Land Bridge ทวาย-อันดามัน

โดย เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2553 เขียนเรื่อง "ประตูสู่ความเป็น Land Bridge" (www.gotomanager.com) ที่บ่งชี้ถึงแนวคิดในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่า และเส้นทางเชื่อมต่อมาถึงช่องทางบ้านน้ำพุร้อน จังหวัดกาญจนบุรี-ท่าเรือแหลมฉบัง เชื่อมทะเลอันดามัน-ทะเลจีนใต้ผ่านอ่าวไทย อย่างมีนัยสำคัญมาแล้ว

ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 สภาพัฒน์ ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนของไทย ญี่ปุ่นและพม่าได้ลงสำรวจศักยภาพเมือง "ทวาย มะริด"

ซึ่งโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและอุตสาหกรรมทวาย และมะริดที่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นท์ได้ยกร่าง Project Development Agreement (PDA) เสนอต่อรัฐบาล พม่าตั้งแต่ปี 2552 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการ อนุมัติจากรัฐบาลพม่า

ทั้งนี้ตาม PDA ของบริษัทอิตาเลียน ไทยวางแผนพัฒนาพื้นที่ห่างจากสนามบินทวายไปทางเหนือประมาณ 35 กม. มูลค่า การลงทุนเฉพาะระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานรวม 3.3 แสนล้านบาท บนพื้นที่ 250 ตร.กม. หรือ 61,775 เอเคอร์

ภายในโครงการนี้จะมีการพัฒนาถนนเชื่อมโยงทวาย-บ้านน้ำพุร้อน จังหวัดกาญจนบุรีระยะทาง 160 กม. เป็น 4 ช่องจราจร วงเงินประมาณ 5 พันล้านบาท, ท่าเรือน้ำลึกที่ได้มีการพิจารณากำหนดจุดเหมาะสมที่นาบูเล (Nabule) ห่างจากทวาย 35 กม. ซึ่งมีระดับน้ำลึก 15 เมตร จำนวน 2 ท่า สามารถรองรับเรือขนาด VLCC และ ULCC จำนวน 22 ลำในเวลา เดียวกันได้

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมได้กำหนดพัฒนาบนพื้นที่ 250 ตร.กม.หรือประมาณ 4 แสนไร่ แบ่งเป็น 6 โซน เช่น โซนท่าเรือ และอุตสาหกรรมหนัก, โซนอุตสาหกรรมน้ำมัน-แก๊ส เป็นต้น รวมไปถึงพื้นที่ส่วนราชการแบบ One Stop Service

โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 ปี 2554-2558 ดำเนินโครงการถนนเชื่อมโยงทวาย-ชายแดนไทย/พม่า 4 ช่องจราจร, ด่านพรมแดน, ถนนเชื่อมสนามบินทวาย, ท่าเรือด้านใต้, อ่างเก็บน้ำ, ถนนในนิคมฯ และระบบระบายน้ำ, โรงบำบัดน้ำประปา/น้ำเสีย และพื้นที่พักอาศัย-ส่วนราชการ

ระยะที่ 2 ปี 2556-2561 พัฒนาสาธารณูปโภคในนิคมฯ เพิ่มเติม รวมทั้งขยายถนนทวาย-ชายแดนไทย พม่า เป็น 8 ช่องจราจร สร้างศูนย์การค้าและสถานที่ พักผ่อน

ระยะที่ 3 ปี 2559-2563 พัฒนาท่าเรือแห่งที่ 2 ด้านทิศเหนือ ทางรถไฟ สายส่งไฟฟ้าและท่อก๊าซ-น้ำมัน เชื่อมโยง ประเทศไทย

ปัจจุบันบริษัทอิตาเลียนไทยตั้งฐาน ที่ทวายและบ้านน้ำพุร้อน เริ่มกรุยทางจาก 2 ฝั่งประมาณ 100 กม. และปรับระดับให้สูงจากน้ำทะเล 160 เมตร เหลือช่วงที่เป็น ป่าทึบประมาณ 60 กม.

ทั้งนี้มีการประเมินกันว่าโครงการนี้จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิง logistic ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยในพื้นที่ภาคกลาง-ตะวันตก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.