“ไวเบรโต้ แซก” จับแรงบันดาลใจใส่แซกพลาสติก

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

จากวันที่มนุษย์คนหนึ่งนำทองเหลืองมาประดิษฐ์เป็นแซกโซโฟน โลกก็ยอมจำนนต่อเสน่ห์แห่งเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองชิ้นนี้ พร้อมกับข้อกีดกั้นเรื่องราคามานานถึง 169 ปี กว่าที่จะมีมนุษย์อีกคนคิดเอาพลาสติกมาผลิตเป็นแซกโซโฟน เพื่อจุดประกายความหวังที่ทุกชนชั้นจะมีโอกาสรื่นรมย์กับความสุนทรีย์ในการเล่นแซกอย่างเท่าเทียมกัน

เสียงบรรเลงแซกโซโฟนดังเป็นท่วงทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ "ชะตาชีวิต"...

เสียงดนตรีอันแสนอ่อนหวาน นุ่มนวล ฟังดูเซ็กซี่ มีอารมณ์เหงา เศร้า สอดคล้องกับความหมายของคำร้อง ไม่ว่าจะฟังเพียงผิวเผินหรือตั้งใจฟัง สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นมืออาชีพด้านดนตรี คงยากจะแยกออกว่านี่ไม่ใช่เสียงของแซกโซโฟนทั่วไป

นับจากช่วงปี 1840-1841 ที่ชาวเบลเยียมนาม "อดอล์ฟ แซกซ์" ประดิษฐ์เครื่องดนตรี ที่ชื่อ "แซกโซโฟน" ขึ้นมาบนโลก มนุษยชาติก็คุ้นเคยกับภาพและเสียงของแซกทองเหลืองมาโดยตลอด

ทว่า สำเนียงเสียงเพลงที่ได้ยินในวันนั้นดังมาจากแซกอัลโต (Alto) พลาสติกสีขาว ในมือของ "ปิยพัชร์ ธัญญะกิจ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวเบรโต้ จำกัด ผู้ประดิษฐ์แซก พลาสติกสำเร็จเป็นรายแรกของโลก

ความมี "นวัตกรรม" ของแซกพลาสติกนี้อาจการันตีได้ด้วยสิทธิบัตรจากอเมริกา (US Patent) และรางวัลไทยสร้างสรรค์จากสำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD)

"ผมไม่ใช่นักดนตรี" เขาออกตัว

เช่นเดียวกับผู้ชื่นชอบการเป่าแซกหลายคน ปิยพัชร์มีแรงบันดาลใจในการเริ่มเล่น แซกมาจากความลุ่มหลงในเสียงอันนุ่มนวล กระซิบกระซาบ และแผดแผน ดุดัน ที่แปรไป ตามอารมณ์ของผู้เป่า ประกอบกับความประทับใจที่ได้เห็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแซกโซโฟน อันเป็นเครื่องดนตรีที่พระองค์โปรดปรานมากที่สุด และทรงเป่ามานานร่วม 70 ปีนับตั้งแต่พระชนมายุเพียง 13 ปี

ถึงปิยพัชร์จะเป็นเพียงนักแซกโซโฟนมือสมัครเล่น แต่ก็เล่นจริงจังมานานกว่า 10 ปี โดยมีแซกคู่ใจเป็นแซกระดับมืออาชีพ อย่าง "SELMER" 1 ใน 5 แบรนด์แซกโซโฟนที่ดีที่สุดในโลก ณ วันนี้ ราคาแซก SELMER ปี 1954 ของเขาตัวนี้มีราคาสูงถึง 5-6 แสนบาท

ความหลงใหลในเครื่องดนตรีทองเหลืองชิ้นนี้ของปิยพัชร์ จุดประกายความฝันที่อยากเห็นการเล่นแซกโซโฟนแพร่หลาย โดยเฉพาะในหมู่คนไทยและเด็กไทยให้โลดแล่น อยู่ในหัวใจเขา

"น่าเสียดายที่ปัจจุบัน คนไทยและเด็กไทยเล่นแซกกันน้อยลงมาก ทั้งที่เรามีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นนักแซกโซโฟนที่ยิ่งใหญ่และได้รับการยอมรับจากทั่วโลก"

ปิยพัชร์ค้นพบว่า ราคาแซกโซโฟนเป็นข้อจำกัดที่กีดกันโอกาสในการเริ่มเล่นแซกของหลายคน เพราะไม่ใช่เพียงแค่แซกระดับมืออาชีพที่มีราคาสูง แต่แค่แซกอัลโตพื้นฐาน สำหรับผู้เริ่มเล่นหรือนักเรียน ราคาก็เริ่มต้นที่เกือบ 4 หมื่นบาท แม้แต่แซกจีนคุณภาพต่ำก็ยังมีราคาร่วม 2 หมื่นบาท

"เพราะอะไรแซกจึงมีราคาแพง" เขาตั้งคำถามให้ตัวเอง ก่อนจะพบกับคำตอบว่า เหตุที่แซกมีราคาแพงเนื่องจากเป็นงานเคาะเชื่อมทองเหลือง ซึ่งล้วนเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความประณีตและความเชี่ยวชาญสูง

ยิ่งต้องใช้แรงงานที่มีทักษะและประสบการณ์สูง แซกโซโฟนก็ยิ่งมีราคาแพง นี่ก็ทำให้ SELMER และแบรนด์จากฝรั่งเศสมีราคาแพง เพราะช่างทำแซกที่ฝรั่งเศสเขาเคาะและเชื่อมทองเหลืองกันมาหลายชั่วอายุคน นานร่วม 170 ปี ค่าจ้างผลิตจึงมีราคาแพง

เมื่อทางแก้ปัญหาคือการกำจัดแรงงานออกจากกระบวนการผลิต ก็เกิดปัญหาต่อมาว่า "แล้ววิธีการผลิตควรจะเป็นแบบใด?"

ปิยพัชร์เลือกวิธีขึ้นรูปโดยใช้เครื่องจักรฉีด ปัญหาที่ต้องคิดต่อไปก็คือจะต้องใช้วัสดุใดมาแทนทองเหลืองที่ไม่สามารถขึ้นรูปด้วยการฉีด เขาตัดสินใจใช้โพลิเมอร์ หรือพลาสติก เพราะเชื่อว่าในเมืองไทยน่าจะพอหาโรงงานที่ทำโมลด์และฉีดขึ้นรูปแบบนี้ได้

วิธีการผลิตแซกด้วยการฉีดขึ้นรูปนับเป็นวิธีผลิตแบบใหม่ นี่ก็เป็นที่มาที่ทำให้แซกไวเบรโต้ได้รับการยกย่องว่าเป็น "นวัตกรรม" และได้รับ US Patent ในฐานะ Mold Injection Saxophone... หาใช่ความแปลกใหม่จากการเลือกใช้วัสดุพลาสติกแทนทองเหลือง

"เจ้าหน้าที่อเมริกาที่จดสิทธิบัตรให้เรา แทบจะไม่เชื่อว่าสิทธิบัตรนี้จะไม่ได้อยู่ในอเมริกา เพราะคนอเมริกันเล่นแซกอย่างแพร่หลายมานานนับร้อยปี แต่จะไม่มี ใครคิดและทำเลยหรือ ขณะที่คนไทยเพิ่งเริ่มเล่นแซกกันเมื่อไม่กี่ปีนี้ เขาว่ามันน่าเจ็บใจ" เขาเล่าอย่างภูมิใจ

อันที่จริง ปิยพัชร์ไม่ใช่คนแรกที่ประดิษฐ์แซกจากวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ทองเหลือง สำเร็จ

ราว 50 ปีก่อน มีชาวอังกฤษคนหนึ่งสร้างแซกด้วยวิธีเทหล่ออะคริลิกเป็นตัวบอดี้ โดยส่วนประกอบอื่นยังคงใช้ทองเหลือง ตัวบอดี้อะคริลิกไม่สามารถทนแรงสั่นสะเทือนได้นานจึงแตกร้าวจนเป่าไม่ได้ ส่วนแซกอะคริลิกที่ยังเป่าได้มาถึงทุกวันนี้ ก็มีราคาอยู่ที่ 6 ล้านบาท ในฐานะ "ของหายาก" ไม่ใช่เพราะเสียงดี

ขณะที่ 6 ปีก่อน สวัสดิ์ เดชพระคุณ อาจารย์ประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในเชียงราย ได้ประดิษฐ์แซกโซโฟนไม้สำเร็จ โดยที่รูปลักษณ์ สำเนียงเสียง ตำแหน่งนิ้ว และฟังก์ชันการกดใกล้เคียงกับแซกทองเหลืองมาก ทว่าก็ยังไม่สมบูรณ์นัก ขณะที่ราคาเริ่มต้นที่ 1.3 หมื่นบาท (แซกไม้แบบอัลโต)

หลังจากชัดเจนว่าต้องหันหัวเรือมาทางพลาสติกและวิธีผลิตแบบฉีดขึ้นรูป ไวเบรโต้ต้องเผชิญกับคลื่นลมและมรสุมหลายครั้งกว่าที่แซกพลาสติกจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เริ่มต้นจากความท้าทายที่ว่าพลาสติกจะเป่าออกมาเป็นเสียงแซกได้หรือไม่?

ก่อนทุ่มทุนมหาศาล ปิยพัชร์จึงทดลองขึ้นรูปพลาสติกผลิตตัวต้นแบบ (prototype) ออกมาก่อน เพื่อไล่เช็กโน้ตและหาระยะของรูฝาปิด และทดลองเป่าจนได้เสียงเป็นที่น่าพอใจ

จากขั้นตอนต้นแบบก็มาถึงการผลิต จริง โดยเริ่มต้นที่กระบวนการออกแบบ ซึ่งกินเวลานานถึง 2 ปีจากที่เคยคิดว่าน่าจะใช้เพียง 6-8 เดือน ทั้งนี้เพราะมีรายละเอียด เป็นส่วนประกอบชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากถึง 300 กว่าชิ้น และทุกชิ้นต้องดีไซน์เป็นไฟล์ 3D ก่อนผลิตจริง และทุกชิ้นต้องทดสอบ และตรวจสอบความสมบูรณ์ นอกจากนี้ก็ยังต้องดีไซน์โมลด์อีกกว่า 20 ตัว สำหรับการขึ้นรูปแซกทั้งตัว

"รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ทำให้เราต้องใช้เวลาและหัวสมองในการออกแบบ เยอะมาก พูดตอนนี้เหมือนง่ายๆ แต่ตอนนั้นทุกอย่างยังอยู่ในอากาศ มันยากที่ใครจะนึกภาพออกมาเป็นแบบนี้"

ทั้งนี้ หัวใจในดีไซน์ของแซกไวเบรโต้ มีเพียง 3 ประการ คือ เป็นแซกที่ราคาไม่แพง เป็นแซกที่มีวิธีการเล่นและฟังก์ชันนิ้วในการควบคุมโน้ตเหมือนแซกทองเหลือง เพื่อจะได้ให้พื้นฐานกับเด็กที่เริ่มหัดเล่นแซกได้ถูกต้อง และที่สำคัญคือ ต้องมีเสียงเหมือน แซกทองเหลือง... อาจฟังดูง่ายแต่ปิยพัชร์ยืนยันว่าทำยากทุกข้อ

"เราไม่ได้ต้องการเทียบกับเสียงแซกทองเหลืองตัวละ 3-4 แสนบาท เพราะรู้ว่าชาตินี้เราอาจไม่มีวันทำได้ เราเพิ่งทำแซกมาแค่ 5-6 ปี แต่ฝรั่งเศสเขาทำมา 169 ปี จะเอาประสบการณ์ที่ไหนไปสู้ ไม่ใช่แค่ผม ผมว่าคนไทยทุกคนไม่มีสิทธิ์คิดว่าจะไปทำได้ดีกว่าเขา หรือคิดได้ แต่ผมไม่เชื่อว่าจะทำได้"

ดูเหมือนปิยพัชร์จะค่อนข้างถ่อมตัว เพราะจากคลิปวิดีโอเปรียบเทียบเสียงระหว่าง แซกไวเบรโต้กับ SELMER แซกทองเหลืองคู่กายของเขาที่อัพโหลดอยู่ใน YOUTUBE พบว่า มีความแตกต่างเล็กน้อยมาก

ไม่เพียงวิธีการผลิตแบบใหม่ที่ทำให้แซกไวเบรโต้ได้ US Patent ดีไซน์ในหลายๆ จุดก็นับเป็นสิ่งใหม่ที่อาจขอจดลิขสิทธิ์ (Copyright Design) ได้ แต่มีเพียง 2 จุด ที่ปิยพัชร์ขอจดลิขสิทธิ์เพื่อประกาศความเป็นครั้งแรกของโลกของไวเบรโต้ คือ คอแซกโซโฟนดีไซน์ใหม่ที่มีฟังก์ชันและกลไกไม่ต่างจากแซกทองเหลือง และตัวยึดและหลอด 6 เหลี่ยมในส่วนของก้านกลไกที่ถือเป็นวิธีการยึดก้านกลไกแบบใหม่

ในการออกแบบรูปลักษณ์ของแซก เขาให้ไอเดียกว้างๆ กับนักออกแบบว่า หาก แซกทองเหลืองเป็นเสมือนรถเต่า แซกไวเบรโต้ก็ต้องมีอารมณ์ไม่ต่างจากรถบีเทิล (Beetle) รุ่นใหม่ ที่มีทั้งความคลาสสิกแต่ก็ดูโมเดิร์นกิ๊บเก๋โดนใจคนรุ่นใหม่

นอกจากลุคที่ทันสมัยในตัวบอดี้ของแซกไวเบรโต้ ก้อนยางซิลิโคนที่มีสีสันต่างๆ ที่ใช้เป็นฝาปิดรูของแต่ละคีย์ก็สร้าง ความโดดเด่นให้พลาสติกได้ไม่น้อย โดยอันที่จริง ก้อนยางนี้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาอันเนื่องจากฝาปิดรูจากพลาสติกไม่สามารถปิดสนิทได้ในทุกคีย์ ซึ่งก้อนยางนี้ถูกออกแบบให้เป็นฝาลอยสามารถขยับได้ทุกองศาเมื่อกระทบขอบหลุม

เก๋ไก๋กว่านั้นคือ ก้อนยางสีเหล่านี้ถูกออกแบบให้สามารถถอดเปลี่ยนได้ง่ายๆ โดยไวเบรโต้ผลิตก้อนยางสีสันต่างๆ จำหน่ายให้ผู้ซื้อเลือกเปลี่ยนอารมณ์ของแซกได้ตามสีที่ชอบ ...ปิยพัชร์มั่นใจว่านี่น่าจะเป็นอีกกิมมิคที่มัดใจวัยรุ่นได้

ขณะที่ความยุ่งยากในการดีไซน์ส่วนต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทอย่างมาก ความยากในการหาดีไซเนอร์ก็เป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทและอดทนอย่างสูง เพราะกว่าที่จะหาคนออกแบบได้ ปิยพัชร์ถูกดีไซเนอร์ปฏิเสธมาแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ราย โดยทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ทำไม่ได้ ทำไปทำไม ของเดิมก็ดีอยู่แล้ว..."

การค้นหาพาร์ตเนอร์ในกระบวนการอื่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักสำหรับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ต้องใช้ทักษะในการจินตนาการสูงและมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะแยะ โดยซัปพลายเออร์รายสำคัญ ได้แก่ Bayer ที่เป็นผู้จัดหาเม็ดพลาสติกให้ปิยพัชร์ ซึ่ง Bayer มีโรงงานทำเม็ดพลาสติกอยู่ที่มาบตาพุด

มีเหตุผลหลายประการที่เขาเลือกใช้วัสดุ จากบริษัทยายักษ์ใหญ่จากยุโรปรายนี้ เช่น องค์ความรู้ด้านพลาสติก และความช่วยเหลือในการ ทดสอบวัสดุ แม้กระทั่งอยากได้สีขาวเฉดใหม่อย่างที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ Bayer ก็สามารถผสมขึ้นมาให้ได้ โดยตั้งเป็นโค้ดว่า "ขาวไวเบรโต้"

อีกคุณูปการในการเลือกใช้พลาสติก ของ Bayer ได้แก่ การตลาด ด้วยตรา "Bayer Material Science" ที่ข้างกล่องแซกไวเบรโต้จะเป็นเสมือนเครื่องหมายการันตีคุณภาพและความสะอาดจากสารปนเปื้อนให้กับแซกของไวเบรโต้ ซึ่งจะช่วย ให้เจาะตลาดในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

หลังจาก 2 ปีกับการดีไซน์ ปิยพัชร์ ใช้เวลาอีกกว่า 4 ปีกว่าที่แซกพลาสติกฉบับสมบูรณ์แบบจะสามารถผลิตออกมาสำเร็จและพร้อมจำหน่าย

จากแซกทองเหลืองทั่วไปที่มีน้ำหนัก 2.5 กก. ราคาเริ่มต้นที่เกือบ 4 หมื่นบาท แซกพลาสติกของไวเบรโต้หนักเพียง 800 กรัม โดยราคาเริ่มที่ 9 พันบาท

"ราคาที่ถูกกว่าแซกทองเหลืองจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าถึงเครื่องดนตรีชิ้นนี้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะมือใหม่หัดเล่นและนักเรียน เราไม่ได้ตั้งใจให้แซกเราไปสู้กับแซกทองเหลืองตัวละแสน เราแค่อยากให้เด็กหรือผู้ใหญ่ที่อยากเล่นไม่ต้องเสียเงินหมื่นก็เริ่มเป่าแซกและเรียนรู้การเล่นแซกได้แล้ว"

ปัจจุบันไวเบรโต้แซกมีเพียงประเภทอัลโต มีอยู่ 3 รุ่น รุ่นแรก A1 ผลิตจากวัสดุโพลิคาร์บอเนต (PC) กับ ABS ราคา 9 พันบาท รุ่นสอง A1S ผลิตจาก PC ล้วน ซึ่งจะมีความหนาแน่นกว่า ราคา 1.1 หมื่นบาท ทั้งนี้ ทั้งสองรุ่นอยู่ระหว่างขั้นตอนการผลิตล็อตแรก 250 ตัว และถูกจองไว้หมดแล้ว โดย A1 จำนวน 200 ตัว จะถูก ส่งไปร้านดีลเลอร์ในต่างประเทศ 110 ตัว และส่งให้ลูกค้าในประเทศ 90 ตัว ขณะที่ A1S อีก 50 ตัวจะกระจายให้ดีลเลอร์และลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเช่นกัน

สำหรับรุ่นสามอยู่ระหว่างการทดสอบ ได้แก่ A1SG ที่พิเศษตรงใยแก้วอันเป็นวัสดุประกอบเพื่อเพิ่มความหนาแน่นและประกายมุกให้กับตัวบอดี้ โดยตัวน็อตชุบทอง 24K และตัวบอดี้ลงรักปิดทองเพื่อความเป็นไทย ขณะที่ก้อนยางซิลิโคนก็ชุบสีทอง ราคาตั้งไว้ที่ 3 หมื่นบาท โดยปิยพัชร์ตั้งเป้าให้เป็นตัวท็อปหรือเรือธงของบริษัท ในเรื่องของการสร้างแบรนด์และความเชื่อมั่นให้บริษัทมากกว่ายอดขาย

"เราไม่ได้กะว่ามันจะขาย แต่มันจะสวยมาก และเสียงดีมาก จะเป็นตัวที่สามารถ "ซัด" กับแซกแพงๆ ได้อย่างไม่กลัวกันเลย" เขาเล่าถึงความหวังนี้ด้วยรอยยิ้ม

โครงการต่อไปที่ปิยพัชร์วางไว้คือการผลิตแซกประเภทเทเนอร์ ซึ่งใหญ่กว่าอัลโต 20% โดยใช้องค์ความรู้บางส่วนจากที่เคยทำมาแล้วใช้ต่อยอดด้านการออกแบบและผลิต จากนั้นก็มองว่าจะผลิตแซกชนิดโซปราโน แซกที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งจะมีความยากในการดีไซน์และการผลิตเพิ่มขึ้นอีก

"ถามว่า ไวเบรโต้จะอยู่ได้ด้วยอะไร ไวเบรโต้จะอยู่ได้ก็ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น ทุกวันนี้ผมเริ่มคิดแล้วว่า แซกเทเนอร์จะต้องมีอะไรบ้างที่มีความพิเศษ และได้ชื่อว่า "เป็นครั้งแรก" รับรองว่าโลกจะต้องให้ความสนใจอีกครั้ง"

นานกว่า 6 ปี กว่าที่ปิยพัชร์จะได้เริ่มเก็บเกี่ยวดอกผลแห่งความอดทนและความทุ่มเท ทั้งแรงกาย แรงใจ แรงสมอง และเงินทุนร่วม 20 ล้านบาท ...แว่วมาว่า หากปีหน้า เขายังผลิตสินค้าออกมาขายไม่สำเร็จ ธนาคารอาจจะยึดบ้านเขาไปเลยก็ได้

สิ่งที่ทำให้ปิยพัชร์ยืนหยัดมาจนถึงจุดความสำเร็จ ณ วันนี้ นอกจากคำปลอบใจที่ว่า "ยิ่งเป็นความคิดแปลกใหม่มากก็ยิ่งต้องอดทนมาก" เขาก็ยังมีเสียงแซกและการเป่าแซกที่เป็นเสมือนเพื่อนผู้คอยให้กำลังใจและคลายความเครียดให้เขาได้

"จริงๆ แล้ว 6 ปีที่ผ่านมา งานหลักของผมคือการแก้ปัญหา ตื่นเช้ามาต้องคิดก่อนเลยว่าวันนี้จะแก้จุดไหนเรื่องอะไร มันมีมาให้แก้ทุกวัน ถามว่าวันนี้เสร็จยัง ก็พร้อมออกจำหน่ายแล้ว แต่มันก็ยังมีอะไรให้ต้องแก้ไขและพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ความยากที่สุดคือจุดนี้"

เพราะฝันอยากเห็นการเล่นแซกแพร่หลายในทุกสังคม บวกกับวิธีคิดที่มองว่าสิ่งประดิษฐ์ที่ได้ชื่อว่านวัตกรรมควรจะยังประโยชน์แก่คนทั่วไป และไม่อาจยึดติดว่ามันจะเป็นของเราตลอดไป ปิยพัชร์จึงไม่เกรงหากวันหนึ่ง แซกพลาสติกของเขาจะถูกจีนหรือชนชาติใดก๊อบปี้

มิใช่เพราะมั่นใจว่าวิธีการผลิตยาก เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีอะไรยากเกินกว่าที่คนจีนจะก๊อบปี้ไม่ได้ แต่เพราะวัตถุประสงค์ แรกเริ่มของการประดิษฐ์แซกพลาสติกของเขา คือเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการเป่าแซกได้มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ

"ใครจะไปรู้ได้ว่า บางทีนักเป่าแซก ระดับโลกอย่าง "โกลเวอร์ วอชิงตัน" หรือ "จอห์น โคลเทรน" ที่เสียชีวิตไปแล้ว อาจจะกลับมาเกิดเป็นลูกคนขับแท็กซี่ในบ้านเราก็ได้ เมื่อผมสร้างแซกราคาไม่แพงสำเร็จ โอกาสที่เราจะหา "พวกเขา" เจอก็มีมากขึ้นด้วย"

...ฟังดูตลก แต่ก็สะท้อนแรงบันดาลใจและความหวังลึกๆ ของนักประดิษฐ์คนไทยคนนี้ได้ดีทีเดียว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.