|
น้ำท่วม น้ำแล้ง ปัญหาเดียวกัน
โดย
พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ประเทศไทยจะต้องผจญกับปัญหาน้ำท่วม ตามมาด้วยแผ่นดินถล่มเป็นประจำทุกปี และช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมก็ต้องเจอกับปัญหาน้ำแล้งที่ร้อนระอุไปทั่ว ตกลงประเทศไทยที่เคยขึ้นชื่อว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีช่วงที่อยู่ได้อย่างพอเพียงประมาณ 6 เดือนเท่านั้น
น้ำท่วมปี 2553 หลายแหล่งข่าวระบุว่าเป็นครั้งที่วิกฤติที่สุดในรอบ 30 ปี นักปกครอง นักวิชาการออกมาอ้างสาเหตุกันยกใหญ่ บ้างว่าเป็นเพราะการตัดไม้ทำลายป่า บ้างก็ว่าเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง บ้างก็ว่าเป็นเพราะ การก่อสร้าง พัฒนา และตัดถนนมากเกินไป ถ้าจะประมวลผลวิเคราะห์สภาพความเป็นจริงโดยรวมแล้ว ปัญหาน้ำเป็นผลมาจากสาเหตุทุกอย่างรวมกัน
น้ำท่วมและน้ำแล้งมิได้เป็นสถาน การณ์ที่อยู่ตรงข้ามกัน แต่เป็นเหตุที่คืบคลานตามกันมา เช่นเดียวกับฟ้าแลบและฟ้าร้อง บทความนี้พยายามจะชี้ให้เห็นว่า หลายๆ สาเหตุมีปัจจัยร่วมกันและก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นกงเกวียนกำเกวียน
สายน้ำ สายเลือดของคนไทย
สายน้ำซึ่งเป็นสายเลือดของคนไทย ก่อให้เกิดก้อนเนื้อหรือพื้นที่ลุ่มน้ำถึง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไร่นา เรือกสวน และป่าไม้ ถ้าเราดูแม่น้ำลำธารแต่เพียงภายนอก เราเห็นลำน้ำ ริมฝั่งน้ำ สิ่งก่อสร้างริมฝั่ง เราจะเห็นภูมิประเทศที่สวยงาม แต่ในทาง ธรรมชาติจริงๆ แล้ว สายน้ำนอกจากจะไหลอยู่บนดินแล้ว ยังไหลอยู่ใต้ดินด้วย สายน้ำมิได้หยุดอยู่เพียงแค่สองฝั่งคลอง แต่ยังไหลแทรกซึมแผ่กระจายไปสู่ชั้นดินชั้นหินใต้ผิวดินด้วย จากที่สูงไปสู่ที่ต่ำหรือ จากความดันสูงไปสู่ความดันต่ำ จนแห้งเหือดไป นักวิชาการจึงเรียกพื้นที่ราบที่อยู่ในขอบข่ายรับน้ำของแม่น้ำว่า พื้นที่ลุ่มน้ำ
พื้นที่ลุ่มน้ำมีความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ในทางระบบนิเวศยังทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นดินและสายน้ำ รวมทั้งซึมซับน้ำและกักเก็บน้ำไว้ด้วย เมื่อมีน้ำมากก็กักเก็บไว้ในดินในหินใต้ดิน เมื่อมีน้ำแล้งพื้นดินแห้ง น้ำใต้ดินก็ซึมออกมา กล่าวคือ พื้นที่ลุ่มริมน้ำตามธรรมชาติจะมี ความสำคัญในการปรับสมดุลของน้ำมากและน้ำน้อย หรือน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ด้วย
แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ล้วนกำเนิด มาจากเทือกเขาสูง เวลาน้ำหลากกระแสน้ำ จึงไหลแรงและเร็วตามแนวลาดเขาลงมาพัดพาเอาหินดินทราย กิ่งไม้ต้นไม้มาตามกระแสน้ำ พื้นที่ที่อยู่ในแนวหุบเขา พื้นที่ราบเชิงเขา พื้นที่ลุ่มสองฝั่งแม่น้ำจึงเสี่ยงต่ออุทกภัยน้ำท่วมฉับพลัน ดินไหล ดินถล่ม บ้านเรือนถูกน้ำซัดทำลาย ถ้าหนีไม่ทันผู้คน ก็เสียชีวิตไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เมื่อมาถึงภาคกลาง น้ำไหลช้าลง จะค่อยๆ เอ่อล้นพื้นที่ลุ่ม ทำความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก และที่อยู่อาศัยเป็นบริเวณกว้าง เมื่อมาถึงเมืองสำคัญที่หนาแน่นอย่างกรุงเทพฯ ก็ต้องคำนึงถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของชุมชนเป็นสำคัญ
น้ำ เพื่อทุกสิ่ง แต่ควบคุมไม่ได้
พื้นที่ราบลุ่มน้ำภาคกลางใช้น้ำมาก ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม กิจกรรมของเมืองที่หนาแน่นไปด้วยพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย ตลอดจนการท่องเที่ยว สนามกอล์ฟ รีสอร์ต โดยเฉพาะพื้นที่ราบน้ำท่วม ถึงใกล้สองฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ราบน้ำท่วมถึงนี้ ในอดีตเคยเป็นพื้นที่โล่งใช้ในการเพาะปลูก ข้าวเป็นหลัก ซึ่งสามารถรองรับน้ำท่วมถึงได้ดี เมื่อสูญเสียพื้นที่ไปเพื่อกิจกรรมอื่นโดยเฉพาะสิ่งก่อสร้าง จึงต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดน้ำท่วม และน้ำแล้ง
กิจกรรมมากมายเหล่านี้ นอกจากจะใช้น้ำมาก ยังก่อให้เกิดน้ำเสีย ในช่วงน้ำแล้งน้ำลดระดับลง ก็มักเกิดน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามา ในขณะเดียวกันรัฐก็ต้องคำนึงถึงการเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าอีกด้วย
เมื่อมีความต้องการใช้น้ำในกิจกรรม แทบทุกอย่าง การบริหารจัดการน้ำจึงต้องอาศัยการบูรณาการ การประสานงาน การ สื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงานรัฐ และกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างๆ นอกจากนั้นน้ำที่เกิด ขึ้นตามธรรมชาติของวงจรน้ำก็ปรวนแปรไป ป่าไม้ถูกทำลาย ทางไหลของน้ำถูกกีดขวาง ด้วยถนนและสิ่งก่อสร้าง ทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุให้การจัดการน้ำเป็นไปอย่างยากเย็น เข็ญใจ รัฐบาลชุดไหนๆ ก็จัดการให้สมประสงค์แก่ผู้คนทุกกลุ่มไปไม่ได้ บางคนได้ประโยชน์และบางคนก็เสียประโยชน์ ส่วนน้ำที่นำมาใช้แล้วกลายเป็นน้ำเสีย ก็ไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบและการประพฤติปฏิบัติของผู้คน ส่วนใหญ่ในเมืองไทยยังไร้ระเบียบวินัย ส่วนการควบคุมทางกฎหมายก็ไม่เข้มงวดด้วยผลประโยชน์และการคอร์รัปชั่น
ปัจจัยที่เหนือการควบคุมอื่นๆ อีก ก็ยังมี เช่น สภาวะลมพายุและการไหลเวียน ของน้ำในมหาสมุทรต่างๆ ความไม่สมดุลของบรรยากาศ (จากการสะสมตัวของก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ มีเทน ฯลฯ) อันเป็น ผลพวงจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงมากขึ้นๆ ของมนุษย์ ความเข้มของรังสีดวงอาทิตย์ที่ ส่องกระทบโลก การเปลี่ยนแปลงของระบบ นิเวศและสภาพพืชพรรณที่ปกคลุมพื้นผิวโลก การขยับตัวของเปลือกโลก (ภูเขาไฟ แผ่นดินไหว) และยังรวมไปถึงความลี้ลับอื่นๆ ที่เรายังค้นคว้าไปไม่ถึง เช่น อิทธิฤทธิ์ ของพญานาค พระพิรุณ เป็นต้น
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน ซึ่งถ้าจะอธิบายก็ต้องสาธยายกันเป็นหนังสือหลายเล่ม หรือ เป็น www เครือข่ายใหญ่ๆ อันหนึ่ง และอาจจะต้องมีการถกเถียงกันแตกแขนงออกไปเป็นหลายทฤษฎี
บรรเทาปัญหาเริ่มได้ด้วย
สิ่งที่เราควรทำตามหลักการ และเราได้มีการวางแผนทำไปบ้างแล้ว (แต่ยังไม่ได้ผล) ได้แก่
การอนุรักษ์ป่าไม้ พื้นที่ต้นน้ำลำธาร พื้นที่ลาดชัน พื้นที่เชิงเขา อันเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่รองรับซึมซับน้ำไว้
การจัดทำโซนนิ่ง การใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและความสมดุลของวงจรน้ำ จัดให้มีพื้นที่โล่งสีเขียวและพื้นที่ชุ่มน้ำ มิใช่ปล่อยให้มีแต่สิ่งก่อสร้างเต็มไปหมด
ควบคุมกิจกรรมการใช้น้ำให้คุ้มค่า และรักษาคุณภาพน้ำไว้ด้วยการควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
บรรเทาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการลดการใช้เชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนสูง เช่น น้ำมัน รวมทั้งก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เช่น ก๊าซมีเทน จากการหมัก เน่า
ท้ายสุดแต่สำคัญที่สุดคือ การสร้าง แหล่งน้ำ เช่น ฝาย เขื่อน เพื่อกักเก็บและรองรับน้ำ ปรับควบคุมกระแสน้ำไหลและปริมาณน้ำจากป่าเขา ตามหลักการแล้ว การสร้างเขื่อนควรจะแก้ปัญหาน้ำได้มากหากมีการวางแผนและระบบจัดการที่รอบ คอบเหมาะสม คำนึงถึงข้อดีข้อเสียทุกๆด้าน แต่ในทางปฏิบัติ เขื่อนขนาดเล็กและขนาดกลางจะเหมาะสมลงตัวต่อการใช้ประโยชน์ได้มากกว่า และสร้างผลกระทบน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เช่นที่เคยปฏิบัติกันมาในทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบัน จริงอยู่เขื่อนสามารถ กักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ในช่วงหน้าแล้ง และกักเก็บน้ำไว้มิให้ท่วมพื้นที่ราบในยามหน้าฝน
ในภาวะที่พื้นที่ป่าหดหายไปเกือบ หมด สภาพภูมิอากาศโลกปรวนแปรสุดขั้วเช่นนี้ก็มักทำให้ระดับน้ำในเขื่อนช่วงหน้าแล้งต่ำกว่าพิกัดต่ำสุดของเขื่อน ส่วนฤดูฝน ก็มีน้ำทะลักไหลบ่าเข้ามาจนระดับน้ำสูงกว่า จุดพิกัดสูงสุดของเขื่อนอีกเช่นกัน ทำให้จำเป็นต้องปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนซ้ำเติม น้ำที่ท่วมอยู่แล้ว แต่กระนั้นการมีเขื่อนก็ดีกว่าไม่มี เพียงแต่การสร้างเขื่อนใหญ่เพิ่มขึ้นอีกจึงไม่น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาอีกต่อไป ถ้าเป็นเขื่อนขนาดเล็กๆ กระจายออกไปน่าจะดีกว่า ความคิดนี้ต้องให้นักวิชาการกลับไปพิจารณาประกอบกับข้อมูลน้ำจริงๆ อีกที อีกแนวคิดหนึ่งคือการสูบฉีดน้ำเข้าไป กักเก็บไว้ในชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดิน ซึ่งจะเป็นไปได้ขนาดไหนนั้น ต้องมีการค้นคว้าวิจัยกันอีกระดับหนึ่ง
สิ่งที่เราควรทำในระยะยาว คือการ วางแผนกลยุทธ์เพื่อให้กิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ สมดุลกับขีดความสามารถ ที่จะให้ได้ของทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน และระบบนิเวศ (หรือฐานทรัพยากรชีวภาพ) ซึ่งเข้าใจว่า สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติฉบับที่ 11
การแก้ปัญหาน้ำในปัจจุบันและอนาคตคงต้องร่วมด้วยช่วยกัน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอาตัวรอดไปก่อน ด้วยการควบคุม ป้องกัน และบริหารจัดการอย่างบูรณาการให้ดีที่สุด โดยจะต้องเอาชนะอุปสรรคที่สำคัญๆ เช่น ความอ่อนแอในการประสานงาน การบันทึก แลกเปลี่ยนข้อมูลและคอร์รัปชั่น อันล้วนเป็นเรื่องตัวบุคคลทั้งสิ้น เรื่องของคน ฟังดูน่าจะจัดการได้ง่าย เพราะไม่ต้องลงทุนมาก แต่เอาเข้าจริง กลับยากแท้หยั่งถึงยิ่งกว่าความลึกของน้ำในมหาสมุทรแอนตาร์กติกเสียอีก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|