|

สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ บทบาทที่ข้ามพ้นบริบทธุรกิจของชนินท์ ว่องกุศลกิจ
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
แหล่งศึกษาร่มเย็นเด่นริมสายชล เราทุกคนรักดุจหัวใจ ปลูกยูงทองไว้เคียงโดมมุ่งประโลมโน้มใจรัก ธรรมจักรนบบูชาเทิดไว้ เหลืองแดงแสงธรรมศาสตร์วิไล ปกแผ่ไปในทุกทาง สัญลักษณ์ดีเด่นเห็นกระจ่าง อย่าจืดจางรักร่วมทางกันไป....
พระราชนิพนธ์เพลง ยูงทอง
เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พระราชนิพนธ์เพลงยูงทอง ที่พระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงดังกึกก้องไปทั่วทั้งพื้นที่บริเวณโดยรอบภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน "วันธรรมศาสตร์"เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมาเหมือนเช่นที่ได้ดำเนินมาเป็นประจำทุกปี
ขณะที่ความเคารพรักสถาบันศึกษาและการเชิดชูสัญลักษณ์แห่งธรรม ซึ่งประกอบส่วนเป็นประหนึ่งเข็มทิศที่โน้มนำให้เกิดเป็นสำนึกแห่งพันธกิจของผู้คนที่ได้ผ่านกระบวนการผลิตสร้างทางปัญญาของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ดูจะเป็นภาพสะท้อนทางสังคมที่เปี่ยมด้วยความเข้มขลังไม่น้อยเลย
งาน "วันธรรมศาสตร์" ซึ่งมีสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นแม่งานหลักในการจัดงานภายใต้แนวความคิด "ธรรมศาสตร์ 76 ปี รู้รัก สามัคคี" ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ดูจะเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดประการหนึ่งของความพยายามที่จะแสดงออกซึ่งการมีส่วนร่วมรับผิดชอบทางสังคมดังกล่าว
และสอดรับกับวิสัยทัศน์ของสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ในยุคสมัยที่ นริศ ชัยสูตร เป็นนายกสมาคมฯ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยการพัฒนาสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ให้เป็นองค์กรที่มีเกียรติ และพร้อมมีส่วนร่วมในการชี้นำ แสดงความคิดเห็นในประเด็นที่มีความสำคัญต่อประเทศ
ความพิเศษของงาน "วันธรรมศาสตร์" ในปีนี้ ยังอยู่ในห้วงเวลาที่สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ปรับปรุงอาคารที่ทำการสมาคมฯ ในโอกาสครบรอบ 30 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารที่ทำการสมาคมธรรมศาสตร์ พร้อมปลูกต้นยูงทองไว้ที่หน้าอาคารสมาคม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2523 อีกด้วย
"อาคารที่ทำการสมาคมฯ เป็นอาคารที่มีมิติในทางสถาปัตยกรรม หากแต่การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ภายในอาคารบางส่วนควรได้รับการปรับปรุงให้มีความทันสมัยและสามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมการอบรม สัมมนา และการประชุมทางวิชาการ ซึ่งจะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจของสมาคมในการรับใช้สังคมยิ่งขึ้น" ชนินท์ ว่องกุศลกิจ อุปนายกสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการปรับปรุงอาคาร บอกผู้จัดการ 360 ํ
สำหรับผู้คนในแวดวงธุรกิจ ชื่อของชนินท์ ว่องกุศลกิจ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบ้านปู ซึ่งเป็นบรรษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่ของไทยและกำลังก้าวไปสู่การเป็นบรรษัทพลังงานในระดับนานาชาติ ย่อมนับเป็นชื่อของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงโดยไม่ต้องสงสัย
แต่สำหรับบทบาทที่ชนินท์ดำเนินอยู่ในสมาคมธรรมศาสตร์ฯ อาจให้ภาพและมิติมุมมองที่แตกต่างออกไปไม่น้อยเช่นกัน
ชนินท์ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับประชาคมธรรมศาสตร์ หากด้วยฐานะของศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ และคำเชื้อเชิญที่ได้รับจากสถาพร กวิตานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ (2533-2544) ชนินท์ถือเป็นสมาชิกที่มีบทบาทและส่วนร่วม ในกิจกรรมของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานคนหนึ่งเลยทีเดียว
และเมื่อนริศ ชัยสูตร อดีตนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ (2549-2551) เข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ในช่วงต้นปี 2550 คณะกรรมการสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ภายใต้การนำของนริศ ชัยสูตร ก็มีชนินท์เข้าร่วมในตำแหน่งอุปนายกและบริหาร องค์กร โดยมีภารกิจหลักด้านหนึ่งอยู่ที่การปรับปรุงอาคารที่ทำการสมาคมฯ ซึ่งได้ก่อสร้างและใช้งานมานานถึง 30 ปี โดยยังไม่เคยมีการซ่อมแซมใหญ่มาก่อน
ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการปรับปรุงอาคาร ชนินท์มีภารกิจที่ต้องประสาน กับภาคส่วนอื่นๆ ของประชาคมธรรมศาสตร์ฯ ไล่เรียงไปตั้งแต่การระดมทุนที่จะสะท้อนให้เห็นการมีส่วนร่วมของมวลสมาชิก
ขณะเดียวกัน ชนินท์ต้องรับหน้าที่ในการตรวจงานอย่างละเอียดในหลากหลายขั้นตอน เพื่อให้อาคารที่ทำการสมาคมฯ ไม่เพียงแต่จะมีภาพลักษณ์สดใสหลังการปรับปรุง หากยังต้องคงความเข้มขลัง เพื่อสะท้อนเกียรติประวัติที่ยาวนานของ "ธรรมศาสตร์" ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานศึกษาชั้นนำของประเทศที่ผลิตบุคลากรจำนวนมากมายออกมารับใช้สังคมด้วย
"พวกเราต้องทำงานกันอย่างระมัดระวังและรอบคอบมากๆ แม้กระทั่งเรื่องของการเลือกสี ซึ่งบางครั้งสีที่เราได้เลือกไว้แต่แรก เมื่อมาอยู่บนพื้นผิวของตัวอาคารจริงๆ อาจจะฉูดฉาดหรือจัดจ้านเกินไป เราก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ ขณะเดียวกันรายละเอียดบางประการซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงจะพบปัญหาในการใช้งานจริงหรือในชั้นของการตรวจรับงาน"
แต่บทบาทของชนินท์ย่อมมิได้ถูกจำกัดให้ดำเนินอยู่เฉพาะการกำกับดูแลวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่สมาคมฯ ได้ทำไว้กับบริษัทคู่สัญญา ซึ่งดูจะเป็นมิติในเชิงกายภาพเท่านั้น หากแต่ชนินท์ยังได้รับมอบหมายให้ต้องบริหารจัดการและบูรณาการกลไกทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนสำนักงานอำนวยการ เพื่อเป็นหลักในการดำเนินกิจกรรมของสมาคมฯ ในอนาคตด้วย
ภายใต้วิสัยทัศน์ของสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งวางเข็มมุ่งไปสู่การพัฒนาให้เป็นองค์กรที่มีแผนงานและการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน และสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว ประสบการณ์และระบบวิธีคิดที่ได้สั่งสมเคี่ยวกรำมาจากการประกอบธุรกิจ ของชนินท์ ย่อมถือเป็นปัจจัยที่มีประโยชน์ต่อสมาคมธรรมศาสตร์ฯ อย่างยิ่ง
"การมาเป็นคณะกรรมการสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ยากกว่าการบริหารธุรกิจเยอะ" ชนินท์เอ่ยขึ้นอย่างอารมณ์ดี แต่ข้อสรุปสั้นๆ ดังกล่าวย่อมมีนัยความหมายที่กว้างไกลไม่น้อย
เพราะในสมาคมธรรมศาสตร์ฯ พันธกิจและวิสัยทัศน์ที่วางอยู่เบื้องหน้า ไม่สามารถวัดผลเป็นรูปธรรมของตัวเลขกำไรขาดทุน หรือแม้กระทั่งการตัดสินบนพื้นฐานของความคุ้มค่าการลงทุนเหมือนองค์กรธุรกิจทั่วไปได้
ขณะเดียวกันภายใต้องค์กรที่คณะกรรมการแต่ละท่านล้วนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยทัศนะแห่งจิตอาสา การแสวงหาจุดร่วมระหว่างหมู่มวลคณะกรรมการแต่ละฝ่ายและการ นำเสนอกิจกรรมให้สอดคล้องและตรงกับความประสงค์และสนใจของหมู่มวลสมาชิกในแต่ละระดับ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย
กระนั้นก็ดีความยากหรือง่าย คงมิใช่ประเด็นที่ชนินท์วิตกกังวลมากนักในห้วงปัจจุบัน แม้เขาจะตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้อย่างดีก็ตาม และดูเหมือนมิติในจังหวะก้าวของชนินท์ กำลังข้ามพ้นไปสู่บริบทอื่นที่มีความลุ่มลึกอย่างยิ่ง
"ปัจจุบันเราอาจเห็นบริษัทมากมายดำเนินกิจกรรมทางสังคม ในรูปของ CSR ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่นักธุรกิจและนักบริหารในยุคใหม่ ควรจะก้าวออกมาบอกกล่าวและร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่สำคัญ ในฐานะของการร่วมรับผิดชอบต่อการพัฒนาของสังคมด้วย"
ทัศนะของชนินท์ดังกล่าวสอดรับกับวิสัยทัศน์ของสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ที่มุ่งหมายให้สมาคมฯ เป็นศูนย์กลางของสมาชิก ในการกระจายการรับรู้ข่าวสารควบคู่กับการพัฒนา และสนับสนุนกิจกรรมทั้งทางด้านการศึกษาและสังคม ผ่านกระบวนการของการสร้างเครือข่ายศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่องและส่งเสริมให้ศิษย์เก่ารุ่นใหม่ๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น
กรณีดังกล่าวดูจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะจากตัวเลขสถิติในปัจจุบัน สมาคมธรรมศาสตร์ฯ มีสมาชิกอยู่ประมาณ 6 พันคนเท่านั้น ขณะที่ในแต่ละปี ธรรมศาสตร์ มีบัณฑิตสำเร็จการศึกษามากกว่า 4-5 พันคน ซึ่งการขยายฐานสมาชิกและความต่อเนื่อง ในการดำเนินกิจกรรมไปสู่เป้าหมายและทิศทางที่พึงประสงค์ ดูจะเป็นกรณีที่คณะกรรมการสมาคมฯ ให้ความสำคัญไม่น้อยเลย
"สมาคมฯ กำลังแสวงหาหนทางที่เป็นไปได้สำหรับการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการจัดทำระบบทะเบียนสมาชิก เพื่อให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกคนมีสถานะเป็นสมาชิกของสมาคมธรรมศาสตร์ฯ โดยอัตโนมัติ แต่ยัง ติดขัดในเรื่องรายละเอียดและวิธีการ"
แม้คณะกรรมการสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ชุดที่มีนริศ ชัยสูตร เป็นนายกสมาคมฯ กำลังจะครบวาระและจะต้องมีการสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหารสมาคมในช่วงต้นปี 2554 นี้ ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะมีชื่อของชนินท์เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการชุดใหม่ของสมาคมธรรมศาสตร์ฯ อีกหรือไม่
แต่สิ่งที่ชัดเจนในห้วงปัจจุบันก็คือ ชนินท์ ว่องกุศลกิจ ในฐานะอุปนายกสมาคมฯ ฝ่ายบริหารองค์กรได้เริ่มต้นและส่งผ่านภารกิจสำคัญในการพัฒนาสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ให้คณะกรรมการสมาคมฯ ได้ร่วมพิจารณาเพื่อสานต่อแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|