|

“ด่าหลาต” เมืองที่ครั้งหนึ่งเกือบได้เป็น “นครหลวงแห่งอินโดจีน”
โดย
เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ตั้งแต่เพิ่งจะถือกำเนิด ชาวฝรั่งเศสได้วางผังเมือง "ด่าหลาต" ด้วยความตั้งใจจะเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้เป็นนครหลวงของ "สหพันธ์อินโดจีน" ในตลอดความยาวของประวัติศาสตร์ แม้ว่าต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่คนฝรั่งเศสแสดงออกค่อนข้างกระตือรือร้นเสมอกับการวางผังนครแห่งนี้
ปี 2436 ภายหลังช่วงเวลายาวช่วงหนึ่ง นายแพทย์ Yersin ค้นพบด่าหลาต ด้วยความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่ราบสูง และบรรดาเนินลาดเล็กน้อย เปิด กว้างออกไปทางเชิงเขาลางเบียง อากาศเย็นสบายตลอดปี เป็นคุณลักษณะพิเศษที่อาจจะตอบสนองปัจจัยทุกอย่างเกี่ยวกับความต้องการที่พักตากอากาศ สถานที่แห่งนี้หลุดเข้าสู่สายตาของชาวฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี ขณะเพิ่งจะ "กำเนิด" ตามเอกสารต่างๆ ที่บันทึกไว้ ระบุว่าบริเวณซานเกีย (ห่างด่าหลาตไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 15 กม.) เป็นสถานที่ซึ่งคนฝรั่งเศสได้วางผังเพื่อก่อสร้างสถานที่ พักผ่อนตากอากาศไว้ก่อนแล้ว แต่ภายหลัง 4 ปีที่ค้นพบด่าหลาต นายแพทย์ Yersin ได้รายงานข้อดีต่างๆ ของด่าหลาตต่อผู้สำเร็จราชการ P.Doumer โดยระบุว่าไม่มี สถานที่ใดในเวียดนามเทียบได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้น P.Doumer ก็กำลังมีนโยบายก่อสร้างเขตพักผ่อนตากอากาศแห่งหนึ่งให้กับบรรดาข้าราชการฝรั่งเศส ดังนั้นจึงได้ตกลงกับแผน การลงทุนสถานพักตากอากาศแห่งหนึ่งในอินโดจีนบนที่ราบสูงเลิมเวียน Yersin เสนอ แนะ P.Doumer ให้สร้างเขตพักตากอากาศ ที่ซานเกีย
ตั้งแต่ปี 2441-2443 P.Doumer ได้ส่งผู้แทน 2 คณะขึ้นที่ราบสูงเลิมเวียนตรวจสอบเพื่อหาจุดก่อสร้างสถานที่พักตากอากาศ หน้าที่อันดับแรกของพวกเขา คือหาถนนที่สะดวกที่สุดเพื่อขึ้นเขตผืนดินที่ค้นพบใหม่นี้ ทั้งสองคณะต่างเลือกจุดหยุด สุดท้ายคือบริเวณซานเกีย
ตามความเป็นจริงคนฝรั่งเศสลงทุน ก่อสร้างโครงการ 2-3 แห่งที่ซานเกีย เมื่อปี 2441 ในนั้นมีสำนักงานอุตุนิยมวิทยาและโครงการนำร่องเกษตรกรรม
ต้นปี 2443 นายแพทย์ Etienne Tardif ได้รวบรวมเรียบเรียงรายงานวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงข้อดีต่างๆ ของด่าหลาตเปรียบเทียบกับซานเกีย เอกสารรายงานนี้ส่งถึงมือผู้สำเร็จราชการ P. Doumer ทำให้ P.Doumer ลังเลอย่างยิ่ง เพราะก่อนหน้านั้น Yersin เสนอแนะให้ก่อสร้างเขตพักตากอากาศให้ชาวฝรั่งเศส ที่ซานเกีย
ประมาณเดือนมีนาคม 2443 P.Doumer เดินทางขึ้นด่าหลาตด้วยตัวเอง จากการเปรียบเทียบจุดพิเศษเกี่ยวกับภูมิประเทศ สภาพอากาศ พื้นดิน โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ระหว่างด่าหลาตกับซานเกีย ผู้สำเร็จราชการ P.Doumer ได้ตัดสินใจเลือกด่าหลาตเพื่อวางแผนผังสถานที่พักตากอากาศ
นครหลวงอินโดจีน
หลังจากผู้สำเร็จราชการ P.Doumer อนุมัติ เริ่มก่อสร้างโครงการสำคัญมากมาย ที่ด่าหลาต ในนั้นให้ความสำคัญกับระบบคมนาคมเป็นอันดับแรก พร้อมกับการเลือก และก่อสร้างถนนสั้นที่สุดเพื่อให้สามารถไปจากไซ่ง่อนขึ้นด่าหลาตได้ ในช่วงเวลานี้ มีการส่งเสริมให้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างก่ายก่อน-ด่าหลาต P.Doumer เลือกทางแยกรถไฟไซ่ง่อน-ค้าญหว่า เพื่อขึ้นด่าหลาตตามแยกทางซ้ายจากฟานรางขึ้นไป
ปี 2444 ขณะที่เพิ่งจะเริ่มก่อสร้างเขตพักตากอากาศของฝรั่งเศสในอินโดจีน ผู้สำเร็จราชการ P.Doumer ก็ถูกปลดออก จากตำแหน่ง P.Doumer ได้นำโครงการ ก่อสร้างในด่าหลาตทั้งหมดกลับประเทศไปด้วย
โครงการของ P.Doumer เค้าโครงส่วนใหญ่ประกอบด้วยระบบที่อยู่อาศัยของข้าราชการใหญ่โต บริการสำหรับการพักร้อนของข้าราชการระดับสูง โรงเรียน ค่าย ทหาร แต่แผนผังทั้งหมดต้องหยุดชะงักภายใต้การบริหารของบรรดาผู้สำเร็จราชการคนต่อๆ มา ถึงกระนั้นระบบคมนาคมยังคงมีการก่อสร้างต่อไป ถึงแม้มีการประเมินว่าล่าช้าเนื่องจากขาดแคลนค่าใช้จ่าย และขาดแผนผังเดิม
ตั้งแต่ปี 2458 จนหลังจากสงคราม โลกครั้งที่สองได้ระเบิดขึ้น คนฝรั่งเศสในเวียดนามไม่มีคุณสมบัติเพื่อกลับบ้านเกิด จึงหลั่งไหลขึ้นไปสุมกันอยู่ที่ด่าหลาต ในเวลานั้นโครงการใหญ่ๆ เช่น Hotel du Langbiang Palace ทะเลสาบด่าหลาต (ปัจจุบันคือทะเลสาบเซวินเฮือง) โรงงานผลิตน้ำประปา โรงงานไฟฟ้า โรงเรียน Nazareth อาคารการคลัง ได้มีการก่อสร้างขึ้นเพื่อให้ทัน กับความต้องการพัฒนาด่าหลาต
ต่อการ "ตื่นขึ้น" อย่างรวดเร็วของผืนดินนี้ ต้องการให้มีแผนผังโดยรวมเพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาให้กับด่าหลาต ปี 2466 ผู้สำเร็จราชการ M.Long มอบหมายให้ KTS Hé’brard วางแผนผังให้กับเมืองด่าหลาต
ตามผังเมืองนี้ คนฝรั่งเศสจะก่อสร้างด่าหลาตให้เป็นนครหลวงของสหพันธ์อินโดจีน ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานทันสมัย ด้วยความคิดคือ "ป่าในนครและนครในป่า" ดังนั้น จึงเห็นความสำคัญของปัจจัยต่างๆ เกี่ยวกับการป้องกันสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ขนาดประชากรในช่วงนี้คาดว่าเกิน 300,000 คน
ระบบคมนาคมแบ่งเป็นถนน 6 สาย ถนนสายหลักและกว้างที่สุดของนคร คือสายหญ่ากา-กามลี ระยะทาง 20 กม. แคบที่สุดคือระบบถนนระดับ 3 ด้วยระยะทาง 8 เมตร
เนื่องจากความต้องการใช้ที่ดินก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากชาวฝรั่งเศสหลั่งไหลขึ้นด่าหลาตและบรรดา ชาวเวียดนามค้นพบที่นี่และเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เพื่อปฏิบัติตามกระบวนการอย่างมีเอกภาพในการก่อสร้าง ผู้สำเร็จ ราชการอินโดจีนได้ให้รวบรวมกฎหมาย ก่อสร้างในด่าหลาต เริ่มตั้งแต่ปี 2466 ได้บังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเป็นทางการ โดยใช้คู่กับข้อกำหนดว่าด้วยการใช้ถนน และข้อกำหนดว่าด้วยการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง
นอกจากนั้น ก็ได้เร่งรีบดำเนินการวางแผนผังเกี่ยวกับที่ดิน โดยที่ดินหลายเขต ได้สงวนให้เฉพาะชาวฝรั่งเศสที่ได้รับการแบ่งที่ดินก่อสร้างบ้านพักเป็นแปลงๆ รวมตัวอยู่บนสนามเตริ่นฮึงด่าว สนามหู่งเวือง สนามกวางตรุง... ปัจจุบัน ที่ดินแต่ละแปลง ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างบ้านพักห่างกันตั้งแต่ 20-30 ถึง 100 เมตร ส่วนที่ดินของคน เวียดนามได้รับการวางผังอยู่ทางตอนล่างของทะเลสาบด่าหลาต
เนื่องจากได้มีการวางผังก่อสร้างด่าหลาตให้เป็นนครหลวงของอินโดจีน ดังนั้นมิติการออกแบบของ KTS Hé’brard จึงมีขนาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถดำเนินการได้ ปี 2476 KTS Pineau เสนอแผนผังใหม่ให้กับด่าหลาต ตามแผนผังนี้ เฉพาะหน้าด่าหลาตยังไม่อาจเป็นนครหลวงของอินโดจีนได้ บทบาทของเมืองจึงหยุดไว้เป็นเพียงเขตพักตากอากาศเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|