|

โอกาสการค้าเสรีอาเซียน-จีน
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement) อาเซียนกับจีนได้ลงนามกรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน (Framework Agreement on ASEAN-China Comprehensive Economic Cooperation) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 เพื่อเป็นกรอบและแนวทางสำหรับการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ
ต่อมาทั้งสองฝ่ายได้สรุปการเจรจาและลงนามในความตกลงด้านการค้าสินค้า ระหว่างอาเซียน-จีน (Agreement on Trade in Goods of the Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation between the ASEAN and China) ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
การเปิดเสรีการค้าสินค้า แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การลดภาษีสินค้าบางส่วน ทันที (Early Harvest Program) และการลดภาษีสินค้าทั่วไป
การลดภาษีสินค้า Early Harvest Program จะครอบคลุมสินค้าเกษตร เช่น เนื้อสัตว์ และส่วนอื่นของสัตว์ที่บริโภคได้ ปลา ผลิตภัณฑ์นม ไข่สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ต้นไม้ พืชผักที่บริโภคได้ และผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้)
อาเซียนและจีนรวมทั้งไทยมีกำหนด จะร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะใน 5 สาขา ได้แก่ เกษตรกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลงทุน และการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง และความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ ศุลกากร การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การจัดตั้ง ศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าและการลงทุน การพัฒนาความตกลงให้มีการยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements: MRA) การดำเนินการตามแผนงานในกรอบความร่วม มืออนุภูมิภาคแม่น้ำโขง และการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน
ศูนย์วิจัยข้อมูลกสิกรไทย เปิดเผยว่าความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจอาเซียน-จีนที่เกิดขึ้น จะทำให้การส่งออกของไทยไปจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการปรับลดภาษีสินค้า ปกติภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-จีน เหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553
นอกจากนี้แรงขับเคลื่อนสำคัญจากเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะมีตัวจักรสำคัญมาจากความต้องการภายในจีน เนื่องจากความอ่อนแรงของภาคการบริโภคในตลาดต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ทางการจีนยังคงดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุกเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนต่อไปในปี 2553 ซึ่งในระยะยาวคาดว่าความต้องการภายใน ของจีนจะมีน้ำหนักต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมากขึ้น
ขณะที่ภาคส่งออกต้องเผชิญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่หันไปเน้นการออมมากขึ้น ทำให้แรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออกของจีนต้องอ่อนแรงลงไป เศรษฐกิจจีนที่เน้นการเติบโตของภาคการบริโภคภายในตามการขยายตัวของเขตเมืองและการขยายความเจริญเข้าไปในพื้นที่ชนบทและพื้นที่มณฑลตอนใน ซึ่งถือว่ายังมีศักยภาพการเติบโตอีกมาก จะเป็นฐานการบริโภคที่สำคัญของจีนในระยะต่อไป
ส่วนมณฑลทางชายฝั่งตะวันออกและใต้ที่เป็นฐานการผลิตส่งออกที่มีระดับการพัฒนาสูงตามการเติบโตของภาคส่งออกในช่วงที่ผ่านมาเริ่มถึงจุดอิ่มตัว ระดับรายได้ของประชาชนจีนที่สูงขึ้นจะส่งผลให้พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและความต้องการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยจะเน้น ความสะดวกสบายมากขึ้น และคำนึงถึงรูปแบบของสินค้าที่มีการออกแบบอันทันสมัย รวมถึงเน้นคุณภาพสินค้ามากขึ้น ปัจจัยด้านราคาอาจลดความสำคัญลงไป ทำให้สินค้าที่ตอบสนองรายได้ระดับกลาง-บนน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น
สินค้าส่งออกของไทยที่ได้อานิสงส์จากการลดภาษีของจีนเป็นร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 และ
การเติบโตของความต้องการภายใน ของจีนในปี 2553 และในระยะยาว ได้แก่ สินค้าอาหาร/เครื่องดื่ม เช่น น้ำผลไม้ (องุ่น) ผลไม้กระป๋อง (เชอร์รี่ พีช) ไวน์ ไอศกรีม ของใช้ เช่น กระเป๋า เครื่องหนัง เสื้อผ้า สิ่งทอ อัญมณี/เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอางและน้ำหอม
ส่วนธุรกิจภาคบริการของไทยที่มีแนวโน้มจะขยายการลงทุนในจีนได้สะดวก มากขึ้นจากการเปิดตลาด
ภาคบริการในรอบที่ 2 ที่ครอบคลุม กิจกรรมสาขาบริการที่กว้างขึ้น และโอกาส ของธุรกิจบริการไทยในจีนที่น่าจะมีศักยภาพ ได้แก่ โรงแรม ธุรกิจสปา/นวดแผนไทย ร้านอาหาร โรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทาง ศูนย์ Day Care และการศึกษาด้านวิชาชีพ
ขณะเดียวกันแนวโน้มธุรกิจที่จีนจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นในภาคบริการ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ภาคธนาคาร โรงแรม ศูนย์บริการด้านสุขภาพ ธุรกิจสปา
ส่วนภาคการผลิต ได้แก่ เกษตรแปรรูป/อาหาร เครื่องดื่ม ยานยนต์ พลังงานทางเลือก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ยาง
อย่างไรก็ตาม ไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขัน กับประเทศอาเซียนอื่นๆ ในตลาดจีนซึ่งประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็จะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีภาคการค้าสินค้าและบริการภายใต้ FTA อาเซียน-จีน เช่นเดียวกับไทย รวมทั้งการเผชิญกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในประเทศจากการที่ไทยต้องเปิดตลาดสินค้าและภาคบริการให้จีนภายใต้ความตกลง FTA เช่นกัน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า อัญมณี/เครื่องประดับ
นอกจากนี้ แม้ว่าการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนจะได้อานิสงส์จากการปรับลดภาษีเป็นร้อยละ 0 การลดเงื่อนไขการเข้าไปจัดตั้งธุรกิจภาคบริการหลายสาขาในจีน แต่ผู้ประกอบการไทยยังอาจต้องเผชิญอุปสรรคหลายด้าน เช่น ด้านการส่งออก ผู้ส่งออกอาจต้องถูกเรียกเก็บภาษีท้องถิ่น ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ในจีนถือว่าค่อนข้างสูง รวมทั้งมาตรการทางการค้า ของจีนที่กำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าที่เข้มงวด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอาหาร ส่วนธุรกิจบริการอาจต้องประสบกับกฎระเบียบภายในของจีนที่เข้มงวดเกี่ยวกับมาตรฐานการให้บริการและมาตรฐานแรงงาน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|