“รู้ลึก” และ “รัดกุม” คีย์ซัคเซสของนิ่มลิสซิ่ง

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าไม่ใช่เพราะพ่อมีความสามารถที่จะรื้อและประกอบสิบล้อได้ทั้งคัน ตระกูล "สุวิทย์ศักดานนท์" หรือเจ้าของอาณาจักร "นิ่มซี่เส็ง" คงไม่กล้าลงทุนขยายไปสู่ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ (Leasing) เพราะไหนจะต้องเจอกับคู่แข่งระดับโลกแล้ว ยังต้องเจอกับคู่แข่งระดับท้องถิ่นที่มีการทำตลาดแบบเล่นกันแรงทุกรูปแบบอีกนับไม่ถ้วน หนำซ้ำยังติดอาวุธด้วยการลงทุนกว่า 15 ล้านบาทสำหรับการติดตั้งระบบไอที เพื่อใช้วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและใช้เป็นระบบจัดการเพื่อดูแลธุรกิจในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือที่ดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุมภายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง

นี่คือบทสรุปที่ได้จากการบอกเล่าของ ดร.ปราณี สุวิทย์ศักดานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัท นิ่มซี่เส็ง ลีสซิ่ง จำกัด หรือนิ่มลิสซิ่ง (NIM Leasing) ชื่อเรียกใหม่ที่ทำให้ดูทันสมัยขึ้น

ดร.ปราณีเป็นบุตรสาวคนโตของอุทัต สุวิทย์ศักดานนท์ อดีตเจ้าของร้านโชห่วยที่สร้างอาณาจักรเล็กๆ ในพื้นที่ตลาดวโรรสในเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะกลาย เป็นธุรกิจที่รู้จักของคนทั้ง 8 จังหวัดในภาคเหนือ หลังจากล้มแล้วลุกจนเติบโตมีธุรกิจในเครือที่ทำรายได้ปีละเกือบหมื่นล้านบาท และมีพนักงานภายใต้การดูแลกว่า 5 พันคน (อ่านเรื่อง "นิ่มซีเส็ง 'ผมต้องดิ้นรนตั้งแต่เด็ก'" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับกุมภาพันธ์ 2545)

ปัจจุบันธุรกิจในเครือนิ่มซีเส็งมีจำนวน 11 บริษัท ภายใต้ 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ โลจิสติกส์ ลิสซิ่ง อสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของโรงแรมนิ่มซี่เส็งใน พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย และธุรกิจรถยก ทุกธุรกิจบริหารงานโดยลูกชาย หญิงของอุทัต ปัจจุบันรั้งตำแหน่งประธาน กลุ่มธุรกิจ คอยควบคุมดูแลภาพรวมของธุรกิจและคอยอนุมัติเรื่องสำคัญๆ ที่ลูกๆ ทำเรื่องเสนอมา (อ่านเรื่อง "นิ่มซี่เส็ง การ ต่อสู้ของบริษัทการเงินท้องถิ่น" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับกุมภาพันธ์ 2550)

"การทำธุรกิจลิสซิ่งถ้าเราไม่มีความชำนาญด้านนี้เลยเราก็คงไม่มั่นใจที่จะเริ่มเข้าสู่ธุรกิจ แต่นี่เพราะคุณพ่อมีความสามารถขนาดถอดและประกอบรถสิบล้อได้ทั้งคัน เราจึงเชื่อว่าคงไม่มีใครหลอกเราได้ แต่เรามีคู่แข่งทั้งบริษัทระดับโลกที่ขยายมาทำตลาดท้องถิ่น รวมทั้งลิสซิ่งห้องแถวอีกจำนวนมาก นอกจากเราจะต้องดำเนินงานอย่างรัดกุมและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้จริงแล้ว เรายังต้องสร้างความน่าเชื่อถือกับกลุ่มลูกค้าเพื่อให้เขาเกิดความเชื่อใจและนึกถึงเราเป็นคนแรกอีกด้วย"

ดร.ปราณีจบการศึกษาด้านบัญชีและการเงินจากสหรัฐอเมริกา เป็นคนที่เห็นความสำคัญของระบบไอที ลงทุนเขียน แผนงานเพื่อของบจากอุทัตผู้เป็นพ่อ เพื่อมาช่วยจัดการระบบหลังบ้านของเครือ ทั้งระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล ระบบเงินเดือนพนักงาน บัญชีลูกค้า และระบบตรวจสอบอื่นๆ การลงทุนครั้งนี้มีเป้าหมาย เพื่อเพิ่มความรัดกุมของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ทำให้บริษัทรู้ลึกในฐานลูกค้าที่ทั้งหมด นอกเหนือจากรู้ลึกในธุรกิจที่ทำมาแล้วในเบื้องต้น

"ลูกค้าเราอาจจะเป็นชาวบ้านชาวเขาที่เข้าไม่ถึงระบบการเงินสมัยใหม่ และบริษัทก็มีแนวการให้บริการตามสโลแกนที่กำหนดไว้ว่าคุยเรื่องเงินกับคนกันเอง แต่เรามีระบบการจัดการที่ทันสมัย เพราะวิสัยทัศน์ของเราต้องการที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจลิสซิ่งที่ให้บริการได้รวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใส ชัดเจน กันเอง ตามพันธกิจที่กำหนดไว้ การลงทุนด้านไอทีด้วยงบก้อนใหญ่ก็เพื่อตอบโจทย์ตรงจุดนี้"

ระบบไอทีนอกจากจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย ตอบสนอง ลูกค้าได้ไว ยังช่วยให้องค์กรขยายงานได้เร็ว ขณะเดียวกันทำให้การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ นำไป สู่การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ดร.ปราณีย้ำเสมอว่าการดำเนินงาน ของนิ่มลิสซิ่งยังคงเป็นรูปแบบครอบครัวเต็มรูปแบบ อำนาจการตัดสินใจหลักยังอยู่ที่อุทัต ซึ่งต้องมีเหตุผลสนับสนุนที่มากพอสำหรับการตัดสินใจเชื่ออะไรใหม่ๆ แต่การมีระบบไอทีซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ด้านการจัดการในหลายด้าน จะเป็นตัวประมวล ผลข้อมูลที่ชัดเจนและจะทำให้องค์กรที่ยังจัดว่าเป็นแนวอนุรักษนิยมอย่างนิ่มซี่เส็งเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้เร็วและทันต่อการแข่งขัน

"ถ้าไม่มีระบบที่เป็นตัวช่วยที่ดีพอ เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะบริหารจัดการให้จำนวนสาขากว่า 300 แห่งใน 8 จังหวัด ดำเนินงานและขยายงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอนนี้แม้แต่เงินเดือนของพนักงานกว่า 1,700 คนในทุกสาขา ก็ดำเนินงานจากสำนักงานใหญ่ทั้งสิ้นโอนผ่านธนาคารจากเดิมเราเคยจ่ายกันเป็นเงินสดแบบระบบเถ้าแก่"

ส่วนไอทีที่ใช้เพื่อการบริหารงาน ลูกค้า ใช้พนักงานภายในร่วมกันออกแบบระบบเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ลูกข่ายเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสาขากับสำนักงานใหญ่ สร้างระบบสำรองข้อมูลลูกค้าทั้งประวัติ วงเงิน การอนุมัติ การชำระหนี้ การโอนเงิน เข้าระบบ การลงทุนใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ในการทำงาน และพัฒนาระบบ ERP เพื่อประหยัดการดำเนินงานและพัฒนาบุคลากร ด้านไอทีของตัวเอง

เฉพาะแผนกพัฒนาธุรกิจที่ ดร.ปราณีดูแลหรือเข้าใจง่ายๆ ว่าแผนกไอที จากตอนเริ่มต้นเมื่อ 3 ปีที่แล้วถึงตอนนี้มีพนักงานในแผนกเพิ่มกว่า 50 คน ซึ่ง ดร.ปราณีบอกว่า งบจ้างคนถูกประเมินไว้รวมกับงบไอทีที่ลงทุนไว้ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วด้วย ตามแผนงานที่เธอกำหนดไว้ว่างบจำนวน 15 ล้านจะทยอยใช้ไปตามการขยายตัวของธุรกิจ ซึ่งเธอตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายอีก 300 สาขาภายในปีสองปีนี้ จากที่ตั้งเป้าไว้คร่าวๆ ว่าบริษัทน่าจะขยายได้เป็นพันสาขาในอนาคตอันใกล้

แผนงานขยายสาขาไม่ใช่เรื่องเกินจริง หากย้อนดูประวัติการขยายสาขาที่ผ่านมา ตอนปี 2540 นิ่มลิสซิ่งมีสาขาอยู่เพียง 19 แห่ง ปีเดียวก็สามารถขยายเพิ่มเป็น 151 และเพิ่มเป็น 209 สาขาในปี 2544 และมาอยู่ที่ประมาณ 270 สาขาเมื่อปี 2547 และขยับขยายสาขาน้อยมากถึงปีนี้ แต่เมื่อหลังบ้านพร้อม นิ่มลิสซิ่งจึงมีความมั่นใจที่จะก้าวกระโดดอีกครั้ง (ดูวิธีคิดเรื่องการขยายสาขาได้จาก "นิ่มซี่เส็ง การ ต่อสู้ของบริษัทการเงินท้องถิ่น นิตยสารผู้จัดการ ฉบับกุมภาพันธ์ 2550)

การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและมีเป้าหมาย ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ในแผนกนี้รวมทั้งพนักงานรุ่นเก่าๆ ในสำนักงานใหญ่เรียกขาน ดร.ปราณี ว่า "เจ๊" อย่างสนิทสนม แม้ต่อหน้าคนแปลกหน้าจะเรียกกันอย่างให้เกียรติว่า "ดร." ก็ตามที

ส่วนฐานลูกค้าปัจจุบันนิ่มลิสซิ่งมีลูกค้ากว่า 9 หมื่นรายประมาณ 85% เป็นลูกค้าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ที่เหลืออีก 25% เป็นสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ลูกค้าทั้งหมดสามารถได้รับการสื่อสารจากบริษัท ผ่านระบบทันสมัยอย่างเอสเอ็มเอส ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งข้อมูลผลิตภัณฑ์ใหม่ แจ้งยอดและการแจ้งเตือนกำหนดผ่อนชำระ และที่สำคัญที่สุดคือสามารถรู้ผลการอนุมัติสินเชื่อได้ไว้กว่าเดิมเท่าตัว

"ระบบไอทีจะเช็กได้หมดว่าลูกค้าแต่ละคนเป็นอย่างไร ช่วยเราในเรื่องการตัดสินใจและลดความเสี่ยงได้ แล้วเรายังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์บริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ด้วย อย่างลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเป็นเกษตรกร บางช่วงเขาลงทุน ช่วงเก็บเกี่ยวมีเงิน เราก็ต้องรู้ว่าช่วงไหนจะทำตลาดอย่างไร แล้วจากผลการดำเนิน งานบอกได้เลยว่าเรามีหนี้สูญน้อยมาก ลูกค้าส่วนใหญ่ถึงจะเป็นชาวบ้าน ชาวเขา แต่มีวินัยในการชำระหนี้ดีและอาจจะดีกว่า พนักงานที่มีสลิปเงินเดือนเสียอีก"

ดูเหมือนว่า ระบบไอทีไม่เพียงแต่สร้างความมั่นใจให้กับการบริหารจัดการภายในองค์กร แต่ยังสร้างความมั่นใจในการ นำธุรกิจตะลุยไปข้างหน้าอีกด้วย เพราะอย่างน้อย ดร.ปราณีก็เชื่อว่า ฐานข้อมูลต่างๆ ที่นำไปสู่การตัดสินใจมีความแม่นยำ และตรวจสอบได้

ที่สำคัญอาวุธ "ไอที" ที่รู้จักใช้นี้ ถือเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้องค์กรเข้าถึงและบริหารจัดการกับลูกค้าได้อย่าง "รู้ลึก" และ "รัดกุม" และจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ผู้ดูแลธุรกิจรุ่นที่ 2 อย่างเธอพาอาณาจักรนี้ไปได้ไกลกว่าคนรุ่นแรกหลายเท่าตัวอย่างไม่ต้องสงสัย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.