|
Facebook Page เครื่องมือช่วยสร้าง Customer Engagement
โดย
ดร.ภิเษก ชัยนิรันดร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
หัวใจการตลาดเชิงประสบการณ์คือ การเปิดโอกาสให้ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์โดยอยู่ในรูปการเข้าร่วม (Customer Engagement) ในกิจกรรมทางการตลาดที่กิจการจัดขึ้น
ทั้งนี้มีความเชื่อพื้นฐานว่าเมื่อลูกค้า เข้ามาสัมผัสกับแบรนด์อย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดความภักดี (Loyalty) อีกทั้งเป็นกระบอกเสียงให้เราในการบอกต่อแบรนด์ ของเราไปยังคนอื่นๆ
การจัดกิจกรรมทางการตลาดที่ให้ลูกค้าเข้าไปมีส่วนร่วมนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ ถือกำเนิดมาเป็นเวลานานแล้ว ผมขอยกตัวอย่างในกรณีทั่วๆ ไปที่หลายๆ แบรนด์ มักนิยมนำกลยุทธ์นี้มาใช้
- ซุปไก่สกัด "แบรนด์" ถือเป็นแบรนด์ที่มีการจัดกิจกรรมให้ลูกค้าเข้าร่วม อยู่ตลอดเวลาและประสบความสำเร็จอย่าง สูง ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายอยู่ที่นักเรียน นักศึกษา เช่น
1. การจัดโครงการ "Brand's Brain International Challenge" เป็นการจัด การแข่งขันเกมพัฒนาสมอง 8 เกม ด้วย กันคือ ครอสเวิร์ดเกม ซุโดกุ ไอคิว เวิร์ด อัพ เอแม็ท คำคม โกลด์ฟิงเกอร์ โฟร์สตาร์ และพิคแอนด์แพร์ จัดที่รอยัลพารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ได้รับความสนใจจากเยาวชน 9,000 คน จาก 700 กว่าโรงเรียนทั่วประเทศ
2. โครงการ "Brand's Grade A: Freshy Power" มอบบัตรชมคอนเสิร์ต "Brand's Presents Tor+ Saksit Vejsupaporn Concert" มูลค่าใบละ 2,000 บาท ฟรี จำนวน 300 ใบ ให้แก่บรรดาเฟรชชี่ปี 1 ที่มีผลการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เทอมใดก็ได้ ที่ได้เกรด A ทุกวิชา
3. โครงการที่จัดมานานถึง 21 ปี คือ "Brand's Summer Camp" จัดร่วม กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีเป้าหมายกวดวิชาเด็ก ม.6 เพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
- กรณี "เซลล็อกซ์" เปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วม ในการออกแบบลวดลายพิมพ์ บนกระดาษทิชชู ในโครงการ "Fancy Tissue Drawing Contest" ซึ่งมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วม 400 ผลงาน
- "โอวัลติน" รุกเข้า ไปจัดกิจกรรมทางการตลาดตามโรงเรียนต่างๆ ในชื่อโครงการ "ดื่มยัง" เพื่อตอกย้ำให้เด็กๆ ดื่มโอวัลตินทั้งตอนเช้า และก่อนนอน โดยทาง "โอวัลติน" จะเข้า ไปยังโรงเรียนต่างๆ และนำเกมสนุกๆ ให้น้องๆ ร่วมเล่น และมีของรางวัลแจกมาก มาย พร้อมนำ "โอวัลติน" มาให้ดื่มฟรี
จากทั้ง 3 กรณีศึกษาจะพบว่า แต่ละแบรนด์ต่างถ่ายทอดคุณค่าผ่านประสบ การณ์ลูกค้าอย่างกรณีซุปไก่สกัด "แบรนด์" เน้นการดื่มแล้วฉลาด การจัดกิจกรรมติวเข้า มหาวิทยาลัยหรือเกมพัฒนาสมอง สะท้อน ไปถึงคุณประโยชน์ของสินค้า ตอกย้ำแก่นักเรียน นักศึกษาว่า หากต้องใช้สมองในการคิดหรือยามที่ต้องอ่านหนังสือหนัก ซุปไก่สกัด "แบรนด์" ช่วยเราได้ ส่วนในกรณี กระดาษ "เซลล็อกซ์" สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกว่ามีลวดลายที่สวยงามจากการคัดสรรจากผู้เข้าประกวดจำนวนมาก และในกรณี สุดท้าย เครื่องดื่ม "โอวัลติน" คุณค่าผ่านประสบการณ์คือ ความแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี ทำให้เด็กๆ มีกำลังกายในการเข้าร่วม ในการแข่งขันเกมสนุกต่างๆ ที่ได้เล่น
คุณจะเห็นว่า คุณค่าที่มอบให้นั้น เกิดจากการกำหนดตำแหน่งทางการตลาด ซึ่งต้องสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย
ลำดับอารมณ์ความรู้สึกในขั้นต่างๆ ที่ได้จากการมีส่วนร่วมของลูกค้า
จากงานวิจัยของ Gallup จะเห็นลำดับขั้นด้านอารมณ์ความรู้สึกเมื่อลูกค้ามีส่วนร่วมกับแบรนด์ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
1) ความเชื่อมั่น (Confidence)- ลูกค้าจะเกิดความเชื่อมั่นจากการเข้าร่วมในกิจกรรมต่อเมื่อพวกเขารู้สึกว่าตัวแบรนด์ นั้นมีคุณค่าและรักษาสัญญา (Brand Promise) ที่ให้ไว้
2) ความซื่อสัตย์และความจริงใจ (Integrity)-ลูกค้ามีความรู้สึกว่า กิจการของคุณนั้นมีความยุติธรรม มีเหตุผล
3) ความภาคภูมิใจ (Pride)-หากสินค้าดี และมีกิจกรรมที่ให้เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง มีสิทธิประโยชน์ที่มอบให้แก่ลูกค้า ที่มีความภักดีเป็นพิเศษ ทำให้ลูกค้าเกิดความภูมิใจ รู้สึกว่าตัวสินค้านั้นสะท้อนความเป็นตัวตน รวมไปถึงรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญของกิจการ พอถึงขั้นนี้ ลูกค้าพร้อม ที่จะบอกต่อสิ่งดีๆ นี้ให้แก่เพื่อนๆ ได้รับรู้
4) ความหลงใหล (Passion)-หากลูกค้าคิดว่าสินค้าหรือบริการ ไม่สามารถมีสิ่งอื่นใดมาแทนได้ ส่วนนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน แต่ต้องสร้างประสบการณ์ ในทางบวกให้เกิดกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้กลยุทธ์สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้เกิดความประทับใจ
อาจจะสรุปได้ว่า หากคุณต้องการให้ลูกค้าหลงใหล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ เรื่องของการใช้กิจกรรมทางการตลาดเพื่อเรียกจำนวน Fan แบบตีหัวเข้าบ้าน
การใช้ Facebook Page เพื่อให้เกิด Customer Engagement
ก่อนอื่นผมเห็นว่า Facebook Page นั้นเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการทำให้เกิด Customer Engagement มากกว่าวิธีการ เดิมๆ ที่เคยเป็นมา ทำให้กิจกรรมทางการ ตลาดของเราที่จัดขึ้นมานั้นแพร่กระจายข่าวสารไปได้รวดเร็วแบบที่คุณคาดไม่ถึง นอกจากนี้ก็เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่หันมาใช้กลยุทธ์ Customer Engagement กับเขาได้บ้าง ในต้นทุนที่ต่ำกว่าแบบเทียบไม่ติดกับกิจกรรมการตลาดแบบเดิมๆ ที่มีต้นทุนสูง
คำถามเกิดขึ้นว่า "ทำไมผมถึงคิดเช่นนั้น" มาดูเหตุผลเป็นข้อๆ
1) ความสามารถในการโต้ตอบ (Interactive)-ลองสำรวจ Facebook Page กันอีกครั้ง จะเห็นว่า Fan สามารถที่จะโพสต์ข้อความ ภาพ และคลิปวิดีโอลงใน Wall ด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้หลายแบรนด์ใช้ในการสร้างกิจกรรมต่างๆ เช่น ให้ส่งภาพที่ประทับใจ จากนั้นให้ Fan คนอื่นเข้ากด Like หากใครที่ได้คะแนน Like มากที่สุดก็ได้รับรางวัล ในส่วนคลิปวิดีโอก็ไม่ต่างกัน นอกจากนี้แบรนด์ใช้ Facebook Page เพื่อสร้างบทสนทนากับ Fan อย่างต่อเนื่อง บทสนทนาที่ดีจะสร้างพลังให้Fan อยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการพูดคุย ซึ่งทำได้โดยง่ายจากการกดไปที่ Comment
ไม่เพียงแต่เท่านั้น ความสามารถในการโต้ตอบยังรวมไปถึง Application ต่างๆ บน Facebook ไม่ว่าจะเป็นเกมแบบทดสอบ เกมชิงโชค การแข่งขันชิงรางวัล เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดความสนุกสนานและสิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้น คือ การคุ้นเคยไปกับแบรนด์
2) ความสามารถในการให้ข้อมูลข่าวสาร (Rich Information)-แบรนด์สามารถให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการได้ง่าย และสามารถใส่ได้ ทั้งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอประกอบ นอกจากนี้ยังสามารถใส่ Link ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนของข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจจะอยู่ภายในเว็บไซต์หรือบล็อก จึงให้ข้อมูลที่ลึก และบรรดา Fan ก็สามารถมีส่วนให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือสอบถามรายละเอียดได้โดยง่าย
3) ความสามารถในการบอกต่อ (Viral Marketing)-เรียกว่าเป็นความสามารถที่สำคัญที่สุดของการเป็น Social Network เมื่อ Fan เห็นกิจกรรมทางการตลาดที่เราจัดขึ้น สามารถแบ่งปันข่าวกิจกรรมดังกล่าวได้ เพียงแค่การกดปุ่ม Share คือการแบ่งปันข่าวสารนั้นผ่านทาง Facebook ของ Fan คนนั้น หรือกดปุ่ม Like เพื่อแสดงความชื่นชอบ ซึ่งไม่ว่า Share หรือ Like ก็จะมีการแจ้งให้บรรดาเพื่อนๆ ของเราทราบทาง News Feed หลายๆ กิจการเห็นความสามารถส่วนนี้ที่ทำให้เกิดกิจกรรมมากมายที่เน้นสร้างจำนวน Fan เพิ่มขึ้น โดยให้ Fan นั้นช่วย กันกด Like โดยมักมีของรางวัลมาล่อ
4) เป็นเสมือนบ้านสำหรับลูกค้าที่ภักดี-Facebook Page ควรเป็นแหล่งพบ ปะพูดคุยหรือเป็นสังคมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบแบรนด์ ตัวแบรนด์เองต้องพยายามสร้างบทสนทนาให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเน้นให้เกิดการโต้ตอบหรือแลกเปลี่ยนจากบรรดา Fan ไม่ใช่เอาแต่พูดคุยข้างเดียวอย่างที่หลายๆ Facebook Page ทำอยู่ในปัจจุบัน เราสามารถแลกเปลี่ยนประสบ การณ์ระหว่างกัน เช่น Facebook Page ของ Harley-Davidson บรรดา Fan ก็ถ่ายรูปรถของตนเองขึ้นไปไว้ที่ Page แลก เปลี่ยนกัน มีจำนวนถึง 15,215 รูป (ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2553) หรือของไทยเรา Mo and Friend ซึ่งจำหน่ายเสื้อผ้า บรรดาลูกค้าต่างใส่เสื้อผ้าที่ซื้อ แล้วถ่ายรูปนำมาอวดกันที่ Page กลายเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ให้ลูกค้ารายอื่นๆ อยากได้ตามไปด้วย
มาดูตัวอย่างการใช้ Facebook Page ในส่วนของ Customer Engagement ของแบรนด์ต่างๆ กัน
- ฟอร์ดเฟียสต้า เปิดตัวสินค้าใหม่ ผู้บริหารกำหนดกลุ่มเป้าหมายคือ "กลุ่มเป้าหมายฟอร์ดเฟียสต้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไปไหนต้องพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา ใช้สมาร์ทโฟน พีดีเอ แบล็คเบอร์รีและไอโฟน เข้าถึงอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ชอบแชทกับกลุ่มเพื่อน" กิจกรรมทางการตลาด บน Facebook Page ถูกเลือกใช้ โดยใช้ ชื่อแคมเปญว่า "Love Fiesta Snap It Now" มีวัตถุประสงค์ในการสร้าง Brand Awareness คือเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมาย ที่ชอบการแบ่งปันรูปภาพบน Facebook ทำการถ่ายรูปตนคู่กับรูปรถเฟียสต้าที่เห็นที่ไหนก็ได้ แล้วให้บรรยายความประทับใจ จากนั้นเปิดโอกาสให้บรรดาผู้ร่วมแข่งขันชวนเพื่อนๆ มาโหวต ทั้งนี้หากใครได้รับเสียงโหวตมากที่สุดก็จะได้รับรางวัลใหญ่อย่างรถยนต์ฟอร์ด เฟียสต้าไปครอง
- Kleenex กระดาษเช็ดหน้าขนาด พกพา ใช้การประกวดภาพถ่าย ไม่ว่าจะเป็นถ่ายภาพเดี่ยว ภาพคู่ หรือภาพกลุ่ม ซึ่งต้องไปถ่ายที่บูธ Kleenex ToGo แล้วนำ มาลงใน Facebook จากนั้นก็ไปชักชวนเพื่อนๆ มาคลิก Like สำหรับรูปถ่ายที่เราส่งเข้าประกวด ซึ่งภาพไหนที่ได้รับคะแนน สูงสุด จะได้รับรางวัลที่พักของทาง Let's Sea Resort ที่หัวหิน ซึ่งมีมูลค่าถึง 10,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการให้บรรดา Fan ร่วมตอบคำถามชิงรางวัล โทรศัพท์มือถือ Black berry Bold 9700 โดยให้ผู้ที่ต้องการตอบคำถามนั้น ต้องสมัครเป็นสมาชิก (Fan) Facebook Page โดยการกดปุ่ม Like
- Air Asia จัดกิจกรรม "Friend get Friends" ในรูปแบบของ "อยากบินฟรี คลิกเลยคะ" รูปแบบไม่มีอะไรมากไปกว่าการชวนเพื่อนมาเป็น Fan ของ Facebook Page ของ Air Asia ให้มากที่สุด ทำในรูปแบบของการส่ง Link ไปให้กด ไม่ว่าจะเป็น Publish Link บน Facebook ของตนเอง การคัดลอก Link ดังกล่าวไปไว้ในกระดานบอร์ดของเราหรือของเพื่อน หรือ การส่ง email เพื่อแจ้งให้เพื่อนๆ ได้กดลิงค์นั้น ทั้งนี้ผู้ที่ได้สมาชิกสูงสุดอันดับ 1 จะได้ตั๋วเครื่องบินไป-กลับระหว่างประเทศ จำนวน 2 ที่นั่งโดยไม่ระบุเส้นทาง และอันดับที่ 2 จะได้ตั๋วเครื่องบินไป-กลับภายใน ประเทศ จำนวน 2 ที่นั่งโดยไม่ระบุเส้นทาง
- Window Office 2010 ใช้กลยุทธ์ไม่แตกต่างไปจาก Kleenex นั่นก็คือ ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องสมัครเป็น Fan จากนั้นให้โพสต์ภาพถ่ายภายในออฟฟิศลงบน Wall จากนั้นก็ไปชวนเพื่อนๆ มาให้คลิกที่ปุ่ม Like ซึ่งผู้ที่มีคนกดปุ่ม Like ให้มากที่สุดจะได้รับ Window Phone ไป มูลค่า 3 หมื่นบาท แจกทุกเดือน
- Dell จัดกิจกรรมทางการตลาดเข้ากับบรรยากาศของเดือนสิงหาคม นั้นก็คือ กิจกรรม "I Love You, Mom" โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องเป็น Fan ของ Dell ก่อน จากนั้นจึงส่งรูปถ่ายภายใต้แนวคิด "คุณแม่สุดที่รัก" มาลงใน Wall แล้วจึงไปเชิญชวนพ่อแม่ พี่น้องและเพื่อนๆ มาช่วยกันกด Like รูปถ่ายนั้น ผู้ได้คะแนน Like สูงสุด 3 อันดับ จะได้รับ Gift Voucher จาก Levi's มูลค่า 3,500 บาท ทั้งหมด 3 รางวัล
วิพากษ์กิจกรรมการตลาด
บน Facebook Page
ปัญหาของการใช้ Facebook Page ตามที่เคยเกริ่นไว้ในบทนำ นั้นคือ เน้นกิจกรรมเพื่อสร้างจำนวน Fan ให้มาก ที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดูอย่างกรณี Air Asia ที่ผู้เข้าร่วมพยายามส่งลิงค์ให้เพื่อนๆ กดเพื่อเข้าเป็น Fan ของ Page ใครเรียกเพื่อนมากดลิงค์ได้มากที่สุด ก็เอารางวัลใหญ่ไป หรือกรณีของ Window Office 2010 ที่ให้โพสต์ภาพถ่ายใน Office ลงใน Wall แล้วให้เพื่อนๆ มาคลิกปุ่ม Like ให้มากที่สุด ใครได้มากที่สุดได้รางวัลไป ถาม ว่ากิจกรรมดังกล่าวเสริมคุณค่าอะไรที่มอบ ให้กับลูกค้า คำตอบคือ ไม่มี
คุณอาจจะถามผมว่า แล้วการที่มีจำนวน Fan มากๆ ไม่ดีหรือ
หากเราพิจารณาว่าการจัดทำ Facebook Page ขึ้นก็เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวแบรนด์กับลูกค้า แต่กว่า ที่ลูกค้ายินดีตกลงใจซื้อสินค้าหรือบริการจากเรานั้นจะต้องฝ่าด่านถึง 4 ด่าน ดังนี้
ด่านที่ 1-ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักหรือสนใจ (Get their attention) สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ คุณไม่สามารถขายของให้ใครได้ หากเขาไม่รู้จักสินค้าหรือบริการของคุณ
ด่านที่ 2-นอกจากรู้จักแบรนด์ของเรา กลุ่มเป้าหมายก็อาจจะรู้จักแบรนด์ของคู่แข่งอีกหลายๆ เจ้า ตรงจุดนี้จะทำอย่างไร ให้กลุ่มเป้าหมายชอบเรา (Get them to like you)
ด่านที่ 3-เมื่อกลุ่มเป้าหมายมีความชอบในแบรนด์เราก็ควรสร้างกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (Get them to interact)
ด่านสุดท้าย-มาถึงขั้นนี้ กลุ่มเป้าหมายเกิดความผูกพันกับแบรนด์ถึงตรงนี้เราต้องสร้างความมั่นใจให้แก่พวกเขาให้ซื้อสินค้าหรือบริการของเรา (Convince them to buy)
จากทั้ง 4 ด่าน เมื่อเปรียบกับกรณี ศึกษาทั้ง 4 กรณี ก็ถือว่าเป็นเพียงด่านที่ 1 เท่านั้น คือพยายามทำให้กลุ่มเป้าหมายได้ รู้จักการมีอยู่ของ Facebook Page ของแบรนด์ตนให้มากที่สุด และใช้กลยุทธ์แจก ของรางวัลเพื่อแลกกับฐาน Fan ที่จะมีจำนวนเพิ่มแบบทวีคูณ แทนที่จะใช้บทสนทนาค่อยๆ สร้างจำนวนของ Fan ขึ้นมา
เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วว่า การมีจำนวน Fan มาก ย่อมทำให้โอกาสจะสร้าง Viral Marketing ที่เกิดจากปากต่อปากของสมาชิกมีประสิทธิภาพมากกว่า
แต่ที่แน่นอนไปกว่านั้น จำนวน Fan ที่มากก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าสุดท้ายพวกเขาจะกลายมาเป็นลูกค้าของคุณ
อย่าลืมว่าที่เขาเข้าสมัครเป็น Fan นั้นเป็นเพราะสิ่งจูงใจที่คุณเอาไปล่อ แต่เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง คุณจะต้องมอบสิ่งดีๆ อื่นๆ ที่มีคุณค่าต่อการอยู่เป็น Fan ต่อ ไม่ว่าจะเป็น
- การพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย
- การใช้คำถาม เพื่อสร้างให้เกิดปฏิสัมพันธ์
- เนื้อหาต่างๆ ที่มีประโยชน์ที่เชื่อว่าตัวกลุ่มเป้าหมายมีความสนใจที่จะรับรู้
- การตอบและช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้าอย่างจริงใจ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกค้า Feed Back ถึงสินค้าหรือ บริการที่ได้รับ (ส่วนใหญ่ประโยชน์ด้านนี้ผมยังไม่ค่อยเจอกับการใช้ Facebook ของแบรนด์ไทยเท่าใดนัก อาจจะเนื่องจากยังกังวลต่อเสียงวิจารณ์จะมีผลกระทบต่อแบรนด์ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ถึงไม่สามารถ บ่นใน Facebook Page ลูกค้าก็สามารถ ใช้ Social Media อื่นๆ เพื่อทำการบ่นได้)
- การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ที่อาจจะไม่ได้เน้นเงินทองอะไรมากมายนัก แต่ใช้เป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม
สิ่งที่ผมกังวลต่อการใช้ Facebook Page คือ หลังจากที่แบรนด์ได้จำนวน Fan ตามเป้าประสงค์แล้วจะไม่เอาใจใส่ฟูมฟักต่อเนื่อง ด้วยอาจจะหวังเพียงว่าจะใช้แคมเปญทางการตลาดในคราวหน้า เพื่อเพิ่มจำนวน Fan ขึ้นอีก มันก็ไม่ต่างจากคุณเอาเงินไปล่อให้คนเข้ามาเป็นเพื่อน คุณ แต่หลังจากนั้นกลับไม่มีปฏิสัมพันธ์อะไรที่สร้างความสนิทสนมไว้ใจ สุดท้ายคุณก็จะหวังเอาเงินไปหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ พอถึงคราวเงินคุณหมด พวกเขาก็พร้อมจะทิ้งคุณไปอย่างไม่ไยดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|