"เราต้องเอาจริงในการเจรจาสิทธิการบินกับสหรัฐฯ"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ประเด็นสำคัญในการเจรจาเรื่องสิทธิการบินระหว่างไทยกับสหรัฐฯในขณะนี้คือ เราขอให้เขาทบทวนเรื่อง FIFTH FREEDOM TRAFFIC RIGHTS

FIFTH FREEDOJM TRAFFIC RIGHTS คือสิทธิของการสายการบินที่จะขนผู้โดยสารจากประเทศที่อยู่ระหว่างเส้นทางการบินไปยังจุดหมายปลายทางตัวอย่างเช่น สายการบินของสหรัฐฯที่บินมายังกรุงเทพฯ มีสิทธิที่จะรับผู้โดยสารระหว่างทางจากโตเกียว โซล หรือไทเปได้

ถ้าเป็นการขนเพื่ออำนวยความสะดวกหรือเป็นการขนส่งระหว่างสองประเทศไม่มีใครว่าอะไรหรอก แต่ที่เราต้องโวยก็คือการที่เขาแวะมารับกลางทางเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิการขนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ไทยกับเกาหลี ไทยกับไต้หวัน เพราะการที่เราอนุญาตให้ประเทศอีกประเทศหนึ่งเข้ามาขนระหว่างทาง จะทำให้เกาหลีหรือญี่ปุ่นบอกว่าการบินไทยไม่ต้องเพิ่มเที่ยวบินระหว่างโซล-กรุงเทพฯ หรือโตเกียว-กรุงเทพฯแล้วนะ เพราะว่าอนุญาตให้สายการบินอเมริกาเพิ่มตั้งเยอะแยะ

ตอนนี้ที่เขาเข้ามาขนแถวนี้เพราะว่ามันบูมขึ้นมา เมื่อก่อนเขาไม่ค่อยสนใจเท่าไร บินมาถึงแค่โตเกียวเท่านั้น พอระยะหลังขยายมาถึงฮ่องกง กรุงเทพฯและประเทศอื่นในภูมิภาคนี้เพราะว่าเศรษฐกิจขยายตัวมาก แต่ตลาดที่มาจากสหรัฐฯ มาเมืองไทยจริงๆ นี้น้อยมาก แต่ละลำที่บินเต็มๆ เข้ามานะมารับคนจากประเทศในแถบนี้ทั้งนั้น มาลงที่โตเกียวก่อนจากนั้นจะรับคนจากโตเกียวมากรุงเทพฯ จากไต้หวัน โซลมากรุงเทพฯ ตรงนี้ที่เราบอกว่าการบินในภูมิภาคนี้ควรจะเป็นสิทธิระหว่างประเทศที่อยู่ในนี้ เป็นตลาดที่ทั้งสองฝ่ายควรจะพัฒนาด้วยกันเพื่อให้สายการบินของเราในภูมิภาคนี้เข้มแข็งขึ้นมา

สายการบินสหรัฐฯ จะบินเข้ามาในเมืองไทยกี่เที่ยวก็ได้ แต่ขอร้องให้ลดลงหน่อยในการขนผู้โดยสารจากจุดระหว่างทาง ถ้าเราไม่ปล่อยให้เขาบินอย่างเสรีตาม FIFTH FREEDOM จะทำให้เกิดความต้องการบินระหว่างเส้นทางกรุงเทพฯ-โตเกียว ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างไทยกับญี่ปุ่นต้องหามาตรการเพิ่ม แทนที่จะปล่อยให้ชาวบ้านเขาเข้ามาขน

ขณะนี้สายการบินสหรัฐฯ บินมากรุงเทพฯ โดยผ่านญี่ปุ่นยี่สิบกว่าเที่ยวต่อสัปดาห์ แต่ว่ามาจำกัดเราว่าบินได้ไม่เกินเจ็ดเที่ยวต่อสัปดาห์ภายในสองปีนี้ เดิมเขาให้เราบินได้ห้าเที่ยวหมายถึงเส้นทางที่บินผ่านญี่ปุ่น นอกนั้นเขาบอกว่าไม่จำกัดว่าต้องบินกี่เที่ยว แต่ต้องไปทางอื่น แต่ขอโทษนะครับมหาสมุทรแปซิฟิกนี่ใครจะสามารถบินไปตรงๆ รวดเดียวได้

การบินระยะทางไกลๆ มันไม่คุ้ม บินสั้นๆ ทำกำไรได้มากกว่า และการที่จะไปอาศัยตลาดระหว่างทางก็ไม่ยั่งยืน วันดีคืนดีประเทศนี้อาจจะบอกว่าคุณบินระหว่างประเทศผมกับประเทศเขาทำให้ผมเดือดร้อนเพราะฉะนั้นลดลงหน่อย

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็ค่อนข้างจะจำกัดเราเหมือนกัน การบินไทยอยากจะขนคนไปเยอะๆ ญี่ปุ่นก็บอกว่าแจแปนแอร์ไลน์บินเข้ามาไม่กี่เที่ยวเท่านั้น ไทยก็ไม่ควรจะบินเข้าไปมาก แจแปนแอร์ไลน์บินไปทั่วโลก ประเทศไทยเป็นตลาดหนึ่งเท่านั้น เขาไม่สามารถที่จะทุ่มเครื่องบินมาเมืองไทยเพื่อสนองตลาดได้

เมื่อแจแปนแอร์ไลน์ไม่เพิ่มเที่ยวบินมาเมืองไทย ไทยก็เพิ่มเที่ยวบินไปญี่ปุ่นไม่ได้ เดี๋ยวนี้ดีขึ้นเพราะเขามีสายการบินเอเอ็นเอ ที่คัดเลือกตลาด พอเอเอ็นเอเพิ่มขึ้นมาก็เป็นสิทธิของไทยที่จะเพิ่มเที่ยวบิน

ทีนี้ถ้าเราให้สายการบินอเมริกามี FIFTH FREEDOM มากๆ สายการบินอื่นก็จะบอกว่าคุณปล่อยให้เขาบินใช่ไหม คุณก็ไม่ต้องเพิ่มเที่ยวบินสิเพราะมีที่นั่งมากพอแล้ว ถ้าปล่อยให้เพิ่มอีกสายการบินของผมก็จะกระทบกระเทือน

เพราะฉะนั้นวิธีคิดของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างนี้ แต่เรื่องนี้ประเทศในแถบนี้คุยกันรู้เรื่องอยู่แล้ว

เราอยากจะบินไปอเมริกาผ่านญี่ปุ่นมากขึ้นเป็นทุกวัน สี่เที่ยวต่ออาทิตย์มันสู้บินทุกวันไม่ได้คนจะจำ DAILY FLIGHT ได้ง่ายกว่า ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ไม่แคร์ในเรื่องราคา จะมาอย่างไรก็ได้ วงเล็บนอกจากญี่ปุ่น คือจะมาอย่างไรก็ได้ อ้อมไปทางโน้นอ้อมไปทางนี้ แต่ทางดีๆ ไม่ยอมให้มา

เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมที่จะมาจำกัดเราในขณะที่ตัวเองเพิ่มขึ้นมามากมาย ในเรื่องของการส่งออกจากประเทศไทย ทางสหรัฐฯยังมีข้อจำกัด มีโควตา แต่พอเรื่องการบินรัฐบาลของเขาบอกว่าไม่สามารถจะไปกำหนดกฎเกณฑ์ให้กับสายการบินได้ มองกันในแง่นี้ พอเรื่องไหนเขาได้เปรียบก็จะอ้างว่าไม่สามารถควบคุมได้ แต่พอเราส่งไปบ้างทำไมถึงมีข้อจำกัดล่ะ

ผมว่าเป็นสิทธิของรัฐบาลไทยที่จะบอกว่าคุณมามากไปนะ และการที่มากันมากๆ นี่เพราะว่ามีการตัดราคากัน ตัดราคาในที่นี้ถ้าเป็นวงการท่องเที่ยวเขาจะบอกว่าดี มีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว แต่ไม่ทำให้ธุรกิจนี้มั่นคงแข็งแรงในระยะยาว

การบินกลับไปลอสแองเจลิสใหม่ไม่ใช่จุดเพิ่มเติมหรอก เป็นการใช้สิทธิเดิม เราเคยบินแล้วหยุดไปชั่วคราวเพราะว่าตอนนั้นการแข่งขันสูง ต้นทุนสูง ปริมาณธุรกิจต่ำ ทุกคนแข่งขันกันด้วยการตัดราคาเศรษฐกิจสมัยนั้นยังไม่รุ่งเรือง คนเดินทางน้อย ตอนนี้เราก็ฟื้น อเมริกาก็ฟื้น กฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ลดลงไปมาก

สิ่งที่เราต้องการในตอนนี้คือให้เขาลด FIFTH FREEDOM ไม่ใช่ขอเข้าไปเพิ่มขึ้น ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ก่อนสิ้นเดือนตุลานี้ซึ่งสัญญาการบินฉบับปี 1979 จะหมดอายุลง ก็ให้ทุกอย่างสิ้นสุดลง กลับไปเริ่มต้นกันใหม่ คนที่เสียประโยชน์คือเขาเพราะว่ามาได้แค่ญี่ปุ่นเท่านั้น

เรามีอำนาจต่อรอง แต่จุดอ่อนของเราคือขี้เกรงใจ เราจะถูกห้ามจากกระทรวงการต่างประเทศจากใครต่อใครว่าอย่าไปรุนแรงกับเขา จะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ เอาอย่างนี้ก็แล้วกันยังเจรจากันไม่เสร็จก็ใช้สัญญาเดิมนี่แหละให้มีผลใช้ต่อไปอีกจนกว่าจะตกลงกันได้ ซึ่งเป็นสัญญาที่สหรัฐฯ ได้เปรียบเขาก็จะดึงเกมต่อไปเรื่อยๆ

จุดอ่อนอีกอันหนึ่งคือเขาจะพยายามล็อบบี้คนไทยด้วยกันเองไม่ให้มีเสียงสนับสนุนพอ ทั้งการออกข่าวผ่านสื่อมวลชน ทั้งทางการเมือง อย่างเช่นไปคุยกับการท่องเที่ยวว่าที่เขาบินมานี่ทำให้การท่องเที่ยวไทยเจริญขึ้น ถ้าให้ลด FIFTH FREEDOM จะทำให้การท่องเที่ยวแย่ลง อีกอย่างหนึ่งการบินไทยก็ไม่มีความสามารถที่จะบินได้พออยู่แล้ว มันก็ถูกในแง่ของสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เราต้องมองว่าอนาคตการบินไทยในระยะยาวจะเป็นอย่างไร แล้วการบินไทยไม่ใช่ผลประโยชน์ของชาติหรือ ถ้ารัฐบาลไม่ปกป้องผลประโยชน์ของการบินไทยแล้วจะไปปกป้องให้กับใครล่ะ

อย่างคนบางคนพูดว่าเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศมาก่อน ผมว่าผลประโยชน์ของเขามาก่อนแต่อ้างเอาประเทศเข้าว่า จริงๆ การท่องเที่ยวขณะนี้เราโตเร็วเกินไป การโตเร็วๆ นี้ไม่ได้มีคุณภาพ ไม่ได้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยในระยะยาวเสียด้วยซ้ำ

คนไทยต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าเอะอะก็จะตีกันเอง อุตสาหกรรมการบินอย่างการบินไทยนี่มีทางจะโตได้เยอะถ้าหากว่าได้รับการสนับสนุนจากทุกๆ ด้านในไทย เป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้ แล้วทำไมเราไม่ทำล่ะ

วิธีที่ดีที่สุดคือเราต้องหนักแน่นเด็ดเดี่ยว ให้เขาเห็นว่าเราเอาจริง ใครจะว่าอย่างไรก็ตามถ้าเป็นผลประโยชน์ของประเทศจริงๆ นี่เราต้องกล้า ถึงเวลาถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ก็ยกเลิกสัญญาเอาไว้ก่อน คนเราโดนรังแกมากๆ ก็ต้องทำอะไรบางอย่าง

เราต้องเอาจริงและต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำไมสิงคโปร์ถึงได้สิทธิอย่างเท่าเทียมกันเลย เขาบิน DAILY FLIGHT มาตั้งนานแล้ว บินผ่านที่ไหนก็ได้เพราะว่าเขาเด็ดเดี่ยว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.