทบาทกันให้ชัดเจน คือ ให้ปตท.ขาย และบางจากฯ กลั่นอย่างเดียว พร้อมทั้งจะขอเข้าไปมีส่วนในการบริหารมากขึ้น ซึ่งถ้าไม่โอนหุ้นของคลังมาให้ปตท. ก็ควรจะโอนอำนาจการบริหารให้ปตท. เพื่อที่จะประสานกันได้มากขึ้น

โสภณยืนยันว่าการที่ให้บางจากฯ กลั่นอย่างเดียวจะทำให้บางจากฯ ต้องย้อนกลับไปสู่สภาพเก่าเหมือนตอนที่อยู่กับปตท.ที่ต้องขาดทุนถึง 4,000 ล้านบาท แต่เมื่อแยกบางจากฯ มาเป็นบริษัทแล้วกลับได้กำไรทุกปี

ตั้งแต่ปี 2528 ปีแรกเพียง 9 เดือน 206 ล้านบาท ปี 2529 กำไร 451 ล้านบาท ปี 2530 กำไร 244 ล้านบาท ปี 2531 กำไร 482 ล้านบาท และปี 2532 กำไร 801 ล้านบาท และปีนี้จะกำไร 1,350 ล้านบาท

"เจ๊งแน่ ถ้าไปอยู่กับปตท." โสภณและปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายพลังงานแห่งชาติเห็นพ้องกันอย่างนี้

ยิ่งกว่านั้น กระแสความรู้สึกนี้ได้แพร่ระบาดออกไปอย่างหนัก บางจากฯ ถึงกับชุมนุมประท้วงและออกใบปลิวต่อต้านการที่ปตท.จะเข้ามา TAKE OVER บางจากฯ และประณามการกระทำของอาณัติว่าทำเช่นนี้เพราะมุ่งประโยชน์ให้ปตท. ไม่ได้มีจิตสำนึกต่อประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งที่เรื่องนี้เป็นนโยบายของกร

ส่วนปัญหาขาดทุนสะสมของโรงกลั่นบางจากยุคการพลังงานทหาร พูดได้ว่าได้ฝังใจความรู้สึกของผู้ใหญ่หลายคน

โดยข้อเท็จจริง สาเหตุที่โรงกลั่นบางจากขาดทุนมโหฬารในตอนนั้น ยุคซึ่งโสภณดูแลอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน พูดได้ว่ามีหลายปัจจัยด้วย คือ การนำเข้าน้ำมันดิบราคาแพงในปริมาณมาก จะเห็นว่าตอนนั้นมีสัญญาซื้อน้ำมันกับซาอุดิอาระเบียถึงวันละ 100,000 บาร์เรล ทำให้เกิดสต็อกสะสม เงินที่ใช้อยู่ได้มาจากการกู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องเสียดอกเบี้ยสูงรวมแล้วถึง 50% ของหนี้ทั้งหมด ขณะเดียวกันโรงกลั่นเป็นโรงกลั่นเก่าที่สร้างมานานใช้เชื้อเพลิงสูงและไม่มีการปรับปรุง

ผู้บริหารตอนนั้นต่างเห็นปัญหา โสภณเองเสนอและยืนยันความคิดดังที่ทุกคนเห็นพ้องว่าควรแก้ไขด้วยการบริหารให้คล่องตัว ซึ่งสุดท้ายสรุปออกมาให้เป็นบริษัทจำกัด

ที่จริง ประเด็นการโอนหุ้นหรือโอนการบริหารบางจากฯ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมหรือปตท.บริหารนั้น ไม่น่าจะหมายถึงว่าบางจากฯ จะย้อนรอยไปอยู่ในสภาพเก่า เพราะบางจากฯ ยังมีโครงสร้างการบริหารเป็นบริษัทจำกัดเช่นเดิม และวันนี้บุคลากรของไทยมีคนรู้เรื่องน้ำมันขึ้นมาก อีกทั้งผู้ถือหุ้นหรือรัฐบาลไม่มีใครต้องการให้บางจากฯ กลับไปขาดทุนยับเยินอย่างเก่าแน่ เพราะถ้าคิดอย่างนั้นก็ดูจะเขาปัญญาไป

"เป็นการพูดที่โอเวอร์ไป เพราะถ้าผู้บริหารของปตท.มีความคิดถอยหลังอย่างนี้ รัฐบาลควรสั่งบอร์ดให้ปลดแล้ว" แหล่งข่าวระดับสูงจากธุรกิจปิโตรเลียมวิจารณ์ พร้อมทั้งเน้นว่า "เขาไม่ควรแย่งตลาดกันเอง" เพราะบางจากฯ ยังคงเดินหน้าไปในรูปแบบบริษัทเช่นเดิม เพียงแต่จะต้องประสานกับปตท.มากขึ้น เพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพในการแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น

"บางจากฯ แย่งตลาดปตท." คำพูดนี้ได้กลายเป็นตราบาปสำหรับบางจากฯ มานาน

ขณะที่โสภณยืนยันเสมอว่าบางจากฯ ไม่เคยแย่งตลาดปตท. และกรณีสยามนกไม้นั้นเป็นการสนับสนุนให้ผู้ค้าน้ำมันรายย่อยมีโอกาสขยายตัวขึ้นมาเป็นผู้ค้าขนาดกลาง ตามโครงการมินิปั๊มสู่ชนบท เพื่อให้มีการแข่งขันมากขึ้น อันจะเป็นกลไกสำคัญไปสู่ราคาน้ำมันลอยตัวในที่สุด

ขณะเดียวกัน โสภณย้ำว่าปตท.เป็นลูกค้าสำคัญ บางจากฯ จะต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว และ "บางจากฯ ขายน้ำมันให้ปตท.ในราคาถูกที่สุดในบรรดาลูกค้าทั้งหมด"

ประเด็นนี้ถูกต้อง เพราะถ้าแม้ไม่พูดถึงกติกาที่บางจากฯ ขายน้ำมันให้ปตท.ตามราคาหน้าโรงกลั่นเพราะปตท.เป็นผู้ค้ามาตรา 6 ที่จะต้องมีภาระสำรองน้ำมันแล้ว ในฐานะที่ปตท.เป็นลูกค้าที่ซื้อปริมาณมากที่สุดถึง 60,000 บาร์เรลต่อวันจากบางจากฯ ซึ่งได้เครดิต 19 วันแล้ว ตามการค้าซื้อขายทั่วไป ปตท.ก็ควรได้ราคาถูกที่สุด

โดยตัวโสภณเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นคนพูดความจริง "ข้อนี้ยืนยันได้ แต่จะพูดทั้งหมดหรือไม่ ไม่รู้" แหล่งข่าวระดับสูงวงการน้ำมันที่รู้จักโสภณกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

จากรูปธรรมที่เกิดขึ้นในตลาดน้ำมันที่ขอนแก่นพบว่า สมหญิงเจ้าของปั๊มนกไม้ซึ่งเป็นผู้ค้าส่งน้ำมันหรือจอบเบอร์ด้วย ได้เชิญบรรดาเจ้าของปั๊มน้ำมันมาร่วมประชุมที่โรงแรมโฆษะเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเสนอขายน้ำมันดีเซลให้ในราคาลิตรละ 5.6142 บาท เครดิต 19 วัน เท่ากับที่ปตท.ซื้อจากบางจากฯ

วันนั้น เจ้าของปั๊มต่างสงวนท่าทีไม่มีใครเสนอซื้อ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าอาจจะเนื่องจากเครดิตของสมหญิงที่มีปัญหากับปั๊มปตท.เดิม (โปรดอ่านล้อมกรอบ "สมหญิง-แค้นนี้ต้องชำระ") จึงต่างรอดูท่าทีแต่ละฝ่ายกัน

เจ้าของปั๊มจึงเพิ่งจะรู้กันแน่ชัดว่า ปั๊มที่กำลังสร้างอยู่ที่กิโลเมตรที่ 28 ใกล้กับปั๊มปตท.ที่อยู่คนละฟากถนน และมีข่าวพูดกันช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ว่าปั๊มนั้นเป็นปั๊มบีพีหรือโมบิลนั้น แท้จริงเป็นปั๊มนกไม้นี่เอง

ขณะเดียวกัน สมหญิงในฐานะจอบเบอร์ที่ขายน้ำมันเตาในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดนกไม้มาแต่ต้น ได้ขายน้ำมันดีเซลให้ลูกค้าที่นครราชสีมาที่ชื่อ "บัวหวั่น" จ.นครราชสีมา ในราคาลิตรละ 5.61 บาท กำหนดให้จ่ายเงินสดหรืออาจจะให้เครดิต 7 วัน แล้วแต่กรณี โดยให้ลูกค้าไปรับจากโรงกลั่นที่บางจากฯ เอง

ความเป็นไปอันนี้ "ทำให้เชื่อว่าสมหญิงน่าจะซื้อดีเซลจากบางจากฯ ในราคา TRANSFER PRICE ซึ่งถูกมาก" ทำให้ปตท.อดทนต่อการรุกตลาดของบางจากฯ ไม่ไหว

อาณัติได้สอบถามราคาที่บางจากฯ ขายให้กับสมหญิง บางจากฯ บอกว่าขายสูงกว่าราคาหน้าโรงกลั่น 0.09 บาท หรือสูงกว่าปตท.ลิตรละ 0.09 บาทนั่นเอง แต่ล่าสุดบางจากฯ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่าขายสูงกว่าปตท. 0.05 บาท ซึ่งโสภณบอก "ผู้จัดการ" ว่าจะให้เครดิตระหว่าง 19-30 วัน แล้วแต่ปริมาณ

อาณัติจึงต้องเปิดฉากเจรจาให้บางจากฯ กลั่นอย่างเดียวเสียที

เกิดเป็นผู้ใหญ่ที่ดีแบบอาณัตินั้นลำบากมิใช่น้อย เพราะโดยตัวอาณัติว่าไปแล้วเป็นนักวิชาการมากกว่า เป็นคนประนีประนอมสูง พยายาทที่จะประสานแต่ละฝ่าย มีปัญหาอะไรก็พยายามพูดกันให้เข้าใจ

"จนบางครั้งเหมือนกับไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไรเมื่อบางจากฯ ต่อว่าปตท. ขณะที่ในปตท.แบ่งเป็นหลายกลุ่ม โดยมีสหภาพคอยรอบรับฐานอำนาจแต่ละส่วนเหมือนดังที่พูดกันว่า "อาณัติเป็นผู้ว่าการปตท.ที่น่าสงสาร โดดเดี่ยว เพราะรองผู้ว่าแต่ละคนก็มีกลุ่มพนักงานและสหภาพสนับสนุนต่างกันออกไป เมื่อถูกโดดเดี่ยวอยู่แล้ว พออาณัติใช้ท่าทีเรียบเฉย ชาวปตท.จึงรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ใครจะมาปกป้องใคร แต่ต้องพูดกันด้วยหลักการ"

"อาณัติต่างกับทองฉัตร เมื่อฟังข้อมูลแต่ละฝ่ายแล้ว จะเอายังไง จะตัดสินใจออกมาเลย ถึงต้องทุบโต๊ะก็ทำ" แหล่งข่าวระดับสูงผู้รู้ความเป็นมาของปตท.ดี เปรียบเทียบผู้ว่าการสองคน

ถึงตอนนี้แล้ว อาณัติจึงต้องรุก เมื่อเห็นบางจากฯ เริ่มล้ำเขตแดนที่เคยตกลงกันไว้มากขึ้นทุกที แต่เมื่ออาณัติเสนอเรื่องนี้ขึ้นในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อหาบทสรุปข้อขัดแย้งของปตท.-บางจากฯ ทว่าอาณัติถูกเบรกโดยกรบอกว่าไม่มีในวาระการประชุม

จากนั้นที่ประชุมอนุกรรมการนโยบายฯ ซึ่งมีกรเป็นประธานได้อนุมัติให้บางจากฯ เจียดดีเซลไปขายแก่ผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น จะได้ไม่ต้องซื้อจากสิงคโปร์ซึ่งติดปัญหาค่าขนส่ง แทนที่จะให้รัฐชดเชยค่าขนส่งแก่ผู้ค้ารายย่อย 5-6 ราย ตามที่เรียกร้องไปว่าต้องเสียค่าขนส่งมากกว่าผู้ค้ารายใหญ่เนื่องจากมีเรือใหญ่ขนส่งได้เที่ยวละ 10,000-30,000 ตัน ต้นทุนขนส่งตกลิตรละเพียง 0.10-0.12 บาท ขณะที่ผู้ค้ารายเล็กขนส่งด้วยเรือขนาด 500-6,000 ตัน ต้นทุนตกที่ลิตรละ 0.18-0.20 บาท

พร้อมกันนั้นเอง โสภณได้ให้ข่าวหนังสือพิมพ์ว่าบางจากฯ จะเพิ่มการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาขายให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะทำให้ผู้ค้ารายย่อยลดต้นทุนค่าขนส่งได้

ด้านปตท.ก็เรียกร้องให้โอนหุ้นหรือโอนการบริหารของบางจากฯ

ขณะที่กรให้ความเห็นว่า การโอนหุ้นของคลังมาให้ปตท.นั้น ตนตัดสินไม่ได้ แต่ปตท.ควรมีโรงกลั่นของตนเองไว้บริหารงานเหมือนกับบริษัทเอกชนอื่น ทางที่ปตท.จะเข้าไปบริหารบางจากฯ อาจจะเสนอต่ออุตสาหกรรมเจรจาให้คลังโอนหุ้น หรืออาจจะโอนสิทธิในการออกเสียงเป็นของอุตสาหกรรม และแต่งตั้งตัวแทนอุตสาหกรรมแทนตัวแทนของคลังเข้าไปบริหาร

กรพูดประหนึ่งว่าเข้าใจข้อเท็จจริงทั้งปตท.-บางจากฯ ดีและยังพูดด้วยว่า ปตท.ต้องอยู่ใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และสนองนโยบายรัฐแต่ขาดความคล่องตัว จึงจำเป็นต้องเร่งแยกเป็นบริษัทออกมาเหมือนบางจากฯ

ความเห็นนี้สอดคล้องกับที่ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเห็นด้วยที่จะให้ปตท.บริหารแต่หุ้นไม่น่าจะเปลี่ยน

กระทั่งวันที่ 25 พฤษภาคม พลเอกอัธยา แผ้วพาลชน ประธานบอร์ดปตท.และบางจากฯ ได้เจรจากับอาณัติและโสภณ ซึ่งตกลงหลักการกันว่าให้บางจากฯ กลั่นอย่างเดียว และปตท.ซื้อน้ำมันจากบางจากฯทั้งหมด พร้อมทั้งประสานงานกันให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ซึ่งพลตรีประมาณเห็นด้วยตามที่เป็นข่าวหลังจากที่ได้คุยกับโสภณและอาณัติด้วยตัวเอง

จากนั้นอีกไม่กี่วัน โสภณบอกว่า ต้องเช็กมติอนุกรรมการนโยบายฯ ก่อน ความขัดแย้งจึงลุกโชนขึ้นอีกครั้ง

ทางบางจากฯ ระดมข้อมูลแจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นข้อมูลที่เสนอบอร์ดดังนี้

ถ้าหากให้บางจากฯ ขายให้ลูกค้าอื่นเท่าที่มีอยู่ ห้ามขยายลูกค้าใหม่นี้จะทำให้เสียรายได้ไปปีละ 150 ล้านบาทต่อปี จากที่บางจากฯ ตั้งเป้าว่าจะขายเพิ่มขึ้นจาก 3% ในขณะนี้เป็น 6% หรืออีก 6,000 บาร์เรลต่อวัน (ปตท.จะรับน้ำมันจากบางจากฯ เฉลี่ยประมาณ 62,000 บาร์เรลต่อวัน) นั่นแสดงว่าบางจากฯ จะได้กำไรลิตรละ 0.44 บาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อบางจากฯ ขายเกินกำลังกลั่นตามระดับเฉลี่ยในขณะนี้ที่ 73,000 บาร์เรลต่อวัน ก็ต้องนำเข้าอีกราว 17,000 บาร์เรล และแม้ราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในช่วงนั้นจะถูกแต่ก็ต้องมาเสียเงินกองทุนที่เป็นช่วงต่างระหว่างราคานำเข้ากับราคาปลีกที่กำหนดไว้ ตัวเลขนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่ากำไรเกินมาตรฐานนำเข้าที่เป็นจริง

ยิ่งกว่านั้น ถ้าบางจากฯ ทำหน้าที่กลั่นอย่างเดียวจะต้องสูญรายได้ไป 800 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนกำไร 801 ล้านบาท แต่โดยข้อเท็จจริงบางจากฯ จะมีกำไรจากการกลั่นในสัดส่วนที่มากกว่า 95% ของกำไรทั้งหมด

จะเห็นว่าปี 2528 และ 2529 นั้น บางจากฯ ขายน้ำมันให้ปตท.รายเดียวแทบทุกหยด และมีผลกำไรดี

บางจากฯ คำนวณว่า 4 เดือนแรก บางจากฯ กำไร 450 ล้านบาท หนึ่งปีจะกำไร 1,350 ล้านบาท จากยอดขายรวม 90,000 บาร์เรลต่อวัน โดยบางจากฯ ขายเอง 28,000 บาร์เรลต่อวัน ขายปตท.วันละ 62,000 บาร์เรล

แต่ถ้าบางจากฯ กลั่นอย่างเดียวจะกลั่นได้แค่ 50,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการกลั่นจริงในตอนนี้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากปตท.รับน้ำมันเครื่องบินได้น้อยกว่าที่บางจากฯ กลั่นได้

เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวเลขตรงนี้ตกฮวบ พอโอนการบริหารให้ปตท.กลายเป็นยอดขายที่บางจากฯ เคยขายก็หายหมดด้วย ซึ่งเป็นเรื่องแปลก...!

เราไม่ปฏิเสธว่าบางจากฯ พยายามสนับสนุนปตท.ในฐานะลูกค้าสำคัญดังที่โสภณได้ย้ำอยู่เสมอ แต่ก็มีความร่วมมือบางอย่างที่หลายฝ่ายยังไม่เข้าใจจนทุกวันนี้

โดยเฉพาะการรับน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างมีปัญหาที่ปตท.รับได้ไม่หมดก็คือน้ำมันก๊าด ซึ่งยอมรับกันว่าตลาดของปตท.ส่วนนี้เล็กกว่ากำลังกลั่นของบางจากฯ แต่น้ำมันเครื่องบินหรือ JP-1 ที่บางจากฯ ขายให้ปตท. (ปตท.จะขายให้บีพีทางเรือ) นั้นจะส่งให้ถึงแค่หน้าท่า ขณะที่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด จะส่งให้ปตท.ถึงคลังกรุงเทพ ขณะเดียวกันเมื่อบางจากฯ ขายให้รายอื่น ซึ่งได้ประมูลขายให้ไทยอินเตอร์จะส่งให้ถึงที่

เฉพาะอย่างยิ่ง JP-4 ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้กับกองทัพนั้นคาราคาซังมานานตั้งแต่ปี 2531 ปตท.อยากให้บางจากฯ กลั่นให้ 3-4 ล้านลิตรต่อเดือน ซึ่งถ้ากลั่น JP-4 จะทำให้ลดปริมาณน้ำมันก๊าดลงเพราะ JP-4 มาจากการผสมของน้ำมันก๊าดกับเบนซินธรรมดา แต่บางจากฯ บอกว่าไม่เคยกลั่น ถ้าจะกลั่นต้องคิดราคาสูงกว่าที่ไทยออยล์ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ปตท.จะต้องคิดราคาให้ไทยออยล์สูงขึ้น แต่แล้วจนวันนี้ก็ยังตกลงกันไม่ได้

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ปตท.ไม่เชื่อว่าบางจากฯ ไม่คิดทำตลาดเอง

อย่างไรก็ตาม "พูดได้ว่า โสภณไม่ผิดหรอก"

เนื่องจากโสภณทำตามมติอนุกรรมการนโยบายปิโตรเลียมและคณะกรรมการนโยบายพลังงานฯ อย่างเคร่งครัด

หากไม่ทำต่างหากที่จะทำให้โสภณกลายเป็นคนขัดนโยบายสำคัญของรัฐบาล...!

เพราะอนุกรรมการนโยบายฯ มีมติให้บางจากฯ ส่งเสริมให้ผู้ค้ารายย่อยซื้อน้ำมันในประเทศ (จากบางจากฯ) ได้มากขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2532

พอมาวันที่ 5 มิถุนายน ก็ได้มอบหมายให้บางจากฯ เจรจาทำสัญญาขายน้ำมันระยะยาวให้กับผู้ค้าน้ำมันรายย่อย

ปีรุ่งขึ้น วันที่ 8 มกราคม บอร์ดใหญ่พลังงานมีมติให้ถือว่านโยบายเพิ่มการแข่งขันของตลาดน้ำมันในประเทศเป็นนโยบายหลัก และให้ทุกหน่วยราชการสนับสนุน โดยให้บางจากฯ ทำหน้าที่จัดหาน้ำมันให้ (วันที่ 16 เดือนเดียวกัน ครม.มีมติอนุมัติเรื่องนี้)

15 มกราคม 2533 อนุกรรมการนโยบายฯ ให้บางจากฯ เร่งศึกษาการตั้งปั๊มน้ำมันขนาดเล็กเพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาดน้ำมันได้มากขึ้น ฯลฯ

กระทั่งวันที่ 4 มิถุนายน กรนัดประชุมกับอาณัติและโสภณแล้ว ได้ให้บางจากฯ ขายน้ำมันต่อไปตามมติต่าง ๆ ที่ผ่านมา

วันต่อมา กรบอกว่า ตนต้องการให้ปตท.ขยายตลาดค้าปลีกน้ำมันมากที่สุดเพื่อสนองนโยบายลอยตัว แต่ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจติดระเบียบราชการไม่คล่องตัว

"มีอุปสรรคอะไรปรึกษาอนุกรรมการนโยบายได้ แต่ตอนนี้การทำงานมีปัญหา ปีนี้ปีหน้าก็สนองนโยบายลอยตัวไม่ได้"

ต่างฝ่ายต่างยึดมั่น ณ จุดยืนด้วยอัตตวิสัยสุดตัว พยายามเสนอข้อมูลปกป้องตัวเองทั้งระดับองค์กรและบุคคล

มีการแจกใบปลิวและชุมนุมประท้วงที่บางจากฯ อาณัติถูกโจมตีอย่างรุนแรง...!

ตั้งแต่ข้อกล่าวหาที่ว่า "อาณัติมุ่งทำลายชื่อเสียงของบางจากฯ ด้วยการให้ข้อมูลเท็จแก่สื่อมวลชน" "พูดเรื่องโกหกเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนเลว" "สร้างภาพลวงว่าปตท.เป็นบริษัทแม่" "เขาไม่ได้เป็นผู้ตั้งบางจากฯ และไม่อยากให้เราเกิด ผิดหวัง อิจฉา เมื่อเราทำงานสำเร็จ" "เป็นตัวกลางยังไม่พอ ยังให้ฝรั่งมาแย่งกำไรจากเราไป" "ทำลายขวัญของเราต่างๆ เหมือนเราไม่ใช่คน จองเวรไม่สิ้นสุดเพื่อหวังจะ-ขย้ำ-เรา"

ที่ผ่านมา "เราสู้อดทนไม่ตอบโต้ แต่ถูกมองว่าไม่มีแรงต้าน ไร้น้ำยา" "เลยคิดจะทำยังไงกับเราก็ได้" "เขาเคยทำอะไรให้ที่นี่บ้าง" "เรายอมรับไม่ได้กับการบริหารที่แอบอ้าง" "คนที่มีแต่จิตใจประสงค์ร้าย ไม่มีความรับผิดชอบเช่นนายอาณัติ ผู้ที่ทำให้ปตท.ของตัวเองแตกแยก แล้วยังจะทำลายบางจากฯ อีก" "คนอย่างนี้เหมาะกับกรรมการของบางจากฯ หรือ"

"เราต้องให้เขารู้เสียทีว่า คนที่นี่มีเลือดเนื้อ มีจิตใจ และมีความรู้สึก...!!!"

ชาวปตท.เองก็ฮึดฮัดจะโต้ตอบอยู่เหมือนกัน แต่ยังมีสติอยู่บ้างว่า ภาพพจน์ปตท.เมื่อเทียบกับบางจากฯ แล้วอยู่กันคนละขั้ว เป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นตัวแทนของรัฐ ถ้าตอบโต้ไปก็มีแต่เสีย

เมื่อทุกฝ่ายต่างบอกว่ามุ่งประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ฉะนั้นไม่ควรจะเกี่ยงว่าใครจะเป็นคนทำ...!

27 มิถุนายน ปตท.จึงยื่นหนังสือต่อพลเอกอัธยา ประธานบอร์ดปตท.-บางจากฯ ให้แก้ไขความขัดแย้ง

โดยเสนอทางเลือกว่าให้บางจากฯ กลั่นอย่างเดียว ปตท.ขาย หรือโอนบางจากฯ ให้ปตท.หรืออุตสาหกรรมดำเนินการและอีกทางหนึ่งก็คือ "ให้โอนการตลาดของปตท.ไปให้บางจากฯ"

ทางเลือกสุดท้าย ว่าไปแล้วปตท.ต้องตัดใจเสนอทีเดียว...!

"ถ้าบางจากฯ ทำได้ดีและทั่วประเทศ เรายินดีโอนการตลาดไปอยู่ด้วย เราพร้อม" ชาวปตท.หลายคนยืนยันอย่างนั้น

เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าจะขายน้ำมันราคาถูกอย่างสยามนกไม้ทั่วประเทศ...!

ถ้าทำได้ก็แสดงว่าค่าการตลาดของดีเซลที่ลิตรละ 0.48 บาท เบนซินพิเศษลิตรละ 0.62 บาท และเบนซินธรรมดาลิตรละ 0.58 บาท นั้นสูงเกินไป ถ้าสูงไปรัฐบาลควรประกาศลดค่าการตลาดลง เพื่อให้ราคาน้ำมันถูกลงทั่วทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้าหรือไม่อย่างนั้นก็คงเป็นค่าขนส่งที่กำหนดไว้ลิตรละ 0.31 บาท สำหรับกรุงเทพ-ขอนแก่นนั้นสูงกว่าความเป็นจริง ก็ควรกำหนดใหม่

แต่ทำไมอนุกรรมการนโยบายฯ จึงไม่ทำ...?

ขณะเดียวกัน มีข้อสังเกตอีกว่า กรณีอย่างสยามนกไม้จะมีประชาชนเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ซื้อน้ำมันราคาถูกได้ ขณะที่อีกกว่า 95% ยังต้องใช้น้ำมันราคาพาณิชย์กำหนด

ถ้าหากบางจากฯ จะทำให้แพร่หลายในลักษณะเดียวกับสยามนกไม้ด้วยการขยายตลาด ก็ต้องหาลูกค้าเพิ่มขึ้นโดยที่ลูกค้ารายย่อยเหล่านี้ก็ยังพยายามรักษายอดขายไม่เกิน 100,000 ตันต่อปี ซึ่งไม่ต้องสำรองตามกฎหมาย แต่บางจากฯ เองเมื่อถึงจุดหนึ่งบางจากฯ จะต้องลงทุนคลังสำรอง ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นที่จะตามมา และเฉพาะคลังก็ต้องลงเงินอีกหลายพันล้านบาท

จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องมีองค์กรน้ำมันของรัฐลงทุนซ้ำซ้อนกัน...!

การขายตรงของบางจากฯ ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่น่าสนใจ ด้วยการตัดคนกลางเพื่อให้ผู้ค้ารายย่อยได้น้ำมันราคาถูก แต่มีปัญหาอีกว่า การบริหารลดต้นทุนด้วยการให้ผู้ค้ารายย่อยเหล่านี้มารับน้ำมันที่โรงกลั่นเหมือนสยามนกไม้ทุกรายจะทำให้เกิดปัญหาจราจรแน่ เมื่อรถเทรลเลอร์พ่วงกันมารวมศูนย์ที่โรงกลั่น และเป็นเหตุให้ถนนทรุด

จากเหตุนี้เอง ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะลดการขนส่งน้ำมันทางรถเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยจะให้ขนส่งทางท่อแทน

ล่าสุด รัฐบาลเพิ่งจะอนุมัติการวางท่อน้ำมันศรีราชา-สระบุรี...!

พร้อมทั้งให้สร้างเส้นทางระหว่างท่อ เพื่อป้อนน้ำมันแก่ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ บางส่วนและจังหวัดใกล้เคียงกับแนวท่อ เพราะเห็นว่าเหมาะสมทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน และกำชับให้ทำโดยเร่งด่วน

จึงไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเดินนโยบายใดกันแน่ เพราะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นสวนทางกันโดยสิ้นเชิง...!

ขณะเดียวกัน หากต้องการจะผลักดันนโยบายราคาน้ำมันลอยตัว ให้เกิดผู้ค้าย่อยมากขึ้นและปั๊มเล็กเกิดขึ้น ก็น่าที่จะทำทั้งระบบ โดยรัฐบาลตั้งกรรมการขึ้นมาดูว่าจะใช้วิธียังไง ตีกรอบว่าจะครอบคลุมแค่ไหน แล้วดูอีกทีว่าเหมาะหรือไม่

"ควรจะเรียกบริษัทน้ำมันต่าง ๆ มาคุยร่วมกันบอกให้รู้ว่ารัฐบาลมีนโยบายอย่างนี้ ให้แต่ละรายไปดำเนินการ ถ้าเขาไม่ทำ รัฐบาลจะทำเอง โดยให้ปตท.ผนึกกำลังกับบางจากฯ ซึ่งจะได้ผลกว่าทั้งประเทศด้วย" แหล่งข่าวระดับสูงนอกปตท.และบางจากฯ ตั้งข้อสังเกต

แหล่งข่าวคนเดิมและพลายพล คุ้มทรัพย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการซึ่งติดตามเรื่องน้ำมันมานานและเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านพลังงานของแผนพัฒนาฉบับที่ 7 กล่าวด้วยความเห็นอย่างเดียวกันว่า

"ควรทำอย่างนี้ แต่ไม่ทำ แปลกใจว่าทำไมต้องเจาะจงว่าให้บางจากฯ ทำ ทำไมไม่เป็นบริษัทอื่น ขณะที่ปตท.มีความพร้อม มี OUTLET พร้อม ทำไมไม่ให้ปตท.ซึ่งรัฐบอกว่าเป็นเครื่องมือของรัฐ ซึ่งยังไงเขาก็ต้องทำอยู่แล้วและต้องจับมือกับบางจากฯ ให้ได้ รัฐมนตรีกรไม่ควรจะแยกอย่างนี้"

นอกจากนี้ เมื่อปล่อยราคาลอยตัว ถ้ามีการฮั้วกันรัฐบาลจะต้องมีเครื่องมือแทรกแซงได้ ซึ่งก็คงต้องเป็นปตท. เพราะมีอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคลังหรือปั๊มน้ำมัน

ความจริงทั้งปตท.และบางจากฯ ต่างก็เป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกัน เพียงแต่ต่างกันในรูปแบบของการบริหารเท่านั้น แต่ทั้งสององค์กรจะต้อง SERVE รัฐบาล

ปตท.มีจุดอ่อนตรงที่ใช้โครงสร้างรัฐวิสาหกิจ "อันนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของปตท. เขาทำตามนโยบายรัฐ ติดระเบียบราชการต่าง ๆ ทำให้แข่งขันกับเอกชนไม่ได้เต็มที่ แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดสิทธิพิเศษให้ปตท. (เช่นราชการต้องเติมน้ำมันปตท. ฯลฯ) ซึ่งมองว่าเป็นข้อได้เปรียบ แต่ทางกลับกัน ปตท.ต้องแบกหนี้สะสม 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเอกชนเขาไม่มี ทั้งที่การเคลียร์หนี้ไม่ควรจะข้ามองค์กร นโยบายอันนี้ของรัฐไม่ถูกต้องเพราะทำให้แต่ละรัฐวิสาหกิจพัฒนาได้ไม่เต็มที่"

ด้านบางจากฯ แม้จะเป็นบริษัทจำกัดก็ไม่ได้ต่างไปจากปตท.ที่รัฐบาลดูแลเป็นพิเศษ จะเห็นว่าไทยออยล์นอกจากต้องเสียภาษีนิติบุคคลแล้ว ยังต้องส่งผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ 30% ของรายได้สุทธิ ขณะที่เอสโซ่จะจ่าย 2% ของกำไรแก่รัฐ แต่บางจากฯ ไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐเหมือน 2 โรงกลั่นที่มีอยู่และโรงกลั่นใหม่

มิฉะนั้นแล้ว เมื่อโรงกลั่นใหม่เกิด จะมีบางจากฯ รายเดียวที่หลุดวงโคจรของการบริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือไม่อย่างนั้น ถ้าแต่ละโรงกลั่นต่างได้เงื่อนไขและมีผู้ปกครองต่างกัน "แล้วจะเอาอะไรเป็นมาตรฐาน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำแน่"

นโยบายของรัฐที่ใช้บังคับโรงกลั่นควรจะทัดเทียมกัน แต่บางจากฯ ไม่ต้องจ่ายตอบแทนพิเศษเป็นรายได้เข้ารัฐเหมือนอีก 2 โรงกลั่น ถือว่าเป็นสิทธิพิเศษ ทั้งที่ครม.บอกว่าให้ใช้มาตรฐานเดียวกับโรงกลั่นอื่น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางจากฯ ก้าวหน้ามาถึงวันนี้เรียกว่ามีประเด็นที่ไม่ต่างจากปตท. ที่รัฐเอาใจใส่เป็นพิเศษและให้การอุดหนุน

จะเห็นในปี 2529 ปีซึ่งราคาน้ำมันตกลงมามาก ขณะที่ราคาหน้าโรงกลั่นของไทยจะยึดราคาประกาศที่โรงกลั่นสิงคโปร์เป็นหลัก โดยเปลี่ยนแปลงทุก 2 สัปดาห์ แต่เนื่องจากบางจากฯ มีน้ำมันดิบที่นำเข้ามาในราคาสูงราว 14-17 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันสำเร็จรูปลดลงเรื่อยมาอยู่ที่ 9 เหรียญต่อบาร์เรล หากปรับราคาหน้าโรงกลั่นตามปกติ ปีนั้นโรงกลั่นจะขาดทุนมหาศาล

โสภณได้เสนออนุกรรมการนโยบายฯ ให้ตรึงราคาหน้าโรงกลั่นออกไปอยู่ที่ระดับ 17-18 เหรียญ เพื่อกลั่นน้ำมันดิบราคาแพงไปก่อน

เรื่องนี้ก็น่าเห็นใจ หากโสภณไม่เสนอและศุลีประธานอนุกรรมการนโยบายฯ ในตอนนั้นไม่เห็นด้วย บางจากฯ จะต้องขาดทุนประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งจะเสียความรู้สึกของการปรับการบริหารของโรงกลั่น ซึ่งเพิ่งเป็นบริษัทได้เพียงปีเดียว และเครดิตของโสภณคงเสียไปด้วย จึงจำเป็นต้องสร้างภาพที่ดีไว้

"การตรึงราคาครั้งนี้นานเป็นเดือน ทำให้บางจากฯ มีกำไร 451 ล้านบาท และเอสโซ่มีกำไรถึง 2,000 กว่าล้านบาท เพราะตรึงราคานานเกินไป ทั้งที่ปีนั้นเป็นปีที่โรงกลั่นมีผลประกอบการไม่ดีเอามาก ๆ แต่เอสโซ่ได้กำไรมากที่สุด" แหล่งข่าวระดับสูงวงการปิโตรเลียมย้อนอดีตที่ผ่านมากับ "ผู้จัดการ" ตัวเลขเปิดเผยที่รู้กัน เอสโซ่กำไรประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่จริง ๆ แล้วมากกว่านั้น สูงถึงกว่า 2,000 ล้านบาท เนื่องจากเอสโซ่คล่องตัวที่สุดจึงได้เปรียบ

"หากไม่ตรึงราคาจะกำไรแค่ไม่กี่ร้อยล้านบาท แต่ถ้าแสดงภาพออกมาจะไม่ค่อยเหมาะที่กำไรสูงเกินไป จึงมีข่าวว่าเอสโซ่ก็ต้องซื้อน้ำมันแพง เช่น ราคาที่ 9 เหรียญ แต่ให้บริษัทแม่ CODE ที่ 11 เหรียญ เป็นต้น ตอนนั้นกำไรถึง 9-10 เหรียญต่อบาร์เรล ทั้งที่ปกตินำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปกำไรแค่ 50-60 เซ็นต์ต่อบาร์เรลก็มากแล้ว ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศกว่า 1,000 ล้านบาท"

"การตรึงราคาหน้าโรงกลั่นครั้งนั้น ยังส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนที่ต้องลดน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นด้วย" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

เอสโซ่ได้รับการชื่นชมจากบริษัทแม่อย่างมาก พร้อม ๆ กับมีคำพูดจากเอสโซ่ประโยคหนึ่งว่า "ขอบคุณบางจากฯ"

แต่ทุกคนปิดข้อมูลตัวนี้เพราะทั้ง 3 โรงกลั่นได้ประโยชน์ ปตท.ได้ด้วยเพราะถือหุ้นอยู่ในบางจากฯ และไทยออยล์

โสภณบอกว่าปตท.ยังคงต้องมีอยู่ งานของประเทศก็ควรจะช่วยกันทำได้ในเมื่อต่างก็มีจุดหมายเพื่อประเทศเหมือนกัน

การขายของบางจากฯ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน กรณีสยามนกไม้ได้แสดงให้เห็นว่าถ้าบริหารงานมีประสิทธิภาพจะขายราคาถูกได้ ซึ่งแสดงว่าราคาน้ำมันในรัศมี 440 กิโลเมตรจากกรุงเทพจะลดราคาได้ในพื้นที่ถึงกว่าสิบจังหวัด

ดังนั้น บางจากฯ ควรจะขายน้ำมันต่อไป ซึ่งเป็นความคิดที่โสภณเสนอไปยังอนุกรรมการนโยบายฯ ว่าถ้าบางจากฯ ไม่ขายต่อไป จะเกิดปัญหาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น รวมไปถึงการกระจายหุ้นให้เอกชนร่วมทุน

นอกจากนี้ บางจากฯ ไม่ขายก็ไม่ได้ทำให้ปตท.ขายน้ำมันได้มากขึ้น แต่จะทำให้ปตท.ซื้อน้ำมันจากไทยออยล์น้อยลง อันจะส่งผลให้เชลล์และคาลเท็กซ์ซึ่งถือหุ้นในไทยออยล์มีสิทธิรับน้ำมันมากขึ้น ทำให้รายได้จากการขายน้ำมันไปตกแก่ผู้ค้าต่างชาติ

นี่ถือว่าเป็นความจริงอยู่ด้านหนึ่ง แต่เมื่อมองย้อนกลับบางจากฯ เองก็กระทำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้ารายย่อยต่างชาติที่ชื่อบีพี โมบิล หรือกระทั่งรายอื่นๆ ที่จะเข้ามา เช่น คิว 8 เป็นต้น เพียงแต่เป็นการย้ายกลุ่มบริษัทน้ำมันต่างชาติเท่านั้นเอง

น่าแปลกอยู่เหมือนกันว่า เอกสารที่ทางปิยสวัสดิ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานฯ เสนอเตรียมเข้าที่ประชุมอนุกรรมการนโยบายฯ ในวันที่ 2 กรกฎาคม แต่มีอันเลื่อนไปนั้น ได้สรุปข้อเท็จจริงและความเห็นเหมือนที่บางจากฯ เสนอทั้งหมด แต่ไม่มีข้อมูลจากด้านปตท.เลย

ทำไมต้อง TAKE OVER บางจากฯ...?

ทำไมไม่เป็นไทยออยล์...?

ไทยออยล์นั้นมีจุดกำเนิดต่างจากบางจากฯ ปี 2522 ที่ปตท.เริ่มดำเนินการ มีเอกชนเสนอลงทุนกับรัฐบาล ขณะที่ไทยออยล์หรือบริษัท โรงกลั่นน้ำมันไทย จำกัด ในตอนนั้น (ตั้งขึ้นเมื่อปี 2504) ได้หารือรัฐบาลเรื่องสัญญาเช่าโรงกลั่นที่จะหมดลงในปี 2524 ที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์โรงกลั่น-ที่ดินให้รัฐ

แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมศึกษาแล้วเห็นว่าปตท.ควรจะเข้าร่วมหุ้นกับไทยออยล์ในรูปของการเช่าต่อ พร้อมกับให้ขยายกำลังกลั่นได้ ปตท.จึงถือหุ้น 49% โดยกลั่นอย่างเดียว แล้วป้อนให้ผู้ถือหุ้น

ประวัติศาสตร์ของไทยออยล์และบางจากฯ จึงต่างกัน แต่การมองจุดนี้อาจจะเป็นการฝังติดกับอดีตมากเกินไป

หากมองถึงปัจจัยพื้นฐานจริงที่เป็นอยู่ โรงกลั่นไทยออยล์อยู่ที่ศรีราชา โรงกลั่นบางจากฯ อยู่ที่สุขุมวิท 64 มีท่อส่งน้ำมันไปยังคลังพระโขนงของปตท.ที่อยู่ด้านข้างได้โดยตรงอยู่แล้ว ย่อมได้ประโยชน์ทั้งในด้านการลงทุน เศรษฐศาสตร์ และแง่ของประเทศ

ขณะเดียวกัน ถ้าจะให้ปตท.รับน้ำมันจากไทยออยล์ทั้งหมดก็ทำได้ ที่จริงไทยออยล์คงพอใจมากกว่า เพราะจะได้มีผู้ซื้อแน่นอน "ป้องกัน" การบิดเบี้ยวของเชลล์และคาลเท็กซ์เมื่อมีโรงกลั่นของตัวเอง

แต่ขณะนี้มีสัญญาซื้อขายน้ำมันกันว่าเชลล์และคาลเท็กซ์จะรับน้ำมันไทยออยล์ถึงปี 2544 ปีซึ่งหมดสัญญาเช่าโรงกลั่นไทยออยล์จากกระทรวงอุตสาหกรรม ในส่วนที่เป็นโครงการ TOC 1 และ TOC 2 (จากทั้งหมดที่มีอยู่ 4 โครงการ) เหมาะสมหรือจำเป็นแค่ไหนที่อยู่ ๆ จะต้องไปรื้อสัญญา

ด้านแหล่งข่าวจากเชลล์และคาลเท็กซ์ให้ความเห็น "ผู้จัดการ" ว่า แม้ต่อไปจะมีโรงกลั่นของตัวเองแล้ว ยังจะรับน้ำมันจากไทยออยล์ เพราะไม่ต้องการเห็นหุ้นส่วนมาตีท้ายครัว เพราะดีมานด์มากกว่าซัพพลาย จะขายส่งหรือขายปลีกก็ได้ทั้งนั้น เรียกว่ามีตลาดอยู่

ส่วนกรนั้นได้ให้นโยบายเน้นที่จะให้องค์กรของรัฐประสานกันมากขึ้นและครบวงจร แล้วทำไมจึงเห็นว่าให้ปตท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไปจับคู่กับไทยออยล์ที่เป็นเอกชน แล้วให้บางจากฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไปจับคู่กับเอกชนรายอื่น

ถ้าวิเคราะห์กันอย่างตรงไปตรงมา ในแง่การบริหารทุนและองค์กร "โรงกลั่นจะเป็น ASSET ที่สำคัญที่สุดในฐานะที่ทำธุรกิจน้ำมัน ถ้าแม้ปตท.ได้เร่งประสิทธิภาพขึ้นแล้วก็ตาม ณ วันที่รัฐบาลบอกให้ราคาน้ำมันลอยตัว ขณะที่บางจากฯ ก็ยังขายให้รายย่อยอย่างนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่บริษัทรายอื่นมีโรงกลั่นหมด ที่ไม่มีโรงกลั่นก็เป็นบริษัทต่างชาติที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก มีบริษัทแม่ที่จะคอย SUPPORT แต่ปตท.ไม่มี และยังต้องแบกภาระการลงทุนที่ทำไปแล้ว ปตท.มีแต่ตายลูกเดียว"

"เราอาจจะบอกว่ามีบริษัทรายย่อยเกิดขึ้นมากมาย คิดหรือว่าจะคานกระแสการแข่งขันของบริษัทใหญ่ที่เขาได้เปรียบทุกด้าน ขณะที่บางจากฯ ขายให้ผู้ค้าบริษัทน้ำมันต่างชาติ แล้วจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ทันหรือไม่" แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการน้ำมันอีกรายหนึ่งวิเคราะห์

ส่วนข้อเสนอที่ให้บางจากฯ ทำตลาดทั้งหมด "เขาคงไม่เอาหรอก โสภณเองก็บอกว่า กรณีสยามนกไม้นั้นทำให้เป็นโครงการตัวอย่างเท่านั้น แต่จะมีหลายรายมากขึ้น เพราะโสภณเองก็ไม่แน่ใจว่าถ้าทำทั้งระบบนั้นจะเป็นไปได้ ถ้าบอกว่าได้แล้วเผอิญทำไม่ได้ก็เสียชื่อ แต่การพูดว่าเป็นแค่หนังตัวอย่างเหมือนที่ทางกระทรวงพาณิชย์เคยออก "สินไทย" หากเผอิญโครงการเหล่านี้สำเร็จและแพร่หลายออกไป เรียกว่าได้เครดิตไปว่าเป็นผู้ริเริ่ม และเป็นการเปรียบเทียบผลงานได้เด่นชัดระหว่างปตท.กับบางจากฯ ด้วย

แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ยังพูดได้ว่า นี่เป็นแค่โครงการทดลอง

อีกด้านหนึ่ง ลูกค้ารายอื่นของบางจากฯ ยังน้อยกว่ากำลังกลั่นที่มีอยู่ หากปตท.หยุดรับตอนนี้ บางจากฯ กระเทือนแน่ การที่ค่อย ๆ เพิ่มลูกค้าย่อมจะเป็นภาพที่ดีกว่า แหล่งข่าวคนเดิมวิเคราะห์

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำให้เชื่อกันว่าโสภณพยายามทำทุกอย่างที่จะลดการพึ่งพาจากปตท. ซึ่งจะปกป้องประโยชน์ขององค์กรได้มาก แหล่งข่าวระดับสูงที่รู้จักโสภณดีวิเคราะห์ "ดูเจตนาแล้วจะเป็นอย่างนั้น เรียกว่าเป็นนโยบายที่แฝงเร้นอยู่"

"โสภณโดยนิสัยส่วนตัวแล้วเป็นคนสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน มือสะอาด เอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ แต่มีจุดอ่อนที่เชื่อมั่นตัวเองจนเกินไป ถ้าเป็นนักวิ่งเมื่อเจอกำแพงก็เรียกว่าวิ่งฝ่ากำแพงเพื่อให้ถึงจุดหมายแต่ CONVINCE คนเก่ง"

ท่าทีที่บางจากฯ ปฏิบัติต่อปตท.นั้น เสมือนหนึ่งว่าปตท.เป็นบริษัทเอกชน มิใช่ในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐด้วยกัน ซึ่งไม่ควรเป็นอย่างนั้น

ประการสำคัญน้ำมันเป็นสินค้ายุทธปัจจัย มีได้มีเสีย ถ้าทำแล้วเกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ก็ไม่ควรทำ

"การบริหารจะต้องมีหลักที่ดี ไม่ใช่เอาแต่ประโยชน์เท่านั้น แต่จะต้องดูแล PARTNER เพราะอยู่ร่วมกันและบริหารกันไปในระยะยาว ไม่ใช่ SERVE INTEREST คือต้องมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ ไม่มีใครเขาทำกันอย่างนี้ และนี่ถ้าปตท.เป็นอย่างเชลล์ เอสโซ่อะไรอย่างนี้ ในฐานะหุ้นส่วน เขาไม่ปล่อยให้โสภณทำแบบนี้หรอก" แหล่งข่าวอีกคนหนึ่งวิจารณ์และถึงกับกล่าวว่า "อย่างนี้ถือว่าเป็นนักฉวยโอกาสอย่างมาก"

ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าคนกุมนโยบายเป็นกลาง จริงจังและพยายามแก้ปัญหา...!

หน่วยงานที่รับผิดชอบคือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานฯ ที่ปิยสวัสดิ์รับผิดชอบอยู่นั่นเอง ซึ่งมีความคิดถอดแบบมาจากโสภณ

ต้องยอมรับว่าโสภณก็คือพี่เลี้ยงของปิยสวัสดิ์ในยุคนายกเปรม ตอนนั้นโสภณมีความสัมพันธ์ที่ดีมากับผู้ใหญ่ตลอด เข้ากันได้ดีมาก ที่สำคัญพลเอกเปรมไว้วางใจโสภณมาก เพราะมั่นใจว่าเป็นคนสะอาด ขณะที่ปตท.ช่วงนั้นมีข่าวไม่ชอบมาพากลของผู้ใหญ่อยู่เสมอ ประกอบกับโสภณมีฝีมือ ข้อเสนอทุกอย่างจึงผ่านตลอด แผน 6 ที่ใช้อยู่และกำหนดให้ราคาน้ำมันลอยตัวให้ได้ก็โสภณเป็นหัวเรือใหญ่โดยผลักดันผ่านสภาพัฒน์ เฉพาะอย่างยิ่งปิยสวัสดิ์และพิสิฎฐ ภัคเกษม ซึ่งตอนนั้นยังเป็นรองเลขาธิการอยู่

"ปิยสวัสดิ์เองมีโอกาสก้าวหน้าอยู่ในตำแหน่งนี้เพราะด้วยแรงสนับสนุนจากโสภณ จึงเป็นธรรมดาที่เขาจะมีความรู้สึกเป็นบุญคุณ" แหล่งข่าวจากสภาพัฒน์กล่าว

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ปิยสวัสดิ์กลายเป็นภาพจำลองความคิดของโสภณเรื่อยมา แม้กระทั่งความรู้สึกฝังแน่นว่าโรงกลั่นช่วงที่อยู่กับปตท. (และการพลังงานทหาร) นั้นขาดทุนอย่างหนัก ถ้าให้บางจากฯ กลั่นอย่างเดียวหรือโอนการบริหาร บางจากฯ จะต้องขาดทุนอย่างนั้นอีกแน่ ทั้ง ๆ ที่ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว

เมื่อคิดอะไรก็เหมือนคิดตามกัน

แท้จริงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานฯ เป็นหน่วยงานกลางที่จะศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลก่อนที่จะกำหนดเป็นนโยบายออกมา คนที่ทำงานตรงนี้จะต้องเป็นกลางด้วยการเก็บข้อมูลทุกด้าน แล้วยึดหลักประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญก่อนที่จะตัดสินออกมา

ปิยสวัสดิ์พลาดในบทบาทสำคัญตรงนี้อย่างมาก...!

ขณะที่กรเองพยายามเร่งเรื่องราคาน้ำมันลอยตัว และอาจจะด้วยภาระที่รับงานหลายอย่างจนเกินไป จึงไม่มีเวลาดูอะไรให้ชัดเจน เมื่อเห็นข้อเสนอที่สวยหรู อยากทำก็ทำ โดยไม่ผ่านขั้นตอนของการศึกษาวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนเสียก่อนว่าเกิดผลดีผลเสียอย่างไรในอนาคต

กรต้องมองประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะต้องอาศัยข้อมูลรอบตัวจากองค์กรต่าง ๆ ต้องจริงจังเพราะนายกชาติชายมอบหมายให้ดูแล "แต่กรก็ตกเป็นทาสของคนรอบตัว ซึ่งแต่ละคนต่าง SERVE INTEREST และเนื่องจากความสับสนกลในของการบริหารแต่ละแห่งทำให้ได้ข้อมูลผิดพลาด เพราะป้อนให้แค่ 80-90% อีกส่วนหนึ่งปิดไว้ อีกประการหนึ่ง ทันทีที่รัฐบาลบอกให้ราคาลอยตัว จะแน่ใจได้อย่างไรว่าราคาจะถูกลงหรืออย่างน้อยก็เท่าเดิม ตรงนี้รัฐบาลมีมาตรการที่จะควบคุมได้หรือไม่" แหล่งข่าวระดับสูงคนหนึ่งวิจารณ์

"อาจเป็นเพราะกรไม่มีมือที่เป็นคนของตัวเองเพื่อเก็บข้อมูลให้อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา หรือถ้ามี นั่นก็แสดงว่ากรไม่มีความสามารถในการบริหาร ทั้งที่กรเป็นประธานอนุกรรมการนโยบายฯ มีหน้าที่นี้โดยตรง และไม่ควรละเลย ตอนนี้เป็น OUT OF CIRCLE ซึ่งกว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้"

ภาพนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งในพรรคชาติไทยเท่านั้น แต่ยังบ่งชี้ว่า ธุรกิจเดียวกันแต่อยู่คนละสายบังคับบัญชานั้น จะเกิดความลักลั่นในการควบคุม เหมือนที่กรพูดถึงปตท.ว่า "ปตท.จะต้องปรับโครงสร้างตัวเองโดยเร็ว เมื่อรู้ว่าขาดความคล่องตัว แต่จะทำยังไง" ตนไม่ได้มีหน้าที่ดูแลโดยตรง

"กรเป็นประธานอนุฯ ควรจะเจรจาหารือกับผู้ใหญ่เพื่อหาข้อสรุปที่ดี ไม่ใช่ตนพูดไปทาง รัฐมนตรีพูดไปทาง"

ถ้าจะแก้ปัญหานี้ กรต้องทำบทบาทในตำแหน่งให้ชัดก่อน...!

ลงมาในระดับองค์กร "พลเอกอัธยา ประธานบอร์ดของ 2 องค์กร ก็ไม่ได้พยายามทำหน้าที่ให้ชัด ประธานคนเดียวกันที่จริงน่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ทำไมไม่พยายามทำ หลายคนไม่เข้าใจท่าทีที่ออกมา กระทั่งถูกวิพากษ์ว่า เข้าข้างบางจากฯ"

แล้วพลเอกอัธยาก็ลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดบางจากฯ ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ก็ถือว่าพ้นปัญหาไป จึงมีการเสนอให้คลังแต่งตั้งองคมนตรี น.ธ.กำธน สินธวานนท์ ซึ่งเป็นกรรมการอยู่แล้วขึ้นมาเป็นประธาน และให้นายทหารจากกระทรวงกลาโหมมาเป็นกรรมการ ซึ่งจะต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นใน 7 วัน

ภาพแต่ละภาพล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาจากความขัดแย้งปตท.-บางจากฯ ที่ไม่พยายามประสานความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว จนวันนี้ดูเหมือนกับต้องต่างคนต่างเดินเสียแล้ว

แต่เพื่อประโยชน์ของประเทศ จำเป็นที่ปตท.และบางจากฯ จักต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่พลายพล คุ้มทรัพย์ ยืนยันว่า โดยหลักบริหารง่าย ๆ การตลาดและการกลั่นจะต้องอยู่ด้วยกัน ดังที่บริษัทน้ำมันทั่วโลกที่เขาปฏิบัติกันและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้วางแผนตลาดธุรกิจได้ดีกว่า และจะเป็นประโยชน์สูงสุด

บางจากฯ ไม่ควรขายให้ผู้บริโภค สุดท้ายธุรกิจน้ำมันไทยจะไปได้ดี ไม่ใช่ตลาดดีอย่างเดียว กลั่นต้องดีด้วย ต้องหนุนและสอดคล้องกัน ถ้าให้ปตท.รับจากไทยออยล์ทั้งหมด อาจเกิด CONFLICT OF INTEREST ที่จริงบริษัทเอกชนอื่นเขาก็เสริมกันให้หมด เรื่องนี้กรรมการต้องดูระหว่างกระทรวงก็ไม่น่าจะมีปัญหา แม้ปตท.สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม แต่สังเกตดูปตท.มีบอร์ดของตัวเอง นโยบายหลายอย่างมาจากที่ต่างๆ "แต่หลักใหญ่จะมาจากบอร์ดใหญ่ซึ่งนายกเป็นประธาน คลังไม่น่าจะขัดข้องที่จะโอนหุ้นให้กระทรวงอุตสาหกรรม แง่ปฏิบัติควรมีสายบังคับบัญชาจากคนเดียวกัน และให้เป็นหน่วยเดียวที่มีเครือข่ายได้ทั่วในแง่ที่เป็นองค์กรหรือบริษัทของรัฐ เมื่อเกิดวิกฤติต้องมีทางแก้" พลายพลกล่าว

"ไม่ควรเอาปัญหาความขัดแย้งในประวัติศาสตร์หรือเรื่องบุคคลมาเป็นสาเหตุขัดแย้ง และเมื่อหลักการถูกต้อง ถ้าคนไม่เอื้อก็ต้องเปลี่ยน" พลายพลวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา "มิฉะนั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้"

"ตอนนี้เราพูดกันในหลักการที่ไม่ถูกต้อง ปตท.และบางจากฯ ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน เจ้าของเดียวกันทะเลาะกันได้ยังไง" ซึ่งเป็นความหวังที่ผู้คนเฝ้ามองว่าเมื่อไหร่ปตท.-บางจากฯ จะผนึกกำลังกันพัฒนาธุรกิจน้ำมันเพื่อประชาชนคนไทยอย่างแท้จริงเสียที

นั่นหมายความว่า ปตท.และบางจากฯ ควรจะหันเข้ามาอยู่ในหน่วยเดียวกัน ภายใต้โครงสร้างที่คล่องตัวทัดเทียมเอกชน รายได้ทั้งกลั่นทั้งขายก็เข้าองค์กรเดียวกัน ต้นทุนจะต่ำลง แข่งขันได้มากขึ้น ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องแสดงผลงานหรือแย่งกำไรและจะได้ประโยชน์สูงสุด กรณีเอสโซ่คงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

อาทิ บางช่วงอาจจะนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปให้มากหากเห็นว่าราคาถูกและจะกำไรมากกว่าการใช้กำลังกลั่นสูงสุด เรียกว่ายืดหยุ่นในแต่ละสถานการณ์ได้มากกว่า

ที่สำคัญ ปตท.เองจะต้องปรับตัวและพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารให้คล่องตัวยิ่งขึ้นในรูปโครงสร้างเอกชน เช่นการตลาดซึ่งปตท.มีแผนจะแยกออกมาในรูปของบริษัทอยู่แล้วก็ควรรวมเรื่องกลั่นไปด้วย หรือด้านโรงแยกก๊าซ เป็นต้น มิฉะนั้นประสิทธิภาพของปตท.ก็จะแคระแกร็นและตายไปในที่สุด

ปตท.จึงต้องปฏิวัติตัวเองอย่างเร่งด่วน...!

ชาวปตท.เองไม่ควรติดอยู่กับความยิ่งใหญ่ในอดีต...!

ภาพลักษณ์ของปตท.ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะต้องเป็นเหมือนบริษัทน้ำมันที่ทรงประสิทธิภาพ...!

กรในฐานะประธานอนุกรรมการนโยบายฯ ควรต้องช่วยเร่งรัด ผลักดัน และสนับสนุนเช่นเดียวกับที่ ร.ท.ศุลีได้เป็นแม่แรงในการปรับโครงสร้างโรงกลั่นบางจากในช่วงที่ผ่านมา

แต่อีกนั่นแหละ สำหรับเมืองไทยยังติดยึดตัวบุคคลกันสูง

ถ้าควบการตลาดของปตท.และการกลั่นของบางจากฯ เข้าด้วยกัน เท่ากับว่าโรงกลั่นเป็นเพียงงานส่วนหนึ่งของปตท.และโสภณก็เป็นแค่ผู้จัดการส่วนโรงกลั่นเท่านั้น ขณะที่เวลานี้โสภณมีอิสระและเป็นเอกเทศได้เต็มที่ คงเป็นไปได้ยากที่โสภณจะไปอยู่ตรงนั้น แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการน้ำมันวิเคราะห์

นับเป็นเรื่องที่เข้าใจได้และน่าเห็นใจ โสภณซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาเพียง 43 ฤดู แต่ก็ทำงานวางแผนนโยบายพลังงานของประเทศ ทุ่มเทชีวิตให้กับการพัฒนาโรงกลั่นไทยจนโตมาขนาดนี้ แล้ววันดีคืนดีกลับถูกโอนอำนาจคืน แม้ว่าจะรู้และโสภณจะบอกว่า "ผมเป็นแค่ลูกจ้างของรัฐบาล" ก็ตาม แต่ย่อมจะมีความผูกพันและหวงแหนมากเป็นธรรมดา

โสภณประสบความสำเร็จมาเสมอ อยู่ที่เอสโซ่ก็ได้รับทาบทามมาอยู่ปตท. เป็นรองผู้ว่าที่โดดเด่นมาก ผู้ใหญ่ให้ความเอ็นดูมาตลอด

ถ้าโสภณไม่อยู่ที่นี่ แล้วจะให้ไปอยู่ที่ไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด เพราะขึ้นหลังเสือแล้วบางครั้งก็ลงยาก นั่นคือสิ่งที่ผู้คนวงการน้ำมันวิเคราะห์

แม้โสภณจะพูดกับ "ผู้จัดการ" อยู่เสมอว่า "ชีวิตผมเหมาะกับต่างจังหวัดมากกว่า และหวังว่าวันหนึ่งความฝันนี้จะเป็นจริง"

แต่ภาพที่ออกมาคงยากที่จะให้ทุกคนเชื่อเช่นนั้น เพราะโสภณก็ยังคือปุถุชน และวันนี้โสภณเดินทางมาไกลกว่าฝันจากวัยเด็กไปมากแล้ว

มันคงเป็นไปได้ยากกระมัง...!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.