แม้ว่า "เตชะไพบูลย์"จะเป็นตระกูลเก่าแก่ที่มีเครือข่ายธุรกิจใหญ่โตระดับแสนล้าน
มีผู้นำของตระกูลที่มีภาพภายนอกเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งใน "เชิงการค้า"
การเป็น "ผู้นำชุมชนจีน" และเป็น "นักบุญ" ที่ช่วยเหลือสาธารณกุศล
แต่ในตระกูลซึ่งเขาเป็น "ตั้วเฮีย" นั้นกลับมีปัญหาหนักหน่วงยิ่งชนิดที่บางคนถึงกับประกาศไม่เผาผีกัน!
ฟางเส้นสุดท้ายมันเกิดขึ้นที่ธนาคารศรีนคร แหล่ง "ปั๊มเงิน" ที่เคยทำหน้าที่ของมันอย่างไม่หยุดหย่อน
ทว่าบัดนี้เครื่องกำลังชำรุดอย่างหนักเสียแล้ว วันนี้ "ฝูงนกหงัน"
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักใคร่สามัคคีของตระกูลได้ "แตกกระเจิง"
บินไปแบบ "ทางใครทางมัน" ชนิดที่ยากจะมาบรรจบ!!?
"ลูกเอ๋ย พ่อจะจากพวกเจ้าไปแล้ว เจ้าคือบุตรหัวปี ภาระครอบครัวจะตกบนบ่าทั้งสองของเจ้า
น้องๆ อายุยังเยาว์ ต้องอาศัยเจ้าอุ้มชู สมบัติครอบครัวเรา พวกเจ้าพี่น้องแบ่งสรรกันเสียจะทำให้งอกงามค่อนข้างลำบาก
ถ้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน อนาคตอาจจะเจริญก้าวหน้าไปได้ ฉะนั้นทางที่ดีเจ้าจงเป็นหัวแม่เรือนของธุรกิจอย่าได้แบ่งสมบัติ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้าจะดำเนินการได้ดี จงอย่าทำให้พ่อผิดหวัง"
นั่นคือปัจฉิมวาจาของ "แต้จือปิง" ต้นตระกูล "เตชะไพบูลย์"
ที่สั่งเสียให้พี่น้องพร้อมใจกันอานุภาพจึงจะเกิด ภาระหนักจึงไปตกอยู่ที่
"แต้โหงวเล้า" หรืออุเทน เตชะไพบูลย์ บุตรชายคนโตซึ่งเมื่อได้เปิดพินัยกรรมของ
"ท่านพ่อ" แล้วถึงกับตกใจที่ท่านพ่อยกมรดกทั้งหมดให้เขาแต่เพียงผู้เดียว!!!
"…แต่ไหนแต่ไรมาข้าพเจ้าไม่อยากพูดเรื่องนี้ ทั้งนี้เพราะกลัวน้องๆ
จะเข้าใจผิดคิดว่าข้าพเจ้าทวงบุญคุณ ข้าพเจ้ามักกล่าวกับน้องๆ ว่านี้คือหน้าที่ของข้าพเจ้าผู้เป็นพี่ใหญ่
ไม่ว่าพินัยกรรมจะเขียนอย่างไร ข้าพเจ้าจักต้องรับหน้าที่นี้อย่างเด็ดขาด
น้องๆ บางคนก็เข้าใจดีก่อนอ่านพินัยกรรม ข้าพเจ้าหารู้ความคิดอันประหลาดของท่านพ่อไม่
ครั้นเปิดอ่านแล้วข้าพเจ้าตกใจมาก ให้รู้สึกว่าหน้าที่นี้ช่างหนักหน่วงเสียนี่กระไร
เชื่อว่าท่านพ่อคงจะคิดว่า เมื่อมอบอำนาจให้ข้าพเจ้าแล้ว ทุกอย่างของครอบครัวจะผ่านไปอย่างราบรื่น
กิจการค้าสามารถพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปได้"
(คำพูดทั้งหมดนี้คือข้อความบางตอนของหนังสือชีวประวัติของอุเทน เตชะไพบูลย์
ซึ่งเขียนเป็นภาษาจีนโดยเฉินถงหมิง และยังไม่เคยพิมพ์เผยแผ่เป็นภาษาไทย)
ก็ต้องนับว่าเป็นความชาญฉลาดของแต้จือปิงที่ตัดสินใจเช่นนั้นเพราะอุเทนนั้นได้แสดงออกถึง
"อัจฉริยภาพ" ทั้งในเชิงการค้าและการสังคมอย่างชัดแจ้ง ก็พอจะพูดได้ว่าเขาเป็น
"อภิชาตบุตร" โดยแท้
"เตชะไพบูลย์" เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ แต้จือปิงมีภรรยา 3 คน อุเทนเป็น
"ตั้วเฮีย" ที่เกิดจาก "แม่เมืองจีน" เมื่อรวมทั้ง 3
แม่แล้วเขามีน้องชาย 7 คน และน้องสาว 4 คน ขณะที่แต้จือปิงเสียชีวิตนั้นอุเทนเพิ่งอายุย่างเข้าปีที่
23 เท่านั้น เขาได้ส่งเสียน้องๆ ทุกคนให้ได้ร่ำเรียนสูงๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้มีโอกาสไปเรียนต่างประเทศกันทั้งนั้น
(โปรดอ่านล้อมกรอบ น้องๆ อุเทน: ใครเป็นใคร)
ขณะเดียวกันตัวอุเทนเองก็มีครอบครัวที่ใหญ่ไม่น้อย เพราะความที่มีภรรยาหลายคน
ซึ่งเท่าที่เปิดเผยเป็นที่รับรู้กันทั่วไปนั้นมีอยู่ 3 คน และแต่ละคนก็มีลูกๆ
ซึ่งภรรยาคนที่มีลูกเป็นผู้ชายมากที่สุดและมีบทบาทในธุรกิจมากที่สุดก็คือจำเรียง
(โปรดอ่านล้อมกรอบ อุเทน เตชะไพบูลย์: ขุนแผนจาก "เตี้ยเอี้ย")
ในเวลาต่อมาน้องชายน้องสาวของอุเทนก็มีลูกหลานอีกมากมาย นั่นทำให้มีคนนามสกุล
"เตชะไพบูลย์" อยู่มากมายจนบางครั้งต้องถามว่า "เตชะไพบูลย์สายไหน"
เรื่องราวความยุ่งเหยิงส่วนหนึ่งก็มาจากความเป็น "ครอบครัวใหญ่"
ด้วย
อุเทนนั้นสามารถสร้างธุรกิจและประคับประคองความสัมพันธ์ในตระกูลมาได้ตลอด
จนกระทั่งเกือบทศวรรษที่ผ่านมาที่แก้วค่อยๆ ร้าวทีละน้อยจนกระทั่ง "แตกสลาย"
ไม่เหลือชิ้นดี พร้อมๆ กับวิกฤติการณ์ทางธุรกิจที่โหมกระหน่ำมาระลอกแล้วระลอกเล่า
ว่ากันว่าอุเทนต้องใช้วิทยายุทธ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตของเขาเพื่อคลี่คลายวิกฤติในแต่ละช่วงแต่ละตอน
และนั่นส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างแยกไม่ออก
และนี่คือที่มาของปัญหา!!!
"เออ…โง่มานานแล้ว จะได้ฉลาดเสียที" คำพูดของพี่น้องเตชะไพบูลย์คนหนึ่งที่มีต่อไชยทัศน์
เตชะไพบูลย์ หรือ "โป้ยเสี่ย" ในวันที่เขายื่นใบลาออกจากธนาคารศรีนครทุกตำแหน่ง
มันเป็นคำพูดที่บอกอะไรมากทีเดียว!!!
แน่นอนมันไม่ใช่ครั้งแรก และอาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2530 อุธรณ์ เตชะไพบูลย์ หรือ "หลักเสี่ย"
จำต้องยื่นใบลาออกท่ามกลาง "ความอัปยศ" ภายหลังจากการประกาศโครงสร้างใหม่ซึ่งเป็นการริดรอนอำนาจของกรรมการผู้จัดการใหญ่เกือบจะสิ้นเชิง!!!
"กรณีนั้น คุณอุธรณ์โดนบีบแน่นอน ตอนนั้นเป็นผู้จัดการใหญ่ก็คุมธนาคารทั้งหมดแต่อยู่ๆ
ก็แบ่งสายกรรมการบริหารลงมาคุม (โปรดดูโครงสร้างใหม่ของธนาคารศรีนครที่ออกเมื่อวันที่
16 มีนาคม 2530) ตกลงกรรมการผู้จัดการใหญ่เหลือคุมคนเพียง 30 กว่าคนในสำนักกรรมการผู้จัดการและฝ่ายการเงิน
แบบนี้มันเป็นการหักกันซึ่งๆ หน้า ทำให้หน้าแตกไม่เหลือชิ้นดี เพราะไม่มีระบบธนาคารไหนเขาทำกันอย่างนี้
มันเป็นเรื่องไม่แฟร์" คนในตระกูลเตชะไพบูลย์และแหล่งข่าวทั้งหลายในศรีนครให้ข้อมูลที่ตรงกัน
การนำเอา "คนจากแบงก์ชาติ" และ "ผู้บริหารมืออาชีพ"
เข้ามาในช่วงต้นปี 2529 อย่างสมพงษ์ ธนะโสภณ อดีตรองผู้ว่าการธนาคารชาติ
สุวัตถิ์ รัชไชยบุญ อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารชาติ ดุษฎี สวัสดิ์-ชูโต อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
นับเป็น "กลเม็ด" อันล้ำลึกเป็นการ "ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว"
โดยแท้
หนึ่ง - เป็นการเปลี่ยนภาพพจน์ว่าต่อแต่นี้ไปธนาคารนี้จะไม่ใช่ "ธนาคารครอบครัว"
ที่ล้าหลังอีกต่อไป เป็นธนาคารของมหาชนที่มี "มืออาชีพ" เข้ามาบริหาร
สอง - เป็นกันชนสำหรับธนาคารชาติที่กำลังจ้องมาที่ธนาคารศรีนครในฐานะที่เป็นธนาคารที่มีผลประกอบการตกต่ำ
มีปัญหาการปล่อยสินเชื่อที่มีปัญหาจำนวนมาก โดยเฉพาะสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ธุรกิจในเครือ
สาม - เป็นการ "กำจัด" น้องคนที่หกและ "กั๊ก" น้องคนที่แปดไม่ให้ขยายฐานไปมากกว่านี้และถือโอกาสสถาปนา
"ลูกชายคนโต" ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ในที่สุดน้องคนที่หกคืออุธรณ์ก็ต้องเก็บข้าวของออกจากธนาคารแล้วไม่ได้หวลกลับมาอีก
ขณะที่น้องคนที่แปดคือ ไชยทัศน์ ต้องเจอศึกหนักเพราะ "ข้อมูล"
ที่ผู้มาใหม่ได้รับคือ "ธนาคารนี้มันเละเพราะไชยทัศน์ ช่วยจัดการหน่อย"
ทั้งสองฝ่ายก็ตะลุมบอนกันอย่างหนักแต่ในที่สุดก็ต้อง "กระเจิงไปทั้งคู่"
ธันวาคม 2533 ดุษฎี สวัสดิ์-ชูโต และ สุวัฒถิ์ รัชไชยบุญ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการตามลำดับ
และในเดือนเดียวกัน สมพงษ์ ธนะโสภณ ก็ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร
มีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้ทำอะไร
ทั้งหมดนี้ลาออกด้วยเหตุผลลึกๆ ก็คือ เพราะถูกดึงงานไปหมดไม่มีบทบาทอะไรอีกต่อไป
และก็คงเป็นเพราะเพิ่งรู้ซึ้งว่าพวกเขาเป็นเพียง "หมากตัวหนึ่ง"
ที่ถูกผูกเอาไว้ "รุกฆาต" อีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
เพราะเอาเข้าจริงแล้วแทนที่ทิศทางของธนาคารจะไปสู่การเป็น "มืออาชีพ"
มากขึ้นอย่างที่อุเทนประกาศไว้ มันกลับกลายเป็นว่าถอยกลับเข้าสู่ "ระบบครอบครัว"
ยิ่งขึ้น เพียงแต่เปลี่ยนจาก "น้อง" มาเป็น "ลูก" เท่านั้นเอง
!!!
อันที่จริง จุดร้าวจุดแรกที่ลือลั่นของเตชะไพบูลย์ คือความขัดแย้งระหว่างอุเทน
เตชะไพบูลย์ กับสุเมธ เตชะไพบูลย์ ในเรื่องเหล้าแม่โขง
ในขณะที่สงครามเหล้ากำลังเข้าขั้นไคลแม็กซ์ ที่ฝ่ายแม่โขงกำลังได้เปรียบฝ่ายสุราทิพย์อย่างมากๆ
อุเทนกลับหันมาเจรจากับกลุ่มสุราทิพย์ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังในยุคของสมหมาย
ฮุนตระกูล เป็นเจ้ากระทรวง ซึ่งเป็นสิ่งที่สุเมธ ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมเด็ดขาด!!!
"คุณสุเมธจะไปยอมได้อย่างไร? เพราะตัวแกคิดว่าแม่โขงไม่ได้ทำอะไรผิด
เงินค่าสิทธิ ค่าภาษีก็ไม่เคยค้าง ประมูลมาได้ภายใต้เงื่อนไขไปอย่างไรก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขเช่นนั้น"
คนสนิทของคุณสุเมธกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
แต่เนื่องจากคู่ต่อสู้นั้นมาเหนือชั้นมาก พวกเขารู้ว่าคนจีนนั้นเวลาจะทำอะไรต้องประชุมตระกูลกัน
แล้วพี่ใหญ่จะเป็นคนสั่งการ คำสั่งการของพี่ใหญ่นั้นก็เปรียบเสมือนคำสั่งของเตี่ย
จะบีบให้สุเมธยอมมีทางเดียวคือต้องเดินหมากชนพี่ใหญ่เสียก่อน!!!
และแล้วยุทธการเดินชนอุเทน เตชะไพบูลย์ ก็เริ่มต้นตรงจุดที่เปราะบางที่สุด
ตระกูลเตชะไพบูลย์นั้นได้แบ่งสายกันทำธุรกิจการค้าไปคนละแบบ พี่น้องบางคนก็หันเข้าไปจับกิจการธนาคาร
บางคนก็ไปจับทางด้านที่ดิน-โรงแรม บางคนเช่น สุเมธ เตชะไพบูลย์ ก็เข้าไปลงทุนในธุรกิจสุรา
เผอิญตรงข้ามกับธนาคารศรีนครนั้นมีธนาคารชื่อมหานครอยู่และธนาคารมหานครก็มีผู้บริหารระดับเจ้าของที่ชื่อ
คำรณ เตชะไพบูลย์ ซึ่งเป็นน้องคนที่สี่ของอุเทน เตชะไพบูลย์
ถึงแม้ว่าจะเป็นเตชะไพบูลย์ด้วยกันแต่คำรณกับตระกูลเตชะไพบูลย์นั้นดูเหมือนจะเพียงแค่ใช้นามสกุลร่วมกันเท่านั้น
สายสัมพันธ์ได้ขาดลงไปนานแล้วนับตั้งแต่วันที่คำรณเข้าไปเป็นเจ้าของที่แท้จริงของธนาคารแต่ผู้เดียว
ซึ่งผิดกับวัตถุประสงค์ของตระกูลเตชะไพบูลย์
สำหรับอุเทนแล้วการกระทำของคำรณนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎของตระกูล เขาจึงถือว่าคำรณเป็นคนนอกที่จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวด้วย
ครั้งหนึ่ง เมื่อคำรณเอาวิรุฬไปเป็นกรรมการของธนาคารมหานคร พออุเทนรู้เข้าก็สั่งให้วิรุฬถอนตัวออกมาทันที
คำรณเองก็ใช่ย่อย เมื่อโครงการวังเพชรบูรณ์กำลังจะเริ่มนั้นคำรณก็ประกาศออกมาว่า
ธนาคารมหานครมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่เข้าทำวังเพชรบูรณ์เลย
ยิ่งไปกว่านั้นช่วงที่แม่โขงกำลังมีปัญหากับหงส์ทองนั้น ธนาคารมหานครกลับเข้าสนับสนุนเหล้าหงส์ทอง!!!
ขณะนั้นเมื่ออุเทนรู้เรื่องเข้าก็แทบกระอักทีเดียว
ในปี 2528-2529 คำรณ เตชะไพบูลย์ กับธนาคารมหานครกำลังมีปัญหาซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ
ประการสำคัญก็คือการที่ลูกน้องคำรณคนหนึ่งไปเล่นเงินตราต่างประเทศจนกลับตัวไม่ทัน
แต่คำรณก็พยายามแก้ไขโดยเชิญปกรณ์ มาลากุล อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารชาติซึ่งเป็นเพื่อนรักของตัวเองเข้าไปเพื่อแก้สถานการณ์
พยายามปรับและแก้ปัญหาให้น้อยลง แต่ดูเหมือนจะทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะความเสียหายมันมากเกินไปเสียแล้ว
อย่างไรก็ตามทัศนะอีกกระแสหนึ่งนั้นเชื่อว่าปัญหาของธนาคารมหานครแม้จะหนัก
แต่เมื่อเทียบกับธนาคารนครหลวงไทยแล้วยังดูเล็กกว่า ปัญหาของมหานครเป็นเรื่องของการขาดสภาพคล่องและแก้ได้ด้วยการเพิ่มทุนทีละขั้นตอน
แต่ที่ต้องโดนคำสั่งสายฟ้าฟาดให้ถูกยึดและลดทุนทันทีนั้นจริงๆ แล้วมันเป็นการเมืองเรื่องเหล้าที่กำลังพันตูกันอย่างหนัก
การยึดธนาคารมหานครเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้อุเทนรับรู้ว่าถ้าเรื่องเหล้าตกลงรวมกันไม่ได้
ธนาคารศรีนครอาจจะเป็นแห่งต่อไปที่ถูกตรวจสอง ยิ่งผลการดำเนินงานของศรีนครก็มีจุดอ่อนให้
"เล่น" ได้ไม่น้อย การข่มขวัญด้วยวิธีการนี้นับว่าได้ผลชะงัดนัก
อุเทนไม่ว่าจะโกรธคำรณเพียงไร เขาก็ยังเป็นน้องชาย และคนภายนอกก็ยังคิดว่า
ธนาคารมหานครเป็นของเตชะไพบูลย์
อุเทนซึ่งปกติเป็นคนขี้เกรงใจคนและเป็นคนที่ต้องการให้สังคมมองว่าเป็นคนมีเมตตาธรรม
ที่สำคัญไม่ต้องการให้ธนาคารศรีนครอันเป็นแหล่งเงินแหล่งทองที่สำคัญของธุรกิจในเครือมีปัญหาอันจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยส่วนรวมของตระกูล
การรวมสุราแม่โขงและหงส์ทองก็เริ่มขึ้นโดยคำสั่งของพี่ใหญ่ลงมายังสุเมธ
สุเมธซึ่งคนในตระกูลทุกคนรู้ดีว่าเขาเป็นคนแข็งมาก เป็นคนประเภทยอมหักไม่ยอมงอ
เขาขมขื่นกับเหตุการณ์ยิ่งนัก ด้วยความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเลยที่เขาถูกลูกไม้ประเภทนี้
มันเป็นตรรกวิทยาที่เขารับไม่ได้และลึกๆ เขาไม่เชื่อว่ามีเหตุผลเพียงเท่านั้นมันมีเหตุผลอื่นแทรกซ้อนที่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ในตระกูลกันเอง
สุเมธโกรธพี่ชายมาก จึงขายหุ้นทั้งหมดของตัวเองออกไป ซึ่งคนที่รับซื้อขึ้นมาก็คืออุเทนนั่นเอง
สุเมธตัดสินใจทิ้งธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลมาเกือบตลอดชีวิต ขายหุ้นทั้งหมดให้อุเทนและประกาศล้างมือออกห่างจากอุเทนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
โดยถอนตัวออกจากการเป็นรองประธานธนาคารศรีนคร
นับจากวันนั้นไม่เคยมีใครเห็นสุเมธที่ธนาคารศรีนครและไม่เคยมีใครเห็นอุเทนเหยียบไปที่ตึกเตชะไพบูลย์
ซึ่งสุเมธนั่งประจำอยู่ ทั้งที่ตึกทั้งสองอยู่ห่างกันไม่กี่ก้าว!!!
ส่วนคำรณนั้นหนีหัวซุกหัวซุนไปต่างประเทศ เพราะหากอยู่ในประเทศเขาจะต้องโดนข้อหาฉ้อโกงและเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ซึ่งทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายตาม
พรบ.ธนาคารพาณิชย์
ตำนานการก่อร่างสร้างตัวของตระกูลเตชะไพบูลย์นั้นไม่ใช่ตำนานเสื่อผืนหมอนใบของคนจีนโพ้นทะเลอย่าง
ชิน โสภณพนิช หรือคนอื่นๆ อีกมากมาย
บรรพบุรุษของ "แต้จือปิง" เป็นตระกูลผู้ดีเก่าในหมู่บ้างซัวเล่ง
อำเภอเตี้ยเอี้ย มณฑลกวางเจา รับราชการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต้จือปิงจึงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีเพื่อเตรียมที่จะเข้ารับราชการ
แต่ห้วงเวลานั้นประเทศจีนกำลังระส่ำระสายอย่างหนัก เนื่องจากความฟอนเฟะของราชวงศ์แมนจู
ทำให้ความคิดปฏิวัติระบาดไปทั่ว มีการเลิกล้มระบบสอบบัณฑิตซึ่งเป็นความใฝ่ฝันมาแต่วัยเยาว์ของแต้จือปิง
ขณะนั้นแต้จือปิงมีอายุ 17-18 ปี ตัดสินใจทิ้งอาชีพสอนหนังสือเด็กๆ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเสี่ยงโชคยังประเทศไทย
ลักษณะธุรกิจที่แต้จือปิงเลือกทำนั้นล้วนแล้วแต่ทำกำไรสูงเอามากๆ ทั้งสิ้น
อาทิ โรงยาฝิ่น กิจการค้าสุรา และโรงรับจำนำ
แต่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าทางการผลิต ซึ่งภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า
INFERIOR GOOD ในทางตรงกันข้ามบทบาททางสังคมของทั้งแต้จือปิง และต่อเนื่องมาถึงยุคอุเทนในด้านการสังคมสงเคราะห์นั้นโดดเด่นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นสมาคมแต้จิ๋ว
มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง โรงพยาบาลหัวเฉียว มูลนิธิเตชะไพบูลย์ และกิจการสาธารณกุศลอีกมาก
บางคนบอกว่าพวกเขาเป็นคนที่เกิดมาเพื่อสร้าง "ความดี" โดยแท้
แต่บางคนตั้งข้อสังเกตว่าคงเป็นการ "ชดเชย" ให้กับมนุษยชาติ เพื่อให้เกิดสมดุลในจิตใจมากกว่า
ไม่ว่าอุเทนและบิดาของเขาจะทำสิ่งเหล่านี้ด้วยเหตุผลแท้จริงอย่างไร เขาทั้งสองเป็นผู้มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับอย่างกว้าง
โดยเฉพาะในชุมชนจีน "แต้จิ๋ว" นั้นตลอดเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่หาใครเทียบบารมีของ
อุเทน เตชะไพบูลย์ ได้ยากยิ่ง
การตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจ "ธนาคารพาณิชย์" นับเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของเตชะไพบูลย์เป็นการยกระดับธุรกิจการเงินจาก
"โรงรับจำนำ" ซึ่งสำหรับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆ เป็นการมองการณ์ไกล
เพราะนอกจากจะเป็นธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตโดยตัวของมันเองแล้ว สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ตามมานั้นอีกมาก
แม้ช่วงแรกจะมีผู้ร่วมลงขันกันหลายคน แต่อุเทนก็เป็นผู้มีบทบาทในการบริหารธนาคารในฐานะ
"กรรมการผู้จัดการ" ตั้งแต่วันแรกของการเปิดกิจการในปี 2493
กระทั่งปี 2517 เมื่อ "อื้อจือเหลียง" ประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งเสียชีวิต
อุเทนจึงได้ควบทั้งตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารและผู้จัดการใหญ่ นับจากนั้นมาเตชะไพบูลย์ก็ค่อยๆ
กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และคนในตระกูลเตชะไพบูลย์ก็ขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญๆ ของธนาคารแทบทุกจุด
อุธรณ์และไชยทัศน์น้องชายคนที่หกและแปดขึ้นดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขา
วิเชียรลูกชายคนโต เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการค้า วิรุฬลูกชายคนที่สองเป็นผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ
วิรมิตรลูกชายคนที่สี่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ สุกัญญาลูกสาวคนที่สองเป็นผู้จัดการสาขาประตูน้ำ
และก็ยังมีนามสกุลเตชะไพบูลย์อีกหลายคนในธนาคาร
ในที่สุดกลายเป็นว่าธนาคารศรีนครคือเตชะไพบูลย์ และเตชะไพบูลย์คือศรีนคร
ห้วงเวลานี้เองที่ธุรกิจในเครือเตชะไพบูลย์ขยายตัวออกไปอย่างมากมาย อาทิ
เรียลเอสเตท บริษัทเงินทุน - บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ - บริษัท เครดิต ฟองซิเอร์
โรงแรม ฯลฯ
แน่นอน "แหล่งเงิน" ที่สำคัญก็คือ "ธนาคาร ศรีนคร"
นั่นเอง
ธนาคารศรีนครในรอบ 35 ปี (พ.ศ. 2493-2527) นั้นแม้ว่าจะไม่เติบโตหวือหวาเหมือนธนาคารกรุงเทพหรือกสิกรไทย
แต่ก็นับได้ว่าเป็นก้าวย่างที่มั่นคงพอสมควร (โปรดดูตารางแสดงการขยายตัวของธนาคารศรีนครในรอบ
40 ปี)
ทิศทางของธนาคารที่ก้าวไปข้างหน้าโดยอาศัยความกว้างขวางในหมู่คนจีนและกิจการสาธารณกุศลมันมีส่วนเอื้อซึ่งกันและกันอยู่ไม่น้อยนั้น
นับเป็นความชาญฉลาดของอุเทนสำหรับยุคสมัยที่สังคมการค้ายังรวมศูนย์อยู่ในกลุ่มคนจีนจำนวนไม่มาก
การขยายฐานออกไปสู่ภูมิภาคนั้นเริ่มขึ้นจริงๆ จังๆ ในปี 2529 ที่เพิ่มทีเดียว
3 สาขา (ขณะนั้น มีอยู่แล้วเพียง 5 สาขา) และก็ค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันมีสาขาถึง
57 แห่ง ขณะที่ในเขตกรุงเทพฯ มี 56 สาขา
คนที่มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกด้านสาขามาโดยตลอดก็คือ ไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์
ซึ่งเข้ามาร่วมงานกับศรีนครตั้งแต่ปี 2507 (อ่านเรื่องราวของเขาในล้อมกรอบ)
ปี 2527 ธนาคารศรีนครมีสินทรัพย์ 33,174.1 ล้านบาท มีเงินฝาก 20,783.4 ล้านบาท
และปล่อยสินเชื่อ 23,497.4 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 4.41% ถือเป็นอันดับที่
5 ในจำนวน 15 ธนาคาร
แต่ปรากฏว่า 5 ปีให้หลัง ศรีนครเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงปรากฏว่ามีความถดถอยลงทุกด้าน
ล่าสุดปี 2532 มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 54,471.1 ล้านบาท มีสินเชื่อ 40,005.5
ล้านบาท เงินฝาก 39,526.3 ล้านบาท มีมาร์เก็ตแชร์ 3.65% เมื่อเทียบกับทั้งระบบธนาคารแล้วตกไปอยู่อันดับที่
9
ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างมากมายตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา อัตราการเติบโตทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์พุ่งสูงขึ้นอย่างมากปีละเฉลี่ยกว่า
22.75% ขณะที่การเติบโตของธนาคารศรีนครเฉลี่ยปีละ 18.03% ซึ่งต่ำกว่าธนาคารทั้งระบบ
หากพิจารณาผลกำไรของธนาคารศรีนครจะพบว่า 35 ปีแรกนั้นกำไรเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง
โดยปี 2528 กำไรสูงที่สุดคือ 124.8 ล้านบาท หลังจากนั้นปี 2529 กำไรตกลงมาเหลือ
82.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาบ้างในปี 2530 และ 2531 กล่าวคือ 130.7 และ 135.9
และกลับตกลงมาอย่างมากในปี 2532 เหลือเพียง 94.3 ล้านบาท
แต่หากจะคิดกันตามหลักการบัญชีที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วศรีนครจะขาดทุนประมาณพันกว่าล้านบาท
พิจารณาจากงบการเงินปี 2532 มีข้อสังเกตอย่างน้อย 3 ประการกล่าวคือ
หนึ่ง - กำไรจากทรัพย์สินรอการขายจากหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 2.10 "ทรัพย์สินรอการขายส่วนใหญ่ประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากการชำระหนี้
กำไรหรือขาดทุนในทรัพย์สินรอการขายจะรับรู้เมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นแล้ว
นอกจากการขายทรัพย์สินรอการขายผ่อนชำระระยะยาว ธนาคารรับรู้กำไรจำนวน 330.59
ล้านบาท เป็นรายได้ทั้งจำนวนสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2532 ซึ่งหากธนาคารได้ปฏิบัติตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปแล้ว
รายได้สำหรับสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2532 จะลดลง 298.5 ล้านบาท"
สอง-การตั้งสำรองหนี้สูญไม่ครบถ้วน จากงบดุลปี 2532 กล่าวไว้ว่าจะสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเนื่องจากมีสินเชื่อ
และดอกเบี้ยค้างรับที่ค้างเกินกำหนดชำระเป็นเวลานาน ระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อที่
5 ว่าประมาณ 2.68 ของสินเชื่อ ซึ่งสินเชื่อในปีนั้นก็คือ 40,005.5 ล้านบาท
ตัวเลขที่ควรจะปรากฏก็คือ 1,072 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าตั้งจริง เพียง 525.5
ล้านบาทเท่านั้น ขาดไป 546.5 ล้านบาท
สาม-ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัทในเครือ 2 บริษัทคือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหานครทรัสต์
และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ศรีนครซึ่งพิจารณาจากฐานะการเงินที่เป็นจริงในปัจจุบันมากระทบยอดด้วย
หรือเรียกกันว่า LIGUIDATE ซึ่งจะต้องถือเป็นค่าใช้จ่าย แล้วผลที่เกิดขึ้นก็คือ
ปี 2532 ธนาคารศรีนครลงทุน 488.1 ล้านบาท ถือหุ้น 96.67% ในบงล.มหานครทรัสต์
ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นหลังจากขาดทุนสะสม 408 ล้านบาท มียอดเหลือเพียง 97.1
ล้านบาท นั่นก็คือ เม็ดเงินสุทธิที่เหลือจริงๆ ก็คือ 96.7 ล้านบาท (97.1
คูณ 96.67%) เท่ากับเงินหายไป 351.4 ล้านบาท
ส่วนบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ศรีนคร ธนาคารศรีนครลงทุนไปทั้งสิ้น 150 ล้านบาท
คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 99.45% แต่เนื่องจากมีขาดทุนสะสม 91.7 ล้านบาท
ทำให้เงินส่วนของผู้ถือหุ้นเหลือ 64 ล้านบาท เงินที่นำไปลงทุนจึงเหลือจริงๆ
เพียง 63.9 ล้านบาท (64.3 คูณ 99.45%) เท่ากับเงินหายไปล้ว 86.1 ล้านบาท
รวมข้อสังเกตทั้งสามข้อแล้ว ธนาคารศรีนครก็ควรจะตัดค่าใช้จ่ายอีกทั้งหมดประมาณ
1310.5 ล้านบาท
ถึงตรงนี้ก็คงไม่ต้องกระทบยอดให้ดูแล้วว่าหากทำตามหลักการนี้ธนาคารศรีนครจะขาดทุนสักเท่าไหร่
แต่อย่างไรตามที่วิเชียร เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ชี้แจงในเรื่องทรัพย์รอการขายว่า
"มันเป็นความผิดพลาดระหว่างฝ่ายบัญชีซึ่งบอกว่าเราทำได้ แต่ทางการบอกว่าไม่ได้
ผมก็ต้องเชื่อฝ่ายบัญชี ผู้ตรวจบัญชีเขาก็เซ็นรับรอง เราจะไปทำสุ่มสี่สุ่มห้าได้อย่างไร
หลังวันที่ 31 มีนาคม 2533 คุณไปดูได้เลยจะไม่พบตัวเลขตัวนี้อีก เพราะสินทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินที่เราขายและได้เงินเข้ามาแล้ว
เรื่องไหนที่ทางการเขาติงมาเราก็แก้ไขอยู่แล้ ไม่ผิดกฎ ไม่ผิดกติกา"
ผู้เชี่ยวชาญในวงการเงินท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าการที่ธนาคารถึงกับต้องขายทรัพย์สินเพื่อนำมาซึ่งรายได้
ซึ่งมันมิใช่รายได้จากการดำเนินการ นับว่าอาการหนักเอาการ เขากล่าวถึงยุคที่ธนาคารเอเชียทรัสต์เริ่มส่อแววเกิดปัญหาก็ตรงที่เริ่มทยอยขายทรัพย์สิน!!!
ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของธนาคารพาณิชย์โดยเริ่มมองศรีนครด้วยสายตาวิตกมาหลายปีแล้ว
และส่งหนังสือแจ้งให้ธนาคารศรีนครแก้ไขเรื่องต่างๆ มาเป็นระยะโดยเฉพาะต้นปี
2531 ซึ่งพอจะสรุปสิ่งที่เป็นความเห็นของธนาคารชาติได้ว่า
หนึ่ง-ฐานะเงินกองทุนและคุณภาพสินทรัพย์จัดอยู่ในระดับอ่อน เนื่องจากมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจัดชั้นได้จำนวนสูง
สินทรัพย์ทั้งสิ้นเมื่อหักด้วยสินทรัพย์จัดชั้นสูญทั้งจำนวนและกึ่งหนึ่งของสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยส่วนที่เกินเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยแล้ว
จะพบว่าสูงกว่าหนี้สินเพียง 428 ล้านบาท
สอง-ณ วันตรวจสองนั้นธนาคารศรีนครได้ให้สินเชื่อและก่อภาระผูกพันการประกันหนี้แก่กิจการที่ธนาคาร
หรือกรรมการ หรือพนักงาน ชั้นบริหารของธนาคาร หรือบุคคลในสกุลเตชะไพบูลย์และเครือญาติจำนวน
120 ราย 12,113 ล้านบาท หรือเท่ากับ 5 เท่าของเงินกองทุนในขณะนั้น และในจำนวนนี้
3,046 ล้านบาท สินทรัพย์สุทธิมีจำนวนต่ำกว่าหนี้สิน นอกจากนี้สินทรัพย์สภาพคล่องก็อยู่ในระดับไม่พอใช้
ธนาคารมิได้ควบคุมดูแลภาระหนี้สินของกิจการในเครือผลประโยชน์ให้อยู่ในขอบเขตและปริมาณที่เหมาะสม
ไม่ได้เร่งดำเนินการจดทะเบียนจำนองที่ดินที่ลูกหนี้มอบเป็นหลักประกันเพื่อลดความเสียหาย
สาม-ความสามารถในการหารายได้และทำกำไรอยู่ในระดับต่ำ การจัดการและการควบคุมสาขามีจุดอ่อนที่จำเป็นจะต้องเร่งแก้ไข
มีการปฏิบัติ ในลักษณะตกแต่งบัญชีและเสริมสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถจ่ายเงินปันผลซึ่งแท้ที่จริงแล้วมิใช่รายได้ที่มาจากการดำเนินการ
และตามมาด้วยมาตรการของธนาคารชาติอีกมากมายเพื่อให้ธนาคารเร่งแก้ไข อาทิเช่นห้ามให้สินเชื่อกิจการที่ธนาคารศรีนคร
หรือตัวแทนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารศรีนครหรือตัวหรือก่อภาระผูกพันตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
ไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่จะมีหลักทรัพย์จำนองหรือจำนำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
การเรียกการค้ำประกันเงินให้สินเชื่อเพื่อให้ครบตามที่ควรจะเป็น, การเรียกเก็บลูกหนี้ที่มีปัญหาของบงล.มหานครทรัสต์ในสมัยที่ไชยทัศน์เป็นผู้มีอำนาจจัดการและลูกหนี้รายใหญ่ตามสาขาของธนาคารศรีนครอีกหลายแห่ง
และก็มีอีกหลายข้อ
จากผลประกอบการที่ปรากฏอยู่จริงในงบการเงินและรายงานการตรวจสอบของธนาคารชาติเมื่อ
2531 จะพบว่าศรีนครตกอยู่ในภาวะวิกฤติที่สุดในประวัติศาสตร์ของธนาคาร
อย่างไรก็ตามเพื่อความเป็นธรรมแก่ธนาคารศรีนคร "ผู้จัดการ" ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารหลายท่านเพื่อทราบความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาและภาพอีกด้านหนึ่งที่พวกเขามอง
"รายงานการตรวจสอบฉบับนั้นเป็นเรื่องเก่าตั้งแต่ปี 2531 ยอดหนี้ที่ระบุว่า
12,113 เป็นลูกหนี้ทั้งหมดในเครือเตชะไพบูลย์ 120 รายนั้นไม่ใช่แน่นอน คือแบงก์ชาติเป็นห่วงเพราะคิดว่าเราปล่อยในเครือมากเกินไป
น่าจะกระจายมากกว่านี้ อันที่จริงหมื่นกว่าล้านก็ใช่ว่าจะเสียหายทั้งหมด
ไม่งั้นแบงก์อยู่ไม่ได้ ความจริงแล้วในหลายกรณีแล้วผมมีพรรคพวก แล้วก็มีหุ้นอยู่ร้อยหุ้น
ผมก็กลายเป็นผู้ถือหุ้น เขาก็มาใช้บริการ เขาก็บอกว่าเป็นของผมจัดเข้าอยู่ในเครือเลย
อย่างนี้มันเยอะ เพราะเพื่อนฝูงแต่ละคนก็อยากจะเอาชื่อไปลงหนี้สิน ในเครือจริงๆ
นี่ไม่มีปัญหาเลย ปีที่แล้วหนี้สินในเครือเตชะไพบูลย์มีอยู่สี่พันกว่าล้านบาท
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2532 ชำระคืนมา 2,500 กว่าล้านบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม
2533 มียอดเหลือเพียง 1,110 ล้านบาท เป็นหนี้ที่มีหลักประกันอยู่พันกว่าล้านบาท
เพราะฉะนั้นจะถือว่าเสียหายได้อย่างไร เมื่อปี 2531 คุณก็รู้ว่ามันเป็นผลพวงของเศรษฐกิจที่ไม่ดีติดต่อกันมา
ผมถึงบอกว่าพวกเตชะไพบูลย์ไม่มีปัญหา ไม่มีใครเชื่อ พูดตลอดเวลา เราดูตัวเอง
และเราก็รู้ว่าไม่มีปัญหา อย่างสุรานี่ 2 พันกว่าล้านเขาก็จ่ายหมดแล้ว การที่บอกว่าให้เรายุติการปล่อยสินเชื่อนั้น
มันเป็นเรื่องที่อยู่ๆ คุณก็มาห้ามลูกผมกินข้าว มันจะไหวไหม มันจะต้องแยกแยะกันให้ชัดเจนหน่อย
การปล่อยสินเชื่อเรามีขั้นมีตอนอยู่แล้ว เราไม่ได้หลับหูหลับตาปล่อย เราต้องคิดถึงความสามารถชำระหนี้เป็นหลักอยู่แล้ว"
วิเชียรชี้แจงอย่างยาว เพราะถูกอัดฝ่ายเดียวมาตลอดว่าปัญหาทั้งหลายมาจากหนี้สินในเครือเตชะไพบูลย์
ขณะที่ ไชยทัศน์ อดีตกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ผู้คุมฝ่ายสาขาทั้งหมดโต้กลับว่า
"ความจริงผมฟ้องได้นะ มาระบุชื่อผมอย่างนี้ แล้วมันถูกเผยแผ่สู่สาธารณชนด้วย
แต่ขอโทษขอโพยกันแล้ว ก็แล้วไป ที่เขากล่าวอ้างมาในนิตยสารฉบับหนึ่งนั้นไม่จริงเลยแม้แต่รายเดียว
ธนาคารชาติตรวจสอบผิดอย่างแรง เพราะอะไรก็ไม่ทราบ ก็โยนกันไปโยนกันมา ธนาคารชาติบอกว่าเพราะผู้จัดการสาขาไม่บอกรายละเอียด
การพิจารณาสินเชื่อเขาวิเคราะห์กันตั้งแต่สาขา มีหน่วยวิเคราะห์แล้วก็เข้ากรรมการสินเชื่อพิจารณากับเสร็จแล้ว
เขาจึงจะส่งมาให้ผม โดยมีใบปะหน้ามาเลยว่าเขาเห็นด้วย แล้วผมก็เซ็นโดยไม่มีโอกาสรู้จักลูกค้าแล้วเอกสารทั้งหมดก็จะเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่
แล้วก็จะส่งใบอนุมัติใบเดียวไปที่สาขา พอเวลาพนักงานธนาคารชาติมาตรวจก็เจอแต่ใบปะหน้าก็บอกว่าไชยทัศน์พิจารณาไม่รอบคอบ
มีใบเดียวก็อนุมัติเลยนี่ แล้วบังเอิญเป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาก็บอกว่าไชยทัศน์เป็นคนปล่อย
บังเอิญโชคดีรายที่แบงก์ชาติเขาระบุมานั้นผมไม่รู้จักเลย"
อย่างไรก็ตามเขาไม่ปฏิเสธว่าสินเชื่อในส่วนสาขานั้นย่อมจะต้องมีเสียบ้าง
แต่ก็เป็นเรื่องของการค้าตามปกติ ในส่วนที่มีการโจมตีกันมากว่าเขาปล่อยสินเชื่อที่มีลักษณะไม่มีหลักประกันออกไปมากนั้น
เขาปฏิเสธโดยสิ้นเชิง
"ไม่จริง สาขานี่ตั้งตัวเป็นโรงรับจำนำเลย มาเอาเงินไปก็ต้องของวางไว้
เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ผมว่า CLEAN LOAN นี่ไม่ถึง 10% ของจำนวน 100% ที่ทางฝ่ายปล่อยออกไป
ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นรายละ 2-3 หมื่นบาท เรื่อง CLEAN LOAN นี่ผมถือเป็นเรื่องมุสา"
เชยทัศน์ย้ำหนักแน่น
สาเหตุของความตกต่ำนั้นวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา แต่คงยังไม่ค่อยมีใครได้ฟังจากปากของ
วิเชียร เตชะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของศรีนครให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ผู้จัดการ"
อย่างเปิดใจซึ่งสรุปได้ว่า
หนึ่ง-การไม่ได้ปรับตัวเองให้พร้อมที่จะแข่งกับคู่ต่อสู้ทั้งในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อและการหาเงินฝาก
โดยเฉพาะการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นไปอย่างค่อนข้างช้า
สอง-การปล่อยสินเชื่อ "รวมศูนย์" อยู่ที่ส่วนกลาง ปล่อยจากสาขาน้อย
กล่าวคือ 80% ของสินเชื่อทั้งหมดมาจากส่วนกลาง ทำให้ขาดการพัฒนาผู้จัดการสาขาในการปล่อยสินเชื่อ
ขณะที่งานไปล้นที่สำนักงานใหญ่ซึ่งทำไม่ทัน แล้วส่วนกลางก็เจอปัญหามันสมองไหลอีกด้วย
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ และการที่คนจำกัดนี้ทำให้สินเชื่อมีน้อยลง
เช่นปี 2532 ธนาคารตั้งเป้าให้อัตราเพิ่มของสินเชื่อเมื่อเทียบกับปีก่อน
34% แต่จริงๆ แล้วธนาคารทำได้เพียง 20% เท่านั้น มันจึงส่งผลให้รายได้ลดลง
สาม-ปัญหาการขาดแคลนผู้บริหารระดับกลาง แล้วหลายส่วนที่มีอยู่ก็ยังขาดความคิดที่ทันสมัย
ไม่ได้รับการพัฒนาให้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย หลายกรณีเป็นการแต่งตั้งตามระบบ
"อาวุโส" ไม่ได้คิดถึงความสามารถ คือพนักงานเหล่านี้ค่อนข้างมีความคิดอนุรักษ์ซึ่งก็ดี
เพียงแต่ในภาวะการแข่งขันเช่นนี้ เขาอาจจะขาดความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าว่าจะต้องทำอะไรบ้าง
บางครั้งก็ไปทำงานของเสมียนเสียมากกว่า
นั่นคือปรากฏการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้น ซึ่งหากเราวิเคราะห์ให้ลึกลงไปในแต่ละประเด็นข้างต้นจะพบว่า
หนึ่ง-ความไม่สามารถในการแข่งขันซึ่งปัญหาใหญ่อยู่ที่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยในแต่ละวัน
เป็นงานที่มีความสำคัญมาก ความจริงแล้วควรจะมีสำนักบริหารเงินอย่างที่หลายๆ
ธนาคารทำกัน ซึ่งจะต้องมี FUND MANAGER ที่จะต้องคอยคิดคำนวณเงินแต่ละวันที่ไหลเข้ามาว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด
ควรจะปล่อยในราคาเท่าไหร่ ซึ่งคนในวงการธนาคารหลายคนถึงกับ "ประหลาดใจ"
ที่ศรีนครไม่มีหน่วยงานหัวใจนี้
อย่างไรก็ตาม วิเชียรบอกว่าได้ตั้งขึ้นแล้วเมื่อปลายปี 2532 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่
"งานด้านนี้เรามีมานานแล้วแต่เป็นงานฝากกับ ดำรงค์พันธ์ สนิทวงศ์ ณ
อยุธยา ซึ่งอยู่ฝ่ายต่างประเทศช่วยดูแลอยู่ การคิดต้นทุนเขาก็คิดทุกวันอยู่แล้ว
เราหาคนมานานพอสมควรในที่สุดก็ได้คุณสุธี สหัสรังษี ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาจากธนาคารมหานครมาเป็นผู้อำนวยการประจำสำนักบริหาร"
วิเชียรกล่าว
นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญการวางผังองค์กรยังวิจารณ์การจัดแผนผังองค์กรของศรีนครในปัจจุบันว่าเป็นผังที่มีหน่วยงานที่ก่อให้เกิดรายได้น้อยมาก
ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เขาเรียกมันว่า "ORGANIZATION
SLACK" ซึ่งวิเชียรก็ยอมรับและกล่าวว่าธนาคารกำลังจัดวางแผนผังการบริหารใหม่หมดซึ่งจะประกาศใช้ประมาณเดือนกรกฎาคม
สอง-การปล่อยสินเชื่อนั้นไม่เพียงรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางประมาณ 70-80%
เท่านั้น แหล่งข่าวระดับสูงในศรีนครให้ข้อมูลกับ "ผู้จัดการ" ว่า
"ศรีนครวางตัวเองเป็นโฮลเซลส์ สินเชื่อ 100% นั้นปรากฏว่ากระจุกอยู่ใน
2,000 ราย มีประมาณ 100 ราย ที่เป็นคนของเตชะไพบูลย์ และเครือญาติคิดเป็น
40% ขณะที่อีก 60% อยู่ใน 1,900 บริษัทนอกเหนือ ส่วนปล่อยกู้ปลีกย่อยนั้นน้อยมาก
และ 40% นี้เป็นหนี้ที่มีความสามารถในการชำระคืนไม่ดี นี่เป็นการบริหารโครงสร้างสินเชื่อที่อันตรายมาก"
ลักษณะการปล่อยสินเชื่อให้กับกิจการในเครือจำนวนมากนี่เอง หากกิจการเหล่านั้นไปได้ดีทุกฝ่ายก็ชื่นมื่น
แต่เมื่อกิจการเหล่านั้นประสบปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่อธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ธุรกิจของเตชะไพบูลย์เกือบ 100% เช่นกรณีเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ซึ่งเป็นโครงการลงทุนมูลค่ากว่าหมื่นล้านซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี
2526 ใช้เงินกู้ของธนาคารไปแล้วประมาณ 700-800 ล้านบาท เงินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการก่อสร้าง
เพิ่งจะมีรายได้เข้ามาบ้างในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา (เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ :
ยิ่งช้ายิ่งเละ)
กรณีบริษัทพัฒนาที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมประเทศไทย ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2517
ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกๆ ของไทย แต่ปรากฏว่าช่วง 10 ปีแรก ใช้สินเชื่อของธนาคารถึง
800 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าขายได้น้อยมากอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย
ทำให้บริษัทต้องประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอดเพิ่งจะมาฟื้นตัวเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
(อ่านล้อมกรอบ บางปู : กว่าจะฟื้นก็หืดขึ้นคอ)
แล้วก็ยังมีทรัสต์ซึ่งเป็นเครือญาติของเตชะไพบูลย์อีกหลายแห่งที่มีปัญหา
เช่นบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ศรีนครซึ่งมีขาดทุนสะสมจนถึงปี 2532 นั้นประมาณ
92 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เสียมาก็คือ บงล.มหานครทรัสต์ ซึ่งโยงไปถึงโรงแรมเชียงใหม่ออคิด
ซึ่งว่ากันว่าเสียหายไปกว่า 800 ล้านบาทและนั่นเป็นจุดอ่อนที่ไชยทัศน์ในฐานะผู้ดูแลโดยตรงถูกกดดันจาก
"ผู้ใหญ่" ในธนาคาร จนกระทั่งตัดสินใจลาออกไปในที่สุด (โปรดอ่าน
มหานครทรัสต์-เชียงใหม่ออคิด : ศึกในอกของไชยทัศน์)
นอกจากนี้ในช่วง 3-4 ปีที่แล้ว สงครามน้ำเมาซึ่งรบกันอย่างดุเดือดและยังไม่สามารถตกลงกันได้นั้น
ฝ่ายเตชะไพบูลย์ต้องทุ่มสุดตัวซึ่งทำให้ต้องใช้จ่ายเงินไปจำนวนมหาศาล แม้ว่าภายหลังจะรวมกันได้แล้วมีการชำระคืนธนาคารแล้วเป็นส่วนใหญ่
แต่สำหรับ 3 ปีที่แล้วมันย่อมจะส่งผลต่อฐานะของธนาคารไม่น้อย
(ตำนานการต่อสู้ของเหล้านั้น "ผู้จัดการ" เขียนไปแล้วอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุมตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ
ผู้สนใจหาอ่านได้จาก "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนเมษายน 2527, ธันวาคม
2528 และ ธันวาคม 2529)
ยิ่งไปกว่านั้นลักษณะการปล่อยสินเชื่อในอดีตนั้นมันไม่ได้เป็นหลักเกณฑ์ตามหลักธุรกิจทั่วไป
แต่มันเป็นเรื่องของสายใครสายมัน
"ต่างคนต่างปล่อย คุณอุเทน คุณอุธรณ์ คุณไชยทัศน์ คุณวิรุฬ คุณวิเชียร
ในที่ประชุมจริงๆ แล้วก็จะไม่ค่อยมีใครค้านของคนอื่นเพราะทีอั๊วแล้ว ลื้ออย่ายุ่ง"
อดีตพนักงานที่อยู่กับศรีนครมานานเล่า
อันที่จริงเรื่องราวเหล่านี้เป็นที่รู้กันดีในหมู่พนักงาน แต่ก็ไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์
เพราะว่าเคยมีการแสดงให้เห็นแล้วว่าผลลัพธ์ของความกล้าประเภทนี้ก็คือต้องเดินกันคนละทาง
ตัวอย่างในอดีตก็คือ วิชาญ ฤทธิรงค์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีคนหนึ่งที่ทำงานกับธนาคารแห่งนี้มานับสิบปี
ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารทหารไทย เขาเป็นผู้วางระบบบัญชีของธนาคารศรีนครและเป็นผู้รู้ความลับภายในธนาคารเป็นอย่างดี
การที่เขาต้องลาออกในครั้งนั้น (ปี 2523) เป็นที่รู้กันว่าเนื่องมาจากบทความเรื่อง
"จะกู้เงินจากธนาคารได้อย่างไร" ซึ่งวิชาญเขียนตีพิมพ์ลงใน "สาส์นศรีนคร"
ซึ่งเป็นวารสารรายไตรมาสที่ทางธนาคารจัดทำขึ้นเพื่ออ่าน บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์เมื่อต้นปี
2523 ใจความตอนหนึ่งก็คือ
"…การพิจารณาคำขอให้กู้อีกวิธีหนึ่ง คือใช้หลักเกณฑ์เข้าหลังบ้านหรือถ้าเป็นนักมวยก็เป็นนักชกวงในทีเดียว
เช่นในกรณีท่านเป็นญาติกับกรรมการท่านใดท่านหนึ่ง หรือเป็นผู้คุ้นเคยกับผู้มีอำนาจอนุมัติเงินกู้ของธนาคาร
อาจจะคุ้นเคยโดยเป็นเพื่อนนักเรียนเก่าหรือเป็นเพื่อนภรรยา (ยิ่งสำคัญ) หรือเพื่อนบุตรชาย
บุตรสาวของบุคคลดังกล่าว หรือเป็นผู้ที่บุคคลเหล่านี้แนะนำหรือเป็นนักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง
ก็จะมีการผ่อนปรนจนชนิดสุดสายป่านทีเดียวก็มี และยิ่งกว่านั้นบางรายอาจเตรียมตัดหนี้สูญไว้ล่วงหน้าแล้วก็ได้
ซึ่งวิธีการหลังนี้ เพียงแต่ท่านยื่นคำขอกู้เท่านั้นก็จะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้กู้ทันทีโดยไม่ผ่านวิธีการยืดยาว
กล่าวง่ายๆ ก็คือยังไม่ทันออกแรงก็ได้แล้ว" หลังจากนั้นไม่นานก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวารสารฉบับนี้ถูกเก็บกลับคืนทั้งหมด
พร้อมทั้งยกเลิกการจัดพิมพ์วารสารฉบับนี้ไปพักใหญ่ (เพิ่งจะมาเริ่มใหม่ในระยะหลัง)
พร้อมๆ กับที่วิชาญก็ต้องเก็บข้าวเก็บของหางานใหม่ ว่ากันว่าเรื่องบางเรื่องที่มันจริงเกินไปก็
"ผู้ใหญ่" ก็รับไม่ได้
สาม-ปัญหาบุคลากรนั้นไม่เพียงเป็นเรื่องความขาดแคลนพนักงานระดับกลางเท่านั้น
ขณะนี้ศรีนครขาดแคลนพนักงานที่มีฝีมือในทุกระดับ ในระดับสูงก็ยังขาด "แม่ทัพ"
ผู้มีความสามารถในการกำหนดทิศทางและวางแผนยุทธศาสตร์ของธนาคาร ในระดับ "ผู้จัดการสาขา"
นั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาในด้านพื้นฐานการศึกษาซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี
เพราะไต่เต้ามาจากพนักงานในระดับล่างขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้รับการอบรมมากเท่าที่ควร
เป็นปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งของธนาคารในขณะนี้ ไชยทัศน์ ยอมรับข้ออ่อนในจุดนี้
"เราต้องยอมรับ เพราะคนของเราเป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่เซลส์ ซึ่งจริงผู้จัดการสาขาต้องเป็นเซลส์
จะมานั่งบอกว่าข้าพเจ้ามีแต่ความซื่อสัตย์ไม่ได้ เรายอมรับว่าเทรนนิ่งของเราไม่ดี
เราเลื่อนคนขึ้นมาจากระดับล่าง มีระดับปวช. เยอะ ซึ่งเขาอยู่กันมานานแล้ว
พวกนี้มาโตในสมัยผม เราไม่ได้เป็นราชการที่จะบอกว่าคุณไม่ได้จบปริญญาจึงขึ้นไม่ได้
เขาก็ผ่านการทดสอบแล้วว่าทำงานได้ สมัยก่อนเขามีความเชื่อกันว่าเรียนสูงปกครองยาก
พอสมัยผมก็เลยรับพวกปริญญาเข้ามามาก ฝ่ายบริหารสาขาเป็นฝ่ายแรกที่พนักงานจบปริญญาทั้งหมด"
ปัญหาโครงสร้างอำนาจในธนาคารศรีนคร เคยเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความสับสนในการบริหารไม่น้อย
ที่สำคัญก็คือการไม่สามารถทำงานในลักษณะที่เป็น "ทีมเวิร์ค" ได้เลย
วิเชียร เตชะไพบูลย์ เติบโตมาจากสายการค้า เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็ดูแลฝ่ายการค้าและงานทั่วๆ
ไปของธนาคาร
ไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ อดีตกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เขาบุกเบิกและดูแลงานด้านกิจการสาขามากว่า
20 ปี ด้วยลักษณะงานและบุคลิกส่วนตัวของ "ความเป็นไชยทัศน์" ทำให้เขาเป็นคนที่มีบารมีสูงมากในแบงก์
ลูกน้องรักใคร่นับถือมาก (อ่านเรื่องของไชยทัศน์ในล้อมกรอบ น้องอุเทน : ใครเป็นใคร)
ความจริงคนหนึ่งดูด้านธุรกิจและอีกคนดูในด้านการปกครอง ก็น่าจะเป็นสูตรผสมที่ลงตัวไม่น้อย
และแหล่งข่าวใกล้ชิดยืนยันว่าแท้ที่จริงแล้ว "อากับหลาน" คู่นี้รักกันมากสมัยเป็นนักเรียนอยู่ในบอสตัน
ทั้งสองคนนี้ก็เคยตกลงกันแล้วว่าจะแบ่งงานกันแบบนี้ และไชยทัศน์ก็บอกเสมอว่าเขายอมรับระบบ
"รัชทายาท" และตัวเขาก็คิดว่าวิเชียรเหมาะสมที่สุด ไชยทัศน์บอกว่าเขาไม่ถนัดที่จะเป็นเบอร์หนึ่ง
"คุณจะเอานักรบมานั่งห้องแอร์นี่ไม่มีทาง ผมอยู่กลางแดดกลางฝน ผมมีความสุขอยู่แล้ว
และผมก็พอใจในวิถีทางนี้"
ความมากบารมีของไชยทัศน์โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวิเชียรซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่หรือแม้กระทั่งอุเทนเองก็ตาม
ทำให้อุเทนไม่สบายใจมากขึ้นทุกขณะ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอุเทนคงนอนตาไม่หลับแน่!!!
แต่อุเทนเป็น "ตั้วเฮีย" ที่เป็นคนที่ห่วงภาพพจน์ตัวเองค่อนข้างมาก
"พี่ใหญ่จะต้องเป็นคนโอบอ้อมอารี" อะไรที่มันเกิดขึ้นก็เป็นเพราะความจำเป็นทางธุรกิจ
มันเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเลือก อย่างกรณีอุธรณ์การเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารก็เพราะต้องการจะให้ธนาคารไปสู่ทิศทางของมืออาชีพ
มาถึงกรณีไชยทัศน์นี่อุเทนก็บอกว่าเป็นเพราะธนาคารชาติบีบมา ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อที่มีปัญหาหรือกรณีมหานครทรัสต์!
การนำเอา "คนนอก" ที่เชื่อกันว่าเป็น "มืออาชีพ" เข้ามาช่วยนั้น
ไม่มีใครทราบว่าตอนอุเทนไปเชิญบุคคลเหล่านี้เป็น "ยันต์" หรือต้องการให้มีบทบาทเพียงใด
แต่อุเทนก็คงคิดไม่ถึงว่ามันทำให้เกิดศึกภายในกันวุ่นวายไปหมด!
สหภาพแรงงานซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอดเวลาเกือบ 40 ปี ก็ถูกจัดตั้งหลังจากที่
"คนนอก" เข้ามาไม่นานนัก จากนั้นก็มีใบปลิวโจมตีบุคคลเหล่านั้นออกมาอย่างมากมาย
ทั้งในนามสหภาพและใบปลิวเถื่อนที่ไม่รู้ที่มาอีกมากมาย จนกระทั่งต้องมีการเรียกตำรวจมาจับ
"เด็ก" ที่ถูกจ้างมายืนแจกหน้าธนาคาร เป็นเรื่องเป็นราวจนกระทั่งอุเทนต้องออกหนังสือชี้แจงและมีการจัดแถลงข่าวเพราะเรื่องมันหลุดออกไปภายนอกด้วย
เพราะใจความของใบปลิวส่วนใหญ่เป็นความไม่พอใจในนโยบายและหลักปฏิบัติบางประการของกรรมการบริหารใหม่
พวกเขามีความรู้สึกว่าผู้มาใหม่มองพนักงานเก่าไม่มีประสิทธิภาพ มีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรแบบข้ามขั้นตอน
และอื่นๆ อีกมาก
"ผู้มาใหม่" ถูกปฏิกิริยาต่อต้านมาก พวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับการ
"แบ็ค" ที่ดีพอก็รู้สึกอึดอัด หลายๆ คนที่กรรมการบริหารเหล่านี้ดึงตัวมาก็พากันลาออกไปด้วยความเซ็ง!
ว่ากันว่าภารกิจที่สำคัญหนึ่งของผู้มาใหม่ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามก็คือเอามา
"กั๊ก" อำนาจและบารมีไชยทัศน์ไม่ให้แผ่ขยายไปมากกว่านี้ ซึ่งเกมนี้คนใกล้ชิดไชยทัศน์ก็พากันเชื่อเช่นนั้น
"ผมคิดว่าเขาเอามาแก้ภาพพจน์เป็นด้านหลัก แล้วก็กั๊กอำนาจคุณไชยทัศน์
แต่เล่นเกมกันจนลืมนึกไปว่า ถึงที่สุดแล้วผลเสียมันเกิดแก่ธนาคาร เพราะนอกจากจะทำให้เสียความรู้สึกแล้ว
ในแง่การบริหารคนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้าราชการกันมาเกือบตลอดชีวิต เขานำเอาระบบราชการเข้ามาใช้ในการบริหาร
ทำให้งานมีระเบียบพิธีการมากมาย ขณะที่ธนาคารต่างๆ เขาคล่องตัวและกระจายอำนาจ
แต่ของเรากลับรวมศูนย์มากขึ้น เพราะความไม่ไว้วางใจ ทุกคนก็เลยกลัวจะถูกจับผิด
ก็ยิ่งไม่ทำอะไร โดยเฉพาะสินเชื่อก็ไม่ค่อยกล้าปล่อย เพราะถ้าพลาดแล้วโดนเล่นแน่
ใครจะกล้าเสี่ยงอยู่เฉยๆ ดีกว่า นี่เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ธนาคารตกต่ำ
ปล่อยสินเชื่อไม่ได้ตามเป้าหมาย" แหล่งข่าวในศรีนครวิเคราะห์
อีกปัญหาหนึ่งก็คือความสับสนในสายการบังคับบัญชาและความไม่เป็นเอกภาพ หลายกรณีที่ส่วนกลางสั่ง
แล้วฝ่ายสาขาไม่ทำตาม ซึ่งแหล่งข่าวในฝ่ายบริหารสาขาก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น
"ก็อาจจะจริง เพราะความไม่พร้อมของเขาแล้วจะให้เราปฏิบัติได้อย่าไร
สมมุติว่ามีบริการใหม่ ส่วนกลางไม่เคยบอกเราเลย แต่ปรากฏว่าบอกหนังสือพิมพ์ไปแล้ว
แต่ไม่เคยบอกรายละเอียด เราจะไปปฏิบัติได้อย่างไร เขาเองก็ไม่มีผู้เชี่ยวชาญจริงๆ
คนพูดไม่ได้ทำแต่คนทำจริงๆ ไม่เคยพูด แล้วมันขาดการสื่อสารกัน เราอยู่บริหารสาขานี่ลำบากใจมาก
เขาสั่งมาเป็นนามธรรมแต่เราต้องไปทำเป็นรูปธรรม แล้วออกสินค้าตัวใหม่แต่ละตัวไม่เคยถามเรา"
ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแล้วเป็นการวิเคราะห์ถึงปัญหาของธนาคารในหลายแง่หลายมุม
ซึ่งมันมีทั้งปัญหาพื้นฐานของธนาคารเอง การไม่มีทิศทางในการเติบโตที่แจ่มชัด
ปัญหาการเมืองภายในธนาคาร ฯลฯ
แต่ไม่ว่าเบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดจะเป็นเช่นไร สิ่งที่คนทั่วไปกำลังจับตาดูก็คือ
หลังจากที่ศึกครั้งใหญ่ยุติลงไปแล้ว ด้วยการลาออกของไชยทัศน์และผู้บริหารมืออาชีพทั้งหลายจากนี้ไปธนาคารศรีนครจะเป็นอย่างไร?
ธนาคารศรีนครในยุคนี้ก็ยังเป็นศรีนครของ "เตชะไพบูลย์" อยู่นั่นเอง
เพียงแต่เป็นศรีนครในยุคของ "ลูกๆ" อุเทนโดยแท้ เพราะผู้ที่มาแทนไชยทัศน์ก็คือวิวัฒน์
เตชะไพบูลย์ น้องชายแท้ๆ ของวิเชียร ผู้ที่คุมฝ่ายการค้าและต่างประเทศก็คือ
วิรมิตร น้องชายคนที่สี่ของวิเชียรเป็นผู้ดูแล โดยที่วิรุฬน้องชายอีกคนยังรั้งตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แม้ว่าเขาแทบจะไม่ได้มาทำงานที่ธนาคารก็ตาม
ศรีนครหลังจากที่เกิดเรื่องภายในจนเป็นข่าวครึกโครมมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
ทำให้ธนาคารอยู่ในสภาพที่บอบช้ำอย่างหนัก ดัชนีที่ชี้วัดได้อย่างชัดเจนที่สุดตัวหนึ่งก็คือราคาหุ้นซึ่งตกมาตลอด
(โปรดดูล้อมกรอบ หุ้นศรีนครในรอบ 5 ปี)
แต่ขณะเดียวกัน ผู้บริหารธนาคารท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า หากเขาเป็นอุเทน
เขาก็อาจจะทำเช่นที่อุเทนทำมาตลอดหลายปีมานี้ เพื่อให้ธนาคารอยู่รอด การเอาขั้วอำนาจใด
ขั้วอำนาจหนึ่งออกไปเสีย เพื่อแก้ปัญหาการบริหารที่คัดคานอำนาจกัน หรือไม่รู้ว่าใครกันแน่ที่
"ใหญ่" ในศรีนครเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ แม้ว่าจะเป็นการหักหาญน้ำใจใครบางคน
หรือเกิดข้อครหาที่ว่า "พี่รังแกน้อง" ทั้งเพื่อศรีนครหรือจะเพื่อความอยู่รอดของลูกๆ
ก็ตาม ทางเลือกแบบนี้ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีสุดสำหรับคนวัย 75 ที่ต้องการรักษาทุกสิ่งทุกอย่างให้มั่นคงที่สุดเช่นยุคที่ตนเองเคยสร้างและสะสมมา
แต่การกระทำเช่นนี้ก็คือการท้าทายครั้งสำคัญสำหรับอุเทนและลูก เพราะต่อไปนี้พวกเขาจะไม่มีคำแก้ตัวต่อไปแล้ว
สำหรับผลประกอบการที่ตกต่ำสำหรับธนาคารศรีนคร ต่อไปนี้จะเป็นภาระของอุเทนและวิเชียรเพียงลำพังที่จะพัฒนาธนาคารต่อไป
โดยไม่มีบรรดาน้องๆ ของอุเทนมายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป
อำนาจการบริหารทั้งหมดมา "รวมศูนย์" อยู่ในคนกลุ่มเดียวกันแล้ว
จึงไม่มีข้ออ้างในลักษณ์นั้นอีกต่อไป
อุเทนนั้นประกาศว่าเขาจะเป็นผู้รับผิดชอบผลประกอบการที่เกิดขึ้นต่อผู้ถือหุ้น
เขาอาจจะผิดตรงที่วางมือเร็วเกินไป ซึ่งถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องกลับเข้ามาดูแลอีกครั้งหนึ่ง
สิ่งที่อุเทนพยายามทำสิ่งแรกก็คือบอกให้บริษัทในเครือหรือบรรดาลูกหลานที่ว่ากันว่าเกี่ยงกันไม่ค่อยจะยอมเอามาคืน
ซึ่งไม่ใช่เพราะธุรกิจไปไม่ได้ แต่เพราะความคิดว่า "ทีลื้อไม่คืน แล้วอั๊วทำไมต้องคืน"
ให้รีบๆ เอาเงินมาคืนธนาคารเสีย ซึ่งเท่าที่ "ผู้จัดการ" ทราบก็มีเงินจำนวนหนึ่งที่กลับคืนมาได้เหมือนกัน
เรื่องที่สองก็คือ อุเทนพยายามจะดึงลูกค้าเก่าแก่ที่คบค้ากันมาช้านานให้กลับมาใช้บริการธนาคารให้มากขึ้น
ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะทำได้ในแวดวงที่จำกัดมากเพราะสังคมธุรกิจมันเปลี่ยนไปมาก
พ่อค้าที่ผูกพันกันมานานกับอุเทนก็ล้มหายตายจากไปมาก รุ่นลูกก็กลายเป็น "ตี๋ผูกไท"
กันไปหมดแล้ว สไตล์การทำธุรกิจเปลี่ยนไปจากคนรุ่นพ่อโดยสิ้นเชิง ความคิดในเรื่องนี้ของอุเทนนับว่าเป็นการหวนกลับไปหาความสำเร็จที่มันเป็นอดีตไปแล้ว
และการที่อุเทนลงมาดูด้านการบริหารมากขึ้นนั้น ในแง่หนึ่งมันก็ดีตรงที่มีคนมาจี้มากขึ้น
แต่ในหลายกรณีมันกลับทำให้ลูกๆ "อารมณ์เสีย" เพราะในกรณีที่วิเชียรหรือวิรมิตรตัดสินใจไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว
แต่ลูกน้องซึ่งเป็นคนเก่าแก่สมัยคุณอุเทนกลับนำเรื่องนั้นวิ่งตรงไปหาอุเทน
ซึ่งบางครั้งอุเทนก็เชื่อลูกน้องเก่า ก็เลยทำให้บางคนถือโอกาสใช้ช่องทางนี้ให้เกิดประโยชน์
มันทำให้การบริหารสับสนพอสมควร และดูเหมือนกับว่าฝ่ายจัดการนั้นไม่มีอำนาจแท้จริง!!!
บางคนถึงกับวิจารณ์อุเทนแรงๆ ว่า เมื่อก่อนความสำเร็จของธนาคารอาจจะเกิดขึ้นเพราะน้ำมือของอุเทน
เขาจึงเป็น ASSET ที่สำคัญยิ่ง แต่หากเขากลับมาใช้ความคิดเก่าๆ วิธีการเดิมๆ
ที่ไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปข้างหน้าของธนาคาร เขาก็อาจจะกลายเป็น
"LIABILITY" ไปในที่สุด
ส่วนวิเชียรซึ่งปกติเป็นนายธนาคารที่ LOW PROFILE อยู่แล้ว ช่วงที่ผ่านมาก็ยิ่งเงียบ
แต่อย่างไรก็ตาม เขาได้เปิดเผยแนวทางในการพัฒนาธนาคารกับ "ผู้จัดการ"
ว่า
"สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือธนาคารที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง ซึ่งผมรู้สึกว่าธนาคารที่ทำกำไรมากที่สุดไม่ใช่ธนาคารที่ใหญ่ที่สุด
อาจจะเป็นธนาคารขนาดกลาง ผมอยากก้าวไปข้างหน้าช้าๆ แต่มั่นคง ไม่ใช่ก้าวโตแล้วพลัดหกล้ม
สิ่งที่จะเน้นต่อไปคือเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ การปล่อยสินเชื่อจะต้องได้สัดส่วนกับเงินฝาก"
นั่นคือหลักการกว้างๆ แต่ในทางปฏิบัตินั้นวิเชียรเล่าถึงแผนการในระยะหกเดือนหลังของปี
2533 ไว้หลายเรื่องซึ่งสรุปได้ว่า
"ในด้านของการบริหารสาขานั้น เราได้เรียกผู้จัดการสาขามาพบทั้งหมด
เพราะต้องการให้ส่วนกลางบอกอย่างไรก็ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน จะมีหน่วยงานที่เน้นในเรื่องการวิเคราะห์สินเชื่อมากขึ้น
เพื่อประสานงานกับสำนักงานใหญ่มากขึ้น จะมีการขยายอำนาจของระดับเขตและระดับฝ่ายมากขึ้น
และมีการสับเปลี่ยนโยกย้ายผู้จัดการสาขาที่อยู่เกิน 4 ปี มีการเพิ่มบุคลากรด้านสินเชื่อตามสาขา
การย้ายก็จะมีเป็นช่วงๆ ไม่ใช่ว่าเป็นการลงโทษ แต่ต้องการทำให้เป็นระบบ แล้วบางสาขาเราต้องการให้ทำธุรกิจครบวงจร
ให้มีแผนกอิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ต แล้วพวกเครื่องไม้เครื่องมือก็จะจัดหาให้ทันสมัยมากขึ้น
สาขาไหนที่มันล้าสมัยมากก็จะจัดให้ก่อน"
จุดใหญ่ของวิเชียรก็อยู่ที่การจัดการด้านสาขาที่เขาไม่เคย "แตะ"
มาก่อน เขาจึงต้องการ "กุมสภาพ" ให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งคนที่เป็นตัวเชื่อมก็คือวิวัฒน์
ปัญหาในระยะต่อไปก็อยู่ที่ปฏิกิริยาของบรรดา "ผู้จัดการสาขา" ที่จะ
"รับได้" กับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะการสับเปลี่ยนโยกย้ายแม้ว่าจะมีเป็นระลอก
แต่การที่จะออกมาเป็นระบบว่าครบ 4 ปีต้องย้ายนั้น นั่นหมายความว่าจะต้องเป็นการโยกย้ายกันครั้งใหญ่ซึ่งจะต้องเสี่ยงต่อเรื่องขวัญและกำลังใจอยู่พอสมควร
ผู้จัดการสาขาคนหนึ่งสะท้อนความรู้สึกว่า
"ด้านหนึ่งมันเป็นการสลายฐานอำนาจเดิม เป็นการล้างมาเฟียที่อยู่ในที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป
ข้อดีก็คือย้ายออกจากพื้นที่จะได้รู้ว่านั่งทับอะไรไว้บ้าง แต่ในแง่ธุรกิจอาจจะมีผลกระทบบ้าง
เพราะลูกค้าส่วนหนึ่งคงไม่ชอบเพราะความไม่คุ้นเคย อีกด้านหนึ่งภายในสาขาทุกคนก็ต้องปรับตัว
แต่อาจจะดีก็ได้จะได้มีอะไรใหม่ๆ"
ในด้านการบริหารภายในจากนี้ไปคงมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากพอสมควรทีเดียว นั่นก็ขึ้นอยู่กับความกล้าหาญในการแก้ปัญหาให้ตรงจุดและความมีสายตาอันยาวไกลของผู้บริหารปัจจุบันอย่างแท้จริง
ส่วนภาพพจน์ภายนอกก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย เพราะธุรกิจธนาคารนั้นมันเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของประชาชน
ผู้บริหารธนาคารจะต้องเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียว
โครงสร้างความเป็นเจ้าของธนาคารศรีนครในปัจจุบันกว่า 30% ถูกถือโดยบริษัทลงทุน
10 บริษัท ซึ่งทั้ง 10 บริษัทใช้วิธีถือหุ้นแบบข้ามกันไปข้ามกันมา (โปรดดูแผนผังการถือหุ้นของธนาคารศรีนคร)
จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมทะเบียนการค้าของ "ผู้จัดการ" พบว่าบริษัทนพกิจรวมทุนเดิมชื่อบริษัทอุเทนสมบัติ
เป็นบริษัทส่วนตัวของอุเทนและลูกๆ ส่วนบริษัทเตชะไพบูลย์นั้นเป็นบริษัทของตระกูล
ซึ่งมีอุเทนและน้องๆ ร่วมกันถือหุ้น (ดูรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทเตชะไพบูลย์)
บริษัทนี้สุเมธเป็นผู้ดูแลโดยที่อุเทนไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ส่วนอีก 8 บริษัทนั้นไม่ค่อยได้ระบุชื่อคนในเตชะไพบูลย์มากนั้น
ส่วนใหญ่เป็นชื่อของทนายความที่ถือหุ้นแทนให้กับคนของเตชะไพบูลย์ นั่นคือส่วนใหญ่นั้นเป็นของอุเทนและลูกๆ
โดยที่มีหุ้นของพี่ๆ น้องๆ อยู่บ้าง แต่ "ผู้จัดการ" ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีเท่าไหร่
"พวกน้องๆ คุณอุเทนหลายคนขายหุ้นทิ้งไปแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่คุณอุเทนก็รับซื้อขึ้นมา"
เตชะไพบูลย์คนหนึ่งเล่า
ดังนั้นทุกวันนี้อาจจะกล่าวได้ว่า ศรีนครนั้นผู้ถือหุ้นใหญ่จริงๆ คือคุณอุเทนและลูกๆ
ซึ่งตรงนี้ผู้ใหญ่ของธนาคารชาติเองก็เพิ่งทราบเมื่อไม่นานมานี้
ถึงตรงนี้ ปริศนาหลายประการก็คลี่คลายลง นั่นก็คือจริงๆ แล้วอุเทนตั้งใจว่าธุรกิจธนาคารนั้นจะเก็บเอาไว้ให้ลูก
ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับตระกูลเตชะไพบูลย์คนหนึ่งยืนยันว่า สมบัติส่วนกลางหรือที่คนจีนเขาเรียกกันว่า
"กงสี" ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่สมัยพ่อโดยที่ยังไม่เคยแบ่งตามเจตนาดั้งเดิมของ
"ท่านพ่อ" นั้น จริงๆ แล้วถูกแบ่งมาหลายปีแล้วโดยที่พี่ใหญ่ได้ไปหนึ่งส่วน
น้องๆ ได้ไปคนละหนึ่งส่วน ซึ่งก็คือหุ้นที่กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ แต่แบ่งหน้าที่การดูแลกันไป
แล้วอุเทนนั้นก็คงคิดว่าตนเองก็ส่งเสียและเกื้อกูลน้องมามากพอสมควรแล้ว ธนาคารก็ขอไว้ให้ลูกเถอะ
แน่นอน อุเทนย่อมจะคิดว่าใครคุมธนาคาร คนนั้นก็คุมตระกูล แต่อุเทนจะคุมได้นานแค่ไหนนั้นยากนักที่ใครจะบอกได้
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธนาคารศรีนครซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจในเครือและการปล่อยกู้ที่มีปัญหานั้น
ธนาคารชาติต้องการให้ล้างบัญชีเสีย (WRITE OFF) โดยการเพิ่มทุนและให้มีการบริหารกันอย่างมืออาชีพจริงๆ
เสียที
การที่ธนาคารศรีนครประกาศเพิ่มทุนอีก 3,000 ล้าน เมื่อสองปีก่อนก็คือสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าเป็นบันไดขั้นแรกที่ธนาคารชาติได้กำกับให้
"เราได้เรียกคุณอุเทนมาคุย และเราก็บอกให้เพิ่มทุนอีก 3 พันล้านบาท
เพราะนี่คือการเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
ซึ่งเรายังต้องการจะเห็นธนาคารยังเติบโตต่อไป เขาก็คงต้องหาทุกวิถีทางไปชวนคนอื่นมาร่วมทุน
ถ้าไม่มาร่วมอย่างน้อยตัวเองก็รับไป แต่โดยรวมแล้วส่วนรวมได้ประโยชน์จริงๆ
เราต้องการจุดเพิ่มทุนนี้ก่อน มันเป็นเรื่องความมั่นคง หากเกิดความเสียหายขึ้น
ผู้ที่ควรจะได้รับความเสียหายก็คือผู้ถือหุ้น" เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารชาติพูดให้ฟัง
อย่างไรก็ตามอุเทนประกาศในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าจะเพิ่มทุนเพียง
1,500 ล้านบาท เพราะไม่ต้องการให้เป็นภาระต่อผู้ถือหุ้นเดิมมากนักและธนาคารก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินมากขนาดนั้น
วิเชียรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า
"ความจริงเราจะเพิ่มทุนเท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่ความจำเป็น จากต้นปีเราเรียกทุนเพิ่ม
325 ล้านบาท จากเดิม 1,300 ล้านบาท ก็เป็น 1,625 เรายังใช้เงินตรงนี้ไม่หมดเลย
การเพิ่มทุนอีก 1,500 ล้านบาท ก็คือเพิ่มการขยายสินเชื่อได้อีก 12.5 เท่าก็หมื่นกว่าล้านก็เหลือเฟือ
การเพิ่มทุนมันต้องค่อยเป็นค่อยไปจะเพิ่มอย่างกะทันหันไม่ได้และ 1,500 ล้านบาทนี้เรายังไม่ได้ระบุว่าจะชำระเมื่อไหร่
ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ"
ขณะที่บางคนกลับรู้สึกว่าที่ยังเพิ่มทุนมากไม่ได้เพราะถึงเพิ่มก็ไม่มีคน
"กล้าเสี่ยง" ซื้อหุ้นของธนาคารที่เขายังไม่มั่นใจในอนาคต
ในด้านธนาคารชาตินั้น "แหล่งข่าว" ระดับสูงกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่ากำลังจับตาดูการแก้ปัญหาของ "ผู้บริหารปัจจุบัน" ของธนาคารศรีนครอย่างใกล้ชิด
และถ้าหาก "ผู้บริหารปัจจุบัน" ทำไม่ได้นั้น แนวทางอื่นๆ ก็ถูกเตรียมกันไว้อย่างไม่เป็นทางการ
ทางหนึ่งที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งของธนาคารชาติมีแนวคิดว่าน่าจะนำ "บริษัทเตชะไพบูลย์"
ซึ่งเป็นบริษัทของตระกูล ซึ่งสุเมธเป็นผู้ดูแลอยู่ เข้ามาด้วยกำลังเงินของกลุ่มสุเมธที่สะสมมานานจากธุรกิจเหล้า
มีลูกหลานบางคนที่มี VISION ในการทำธุรกิจมากกว่า และนำเอามืออาชีพยกทีมเข้ามาสังคายนาการบริหารภายในใหม่
วิธีที่จะเข้าไปก็คือตามซื้อ "หุ้นเพิ่มทุน"
แต่เป็นที่ทราบกันแล้วว่าหากมีสุเมธ ก็ต้องไม่มีอุเทน!!!
และถ้าสุเมธจะเข้าไปจริงๆ ก็คงจะต้องมีการเจรจากันครั้งใหญ่ เพราะธนาคารนั้นเป็นที่มั่นสุดท้ายของอุเทน
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงมันก็จะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และงานนี้คงดูไม่จืดจริงๆ
อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายก็ปรารถนาที่จะให้ "ผู้บริหารปัจจุบัน" แก้ปัญหาโดยฉับไวและนำพานาวาธนาคารศรีนครให้รอดพ้นมรสุมไปได้
โดยไม่ต้องกลับไปสู่วังวนของปัญหา "ศึกสายเลือด" อีกต่อไป
เพราะสิ่งที่จะบอบช้ำที่สุดก็คือตัว "ธนาคารศรีนคร", ผู้ถือหุ้นทั่วไป
ตลอดจนพนักงานในธนาคาร และที่สุดก็คือชื่อเสียงของสถาบันการเงินของไทย
"ผมไม่เคยคิดเลยว่าพวกเตชะไพบูลย์จะมีวันนี้ ผมยังจำได้สมัยก่อนวันเช็งเม้งพวกเตชะไพบูลย์ไปไหว้บรรพบุรุษพร้อมหน้าพร้อมตากัน
พอตกเย็นก็กินข้าวกัน มาวันนี้ต่างคนต่างเดินกันคนละทาง" คนสกุลเตชะไพบูลย์คนหนึ่งกล่าว
สิ่งที่อุเทนเสียใจที่สุดในชีวิตก็อาจจะอยู่ตรงที่ไม่สามารถทำตามคำสั่งเสี่ยของบิดาได้ทั้งหมด
ธุรกิจนั้นเติบใหญ่ได้ แต่ความสามัคคีกลับเป็นเรื่องยากเย็นยิ่ง
"สำหรับคนๆ หนึ่ง อุเทนทำได้ดีที่สุดแล้วภายใต้เงื่อนไขสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เล่นกันทุกรูปแบบ
มีปัจจัยแทรกซ้อนมากมาย บรรดาน้องๆ โตขึ้นก็ต่างจิตต่างใจ จะไปโทษคุณอุเทนคนเดียวคงไม่ถูกนัก
ทุกคนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น หรืออาจบางทีฟ้าลิขิตไว้เช่นนั้น"
ผู้ใหญ่ในวงการธุรกิจที่คุ้นเคยกับตระกูลนี้ดีแสดงความเห็น
วันนี้ตระกูลเตชะไพบูลย์แต่ละคนต่างก็มีอาณาจักรของตัวเอง ซึ่งไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน
เป็นเรื่องของทางใครทางมัน
เรื่องราวของ "เตชะไพบูลย์" ณ วันนี้คงสงบราบเรียบไปสักพักหนึ่ง
ตราบใดที่อุเทนในฐานะพี่ใหญ่ยังมีบารมียิ่งใหญ่อยู่ และตราบใดที่ทุกคนในตระกูลยังไม่ก้าวล้ำอาณาจักรของกันและกัน
โดยเฉพาะอาณาจักร "ศรีนคร" ที่อุเทนคิดว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่สำคัญที่สุดของตระกูล
แต่เมื่อใดก็ตามหาก "ศรีนคร" ถูกท้าทายด้วยการรุกล้ำของ "เตชะไพบูลย์"
ด้วยกันเอง เมื่อนั้นศึกสายเลือดครั้งใหม่ระหว่างพี่น้อง อาหลานต้องเริ่มต้นอีกครั้งอย่างหลีกไม่ได้แน่นอน!