บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อินเตอร์เนชั่นแนลทรัสต์แอนด์ไฟแนนซ์ จำกัด หรือไอทีเอฟ
เป็นสถาบันการเงินเก่าแก่อายุยาวนานเกือบ 18 ปี ผู้ก่อตั้งคือ "จ่าง เม่ง
เทียน" นักธุรกิจชาวฮ่องกงเจ้าของธนาคารโอเวอร์ซีทรัสต์หรือโอทีบี
แต่จ่าง เม่ง เทียนก็ประสบคราวเคราะห์ โอทีบีประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน
จนถูกธนาคารชาติของฮ่องกงเข้ายึดกิจการ ผลครั้งนี้มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไอทีเอฟ
ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้าไปกอบกู้สถานะ ส่งคนของทางการเข้าไปบริหารและฟ้องล้มละลาย
ธานี บรมรัตนธน ลูกชายจ่าง เม่ง เทียน ซึ่งเป็นผู้บริหารไอทีเอฟในขณะนั้น
เป็นจำนวนเงิน 430 ล้าน
ปัจจุบันผู้ถือหุ้นของไอทีเอฟมีสองรายคือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินจำนวน
47.74% และธนาคารโอเวอร์ซีทรัสต์ที่ธนาคารชาติฮ่องกงเข้าไปยึดแล้ว จำนวน
48.97% ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนหลังการเพิ่มทุนล่าสุด 811.45 ล้านบาท
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ สถานะของไอทีเอฟดีขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจดี และไอทีเอฟก็มีเก้าอี้โบรกเกอร์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งกำลังคึกคักอย่างต่อเนื่อง ทำรายได้ให้แก่ไอทีเอฟไม่น้อย อีกทั้งมีสาขาถึง
6 สาขา และยังมีคอนโดมิเนียมที่ทำไว้แต่ดั้งเดิมขายทำกำไร ล่าสุดยังสร้างตึกไอทีเอฟทาวเวอร์ที่สีลมเข้าไปอีก
ล่าสุดผลประกอบการในปี 2532 กำไรสะสม 17 ล้านบาท สินทรัพย์ 3,900 ล้านบาท
ไอทีเอฟจึงกลับมาเป็น "สาวเนื้อหอม" อีกครั้งหนึ่ง
ไพศาล กุมาลย์วิสัย เคยกล่าวขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยว่า
ทางกองทุนเพื่อการฟื้นฟูไม่มีนโยบายที่จะถือหุ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุด แต่จะปล่อยหุ้นในรูปใดก็ขึ้นอยู่กับราคาซื้อที่พอใจ
ตุลาคม 2530 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สิโนทัยเจรจาขอร่วมทุน แต่ไม่สำเร็จเพราะตกลงราคาหุ้นไม่ได้
หลังจากนั้นก็มีการเจรจาขอซื้อหุ้นจากสถาบันการเงินเอกชนอีกหลายแห่ง คือ
ซีพี ธนาคารเอเชีย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเครดิตลีอองเนส์ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวมรายล่าสุดคือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ก็ขอร่วมวงไพบูลย์กับเขาด้วย
แต่ทุกรายก็มีอันต้องถอยทัพกลับไปหมด เหตุเพราะตกลงเรื่องราคาหุ้นที่จะซื้อขายกันไม่ได้
กรณีตัวอย่างก็เช่น ซีพีเคยเสนอซื้อในราคาหุ้นละ 9.50 บาท ขณะที่กองทุนต้องการขายในราคา
15 บาท
ด้วยปัจจัยที่ผลประกอบการของไอทีเอฟดีขึ้นและเป็นที่หมายปองของสถาบันการเงินหลายแห่ง
ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไอทีเอฟจึงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จน ณ วันที่
20 มิถุนายน 2533 ราคาปิดที่ 57.50 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ
ครั่นคร้ามถอยหนีไปหมดแล้ว
ปัญหาก็คือว่า หากเป็นไปตามนโยบายของทางการที่ว่าไม่ต้องการเข้าไปถือหุ้นในสถาบันการเงินที่เข้าไปฟื้นฟูในระยะยาวและแหล่งข่าวในธนาคารชาติเองก็กล่าวว่า
ทางโอทีบีมีเจตจำนงที่จะขายหุ้นในส่วนของตน เพราะปัจจุบันก็ไม่มีเครือข่ายธุรกิจอะไรในไทย
ผู้ถือหุ้นในไอทีเอฟก็จะต้องเปลี่ยนมือไปอย่างแน่นอนเพียงแต่ว่าเป็นใคร ด้วยวิธีการใดและเมื่อใดเท่านั้น
ที่สำคัญราคาซื้อขายที่กองทุนพอใจควรจะเป็นเท่าไรไม่มีใครรู้
คำถามที่ค้างคากันอยู่คือ ผู้บริหารกองทุนจะตัดสินอย่างไรก็ว่ากันมา แต่ยังไม่มีคำตอบ
ผู้สันทัดกรณีในตลาดหลักทรัพย์กล่าวว่า พีอีของไอทีเอฟจัดว่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินด้วยกันคือประมาณ
78 ราคาหุ้นที่น่าจะตกลงกันได้น่าจะอยู่ราว 25-30 บาทเท่านั้น อีกทั้งสำทับว่าคนที่จะเข้าไปฟื้นฟูต่อจากทางการก็ต้องลงแรงลงเงินอีกเป็นจำนวนมาก
ไม่ใช่ทุกอย่างจะดีไปเสียทั้งหมดตามความเข้าใจของนักลงทุน
แต่ที่ราคาหุ้นของไอทีเอฟขึ้นเอาๆ จนปาเข้าไปเกือบๆ จะ 60 บาทนั้น ผู้สันทัดกรณีท่านเดิมได้ส่ายหัวด้วยความมึนงง!