|
ใช้งานวิจัยต่อยอดธุรกิจฟาร์มนม
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
หากต้องพูดถึงฟาร์มโคนมสักแห่ง จะนึกถึงฟาร์มแถวปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา กันเสียส่วนใหญ่ แต่คงนึกไม่ออกว่า ในภาคเหนือจะมีฟาร์มโคนมซ่อนอยู่ในจังหวัดเล็กๆ อย่างเช่นลำพูน เป็นฟาร์มที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาบริหารจัดการบนเนื้อที่ 350 ไร่
ในช่วงบ่ายของต้นฤดูหนาวแม่วัวตัวลายขาว-ดำกำลังง่วนอยู่กับการกินหญ้า หลังจากรถบรรทุกขนาดใหญ่นำมาปล่อยไว้ในราง
พอเริ่มบ่ายคล้อย 16 นาฬิกา แม่วัว ก็เริ่มเดินเรียงแถวออกจากโรงเรือนเพื่อเตรียมไปเข้าโรงรีดนมที่อยู่ใกล้กัน ซึ่งตาม ปกติแล้วแม่วัวจะรีดนมวัว 2 ครั้งต่อวัน ครั้งแรกในเวลาตี 5 เช้าตรู่ ส่วนตอนบ่ายเริ่ม 5 โมงเย็น
แต่วันนี้พิเศษเพราะบัลลพ์กุล ทิพย์ เนตร กรรมการผู้จัดการบริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด บอกว่าเป็นการต้อนรับคณะผู้บริหารของธนาคารกรุงเทพและสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ แม่วัวเลยต้องทำหน้าที่ต้อนรับเป็นอย่างดีในฐานะเป็นเจ้าบ้าน
กระบวนการรีดนมของบริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์จะใช้เครื่องจักรทั้งหมด โดยระบบหัวรีดเป็นเครื่องจักรนำเข้าจากสวีเดน ส่วนพนักงานจะทำหน้าที่สวมและถอดเครื่องรีด ทำความสะอาด และดูปริมาณน้ำนมผ่านระบบข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้
ส่วนนมสดที่ได้จากการรีดจะส่งผ่านไปยังท่อเพื่อเข้าโรงงานแช่เย็นทันทีใน อุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเพื่อรักษาคุณภาพ ของน้ำนมให้สดและใหม่ หลังจากนั้นจะขนส่งนมไปใส่กล่องและแปรรูปในโรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดลำพูน
ระบบการทำงานของบริษัท เชียง ใหม่เฟรชมิลค์ ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้เป็นการพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะ เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา และได้ผ่านอุปสรรคมากมาย
บัลลพ์กุลเริ่มต้นทำธุรกิจกับเพื่อน เพื่อจำหน่ายนมสดภายใต้แบรนด์ "เชียง ใหม่เฟรชมิลค์" แต่ใน 2 ปีแรกประสบภาวะขาดทุนทันทีเพราะเก็บเงินไม่ได้จากลูกค้า
เมื่อมีโอกาสอีกครั้ง ในปี 2535 รัฐบาลมีนโยบายให้นักเรียนประถม 1-4 ดื่มนม ในขณะเดียวกันเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมให้มีตลาดจำหน่าย ทำให้บัลลพ์กุลได้โควตานมโรงเรียนใน 3 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 8 พัน ถุงต่อวัน และขยายเพิ่มขึ้นในปีต่อมาทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งการผลิตนมโรงเรียนร้อยละ 15 และมีปริมาณการผลิตนมต่อวัน จาก 20 ตัน เป็น 30 ตัน เพิ่มเป็น 40 ตันต่อวัน
จากเดิมที่ผลิตนมในระบบพาสเจอร์ไรซ์ ทำให้นมมีอายุไม่เกิน 7 วัน แต่หลังจากที่รัฐบาลเพิ่มให้เด็กนักเรียนดื่มนมในช่วงปิดเทอม จึงทำให้นมต้องมีอายุมากขึ้น ทำให้บริษัทต้องลงทุนเพิ่มอีกกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเช่าซื้อเครื่องจักรจากบริษัทเต็ดตร้าแพ้ค (ไทย) เพื่อรองรับการผลิตนมในระบบยูเอชที ทำให้นมมีอายุยาวนานขึ้น 6-8 เดือน
การเพิ่มระบบการผลิตดังกล่าวทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตอยู่ในปัจจุบัน 84 ตันต่อวัน แต่ว่าการผลิตทั้งหมดไม่ได้มาจากบริษัทเพียงแห่งเดียว แต่ได้รับซื้อนมจากสมาชิกในภาคเหนือกว่า 298 ราย เป็นวิธีการบริหารวัตถุดิบและกระจายความเสี่ยง
แต่จุดเปลี่ยนที่หักเหธุรกิจของบริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ที่มียอดขาย 1,100 ล้าน บาทในปัจจุบันให้เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นเพราะประสบการณ์และพื้นฐานการศึกษาของบัลลพ์กุลเป็นหลัก เขาร่ำเรียนเกี่ยวกับสัตวบาล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์ทำงานในองค์การส่งเสริมโคนม (อสค.) จังหวัดเชียงใหม่ รับหน้าที่เป็นฝ่ายผลิต 4 ปี หลังจากนั้นเริ่มก้าวออกมาทำธุรกิจของตนเอง
พื้นฐานความรู้ของบัลลพ์กุลทำให้เขาต้องพัฒนาต่อยอดการผลิตนมในปัจจุบันให้มีทั้งคุณภาพและควบคุมต้นทุนได้ เขาจึงเริ่มเข้า-ออกในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อทำวิจัยและคิดค้นพัฒนาร่วมกับทีมงาน
งานวิจัยที่คิดค้นจนสำเร็จคือ การผลิตวัวตัวแม่ให้ได้มากกว่าวัวตัวผู้ เพราะการผลิตวัวใหม่ต้องใช้เวลาถึง 9 เดือนสถิติวัวที่คลอดในประเทศไทยร้อยละ 48 เป็นตัวเมีย ส่วนตัวผู้มีร้อยละ 52 แต่งานวิจัยของบัลลพ์กุลคัดเพศตัวผู้หรือสเปิร์มของตัวผู้ให้ผสมกับตัวเมีย
และได้นำไปทดลองกับแม่วัว 900 ตัว ผลปรากฏว่ามีลูกตัวเมียเกิดขึ้นร้อยละ 68 ผลงานวิจัยดังกล่าวจะทำให้ต้นการผลิต ต่ำลง เพราะวัว 1 ตัว มีต้นทุนประมาณ 30,000 บาท และมีอายุรีดนมได้อยู่ระหว่าง 2-7 ปีเท่านั้น
จากงานวิจัยทำให้บริษัทได้กำหนด เป้าหมายไว้ว่าจะมีแม่วัวใหม่เพิ่ม 2 พันตัว โดยเฉพาะในอีก 3-5 เดือนข้างหน้าจะมีวัวนมเพิ่มอีก 780 ตัว จากปัจจุบันมีวัวแม่พร้อมรีด 630 ตัว จากวัวนมทั้งหมด 2,460 ตัว และวัวเนื้อ 240 ตัว
นอกจากการคัดสรรพันธุ์วัวนมให้ได้ตามที่ต้องการแล้ว บริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ยังได้พัฒนาให้แม่วัวผลิตน้ำนมให้ได้ปริมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบันสามารถผลิตนมได้สูงสุด 16 กิโลกรัมต่อตัว หรือโดยเฉลี่ย 12 กิโลกรัม เป็นปริมาณน้ำนมอ้างว่ามากที่สุดในอินโดจีนอยู่ในปัจจุบัน ส่วนสาเหตุที่วัวสามารถผลิตนมได้มากเพราะสัดส่วนการให้อาหาร
ส่วนวิธีการนำวัวนมและวัวเนื้อมาเลี้ยงด้วยกัน เป็นเพราะว่าวัวนมจะกินอาหารได้ไม่มาก ทำให้ปริมาณอาหารต่อวันเหลือจำนวนมาก ดังนั้นอาหารที่เหลือจึงกลายเป็นอาหารของวัวเนื้อ ที่ทำหน้าที่กำจัดได้เป็นอย่างดี
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนมสดแล้วยังมีไขมันนมเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทเพิ่มมูลค่าเพิ่ม การตลาดด้วยการนำไขมันนมที่ได้จากกระบวนการผลิตมาทำเป็นไอศกรีมนมสด หรือพัฒนาไปเป็นนมเย็น ครีมสด หรือชีส ถือได้ว่าเป็นการสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์
การพัฒนาผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นใหม่ๆ อยู่เสมอและล่าสุดอยู่ระหว่างร่วมมือกับพันธมิตร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ในฐานะผู้จำหน่ายอาหารหลักให้กับโรงงาน นำวัวเนื้อ และวัวนมที่หมดอายุการให้นมไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายต่อไป เป็นอีกเส้นทางหนึ่งของการต่อยอดธุรกิจได้เป็นอย่างดี
ความรู้ที่มีของบัลลพ์กุล ทิพย์เนตร ทำให้เขาต่อยอดด้วยการนำมูลวัวเพิ่มประโยชน์อีกหลายด้าน เช่น นำมูลวัวไปทำ วัตถุดิบเพื่อสร้างบ่อไบโอแก๊ส หรือก๊าซ ชีวภาพ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 270,000 หน่วย ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 2 แสนบาทต่อเดือน โดยความร่วมมือดังกล่าว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดสรรงบประมาณจำนวน 3 ล้านบาทเพื่อสร้างบ่อไบโอแก๊ส
นอกจากจะนำมูลวัวไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าแล้วยังนำไปจำหน่ายเป็นปุ๋ย มีรายได้ถึง 2 แสนบาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังนำมูลวัวใส่ลงไปในบ่อเลี้ยงปลา เพราะ มูลวัวมีธาตุไฮโดรเจน เมื่อเติมออกซิเจนเข้าไปทำให้เกิดเป็นแพลงก์ตอนพืช กลายเป็นอาหารปลา บริษัททดลองเลี้ยงปลาบึก เพื่อสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง
ด้วยประสบการณ์การบริหารจัดการ ฟาร์มเกือบ 20 ปีทำให้บัลลพ์กุลมีแนวคิดขายระบบการบริหารจัดการฟาร์มให้กลุ่มประเทศในอินโดจีน เพราะการบริหารงานที่นำเทคโนโลยีและการพัฒนาวิจัยมาพัฒนาต่อยอดทำให้ฟาร์มมีระบบจัดการที่ดี และลดกำลังคนได้อย่างมาก เช่น เชียงใหม่ เฟรชมิลค์ ฟาร์ม มีพนักงานทั่วไปเพียง 20 คน มีสัตวบาล 15 คน และอีก 5 คนเป็นคนดูแลสวน
หากมองความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ ทว่าการทำตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ให้รู้จักแพร่หลายเป็นสิ่งจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการวิจัย เพราะจากการพิจารณาจะเห็นว่า แบรนด์ "เชียงใหม่เฟรชมิลค์" ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศมากนัก แต่จะรู้จักในกลุ่มนักเรียน ผู้ปกครอง และตัวแทนจำหน่าย
แม้แต่ความพยายามของบริษัทจะสร้างแบรนด์เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง ในชื่อว่า "MILDDA" หรือมายด์ด้า เพื่อเพิ่มความหลากหลายและรสชาติของสินค้า เป็นช็อกโกแลตหรือผสมธัญพืช เจาะกลุ่มวัยรุ่น ก็ตามที แต่แบรนด์ทั้งหมดถูกจำกัดอยู่ใน พื้นที่ในภาคเหนือตอนบนเท่านั้น
เหตุผลหนึ่งที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้มุ่งเน้นสร้างแบรนด์ให้แพร่หลายมากนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าตลาดหลักของบริษัทยึดติดอยู่กับตลาดนมโรงเรียนที่ได้จากงานประมูล หรือมีมูลค่าตลาดร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับการขาย ผ่านแบรนด์ของตัวเองที่ยังไม่มากนัก
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้บัลลพ์กุล ตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เขาได้วางเป้าหมายไว้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เขาต้องการให้บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากนมโรงเรียน และนมที่จำหน่ายเองเท่ากัน หรือร้อยละ 50
และแนวคิดการทำตลาดของเขาไม่ได้มุ่งอยู่เฉพาะในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว เพราะตลาดในไทยปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างสูง และทำตลาดทุกรูปแบบ เขาจึงมีแผนจะทำตลาดในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาค อินโดจีนมีแนวคิดจะนำระบบการจัดการบริหารฟาร์มไปขายอยู่แล้ว
ขณะเดียวกันได้วางแผนจะนำนมกล่องไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม ลาว พม่า และจีนตอนใต้ ซึ่งบริษัทได้สำรวจด้านการตลาดและเห็นถึงศักยภาพของตลาดเหล่านี้
แผนธุรกิจเริ่มจากประเทศเวียดนาม ก่อน โดยใช้เส้นทางขนส่งทางรถยนต์ผ่านจังหวัดมุกดาหารของไทยไปยังประเทศลาว ผ่านไปยังประเทศเวียดนามทางตอนใต้
สำหรับประเทศพม่าจะใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้านมกล่องกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากพม่าเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดสำคัญ และใช้เส้นทางเดินเรือขนส่งจากระนองเข้าสู่เมืองย่างกุ้ง ส่วนจีนตอนใต้อยู่ระหว่าง การศึกษาตลาด
แนวโน้มการแข่งขันของเกษตรกรในอนาคตคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำว่า นวัตกรรมได้อีกต่อไป หากต้องการอยู่รอดในเวทีการแข่งขันที่ไร้พรมแดน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|