|
Bank CG and Basel III (Part II)
โดย
ดร.นิรัญชา ลิ่วเฉลิมวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ในคราวที่แล้ว ผู้เขียนเกริ่นไปเล็กน้อยถึง Basel I, II และ III ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์ในการบริหารความเสี่ยง ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) มีสำนักงานเลขานุการอยู่ที่เมือง Basel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำหน้าที่ดูแลกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินทั่วโลก ดังนั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งของ CG ของธนาคารหนึ่งในมาตรฐานเหล่านี้ คือ เกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุน ซึ่งเริ่มจาก Basel I
เกณฑ์นี้มีความสำคัญในเรื่องความเสี่ยงของธนาคาร เนื่องจากสินทรัพย์ของธนาคารส่วนมากเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งก็คือเงินกู้ที่ธนาคารให้ลูกค้ากู้ยืมนั่นเอง เวลาธนาคารให้ลูกค้ากู้ยืมเงินไป ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้คืนถ้าลูกค้าเกิดล้มละลายไปเสียก่อน เมื่อลูกค้าล้มละลายเงินที่ปล่อยกู้ส่วนนี้ก็จะกลายเป็นหนี้สูญ ซึ่งทำให้ส่วนทุนของธนาคารลดตามไปด้วย (เนื่องจากธนาคารยังคงต้องเตรียมเงินให้พร้อมเสมอ เมื่อลูกค้าเงินฝากต้องการถอนเงิน แต่เงินปล่อยกู้ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของธนาคารลดลงจากการตัดหนี้สูญ)
นอกจากนี้ กิจการธนาคารยังเป็นกิจการที่มีสัดส่วนหนี้สินสูง (เงินฝาก) เมื่อเทียบกับกิจการประเภทอื่นๆ ที่ส่วนมากใช้เงินของเจ้าของเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดหนี้สูญเยอะ จะทำให้ธนาคารเสี่ยงต่อการล้มละลาย
ดังนั้น ธนาคารจึงถูกกำหนดให้จะต้องมีการสำรองเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกัน กรณีฉุกเฉิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติของเราต้องกำหนดกฎเกณฑ์ตาม ข้อตกลงของชาวโลกเขา ซึ่งเดิมคือ Basel Capital Accord หรือ Basel I ที่เพียงแค่ กำหนดว่าธนาคารต้องมีเงินกองทุนเท่าไร สำหรับการปล่อยกู้แต่ละราย
แต่เนื่องจากคณะกรรมการ BCBS เห็นว่าควรปรับปรุงให้ดีขึ้นจึงมีเวอร์ชั่นสอง ออกมาเป็น Basel II ซึ่งจะไม่ได้มีแค่กฎเกณฑ์เรื่องเงินกองทุนสำรองเท่านั้น แต่จะ ครอบคลุมไปถึงเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้วย (Risk Management) โดยธนาคารจะต้องพิจารณาตัวเองว่า ธนาคารมีความเสี่ยงเท่าไหร่ เงินกองทุนสำรองที่มีเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
Basel II แบ่งเป็น 3 หลักการ หรือ 3 Pillars คือหลักการการสำรองกองทุนขั้นต่ำ (Minimum Capital Requirement), หลักการการกำกับดูแลโดยทางการ (Supervisory Review Process) และการใช้กลไก ตลาดในการกำกับดูแล (Market Discipline)
หลักการแรก (Pillar I) คือ หลักการเรื่องการสำรองกองทุนขั้นต่ำ Basel II จะมีการคิดคำนวณความเสี่ยงที่ละเอียด และสมเหตุสมผลมากกว่า Basel I เช่น ลูกค้าแต่ละรายมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน ดังนั้น เงินสำรองในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าแต่ละรายจะไม่เท่ากัน เช่น ลูกค้ารายย่อย มักจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าลูกค้าบริษัทเอกชน Basel II จึงมีการปรับเปลี่ยนน้ำหนักความเสี่ยงที่ใช้คำนวณ สำหรับลูกค้าประเภทต่างๆ ที่ละเอียดมากขึ้นกว่า Basel I ลูกค้ารายย่อยมีน้ำหนักความเสี่ยงต่ำกว่า จึงกำหนดให้สำรองเงินน้อยกว่าการปล่อยกู้ลูกค้าบริษัทเอกชน ลูกค้าบริษัทเอกชนก็มีทั้งแบบผลการดำเนินการดีและไม่ค่อยดี แบบที่ผลการดำเนินการดีก็มีความเสี่ยงต่ำกว่า ธนาคารก็สามารถสำรองเงินน้อยกว่าการปล่อยกู้ให้ลูกค้าบริษัทเอกชนที่มีผลการดำเนินงานไม่ค่อยดีได้ แบบนี้เป็นต้น
หลักการที่สอง (Pillar 2) เป็นเรื่องการกำกับดูแลโดยทางการ โดยธนาคาร จะต้องตั้งกฎเกณฑ์และระบบของตนเองขึ้นมาให้เหมาะสมกับลักษณะของธนาคารเนื่องจาก CG ของแต่ละองค์กรควรจะต้องเหมาะสมกับโครงสร้างขององค์กร ดังนั้นคงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าองค์กรนั้นๆ ว่า CG ของตนเองควรเป็นอย่างไร เพื่อให้เหมาะสม กับลักษณะธุรกิจ รู้ว่าความเสี่ยงของตนเอง มีอะไรบ้างนอกเหนือไปจากความเสี่ยงที่ลูกค้าหรือลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้
รวมถึงลำดับขั้นตอนในการปล่อยกู้ การตรวจสอบข้อมูลของลูกค้า การวัดความเสี่ยงของลูกค้า อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ สินเชื่อ เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของ CG ที่สำคัญจะเห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สินเชื่อก็เป็นส่วนหนึ่งของ CG อย่าง ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งนั้น ผู้จัดการ สาขาของธนาคารจะมีอำนาจมากในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งมีข้อดีคือผู้จัดการธนาคาร และพนักงานสาขานั้นๆ รู้จักลูกค้า หรือลูกหนี้เป็นอย่างดี แต่ก็มีข้อเสียคือ การที่รู้จักกันดีเกินไป บางครั้งก็ลำเอียง อยากจะช่วยเหลือ โดยการปล่อยสินเชื่อให้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่ลูกค้ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสม
หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ธนาคารต่างๆ หันมาใช้ระบบที่รวมอำนาจการตัด สินใจมากขึ้นคือสาขาต่างๆ จะต้องส่งข้อมูล มาให้ส่วนกลางพิจารณาด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้า มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะกู้ยืม มีความสามารถที่จะจ่ายเงินกู้คืนจริงๆ
ในหลักการนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติจะเป็นผู้ดูแลธนาคารพาณิชย์ว่าสำรองเงินกองทุนเพียงพอหรือไม่ คำนวณความเสี่ยงและเงินสำรอง สมเหตุ สมผลหรือไม่ ควรจะต้องดำรงไว้ให้สูงกว่า เกณฑ์ ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในช่วง นั้นๆ ถ้าผู้กำกับดูแลเห็นว่าธนาคารใดส่อเค้าที่จะประสบปัญหา เงินกองทุนอาจจะไม่พอ จะต้องรีบเข้าแทรกแซงแต่เนิ่นๆ พูด ง่ายๆ คือให้ธนาคารแต่ละแห่งตั้งกฎเกณฑ์ ขึ้นมาเพื่อดูแลตัวเอง แต่แบงก์ชาติจะเป็นคุณครูคอยตรวจสอบว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นเข้าท่าหรือไม่ มีเหตุผลเหมาะสมหรือไม่
หลักการที่สาม (Pillar 3) เป็นการเปิดโอกาสให้กลไกตลาดมีส่วนควบคุมโดยให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลเงินกองทุนและความเสี่ยงต่างๆ เพื่อประชาชนหรือตลาด ได้เห็นสถานะและความเสี่ยงของธนาคาร ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ธนาคารพยายามบริหารความเสี่ยง และคงระดับ CG ของตนเองให้ดี เพื่อให้เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน (โดยเฉพาะผู้ฝากเงิน) และเป็นที่น่าลงทุนของนักลงทุน แทนที่จะมุ่งเน้นแต่ทำกำไรโดยไม่สนใจความเสี่ยง
เพราะอดีตกลายเป็นบทเรียนแล้วว่า การมุ่งเน้นแต่ทำกำไรนั้นอาจนำมาซึ่งความหายนะ หรือวิกฤติระดับชาติหรือระดับโลก ได้ ดังนั้นตลาดจึงควรให้ราคากับธนาคารที่มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี แทนที่จะมุ่งเน้นแต่กำไร
ซึ่งราคาที่ว่านี้ อาจอยู่ในรูปของการ ระดมทุนจากเงินฝากที่ง่ายขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง กล่าวคือถึงธนาคารจะให้ดอกเบี้ยน้อยกว่าธนาคารอื่น แต่คนก็ยังมาฝากเงิน เนื่องจากความมั่นคงและความน่าเชื่อถือ และราคาหุ้นที่สูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมีความมั่นใจในอนาคตของธนาคารนี้ ซึ่งนั่นจะหมายถึงการที่ตลาดลดต้นทุนเงินทุน ให้ธนาคาร เป็นรางวัลสำหรับการบริหาร ความเสี่ยงอย่างดีนั่นเอง
ส่วน Basel III ที่เพิ่งคลอดมาใหม่ ก็เนื่องมาจากอุตสาหกรรมธนาคารโดนกระหน่ำไปเต็มๆ จากทั่วสารทิศ ว่าเป็น ต้นตอของวิกฤติการเงินครั้งล่าสุด ดังนั้นวัตถุประสงค์ของ Basel III คือการปรับปรุง CG ของธนาคารให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ด้วยความตั้งใจของคณะกรรมการที่จะคุมเข้มอุตสาหกรรมธนาคาร Basel III จะมีข้อกำหนดที่เข้มข้นมากขึ้นไปอีก โดยกำหนดให้เพิ่มสัดส่วนทุนสามัญขั้นต่ำ (Tier I capital requirement) หรือที่เรียกว่า core Tier 1 ratio มากกว่าสองเท่าของของเดิม จากเดิม 2% เป็น 4.5% นอกจากนั้น ธนาคารต้องมีทุนสำรองที่เรียกว่า capital conservative buffer ไว้เป็นกันชนเผื่อไว้ในอนาคตเกิดมีหนี้สูญเพิ่มขึ้นเยอะ หรือธนาคารประสบปัญหาทางการเงินอีก 2.5% รวมเป็น 7%
ธนาคารสามารถใช้ทุนสำรองในส่วน 2.5% ที่เป็นกันชนได้เมื่อธนาคารประสบปัญหา แต่เมื่อธนาคารใช้เงินส่วนนี้จะต้องทำตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจ่ายปันผล และโบนัสเพื่อลดและป้องกันปัญหาธนาคาร จ่ายโบนัสให้พนักงานสูงเกินไป หรือจ่ายปัน ผลสูงเกินไป ที่ประชาชนโวยกันสุดๆ ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ที่นักลงทุนเจ๊งไม่เป็นท่า แต่ผู้บริหารธนาคารยังรวยเละเหมือนเดิม ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าเป็น CG ที่เข้าท่า
นอกจากนี้ยังเพิ่มข้อกำหนดให้ดำรง ทุน ส่วนที่เรียกว่า countercyclical buffer ระหว่าง 0-2.5% ของทุนสามัญ on top เข้าไปอีก เพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารปล่อยกู้มากเกินไปในช่วงสินเชื่อเฟื่องฟูมากเกินไป (excess credit growth) เช่น ช่วงไหนเงินล้นระบบ ธนาคารก็แย่งกันลูกค้ากันปล่อยสินเชื่อ จนไม่ลืมหูลืมตาดูความเสี่ยงของลูกหนี้ ขอให้แค่ได้ทำยอดก็พอใจแล้ว ซึ่งทำให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ให้ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือลูกหนี้ชั้นที่ไม่ค่อยดี (ที่รู้จักกันในนามซับไพรม์) เยอะเกิน ไป ทำให้ระบบธนาคารทั้งระบบมีความเสี่ยงสูงไปด้วย ข้อกำหนดส่วนนี้จะนำมาใช้เฉพาะช่วงสถานการณ์ดังกล่าว
ข้อตกลงนี้ได้รับการอนุมัติกันไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาและช่วงปลายปีหน้าก็จะตกลงข้อกำหนดเรื่องการดำรงเงินทุนขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีก ในกรณีที่ธนาคารต้องการทำธุรกรรมบางประเภท เช่น ธุรกรรมที่เกี่ยวกับอนุพันธ์ และธุรกรรมที่เกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อน จากนี้ไปก็จะเริ่มมีการทดลองใช้ และปรับแก้ข้อกำหนดเหล่านี้กันต่อไปในระหว่างปี 2013-2019 เพื่อให้ธนาคารได้ค่อยๆ ปรับตัวเตรียมความพร้อมรับมือกับกฎเหล็กที่จะนำมาใช้ในเร็วๆ นี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|