เบรอะตาญ

โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

เพื่อนคู่หนึ่งอยู่แวร์ซายส์ (Versailles) หากมีบ้านหลังที่สอง ซึ่งภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า residence secondaire อยู่ในแคว้นเบรอะตาญ (Bretagne) เป็นบ้านพักผ่อนในชนบทที่ครอบครัวมักไปพักยามว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อน เพื่อนพูดเสมอว่าอยากให้ไปเที่ยว และแล้ววันหนึ่งก็ได้รับคำเชิญอย่างจริงจัง จึงเป็นที่มาของการไปเที่ยวเบรอะตาญ

เบรอะตาญและนอร์มองดี (Normandie) มีดินแดนติดต่อกัน เป็นสองแคว้นเพื่อนบ้านที่ "เขม่น" กันในที นอร์มองดีถูกพวกนอร์มองด์ (Normand) หรืออีกนัยหนึ่งพวกไวกิ้งที่มาจากทางเหนือ ครอบครอง แถมยกทัพไปรบชนะอังกฤษที่เฮสติ้งส์ (Hastings) และตั้งตนเป็นกษัตริย์อังกฤษ เป็นเหตุให้เกิดความยุ่งเหยิง ในการสืบบัลลังก์และการอ้างสิทธิในบัลลังก์ ซึ่งกันและกัน จนเกิดสงครามอันยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งเรียกกันว่าสงคราม 100 ปี ส่วนเบรอะตาญเป็นที่มั่นสุดท้ายของชาวเซลต์ (celte) หรืออีกนัยหนึ่งชาวโกลัวส์ (Gaulois) ในการต่อต้านการรุกรานของกรุงโรม จนเป็นที่มาของการ์ตูนสุดคลาสสิก ชุด Asterix ของฝรั่งเศส ชาวเบรอะตาญซึ่งในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า เบรอะตง (Breton) ยึดมั่นในความเป็นชาวเซลต์อย่าง เหนียวแน่น ในแต่ละปีจะมีการรวมตัวเฉลิมฉลองในแคว้นของตนเองและในกรุงปารีสด้วย

อันที่จริง แต่เดิมชื่อของอังกฤษคือ Bretagne ชาวอังกฤษเรียกว่าชาวเบรอะตง (Breton) และชาวเบรอะตงนี่แหละที่อพยพ มายังอะมอริค (Armorique) ในภายหลังคือแคว้นเบรอะตาญ (Bretagne) ของฝรั่งเศสนั่นเอง จึงเปลี่ยนไปเรียกอังกฤษว่า กรองด์ เบรอะตาญ (Grande Bretagne) เบรอะตาญใหญ่

สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างเบรอะตาญและนอร์มองดีคือ การที่ต่างฝ่าย ต่างอ้างสิทธิ์ในมงต์-แซงต์-มิเชล (Mont-Saint-Michel) เกาะกลางทะเลที่มีโบสถ์และหมู่บ้านอันลือชื่อ ยามน้ำทะเลลด จะสามารถเดินข้ามจากแผ่นดินใหญ่ไปเกาะ ได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อชาวเบรอะตงพบปะกับชาว นอร์มองด์ มักถามว่ามงต์-แซงต์-มิเชลเป็น ของใคร ชาวนอร์มองด์ผู้เป็นแขกรับเชิญจึงตอบว่า เป็นของนอร์มองดี ชาวเบรอะตง เจ้าบ้านคงขี้เกียจถกเถียง จึงได้แต่ยิ้ม

นั่งรถไฟความเร็วสูงที่เรียกว่า เตเจเว (TGV-train a grande vitesse) ที่สถานีมงต์ปาร์นาส (Gare Montparnasse) เพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง จึงไม่แปลกใจ ที่ย่านมงต์ปาร์นาสจะเต็มไปด้วยร้านขายแครป (crepe) ที่เรียกว่า (creperie) ร้าน ที่มีผู้คนคับคั่งคือ Creperie Josselin ซึ่งอยู่บนถนนที่มาจากสถานีรถไฟใต้ดิน Edgar Quinet

เพื่อนมารับที่สถานีรถไฟเมืองวิเทร (Vitre) ไปยังบ้านที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 7 กิโลเมตร เลี้ยวจากถนนใหญ่เข้าถนนเล็กๆ ที่ตัดผ่านบ้านเพียงไม่กี่หลัง ทางซ้าย เป็นหนองน้ำอันเกิดจากการสร้างเขื่อน บ้าน เพื่อนตั้งตระหง่านในบริเวณกว้างขวาง จน ต้องอุทานว่า นี่เป็นชาโต (cheteau) นี่นะ แล้วก็เป็นชาโตจริงๆ เมื่อบังเอิญไปเห็นแผนที่ของบริเวณนี้ในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง

ด้านหน้าคฤหาสน์เป็นสนามกว้าง ด้านหลังเป็นแนวป่า มีลำธารเล็กๆ อยู่ด้านข้าง สะพานไม้เล็กๆ พาดข้ามไปยัง "เกาะ" น้อย บริเวณนี้เองที่นกกะยางผู้โดดเดี่ยวจะมายืนหาปลาทุกเช้า บางครั้งจะมาเยือนตอนบ่ายด้วย หากเพียงได้ยินเสียงมนุษย์เดินเข้าไปใกล้ คุณนกกะยางก็โผบินหนีทันที ข้างหนึ่งของสนามเป็นอาคาร สองชั้นยาวตามแนวสนาม สวยทีเดียว ในอดีตเป็นโรงม้า ปัจจุบันให้คนเช่าอยู่ ด้านข้างอีกด้านหนึ่งเป็นไร่ของเพื่อนบ้าน สุดสนามด้านหน้าเป็นแนวป่าสูงชันขึ้น เพื่อนขับรถพาเข้าแนวป่า แล้วกลับรถขับกลับลงมา เห็นตัวบ้านโดดเด่น

เพื่อนเป็นพวก aristocrate ทั้งคู่ ฝ่ายชายเกิดในวิเทร มีบรรพบุรุษสืบย้อนไปถึงโธมัส มอร์ (Thomas More) เสนาบดีอังกฤษผู้เขียนหนังสือเรื่อง Utopia อันลือลั่น และถูกกษัตริย์เฮนรีที่ 8 (Henry XVIII) ของอังกฤษสั่งประหารเพราะไม่เห็นด้วยกับการหย่าร้าง และโธมัส มอร์นี่เองที่เป็นตัวเอกของภาพยนตร์เรื่อง The man for all seasons เพื่อนพาไปชมหนังสือของวาติกันที่รับรองว่าโธมัส มอร์ เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความสุข (beatification) อันเป็นขั้นตอนแรกของการประกาศเป็นนักบุญ ในภายหลัง และโธมัส มอร์ได้เป็นนักบุญในปี 1935

ด้านหน้าของชาโตเป็นสถาปัตยกรรม ยุคศตวรรษที่ 18 ส่วนด้านหลังค่อนข้าง "ดิบ" หน้าต่างเล็กๆ แคบๆ ซึ่งเป็นแบบยุคกลาง ชั้นล่างเป็นห้อง ซักรีดและเก็บของ ส่วนที่พักอาศัยอยู่ชั้นสองและสาม ความน่าอยู่ของชาโตแห่งนี้คือแสงสว่างที่เข้าทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่ทึมทึบเหมือนชาโตโดยทั่วไป ห้องนั่งเล่นอยู่ด้านหน้า เจ้าบ้านใช้เป็นห้องรับแขก ด้วย ประตูกระจกคั่นห้องรับแขกเล็กซึ่งเจ้าบ้านปิดไว้ ได้เห็นแต่ชุดรับแขกและโคมระย้าขนาดใหญ่ ประตูอีกด้านหนึ่งเปิด สู่ห้องอาหารที่หรูเริ่ด ซึ่งไม่ได้ใช้ประจำวันเช่นกัน นอกจากต้อนรับแขกสำคัญด้วยว่า ติดกับห้องครัวนั้นมีห้องรับประทานอาหาร "เล็ก" ที่มีขนาดใหญ่ทีเดียว ตั้งโต๊ะยาวที่สามารถนั่งได้ 8-10 คน

เพื่อนพาไปห้องพักซึ่งเปิดหน้าต่าง สู่ธารน้ำด้านข้าง จึงได้ยลนกกะยางยามเช้า ในห้องมีอ่างล้างหน้าด้วย ส่วนห้องอาบน้ำ อยู่ติดกัน อ่างอาบน้ำตั้งลอย ส่วนห้องน้ำอยู่แยกออกไป โถส้วมเป็นแบบโบราณ ที่แปลกคือคอห่านอยู่ด้านหน้า ชักโครกเป็นสายโซ่ ที่น่ารักในบ้านนี้คือสวิตช์ไฟโลหะกลมๆ ที่เคยเห็นเมื่อสมัยเด็ก ในบ้านเต็มไปด้วยเครื่องเรือนเก่าและภาพเขียนที่เป็นมรดกตกทอดมาจากทั้งสองฝ่าย

เพื่อนทั้งสองมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่หรูหราฟู่ฟ่า ทำงานบ้านเองและทำอาหารเองเหมือนชาวฝรั่งเศสทั่วไป ไม่มีสาวใช้แต่อย่างไร หากมีคนสวนที่มาตัดหญ้าให้

ช่วงที่ไปนั้นเป็นต้นเดือนกันยายน ซึ่งชาวฝรั่งเศสถือว่าการพักร้อนสิ้นสุดลงแล้ว การเดินทางจึงสะดวกขึ้น เพราะไม่ต้องแย่งชิงขึ้นรถไฟหรือรถติดตามทางหลวง หากการไปเบรอะตาญหรือนอร์มองดี ต้องตรวจสอบการพยากรณ์อากาศเพราะฝนมักตก และอากาศจะเริ่มหนาวเย็น ถึงกระนั้นก็เลี่ยงฝนไม่พ้น และอากาศหนาวจริงๆ และฝนตกประปรายทุกวัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.